วิกฤตยูเครนทำให้การถกแถลงว่าด้วยท่อส่งก๊าซจากรัสเซียไปเยอรมนีกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที
Nord Stream 2 เป็นท่อส่งก๊าซความยาว 1,200 กิโลเมตร ที่ทอดยาวในทะเลบอลติกจากเมือง Vyborg ในรัสเซียถึงเมือง Lubmin ทางเหนือของเยอรมนี โดยเลี่ยงยูเครนและโปแลนด์
หรือในภาพใหญ่ก็คือระหว่าง Ust-Luga ใกล้ชายแดนรัสเซียตะวันตกกับเอสโตเนีย และ Greifswald ทางตะวันออกเฉียงเหนือของเยอรมนี เพื่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรปตอนกลางผ่านทะเลบอลติก
การก่อสร้างโครงการแล้วเสร็จในเดือนกันยายน 2564 ด้วยราคา 8.3 พันล้านปอนด์ (370,000 ล้านบาทโดยประมาณ)
แต่ถึงวันนี้ยังไม่ได้รับอนุมัติตามกฎข้อบังคับของยุโรป เพราะต้องมีการอนุญาตให้ Gazprom บริษัทก๊าซยักษ์ใหญ่ของรัสเซียเปิดก๊อกอย่างเป็นทางการเสียก่อน
หลายประเทศในยุโรปรวมทั้งอเมริกาไม่ต้องการให้ท่อส่งก๊าซนี้เกิด เพราะจะเป็นการทำให้ยุโรปต้องพึ่งพารัสเซียในเรื่องพลังงานนี้มากเกินไป
หากเริ่มทำงานเมื่อใดก็สามารถส่งก๊าซธรรมชาติไม่ต่ำกว่า 55,000 ล้านลูกบาศ์กเมตรให้ยุโรปต่อปี
ท่อ Nord Stream ดั้งเดิมเสร็จสมบูรณ์ในปี 2555 และขนานไปกับท่อส่งใหม่ และจะสิ้นสุดที่ Greifswald เช่นเดียวกัน แต่มีจุดเริ่มต้นต่างกัน จุดใหม่คือ Vyborg บนชายฝั่งทางเหนือของอ่าวฟินแลนด์
Nord Stream 2 จะช่วยให้รัสเซียสูบก๊าซเพิ่มเติมประมาณ 55 พันล้านลูกบาศก์เมตร ไปยังเยอรมนีในแต่ละปีและสามารถเพิ่มกำลังการผลิตเป็นสองเท่า ถือว่าอยู่ในอันดับต้นๆ ของภูมิภาค
พอเกิดวิกฤตยูเครนขึ้นเพราะอเมริกากล่าวหาว่ารัสเซียระดมทหารกว่า 100,000 นาย รวมตัวกันตามแนวชายแดนของยูเครน ก็ทำให้เห็นว่าท่อส่งก๊าซ Nord Stream แฝดนี้ช่วยทำให้รัสเซียสามารถส่งก๊าซไปทางตะวันตกได้ด้วยวิธีอื่นนอกเหนือจากการผ่านอาณาเขตของเพื่อนบ้านโดยตรง
ก่อนหน้านี้เคยอาศัยผ่านกรุงเคียฟ เมืองหลวงยูเครน จึงได้รับค่าธรรมเนียมการขนส่งที่กลายเป็นรายได้สำคัญ
ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน อดีตเจ้าหน้าที่เคจีบี ถูกกล่าวขานว่าไม่พอใจความเป็นอิสระของยูเครนนับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1989
ยิ่งยูเครนทำท่าว่าจะเข้าซบอก NATO ด้วย ก็ยิ่งทำให้ปูตินหงุดหงิดหนักขึ้นอีก
รัสเซียผนวกคาบสมุทรไครเมียเข้ากับรัสเซียในปี 2014
รัสเซียถูกมองว่าให้การสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซียในภูมิภาค Donbas ทางตะวันออกของยูเครนที่ติดกับรัสเซีย
ท่อก๊าซใหม่นี้อาจถูกมองว่าเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อยูเครนโดยรัสเซียอีกด้านหนึ่ง
ประธานาธิบดี Volodymyr Zelensky ของยูเครนเคยเตือนว่า โครงการ Nord Stream เป็น “อาวุธทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เป็นอันตราย”
เขาไม่ใช่ผู้นำโลกคนเดียวที่มองรัสเซียในแง่ลบในเรื่องนี้
หลายฝ่ายมองว่ารัสเซียอาจใช้ Nord Stream เป็นเครื่องต่อรองทางการเมืองเหนือสหภาพยุโรป
แค่ขู่ว่าจะระงับการส่งก๊าซในฤดูหนาวก็ทำให้ยุโรปตะวันตกหลายประเทศต้อง “หนาว” ขึ้นมาทันที
เยอรมนีตอนที่อยู่ใต้การนำของอดีตนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ไม่ยอมให้รัสเซียใช้ท่อส่งก๊าชนี้ข่มขู่หรือ “แบล็กเมล์” ได้
โดยยืนยันว่าโครงการนี้เป็น “กิจการร่วมค้า” ที่ไม่ควรเอาการเมืองมาเกี่ยวข้อง
เพราะประโยชน์หลักของการเป็นท่อส่งพลังงานนั้นจะช่วยให้ความอบอุ่นแก่บ้านเรือน 26 ล้านหลัง
และช่วยให้การเปลี่ยนผ่านจากพลังงานนิวเคลียร์ไปสู่พลังงานหมุนเวียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ยุโรปก็กำลังเผชิญปัญหาวิกฤตพลังงานอยู่ จึงตกอยู่ในภาวะที่มีจุดอ่อนอย่างชัดเจน
อีกทั้งเมื่อเร็วๆ นี้ Gazprom ปฏิเสธที่จะส่งมอบก๊าชตามปริมาณที่รับปากเอาไว้ ทำให้เกิดความคลางแคลงว่ามอสโกกำลังเล่นเกมกดดันยุโรปตะวันตกใช่หรือไม่
สหราชอาณาจักรนำเข้าก๊าซเพียง 3% จากรัสเซีย เยอรมนีได้รับ 40% และฟินแลนด์ 100%
นั่นย่อมสะท้อนถึงอำนาจต่อรองของรัสเซียเหนือบางประเทศในยุโรปตะวันตกอย่างปฏิเสธไม่ได้
ธนาคารเพื่อการลงทุนของอเมริกา Stifel เตือนในสัปดาห์นี้ว่าราคาก๊าซอาจพุ่งขึ้น 4 เท่าหากเกิดสงครามอันเกิดจากวิกฤตยูเครน
นายกฯ Olaf Scholz ผู้รับช่วงต่อจากหญิงเหล็กมาร์แคลได้ส่งสัญญาณว่าอาจจะมีการปรับเปลี่ยนท่าทีเกี่ยวกับ Nord Stream 2
“ทุกอย่างย่อมขึ้นอยู่กับการทบทวนแนวทางหากมีการแทรกแซงทางทหารต่อยูเครน”
นั่นแปลว่าความตึงเครียดทางทหารกรณียูเครนอาจจะมีผลกระทบต่อนโยบายของเยอรมนีต่อท่อส่งก๊าซนี้ก็ได้
รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนี AnnalenaBaerbock พูดในสภาว่าพันธมิตรตะวันตกกำลัง “ดำเนินการตามมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มงวด… รวมถึง Nord Stream”
ปัญหาคือถ้าการเจรจาทางการทูตระหว่างรัสเซียกับโลกตะวันตกล้มเหลว สถานการณ์เกี่ยวกับท่อส่งก๊าซนี้ก็อาจจะแปรเปลี่ยนได้
Emily Haber เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำกรุงวอชิงตัน ทวีตว่า “ทุกอย่างย่อมเกิดขึ้นได้ รวมถึง Nord Stream 2” หากรัสเซียละเมิดอธิปไตยของยูเครน
ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ถูกโจมตีจาก ส.ส. และ ส.ว. จากทั้งรีพับลิกันและเดโมแครตว่าไม่พยายามมากพอที่จะระงับโครงการนี้
อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เคยแสดงความเห็นทางลบในเรื่องนี้ระหว่างการประชุมสุดยอด NATO ที่กรุงบรัสเซลส์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2018
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เคยข่มขู่เครมลินอย่างชัดเจนว่า วอชิงตันจะขัดขวางการลงนามผ่านกฎระเบียบของส่วนขยายของโครงการนี้ หากรัสเซียไม่ยินยอมทำตามเงื่อนไขของตะวันตก
“หากรัสเซียบุกยูเครนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง Nord Stream 2 จะไม่ก้าวไปข้างหน้า…เราจะทำงานร่วมกับเยอรมนีเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีความคืบหน้าในโครงการนี้”
เยอรมนียังลังเลที่จะให้การสนับสนุนทางทหารที่สำคัญต่อยูเครนจนถึงขณะนี้ แม้ว่าจะมีแรงกดดันจากประชาคมระหว่างประเทศให้ทำเช่นนั้นก็ตาม
แต่หากถึงจุดนั้น ก็ยังมีทางเลือกอื่นๆ ที่เป็นไปได้สำหรับการจัดหาก๊าซหาก Nord Stream 2 ถูกปิดกั้น แม้จะไม่สะดวกเท่ากับท่อก๊าซทางตรงนี้ก็ตาม
เช่น การส่งจากนอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ และเดนมาร์กแทน
ไปๆ มาๆ การเมืองก็เข้ามาแทรกทุกอย่าง...แม้แต่ท่อส่งก๊าชก็ยังหนีไม่พ้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มีแม้วไม่มีเรา! วัดใจจุดยืน 'พรรคส้ม' หลังทักษิณขีดเส้นแบ่งข้างทุกเวทีแล้ว
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า "พรรคส้มกล้าไหม? มีแม้วไม่มีเรา!
ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน
‘หยุ่น’ ฟันเปรี้ยงรอดยาก! ชั้น 14 ดิ้นอย่างไรก็ไม่หลุด
นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่า เรื่องชั้น 14 จะดิ้นอย่างไรก็หลุดยาก จึงเห็นการเฉไฉ, ตีหน้าตาย
บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'
เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ