ก็...ธรรมดานะ
เวลานี้เพื่อไทยเอาแต่ตะโกนโหวกเหวก ยุบสภาซะ
ไม่รู้ว่า "สุรชาติ เทียนทอง" ที่เพิ่งชนะเลือกตั้งไปหยกๆ กำลังตัดชุด เตรียมแต่งตัวเข้าสภา จะเอากับพรรคพวกหรือเปล่า
เพื่อไทยจำได้หรือเปล่า ช่วงที่มวลมหาประชาชนเรือนล้าน ลุกขึ้นมาขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ตั้งหน้าตั้งตาจะเข็น พ.ร.บ.นิรโทษโกงให้พี่ชาย
วันนั้น "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ตอบสนองประชาชนในทันทีหรือเปล่า
อันนั้นประชาชนเรือนล้านเป็นฝ่ายเรียกร้องนะครับ
ไม่ใช่พรรคการเมืองกระหายอำนาจ
แม้วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๖ ยิ่งลักษณ์ จะประกาศยุบสภา แต่ก็เป็นที่รับรู้ว่า นั่นคือเกมในการรักษาอำนาจต่อไป
ในวันที่ "ยิ่งลักษณ์" ยุบสภา คือวันที่ "กำนันสุเทพ" ถือฤกษ์ ๙ ธันวาคม เวลา ๐๙.๓๙ น. นัดเคลื่อนทัพใหญ่ทั่วกรุงไปบุกยึดทำเนียบรัฐบาล
แต่ "ยิ่งลักษณ์" ชิงยุบสภา ในเวลา ๐๘.๔๐ น.
การยุบสภาของ "ยิ่งลักษณ์" มองเผินๆ ควรยกย่องในสปิริตทางการเมือง แต่เปล่าเลย สาเหตุหลักไม่ได้ชิงยุบสภา เพื่อยุติการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส.
แต่เป็นการยุบสภา เพื่อกุมอำนาจต่อ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่
ในวันที่ "ยิ่งลักษณ์" ยุบสภา ให้เหตุผลว่า
๑.การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นกระบวนการปกติของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ดังที่ปรากฏอยู่ในหลายประเทศที่ใช้ระบอบนี้ ซึ่งประเทศไทยได้ยึดถือธรรมเนียมการปฏิบัติดังกล่าวมาโดยตลอด ดังจะเห็นได้จากการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับ บัญญัติรองรับการยุบสภาผู้แทนราษฎรไว้ และได้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรมาแล้วหลายครั้งเช่น เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙ พ.ศ.๒๕๔๓ พ.ศ.๒๕๔๙ และ พ.ศ.๒๕๕๔
๒.ตามที่รัฐบาลเข้ารับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน โดยมีภารกิจสำคัญในการแก้ไขวิกฤตการณ์ภายในประเทศหลายประการ ทั้งในเรื่องของมหาอุทกภัย ผลกระทบจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน รวมทั้งการฟื้นฟูประชาธิปไตยในประเทศ การพยายามสร้างความปรองดอง ตลอดจนฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดความมั่นใจในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งรัฐบาลดำเนินการอย่างสุดความสามารถ แก้ปัญหาจนลุล่วงด้วยดี
อย่างไรก็ตาม ประเด็นด้านความขัดแย้งทางการเมืองยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง ถึงแม้รัฐบาลพยายามที่จะสร้างความเข้าใจอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการเสนอแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญ การเปิดเวทีปฏิรูปการเมือง หรือการทำประชามติ ก็ยังมีผู้ที่เห็นต่างและคัดค้าน ซึ่งรัฐบาลพร้อมที่จะรับฟัง หากการคัดค้านนั้นเป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา
แต่ปรากฏว่ามีผู้คัดค้านจำนวนหนึ่งรวมทั้งสมาชิกพรรคฝ่ายค้านกลับเลือกใช้วิถีทางการชุมนุมต่อต้านนอกเวทีรัฐสภา ซึ่งรัฐบาลได้บริหารการชุมนุมอย่างละมุนละม่อมและประนีประนอม อันเป็นการเคารพสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็น และเพื่อรักษาไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐบาลไม่ต้องการให้ประเทศและคนไทยต้องมีการสูญเสียอีก ด้วยประเทศไทยเจ็บปวดมามากพอแล้ว แต่สถานการณ์ในวันนี้รัฐบาลคำนึงถึงแนวคิดที่แตกต่าง และต่างฝ่ายต่างอ้างว่าเป็นตัวแทนประชาชนจำนวนมาก
เมื่อถึงจุดที่ความคิดขัดแย้งอาจนำไปสู่ความแตกแยกของคนในชาติและมีความรุนแรงจนอาจเกิดความสูญเสียขึ้น รัฐบาลจึงเห็นว่าการคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินด้วยการยุบสภาและจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ เป็นวิถีทางที่เป็นไปตามหลักการแห่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าคนส่วนใหญ่ต้องการแนวทางใด จะให้ใครมาบริหารประเทศตามแนวทางนั้น รัฐบาลใคร่ขอเชิญชวนทุกกลุ่มทุกพรรคการเมืองที่มีความคิดเห็นแตกต่าง ใช้เวทีการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยเป็นที่นำเสนอทางเลือกต่างๆ ให้กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ
๓.เมื่อมีการยุบสภาผู้แทนราษฎรแล้ว รัฐมนตรีทั้งคณะย่อมพ้นจากตำแหน่งไปด้วยตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ มาตรา ๑๘๐ (๒) แต่ต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๘๑ ซึ่งกำหนดไว้ว่าคณะรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะปฏิบัติหน้าที่ได้เท่าที่จำเป็นภายใต้เงื่อนไขที่กำหนดในมาตราดังกล่าว
๔.ขอให้ประชาชนทั้งหลายให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ซึ่งจะได้หารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงการกำหนดวันเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ รัฐบาลขอให้ประชาชนทำหน้าที่และใช้สิทธิเลือกตั้งด้วยความพร้อมเพรียง ใส่ใจ และรอบคอบ เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมที่สุด จะเป็นการแสดงเจตจำนงทางการเมืองโดยสันติตามวิถีทางรัฐธรรมนูญและการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
หลัง "ยิ่งลักษณ์" ยุบสภา ได้ประกาศวันเลือกตั้งใหม่เป็นวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗
เงื่อนเวลานี้ถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อชิงความได้เปรียบทางการเมือง ดังเช่นเหตุผลในข้อ ๓ ที่ "ยิ่งลักษณ์" นำมากล่าวอ้าง
เงื่อนเวลานี้สัมพันธ์กับความเป็นความตายของพรรคเพื่อไทย และตัว "ยิ่งลักษณ์" เอง
นั่นคือแผนที่วางไว้ เพื่อเผชิญกับคดีโยกย้าย "ถวิล เปลี่ยนศรี" พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติโดยมิชอบ
"เพื่อไทย และ ยิ่งลักษณ์" รู้อยู่แล้วว่า คดีนี้รอดยาก!
เพราะคดีนี้มีแววเช่นนั้นมาตั้งแต่ต้น
วันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๓ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ใช้อำนาจโดยมิชอบ
ในทางการเมืองการยุบสภาคือการลดอุณหภูมิทางการเมือง
แต่การชิงยุบสภาในครั้งนั้น เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ก่อนที่ ศาลปกครองสูงสุดจะตัดสินคดีโยกย้าย "ถวิล เปลี่ยนศรี"
ซึ่งศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ ๗ มีนาคม ๒๕๕๗
หมายความว่าเลือกตั้ง ๒ กุมภาพันธ์ ครม.ยิ่งลักษณ์ยังมีสถานะ ครม.รักษาการ ย่อมมีความได้เปรียบในการเลือกตั้ง
แต่ผลที่ออกมาไม่เป็นไปตามที่คาดคิดเอาไว้
นอกจากการเลือกตั้งเป็นโมฆะ แล้ว ศาลปกครองสูงสุดยังชี้ว่า "ยิ่งลักษณ์" ออกคำสั่ง โยกย้าย "ถวิล เปลี่ยนศรี" โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ต่อมา ๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ ให้ "ยิ่งลักษณ์" สิ้นสภาพนายกฯ เป็นความผิดเฉพาะตัว
และรายชื่อ ครม. ๙ คนที่ต้องสิ้นสุดการเป็นรัฐมนตรีไปด้วย คือ สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล, เฉลิม อยู่บำรุง, กิตติรัตน์ ณ ระนอง, ประชา, ยุทธศักดิ์, สันติ, อนุดิษฐ์, ศิริวัฒน์ และ ปลอดประสพ สุรัสวดี
ครับ...เมื่อวันนี้เพื่อไทย เรียกร้องให้ "ลุงตู่" ยุบสภา เพื่อไทยก็ต้องทบทวนเช่นกัน
การยุบสภาเป็นเครื่องมือทางการเมืองของนายกรัฐมนตรี ถ้าเห็นว่าไปต่อไม่ได้ควรยุบสภา เปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตัดสินอีกครั้งว่าจะเลือกใครเป็นรัฐบาล
แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทำมากกว่านั้น
พยายามนิรโทษกรรมให้คนโกง ต่ออายุระบอบทักษิณ
การยุบสภาของ "ยิ่งลักษณ์" ไม่มีเจตนาให้ประชาชนได้ตัดสินใจใหม่ เพราะขณะนั้นเพื่อไทยมั่นใจว่า ตัวเองกำหนดผลการเลือกตั้งได้ โดยมี "ทักษิณ" บงการอยู่เบื้องหลัง
และครั้งนี้ เพื่อไทย มั่นใจว่าสามารถชนะการเลือกตั้งเป็นพรรคอันดับหนึ่งได้อีกครั้ง
ชัยชนะการเลือกตั้งซ่อมเขตหลักสี่ เป็นการสร้างความฮึกเหิม และเพื่อไทยอยากตีเหล็กตอนร้อน
อีกทั้งตัวบงการที่สร้างเรื่องมาตั้งแต่ต้น ก็ยังอยู่
แต่ฝั่ง "ลุงตู่" ยืนยันจะอยู่ยาวจนกว่าจัดการประชุมเอเปกปลายปีนี้เสร็จสิ้น
เลือกตั้งต้นปีหน้า
และความเป็นจริงที่ปรากฏในวันนี้ ยังไม่มีเหตุถึงขั้นต้องยุบสภา
นอกจากคนที่อยากได้อำนาจนั่งบ่นให้ยุบสภารายวัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เบื้องหลังผู้ลี้ภัย
เริ่มต้นปีก็ประกาศกันคึกคักแล้วครับ ทั้งฝั่งตรวจสอบ "ทักษิณ" ยัน "ผู้ลี้ภัย" สำหรับ "ทักษิณ" ปีนี้น่าจะโดนหลายดอกตั้งแต่ต้นปี
วันนี้ของ "วันนอร์"
ไม่ค่อยได้เขียนถึง "อาจารย์วันนอร์" สักเท่าไหร่ เพราะไม่มีเหตุให้ต้องวิพากษ์วิจารณ์ แม้แต่ฉายา “รูทีนตีนตุ๊กแก” ที่นักข่าวรัฐสภาตั้งให้ ก็ยังแอบเคืองแทน หาว่ากอดเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ แน่น
๒๕๖๘ อันธพาลการเมือง
ที่สุดแห่งปีในปีที่แล้วไม่มีใครเกิน "หมูเด้ง" เกิดมาเพื่อดังจริงๆ ไม่ใช่ดังธรรมดา แต่ดังข้ามทวีป คนรู้จักไปทั่วโลก
'ยิ่งลักษณ์' จะกลับมา
สิ้นปีแล้ว...แทนที่จะได้พักหูบ้าง "พ่อริ-ลูกยำ" สมุนตาม ชาวบ้านด่ากันขรม ยังไม่พออีกหรือ
'ทักษิณ' ไม่ไกลคุก
เหตุบ้านการเมืองก่อนสิ้นปี เป็นไปตามสภาพครับ คะแนนนิยมของ "แพทองโพย" ลดลง ตามนิด้าโพล ที่เขาสำรวจ คะแนนนิยมทางการเมือง ไตรมาสสุดท้าย ที่ ๒๙.๘๕ % จากไตรมาส ๓ ที่สูงกว่านิดหน่อย ๓๑.๓๕%
'ด.ญ.แพทองโพย'
ชอบครับ.... คำขวัญวันเด็กจากนายกรัฐมนตรีปีนี้ "...ทุกโอกาสคือการเรียนรู้ พร้อมปรับตัวสู่อนาคตที่เลือกเอง..."