ขึ้นเหนือสู่ ‘จาฟฟ์นา’

ทัวร์เมืองโบราณอนุราธปุระและมหินทเลด้วยรถตุ๊กๆ ของผมจบลงโดยใช้เวลารวมกันประมาณ 6 ชั่วโมงเท่านั้น เริ่มในช่วงสายแก่ๆ และจบลงในตอนเย็น

คุณน้าวสันตรา คนขับตุ๊กๆ บริหารเวลาให้ครอบคลุมสถานที่สำคัญๆ ส่วนใหญ่ และปิดท้ายที่สถานีรถไฟอนุราธปุระ ผมลงไปจองตั๋วสำหรับเดินทางขึ้นเหนือไปยังเมืองจาฟฟ์นาในวันรุ่งขึ้น

จากนั้นแกก็ไปส่งยังที่พักในเขตอนุราธปุระเมืองใหม่ ค่าบริการทั้งหมดรวม 5,500 รูปี หรือประมาณ 1 พันบาท

อาบน้ำเสร็จผมเดินไปที่ร้านอาหารชื่อ BRO Restaurant บนถนนเลียบทะเลสาบฝั่งตะวันออก ด้วยติดใจในรสชาติอาหารตั้งแต่เมื่อคืนวาน และวิธีการที่ทางร้านใช้หม้อดินเป็นภาชนะสำหรับลูกค้าที่สั่งกลับบ้านเพื่อช่วยลดโลกร้อน

เวลาประมาณ 6 โมงเย็น ยุงก็เริ่มออกหากิน แต่วันนี้ผมจะไม่ถอยเหมือนเมื่อวาน สั่ง “โกตตู” (Kottu) ตามคำแนะนำของพ่อครัวอารมณ์ดี หน้าตายิ้มแย้ม และเคราเฟิ้ม

โต๊ะข้างๆ หันมาทักทาย คนหนึ่งเป็นหนุ่มอินเดีย อีกคนเป็นหนุ่มฝรั่งเศส ทั้งคู่เดินทางขึ้นมาด้วยกันจากทางใต้ของประเทศ คงเพราะต้องการแชร์ค่าที่พักกันมากกว่าเหตุผลอื่น และวันพรุ่งนี้หนุ่มอินเดียจะเดินทางไปสิกิริยา ส่วนหนุ่มฝรั่งเศสจะไปปุตตาลัม เมืองชายทะเลที่มีชาวมุสลิมเป็นประชากรหลัก ผมเคยอ่านเจอว่าผู้คนที่นั่นอัธยาศัยดีมาก

คุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเดินทางกันได้ครู่หนึ่ง อาหารของพวกเขาก็มาเสิร์ฟ และไม่กี่นาทีต่อมาก็เป็นโกตตูทะเลของผม หนึ่งในอาหารประจำชาติของศรีลังกาจานนี้ ผู้คนนิยมกินเป็นมื้อเย็น โกตตูก็คือโรตีที่ถูกสับซอยเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วนำไปผัดกับไข่ หัวหอม เครื่องเทศอีกบางชนิด และสามารถเลือกได้ว่าจะใส่เนื้อสัตว์อะไรหรือจะใส่ผักก็ได้ อาจแยกพริกออกไปไม่ผัดรวมกันเมื่อลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ

พ่อครัวทำสลัดเคียงมาในจานให้ผมเป็นพิเศษ รวมถึงไข่ดาวรูปพระจันทร์เสี้ยวโปะมาด้านบน เสิร์ฟพร้อมซอส 2 ชนิด และพริกแห้งตำหรือบดมาแล้ว โกตตูของพ่อครัวหน้ายิ้มรสชาติดีมาก ออกหอมๆ หวานๆ เค็มๆ

หนุ่มอินเดียและหนุ่มฝรั่งเศสลุกไปก่อนแล้ว ลูกค้าในร้านยังมีอยู่อีกหลายโต๊ะ แต่ล้วนเป็นคนศรีลังกา ผมจ่ายเงินกับแคชเชียร์ที่ตกเป็นเงินไทยประมาณ 150 บาท พ่อครัวขอโทษที่ออเดอร์เยอะจนไม่มีเวลาออกมาคุยด้วย ผมชมฝีมือและอวยพรให้ร้านของเขาไปได้ดี ทราบว่าเพิ่งเปิดเมื่อไม่นานมานี้ หากท่านผู้อ่านผ่านไปยังอนุราธปุระเมืองใหม่ ใกล้ๆ ทะเลสาบ Kumbichchan Kulama แล้วเกิดหิวขึ้นมาก็อย่าลืมนึกถึงร้าน BRO Restaurant หากว่าพ่อครัวยังคงเป็นหนุ่มเครายาว พูดภาษาอังกฤษได้น้อย แต่ยิ้มง่ายและยิ้มเหมือนคนไทย รับรองว่าได้กินของอร่อยแน่นอน

คงเพราะเดินทั้งวัน คืนนี้ผมหลับลงไปอย่างง่ายดาย ตื่นมาเช้าตรู่ ลงไปยังล็อบบี้ มิสเตอร์เสนา เจ้าของบ้าน และอันจู-ผู้ช่วย ยังไม่มีใครตื่น ต้องเปิดประตูบ้านและประตูรั้วออกไปเอง เดินไปสูดอากาศริมทะเลสาบ ปลายเดือนพฤศจิกายนอากาศในอนุราธปุระตอนเช้าถือว่าเย็นกำลังดี พอกลางวันก็จะร้อนขึ้นไปเกิน 30 องศา

จากริมทะเลสาบผมเดินไปหาอาหารเช้าในย่านตลาดบนถนนเส้นหลักของเมือง หลายร้านยังไม่เปิด ต้องเข้าร้านคล้ายๆ ข้าวราดแกงบ้านเรา ผมชี้ไปที่ข้าวสวย ผัดถั่วฝักยาว และแกงปลาทูน่าซุปสีแดงเข้มใส่ถ้วยใบเล็ก ตอนพนักงานถือมาเสิร์ฟมีดาลหรือแกงถั่วเหลืองราดในจานข้าวมาด้วย คนตักคงเข้าใจผิด ช้อนและส้อมมาในถ้วยน้ำร้อน คนไทยส่วนใหญ่ไม่น่าจะให้คะแนนผ่านสำหรับอาหารชุดนี้ ยิ่งกาแฟร้อนที่ตามมาหลังสุดนี่สอบตกแน่นอน จืดสนิทและไร้กลิ่นหอม ผมสั่งน้ำเปล่าอีก 1 ขวดลิตร แต่ทั้งหมดนี้ราคาแค่ 350 รูปี หรือราวๆ 60 บาทเท่านั้น ผมยินดีจ่าย 500 รูปีแล้วคืนเงินทอนทั้งหมดให้กับพนักงาน

เมื่อเดินกลับไปถึงบ้านพัก Marathona Tourist Resort มิสเตอร์เสนาผู้เป็นเจ้าของและอันจูตื่นเรียบร้อยแล้ว ผมขึ้นไปอาบน้ำ เก็บเสื้อผ้า แล้วลงไปเขียนสมุดเยี่ยมตามคำขอของมิสตอร์เสนา อันจู-หลานเขยของมิสเตอร์เสนา ยกกาแฟร้อนแบบสำเร็จรูปมาให้เหมือนเช่นเมื่อวาน ผมซดไปอีกครึ่งแก้ว เขียนเสร็จผมก็ลามิสเตอร์เสนาและอันจู น้าวสันตรามารออยู่แล้ว

พอส่งผมที่สถานีรถไฟแล้วแกก็กำชับให้ผมโทร.หาเมื่อทราบแน่ชัดว่าจะกลับจากจาฟฟ์นา แกจะมารอรับที่สถานีอนุราธปุระแห่งนี้เพื่อขับไปส่งผมที่เมืองสิกิริยาซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 80 กิโลเมตร เพราะจากอนุราธปุระไปยังสิกิริยาไม่มีทางรถไฟ แกไม่ยอมให้ผมหลุดมือไปง่ายๆ อย่างที่ได้กล่าวไว้ในตอนที่แล้วว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติมีน้อยจนคนที่ทำมาหากินกับนักท่องเที่ยวต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เงินจากนักท่องเที่ยวคนหนึ่งๆ ให้มากที่สุด แม้แต่ตอนที่แกส่งผมที่สิกิริยาในอีก 3 วันต่อมาและได้กลับอนุราธปุระแล้ว แกก็ยังพยายามที่จะให้ผมโทร.หาเพื่อว่าแกจะจัดคนขับตุ๊กๆ ซึ่งเป็นพรรคพวกของแกไปส่งผมที่แคนดีต่อจากนั้น

สถานีรถไฟจาฟฟ์นา จังหวัดนอร์เทิร์นพรอฟวินซ์

รถไฟขบวนของผมออกมาจากโคลัมโบตั้งแต่ 05.10 น. เป็นประเภท Intercity หากเทียบกับบ้านเราก็คงเรียกว่ารถด่วนพิเศษ จอดเฉพาะเมืองใหญ่และชุมทางต่างๆ เท่านั้น กำหนดถึงอนุราธปุระ 09.10 น. ซึ่งก็ช้ากว่ากำหนดเพียงประมาณ 10 นาที ตั๋วโดยสารชั้น 1 แบบนั่งปรับอากาศ ราคา 1,200 รูปี หรือประมาณ 200 บาท ผู้โดยสารชาวต่างชาติสามารถซื้อชั้น 2 หรือ 3 ก็ได้ ราคาถูกลงไปอีกมาก แต่เจ้าหน้าที่ขายตั๋วมักยัดเยียดให้เราซื้อแต่ชั้น 1 ผมเห็นว่าราคาถูกอยู่แล้วจึงไม่คิดอะไร

ร่องรอยของอุทกภัยเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนยังมีให้เห็น สองข้างทางน้ำยังท่วมขัง โดยเฉพาะตามพื้นที่นาข้าว ลักษณะภูมิประเทศช่วงอนุราธปุระ-จาฟฟ์นา คล้ายกับช่วงโคลัมโบ-อนุราธปุระ มากด้วยนาข้าว ต้นมะพร้าว และต้นตาล

แม้จะพยายามจองที่พักทางแอปพลิเคชันในมือถือตลอดเวลา 3 ชั่วโมงที่อยู่บนรถไฟ แต่ทั้งเพราะปัญหาสัญญาณอินเทอร์เน็ตขาดหายเป็นช่วงๆ และปัญหาในการตัดสินใจ กระทั่งรถไฟเทียบจอดที่สถานีจาฟฟ์นาในเวลาเที่ยงนิดๆ แล้ว ผมก็ยังเลือกที่พักไม่ได้

ที่สถานีรถไฟ สัญญาณอินเทอร์เน็ตค่อนข้างดี ผมลงจากรถไฟแล้วเดินไปนั่งบนม้านั่งริมชานชาลา กดจองที่พักที่ได้รับคะแนนรีวิวสูง ชื่อ Yaarl Hostel ผมรู้ดีว่านี่คือโฮสเทลแบบห้องดอร์ม อาจต้องนอนรวมกับนักท่องเที่ยวคนอื่น ในช่วงการระบาดของโควิด-19 อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ฉลาดนัก แต่ทำเลดี เดินไปป้อมจาฟฟ์นาได้ รวมถึงวัดฮินดูที่มีชื่อเสียง วัดพุทธแห่งหนึ่งที่มีความสำคัญ และพิพิธภัณฑ์ทางโบราณคดีแห่งเมืองจาฟฟ์นา ทั้งผมยังเชื่อลึกๆ ว่าในห้องนอนรวมไม่น่าจะมีแขกเข้าพักในช่วงนี้

ระยะทางจากสถานีรถไฟจาฟฟ์นาถึงโฮสเทลประมาณ 1.5 กิโลเมตร ตุ๊กๆ คิดราคา 200 รูปี ผมยืนรอพนักงานโฮสเทลอยู่หลายนาทีกว่าจะมีหนุ่มผิวคล้ำแลดูต่างไปจากชาวสิงหลเดินเข้ามาทักทาย แน่นอนเขาเป็นหนุ่มทมิฬ ร่างกายกำยำ กล้ามอกกล้ามแขนใหญ่โต แต่ความสูงคงประมาณแค่ 165 เซนติเมตร โฮสเทลแห่งนี้มียิมออกกำลังกายเปิดบริการแก่ลูกค้าทั่วไป แต่ครูสอนฟิตเนสรายนี้ ผู้ควบอีกหลายตำแหน่งในโฮสเทล บอกกับผมว่าแขกของโฮสเทลสามารถเข้าไปใช้อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ ได้ฟรี ผมขอบคุณเขาโดยไม่มีความคิดที่จะออกกำลังกายในนั้น

จาฟฟ์นาคือดินแดนของชาวทมิฬ เป็นเมืองหลวงของจังหวัด “นอร์เทิร์นพรอฟวินซ์” จังหวัดเหนือสุดของศรีลังกา เป็นเขตที่ผ่านการสู้รบในสงครามกลางเมืองระหว่างรัฐบาลศรีลังกากับกองกำลังปลดปล่อยพยัคฆ์ทมิฬอีแลมมาอย่างหนักหนาสาหัสกว่าเขตพื้นที่ใดๆ ของประเทศ และสงครามก็เพิ่งจบลงไปเพียงสิบกว่าปี

ชาวทมิฬแห่งจาฟฟ์นาใบหน้ามักไม่ปรากฏรอยยิ้ม ผมไม่กล้าสรุปว่าเป็นธรรมชาติของพวกเขา หรือเพราะว่าแผลสงครามยังไม่หาย ชัตติ คือชื่อของหนุ่มชาวทมิฬร่างบึกบึน ผู้รับพาสปอร์ตผมไปถ่ายรูปด้วยมือถืออันเป็นหลักฐานประกันการเข้าพัก ชัตติก็แทบไม่มีรอยยิ้มบนใบหน้า แต่มีบางอย่างที่ทำให้ผมเชื่อว่าเขาจิตใจดีและคบหาได้

ตามคาด ห้องนอนรวมผู้ชาย 6 เตียงเวลานี้ไม่มีใครอื่นนอกจากผม ชัตติจัดให้แขกผู้ชายอีกคนพักในห้องนอนรวมของผู้หญิงซึ่งไม่มีคนอื่นอยู่ร่วมเช่นกัน แต่ในตอนเย็นเขาก็ต้องสั่งย้ายแขกคนนี้มาร่วมห้องกับผม เพราะมีสตรีคนหนึ่งเข้ามาเช็กอิน และแขกผู้ชาย เพื่อนร่วมห้องของผมคนนี้เขาเป็นแขกจริงๆ คือแขกขาวจากจอร์แดน ชื่อ “ซูเฟียน” ดูอัธยาศัยดี เข้ามาปุ๊บก็ถามผมว่า “Do you mind if I smoke in the room?” ผมตอบ “You should better smoke at the balcony if it’s a cigarette” เขาหันมามองแล้วยิ้ม “You mean you don’t mind if I smoke something else?” ผมยิ้มบ้าง “I don’t mind”

จากป้อมปราการจาฟฟ์นามองไปยังท่าเรือประมงจาฟฟ์นา   

ทำความรู้จักกับซูเฟียนแล้วผมก็ออกเดินไปตามแผนที่กูเกิลในมือถือมุ่งหน้าป้อมปราการแห่งจาฟฟ์นา ห่างออกไปทางทิศใต้ประมาณ 1.5 กิโลเมตร ก่อนจะเข้าไปในป้อม ผมเห็นชายคู่หนึ่งนอนหนุนตักกันอยู่ริมฝั่งทะเล ใกล้ๆ ท่าเรือประมงจาฟฟ์นา วัวจำนวนหนึ่งคอยและเล็มหญ้าเขียวที่ขึ้นอยู่ริมฝั่งแทนที่จะเป็นหาดทราย ซึ่งก็เพราะมีการทำคันหินและคอนกรีตขึ้นแทนจนเวลาผ่านไปหาดทรายกลายเป็นหญ้า เมื่อผมเดินผ่านไปสักพักก็ได้ยินเสียงเรียก “เฮลโล” ผมแกล้งทำเป็นไม่ได้ยิน ต้องเป็นหนึ่งในเกย์น้อยสองคนนั้นอย่างแน่นอน เขาเรียกอีกหลายครั้ง ผมไม่หันไปมอง แล้วรีบเดินเข้าประตูป้อมไป

ริมฝั่งยามเย็น ใกล้ๆ ท่าเรือประมงจาฟฟ์นา

ตั๋วเที่ยวชมป้อมจาฟฟ์นาราคา 812 รูปี ซึ่งเป็นราคาชาวต่างชาติ ส่วนชาวศรีลังกานั้นจ่ายกันคนละ 12 รูปีเท่านั้น นั่นคือต่างกันมากกว่า 60 เท่า ในสถานที่อื่นๆ ทั่วทั้งศรีลังกาก็มีหลักการเก็บค่าเข้าชมในลักษณะเดียวกันนี้ทั้งสิ้น

ป้อมจาฟฟ์นา หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Jaffna Dutch Fort เป็นป้อมปราการชายฝั่งที่สำคัญมากแห่งหนึ่งของประเทศ สร้างขึ้นโดยโปรตุเกสตั้งแต่ปี ค.ศ.1618 หลังการบุกยึดจาฟฟ์นาได้สำเร็จ จากนั้นเมื่อดัตช์เข้ามาขับไล่โปรตุเกสและยึดจาฟฟ์นาต่อ พวกเขาก็ทำการขยายขนาดและเสริมความแข็งแกร่งให้กับป้อมโดยอาศัยความชำนาญพิเศษด้านนี้ของพวกเขา ทำให้ป้อมได้ชื่อว่าเป็นป้อมดัตช์ หากมองจากมุมสูงจะเห็นป้อมมีลักษณะเป็นรูปดาว 5 แฉกสวยงาม มีขนาดพื้นที่รวมทั้งสิ้นประมาณ 138 ไร่ แต่แล้วในปี ค.ศ.1795 อังกฤษก็เข้ามาแทนที่ดัตช์ และป้อมแห่งนี้อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทหารอังกฤษจนถึงปี ค.ศ.1948 อย่างไรก็ดี ก่อนที่โปรตุเกสจะสร้างป้อมขึ้นนั้นมีหลักฐานทางโบราณคดียืนยันว่า กษัตริย์ของชาวทมิฬได้สร้างป้อมปราการขึ้นก่อนแล้วในพื้นที่เดียวกันนี้ แต่เป็นกำแพงดินและกำแพงไม้

สำหรับลักษณะเด่นของป้อม รายละเอียดส่วนประกอบต่างๆ และช่วงเวลาสำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ป้อมแห่งนี้เข้าไปมีบทบาท โดยเฉพาะระหว่างสงครามกลางเมืองศรีลังกา ผมขออนุญาตยกยอดไปกล่าวถึงในตอนหน้า

ที่ชั้นบนของป้อมจาฟฟ์นา มีเด็กวัยรุ่นหญิงกลุ่มหนึ่ง ทุกคนแต่งชุดนักกีฬา น่าจะเรียนอยู่ในระดับมัธยมตอนปลาย เดินเข้ามาขอผมถ่ายรูปแบบเซลฟี ทั้งแบบหมู่และแบบคู่ ถามไถ่จึงได้รู้ว่าพวกเธอเป็นนักกีฬาฟุตบอล วันนี้หลังซ้อมเสร็จ โค้ชพามาเดินเล่น สูดอากาศริมทะเล ผมทราบดีพวกเธอเห็นผมเป็นของแปลกที่ต้องชิงจังหวะถ่ายภาพไปโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย หรืออาจเอาไปล้อกันเล่นเป็นสีสันกับเพื่อนๆ ทำนองว่า ดูนี่สิ ฉันได้ตัวอะไรมา การที่มีเด็กวัยรุ่นในศรีลังกาหรืออินเดีย ไม่ว่าชายหรือหญิงขอถ่ายเซลฟี อย่าไปคิดว่าพวกเขานิยมชมชอบอะไรเป็นพิเศษ ผมประสบมาหลายครั้ง ไม่ได้มีความหมายอะไรมากไปกว่าการที่พวกเขาหาความสนุกทำดีกว่าอยู่เฉยๆ

ผมผละจากกลุ่มนักฟุตบอลไปยืนบนคันขอบของป้อมฝั่งที่หันหน้าสู่ทะเล สักพักเห็นกลุ่มผู้ใหญ่ในชุดกางเกงสแล็กส์ เสื้อเชิ้ต ผูกเนคไท มีชาวตะวันตก 1 คนอยู่ในนั้นด้วย แต่แล้วอยู่ๆ คนที่ดูมีอายุมากที่สุด ราว 60 ปี หรือใกล้เคียง รูปร่างสูง มีพุงยื่นเล็กน้อย ผมสีดอกเลา น่าจะเป็นหัวหน้าชุด เดินมุ่งมาที่ผม แกเหมือนมองๆ ไปยังส่วนอื่นๆ ของป้อม แต่แล้วก็ถามว่าผมเป็นใคร มาจากไหน ผมรีบกระโดดลงจากขอบสันของป้อมหิน รู้ได้ทันทีลุงคนนี้น่าจะมีตำแหน่งแห่งหนไม่ธรรมดา ผมถามว่า “ท่านเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐใช่หรือไม่” แกตอบว่า “ใช่” แต่ผมก็ไม่กล้าถามไกลไปมากกว่านั้น

ก่อนแกจะเดินกลับไปยังกลุ่มคนที่มาด้วยกัน แกว่า “ถ้าจะเขียนเกี่ยวกับศรีลังกา กรุณาเขียนถึงสิ่งดีๆ หน่อยจะได้ไหม” ผมตอบว่า “จะเขียนตามความเป็นจริงครับท่าน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งดีๆ” ดูแกค่อนข้างพอใจ

วันต่อมาผมจึงทราบจากซูเฟียนว่าเขาก็เดินทางมายังบริเวณป้อมในเวลาใกล้เคียงกับผม แต่ถ่ายวิดีโออยู่เฉพาะด้านนอก และตำรวจได้ทำการปิดถนนให้กับขบวนวีไอพีขบวนหนึ่ง ซึ่งไม่น่าจะเป็นใครไปได้นอกจากกลุ่มที่นำโดยผู้ที่ขอให้ผมเขียนถึงศรีลังกาในสิ่งดีๆ

ผมเดินอยู่ด้านบนของป้อมอีกสักพักก็ลงไปยังชั้นล่าง เสียง “เฮลโล” ดังขึ้นอีกครั้ง หนนี้ผมหนีไม่พ้น แต่ก็พร้อมเผชิญหน้า

ชายหนุ่มร่างอวบสวมแว่นเดินอ้อนแอ้นเข้ามาหา เขาสารภาพว่า “I am gay” และขอเข้าเรื่องทันทีเพื่อไม่เป็นการเสียเวลา แถมยังบอกว่าคนที่นอนหนุนตักกันก่อนนี้คือ “เพื่อนสาว” ไม่ได้เป็นชู้รักชูรสอะไรทั้งสิ้น และบัดนี้หล่อนก็กลับบ้านไปแล้ว ผมบอกเขาว่า “I am straight” หรือชอบเพศตรงข้าม เขาขอโทษ แล้วถามว่าผมมาจากไหน พอรู้เข้าก็ทำตาโต บอกว่าอิจฉาชาวเกย์ไทยทั้งชาติที่แสดงออกกันได้อย่างอิสรเสรี หากเป็นที่ศรีลังกา โดยเฉพาะที่จาฟฟ์นานี่แล้วละก็ เป็นอันหมดอนาคต ถึงตอนนี้พ่อแม่ก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นเกย์ กับเพื่อนๆ หลายคนเขาก็ยังต้องปิดบัง เขาดูเศร้า ยกมือขอโทษ กล่าวลา แล้วเดินออกจากป้อม

คงเพราะเขาเดินช้า และผมเดินเร็ว เมื่อใกล้ถึงย่านตลาดในตัวเมือง ผมตามหลังเขาอยู่แค่ไม่กี่ก้าว ท่าเดินของเขาทะมัดทะแมงแบบชายทั้งแท่ง มากขึ้น มากขึ้น

ในแต่ละก้าวที่เข้าเขตเมือง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้าอยากได้อะไร...ข้าต้องได้

เราคนไทยมักจะอ้างว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ มีการบริหารกิจการต่างๆ ภายในประเทศตามหลักการของนิติธรรม แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐจริงหรือ

เมื่อ 'ธรรมชาติ' กำลังแก้แค้น-เอาคืน!!!

เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา...ท่านเคยคาดๆ ไว้ว่า ฤดูหนาว ปีนี้น่าจะมาถึงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม

จ่ายเงินซื้อเก้าอี้!

ไม่รู้ว่าหมายถึง "กรมปทุมวัน" ยุคใด สมัยใคร จ่ายเงินซื้อเก้าอี้ ซื้อตำแหน่ง ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ตามที่ "ทักษิณ ชินวัตร" สทร.แห่งพรรคเพื่อไทย ประกาศเสียงดังฟังชัดในระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก

ไม่สนใจใครจะต่อว่า เสียงนกเสียงกา...ข้าไม่สนใจ

ถ้าหากเราจะบอกว่านายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงตำหนิ มีการนำเอาการพูดและการกระทำที่ไม่ถูกไม่ต้อง ไม่เหมาะไม่ควร

จาก 'น้ำตา' ถึง 'รอยยิ้ม' พระราชินี

ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา...ได้อ่านข่าวพระราชาและพระราชินีสเปน เสด็จฯ ทรงเยี่ยมเยียนผู้คนที่ประสบภัยน้ำท่วมในเมืองปอร์ตา แคว้นบาเลนเซีย