พระนิรันตราย พระพุทธรูปที่มีพระนามอันเป็นมงคล นิรันตรายหมายความว่า ปราศจากอันตราย
พระนิรันตราย เป็นพระพุทธรูปโบราณองค์หนึ่งของไทย ที่มีลักษณะโดดเด่นแตกต่างจากพระพุทธรูปทั่วไป คือเป็นพระพุทธรูปสององค์ซ้อนกัน
ปัจจุบันพระนิรันตรายประดิษฐานอยู่ในหอพระสุราลัยพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง
ประวัติความเป็นมาของพระองค์นี้ มีเรื่องราวที่น่าสนใจและน่าอัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง
พระนิรันตราย (องค์เดิม) เป็นพระพุทธรูปทองคำ ศิลปะแบบทวารวดี ราวพุทธศตวรรษ 14-15 ขนาดหน้าตักกว้าง 3 นิ้ว องค์สูง 4 นิ้ว
ประทับนั่งแบบปรยังกาสนะ ข้อพระบาทไขว้กันอย่างหลวมๆ แสดงธยานมุทรา โดยพระหัตถ์ขวาซ้อนเหนือพระหัตถ์ซ้าย
พระพักตร์ค่อนข้างกลม พระขนงเป็นเส้นติดต่อกันคล้ายปีกกา พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกป้าน พระโอษฐ์ค่อนข้างกว้าง พระกรรณยาวเกือบจรดพระอังสะ พระเศียรประกอบด้วยขมวดพระเกศา มีเกตุมาลาอยู่เบื้องบนปราศจากรัศมี
องค์พระพุทธรูปครองอุตราสงค์เรียบ ไม่มีริ้ว ห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวาของอุตราสงค์พาดผ่านข้อพระกรซ้าย
พระพุทธรูปประทับนั่งบนปัทมาสน์ มีกลีบบัวคว่ำบัวหงายประกอบทั้งเบื้องบนเบื้องล่าง ซึ่งฐานปัทมาสน์นี้ได้สร้างเพิ่มเติมในภายหลัง
ประมาณปี พ.ศ.2399 กำนันอิน ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่แขวงเมืองปราจีนบุรี และนายยัง บุตรชาย ไปขุดหามันนกในบริเวณชายป่า ห่างจากดงศรีมหาโพธิ์ประมาณ 3 เส้น ขุดพบพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำ ได้นำมามอบให้พระเกรียงไกรกระบวนยุทธ ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา
ต่อมาทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์พระราชทานเงินเป็นรางวัลแก่ผู้ขุดพบพระและนำมาถวาย และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ว่า
“สองพ่อลูกมีกตัญญูต่อพระพุทธศาสนาและพระเจ้าแผ่นดิน ขุดได้พระทองคำแล้วไม่ทำลาย หรือซื้อขายเป็นประโยชน์ส่วนตัว แล้วยังมีน้ำใจมาทูลเกล้าฯ ถวาย…”
โปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปทองคำไปประดิษฐาน ณ หอพระเสถียรธรรมปริตคู่กับพระกริ่งทองคำองค์น้อย และพระพุทธรูปสำคัญอื่นๆ อีกหลายองค์
ปี พ.ศ.2403 มีคนร้ายมาลักพระกริ่งทองคำองค์น้อยไป ไม่ลักพระพุทธรูปทองคำองค์ใหญ่กว่า ทั้งที่ตั้งอยู่คู่กันไปด้วย
พระองค์ทรงพระราชดำริ “พระพุทธรูปซึ่งกำนันอินทูลเกล้าฯ ถวาย เป็นทองคำทั้งแท่งและใหญ่กว่าพระกริ่ง ควรที่คนร้ายจะลักเอาองค์ใหญ่ไป แต่กลับละไว้ เช่นเดียวกับผู้ที่ขุดได้ไม่ทำอันตราย เป็นเรื่องมหัศจรรย์ที่แคล้วคลาดถึง 2 ครั้ง พระองค์จึงทรงถวายพระนามพระพุทธรูปทองคำว่า พระนิรันตราย”
โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานทำการหล่อพระพุทธรูปศิลปะแบบรัตนโกสินทร์ ปรางสมาธิเพชร เนื้อทองคำ ขนาดหน้าตักกว้าง 5 นิ้วครึ่งพระนิรันตราย (องค์นอก) เพื่อสวมครอบพระนิรันตราย (องค์เดิม) ไว้อีกชั้นหนึ่ง และโปรดให้หล่อเป็นเนื้อเงินบริสุทธิ์อีกองค์หนึ่งไว้คู่กัน
สมัยรัชกาลที่ 4 โปรดเกล้าฯ อัญเชิญพระนิรันตรายไปประดิษฐานในพระแท่นมณฑลในพระราชพิธีสำคัญต่างๆ อาทิ พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (ทำบุญตรุษ) พระราชพิธีสงกรานต์
(ปัจจุบันเจ้าพนักงานภูษามาลายังคงรักษาแบบแผนโบราณราชประเพณี โดยอัญเชิญพระนิรันตรายไปประดิษฐานในพระราชพิธีสำคัญๆ เช่น ในการบำเพ็ญกุศลวันเฉลิมพระชนมพรรษา และพระราชกุศลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัด ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นต้น)
พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระพุทธรูปพิมพ์เดียวกันพระนิรันตราย (องค์นอก) เนื้อทองเหลือง ประดับด้วยซุ้มเหรียญแก้ว จำนวน 18 องค์เท่ากับปีที่ครองราชย์ เพื่อพระราชทานพระอารามฝ่ายธรรมยุต แต่ยังไม่กะไหล่ทองก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน
ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้ช่างทำต่อจนสำเร็จ และนำไปพระราชทานวัดธรรมยุตตามพระราชประสงค์ของพระบรมราชชนก อาทิ วัดราชาธิวาส วัดบวรนิเวศ วัดเทพศิรินทร์ วัดราชประดิษฐ์ ฯลฯ
พระนิรันตราย นับเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ผู้กราบไหว้สักการะมักมีประสบการณ์ปาฏิหาริย์สมดังพระนามที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 4 พระราชทาน เป็นที่เคารพเลื่อมใสของพุทธศาสนิกชนอย่างกว้างขวาง
วัดธรรมยุตทั้ง 18 แห่ง จึงนิยมสร้างพระนิรันตรายเป็นวัตถุมงคลทั้งพระบูชา พระเครื่อง พระพิมพ์ และเหรียญต่างๆ สำหรับแจกจ่ายเป็นที่ระลึกในโอกาสสำคัญต่างๆ เพื่อสักการบูชาในเคหสถานและสะดวกแก่การพกพาติดตัวไป
ประชาชนทั่วไปจึงมักจะพบเห็นพระนิรันตรายในรูปแบบพระนิรันตราย (องค์นอก) ที่มีซุ้มเรือนแก้วเป็นพุ่มพระมหาโพธิ์ แต่อาจไม่เคยพบเห็นหรือทราบประวัติความเป็นมาพระนิรันตราย (องค์เดิม)
ปี พ.ศ.2554 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับงบประมาณสร้างอาคารบริการทางการแพทย์ โรงพยาบาลตำรวจ แต่ไม่ได้รับงบประมาณจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์
พล.ต.ท.นพ.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) นายแพทย์ใหญ่โรงพยาบาลตำรวจ จึงได้ริเริ่มและจัดทำโครงการสร้างพระให้เช่าบริจาคบูชา หารายได้เข้ามูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจ ในพระบรมราชินูปถัมภ์
เพื่อนำเงินมาซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ สำหรับอาคารบริการทางการแพทย์ อาคารใหม่
ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองราชเลขาธิการสำนักพระราชวัง ได้ให้คำแนะนำว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 พระองค์เป็นผู้สถาปนากิจการตำรวจไทย เคารพสักการะพระนิรันตราย เป็นพระสำคัญในรัชกาลพระองค์
สำนักงานตำรวจแห่งชาติควรจะขอพระบรมราชานุญาตจัดสร้างพระนิรันตราย (จำลอง) จะเป็นสิริมงคลต่อข้าราชการตำรวจสืบต่อไป
การจัดสร้างพระนิรันตราย เป็นพระพุทธรูปสำคัญ ต้องดำเนินการขอพระบรมราชานุญาต ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการก่อสร้างอนุสาวรีย์แห่งชาติและการจำลองพระพุทธรูปสำคัญ พ.ศ.2520
โดยยื่นเรื่องผ่านกรมศิลปากร มีคณะกรรมการพิจารณาจัดสร้างอนุสาวรีย์และพระพุทธรูปสำคัญฯ พิจารณาเบื้องต้น ก่อนจะขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตต่อไป
วันที่ 20 เมษายน 2554 พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในขณะนั้น ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมศิลปากร เพื่อขอพระบรมราชานุญาตจัดสร้างพระนิรันตราย (จำลอง)
เพื่อประดิษฐานเป็นพระประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และโรงพยาบาลตำรวจ และเพื่อให้เช่าบูชามอบให้ผู้มีจิตศรัทธาบริจาคเงินให้มูลนิธิฯ เพื่อนำเงินไปจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ให้โรงพยาบาลตำรวจ
วันที่ 19 มกราคม 2555 กรมศิลปากรได้มีหนังสือแจ้งว่าได้ดำเนินการขอพระบรมราชานุญาตจัดสร้างพระนิรันตราย (จำลอง) ตามระเบียบฯ แล้ว
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแจ้งให้ทราบว่า สำนักราชเลขาธิการนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดสร้างได้
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นอย่างยิ่งในการพระราชทานพระบรมราชานุญาตดังกล่าว
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อจัดสร้างพระนิรันตราย (จำลอง) โดยแต่งตั้ง พล.ต.อ.เภา สารสิน ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจ เป็นประธานคณะกรรมการที่ปรึกษา, พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เป็นประธานคณะกรรมการอำนวยการ, พล.ต.ท.นพ.จงเจตน์ อาวเจนพงษ์ เป็นเลขาคณะกรรมการอำนวยการจัดสร้างฯ
ผมได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการดำเนินการจัดสร้างฯ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญในวงการพระเครื่องหลายท่านมาร่วมเป็นกรรมการฯ เช่น คุณพยัพ คำพันธ์ นายกสมาคมผู้นิยมพระเครื่องฯ, คุณต๋อย เมืองนนท์, คุณอั้ง เมืองชล, คุณป๋อง สุพรรณ, คุณมิ้ง จักรวรรดิ์, คุณสมบัติ ปากน้ำ, คุณประเสริฐ หาดใหญ่ ฯลฯ
สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ร่วมกับมูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจ จัดสร้างพระนิรันตราย (จำลอง) ดังนี้
1.พระนิรันตราย (จำลอง) รูปแบบองค์นอก ขนาดหน้าตัก 19 นิ้ว จำนวน 2 องค์
2.พระนิรันตราย (จำลอง) รูปแบบองค์นอก ขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว เนื้อทองเหลือง (ปิดทอง) จำนวน 2,554 องค์ และเนื้อทองเหลือง (รมดำ) จำนวน 2,554 องค์
3.พระกริ่งนิรันตราย (จำลอง) รูปแบบองค์เดิม ขนาดหน้าตัก 1.8 ซม. สูง 3.5 ซม. เนื้อทองคำ จำนวน 2,554 องค์ เนื้อนวโลหะ จำนวน 25,540 องค์ และเนื้อสัมฤทธิ์ จำนวน 255,400 องค์
พระกริ่งนิรันตราย (จำลอง) จัดสร้างโดยจำลองแบบจากพระนิรันตราย (องค์เดิม) ซึ่งถูกสวมครอบไว้ เป็นการสร้างพร ะกริ่งนิรันตราย (จำลอง) แบบองค์เดิมขึ้นเป็นครั้งแรก
ผู้ปั้นพระนิรันตรายคือ นายมานพ อมรวุฒิโรจน์ ข้าราชการกลุ่มงานประติมากร สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร
บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดสร้าง บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ฯ เคยเป็นผู้ดำเนินการจัดสร้างพระพุทธโสธร (จำลอง) รุ่นประวัติศาสตร์ กรมตำรวจ ครบ 80 ปี ทั้งพระบูชาและพระรูปหล่อ ชนิดและขนาดต่างๆ รูปแบบสวยงาม เนื้อหาวัสดุดี การจัดสร้างได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ ได้รับความนิยมอย่างมาก
ปัจจุบันพระพุทธโสธร (จำลอง) รุ่นนี้ประชาชนเสาะแสวงหาเช่าซื้อด้วยราคาที่สูงกว่ากรมตำรวจจัดจำหน่ายครั้งแรกหลายเท่าตัว
วันศุกร์ที่ 8 มิถุนายน 2555 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการจัดพิธีบวงสรวงหน้าพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 4 หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.เภา สารสิน ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจ และ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในขณะนั้น เป็นประธานในพิธี ร่วมขอพรในการจัดสร้างให้บรรลุวัตถุประสงค์ทุกประการ
วันพุธที่ 27 มิถุนายน 2555 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ ทรงเป็นประธานในพิธีเททองหล่อพระนิรันตราย (จำลอง) ที่หน้าพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร
สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้นำแผ่นทองคำ แผ่นเงิน และแผ่นทองแดง มวลสารศักดิ์สิทธิ์ ให้พระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิ์คุณ (พระราชครูวามเทพมุนี) หัวหน้าคณะพรามณ์เทวสถาน โบสถ์พราหมณ์ ลงเลขมงคลต่างๆ ที่มีความหมาย เพื่อเป็นสิริมงคล
และได้นำทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงเจิม ทรงตั้งสัตยาธิษฐานถวายเป็นพุทธบูชาเพื่อเป็นการสืบเนื่องพระราชศรัทธาในพระพุทธศาสนา สำหรับใช้เป็นส่วนผสมสำหรับสร้างพระนิรันตราย (จำลอง) ในครั้งนี้
วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน 2555 สมเด็จพระสังฆราชเสด็จทรงเป็นองค์ประธานในพิธีมหาพุทธาภิเษก ที่พระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร
พระมหาเถราจารย์ เกจิอาจารย์สำคัญ ที่มีชื่อเสียง ประชาชนเคารพนับถือทั่วประเทศ จำนวน 255 รูป มาร่วมในพิธีโดยนั่งปรกรอบพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร
ซึ่งเป็นสุดยอดพิธีแห่งปี ที่มีเกจิอาจารย์มาร่วมนั่งปลุกเสกมากที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ พระเกจิอาจารย์บางรูปมีอายุกว่า 100 ปี ที่เหล่าบรรดาข้าราชการตำรวจทั่วประเทศไปนิมนต์และรับมาร่วมพิธี
วันนั้นมีฝนตกปรอยๆ เกิดปรากฏการณ์เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง กล่าวคือพระอาทิตย์ทรงกรดเหนือท้องฟ้า บริเวณพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหารตลอดเวลา ขณะประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษก
เมื่อดำเนินการสร้างพระเสร็จเรียบร้อย เปิดให้ประชาชนบริจาคเงินเช่าพระนิรันตราย (จำลอง) แบบและชนิดต่างๆ ไปบูชา ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก
มูลนิธิได้รับเงินบริจาคนำไปจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลตำรวจ ตามวัตถุประสงค์
พระนิรันตราย (จำลอง) ขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว ได้แจกจ่ายให้หน่วยราชการตำรวจทั่วประเทศ อัญเชิญไปประดิษฐานให้ตำรวจและประชาชนทั่วไปสักการบูชา
ส่วนพระกริ่งนิรันตราย (จำลอง) ได้มีการแจกจ่ายให้ข้าราชการตำรวจโดยทั่วเช่นเดียวกัน
พระนิรันตราย (จำลอง) องค์ใหญ่ หน้าตัก 19 นิ้ว จำนวน 2 องค์ องค์แรกได้อัญเชิญประดิษฐานไว้ที่บริเวณหอพระที่จัดสร้างขึ้นโดยเฉพาะหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปทุมวัน กรุงเทพมหานคร อีกองค์อัญเชิญประดิษฐานไว้ที่บริเวณห้องโถง ชั้นล่าง อาคารรัชมังคลานุสรณ์ โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อให้ตำรวจและประชาชนทั่วไปสักการบูชาจนถึงทุกวันนี้
หมายเหตุ: พระนิรันตราย (จำลอง) ขนาดหน้าตัก 9 นิ้ว และพระกริ่งนิรันตราย หากท่านใดสนใจสามารถเช่าบริจาคบูชาได้ที่มูลนิธิโรงพยาบาลตำรวจฯ ในวันเวลาราชการ หมายเลขโทรศัพท์ 08-8002-8699.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตำรวจนักเก็บกู้ระเบิด (EOD)
สถานการณ์ของโลกปัจจุบัน การก่ออาชญากรรม ก่อวินาศกรรม หรือก่อการร้าย หากคนร้ายใช้วัตถุระเบิดเป็นอาวุธ แรงระเบิด สะเก็ดระเบิดและความร้อน จะเป็นภยันตรายก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตร่างกายและทรัพย์สินอย่างร้ายแรงที่สุด
ตำรวจ ศชต.
“ท่ามกลางสถานการณ์ก่อความไม่สงบในพื้นที่ที่ทรงตัวมานานเกือบ 20 ปี สิ่งสำคัญในการแก้ปัญหาการก่อการร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ และบางอำเภอในจังหวัดสงขลา ต้องอาศัยการทำงานของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ ในการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น”
ตชด.กับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
“เศรฐกิจพอเพียงจริงๆ คือหลักการดำเนินชีวิตที่จริงแท้ที่สุดกรอบแนวคิดและปรัชญามุ่งเน้นความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนาคือ สามารถประยุกต์ใช้ในทุกระดับ ตลอดจนให้ความสำคัญกับคำว่าพอเพียง ที่ประกอบด้วยความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวภายใต้เงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมที่ต้องอาศัยเงื่อนไข ความรู้และเงื่อนไขคุณธรรม”
ตำรวจพลร่ม
ตำรวจพลร่มเป็นตำรวจซึ่งมีการฝึกอบรมอย่างหนัก ทำให้ตำรวจหน่วยนี้มีวินัย เข้มแข็ง กล้าหาญ อดทน ปฏิบัติหน้าที่ในภารกิจสำคัญที่ได้รับมอบหมายอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นที่ชื่นชมและยกย่องตลอดมา
หมอนิติเวชตำรวจ
พลตำรวจโทนายแพทย์ประเวศน์ คุ้มภัย อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ (ถึงแก่อนิจกรรมแล้ว) จบการศึกษาคณะแพทยศาสตรบัณฑิต
เครื่องจับเท็จ
มหากาพย์คดีฆาตกรรม น้องชมพู่ เป็นคดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ สื่อมวลชนให้ความสนใจ