อ่านระหว่างบรรทัดแถลงการณ์ อาเซียนไม่เชิญ มิน อ่องหล่าย

ผมอ่านแถลงการณ์จาก “ประธานอาเซียน” (บรูไน) ที่สรุปมติของที่ประชุม “นัดฉุกเฉิน” ของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่ออกมาเมื่อวันศุกร์แล้วก็เห็นได้ว่ารอยแตกระแหงระหว่าง มิน อ่องหล่าย กับอาเซียน กำลังจะเข้าสู่โหมดของการ “จำกัดความเสียหาย” ได้ยากขึ้นทุกที
    แถลงการณ์นี้เริ่มด้วยการบอกว่า เป็นการประชุมนัดพิเศษของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน เมื่อวันที่ 15 ตุลา. ผ่านวิดีโอเพื่อปรึกษาการเตรียมการประชุมสุดยอด ASEAN Summit and Related Summits ระหว่าง 26-28 ตุลาคมนี้ (ผ่านวิดีโอเหมือนกัน)

“ทูตพิเศษของประธานอาเซียนว่าด้วยกิจการเมียนมา” (หมายถึงรัฐมนตรีต่างประเทศบรูไน Erywan Yusof) ได้รายงานที่ประชุมเกี่ยวกับความคืบหน้าของฉันทามติ 5 ข้อของผู้นำอาเซียนที่ประชุมกันวันที่ 24 เมษายนปีนี้ ที่สำนักงานเลขาธิการอาเซียนที่กรุงจาการ์ตา
    รัฐมนตรีต่างประเทศแสดงความชื่นชมในการทำหน้าที่ของทูตพิเศษ
โดยให้ความสำคัญกับการที่ทูตพิเศษจะไปเยือนเมียนมาแต่ก็เน้นความสำคัญของการที่จะ “เข้าถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” และการยึดมั่นตามหลักฉันทามติ 5 ข้อ
    การย้ำความสำคัญของ “การเข้าถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” (access to all parties concerned) มีนัยสำคัญมาก เพราะถึงวันนี้ทูตพิเศษอาเซียนก็ยังไม่ได้รับคำยืนยันว่าจะทำเช่นนั้นได้
    แถลงการณ์บอกต่อว่า ได้ “ฟังอย่างระมัดระวัง” รายงานจากเมียนมาว่าด้วยการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ
    รายงานจากเมียนมาที่ว่านี้มาจากรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่าคือ วันนา หม่อง ลวิน ที่เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์
    แถลงการณ์บอกว่าตัวแทนจากเมียนมาได้แจ้งว่าทูตพิเศษอาเซียนควรจะ “หลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับฝ่ายที่กำลังอยู่ภายใต้กระบวนการกฎหมาย”
และระบุชื่อของ อองซาน ซูจี กับ อู วิน มิน (ประธานาธิบดีภายใต้รัฐบาลก่อน) 
    รวมถึง CRPH, NUG และ PDF
นั่นคือคำย่อของ Committee Representing the Pyidaungsu Hluttaw, National Unity Government และ People’s Defence Forces
    ซึ่งรัฐบาลทหารพม่าถือว่าเป็นองค์กร “ผิดกฎหมาย” ในนิยามของเขา พอตัวแทนเมียนมาระบุเช่นนี้ก็เห็นได้ชัดว่ามีปัญหาแน่
    เพราะเจตนาของฉันทามติ 5 ข้อนั้นต้องการจะให้ มิน อ่องหล่าย ผู้ก่อรัฐประหารนั่งลงปรึกษาหารือกับองค์กรและบุคคลต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากกลุ่มคนที่ประชาชนเลือกตั้งมาอย่างท่วมท้น     และเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารเพื่อเรียกร้องให้กลับไปสู่กระบวนการประชาธิปไตย    แสดงว่าผู้นำอาเซียนกับแกนนำของรัฐบาลทหารเมียนมาตีความฉันทามติไปคนละข้างกันโดยสิ้นเชิง
    แถลงการณ์บอกว่า รัฐมนตรีต่างประเทศต้อนรับ “ความพร้อม” ของรัฐบาลทหารพม่าที่บอกว่าพร้อมจะทำงานอย่างใกล้ชิดกับทูตพิเศษอาเซียน
แต่ก็เน้นความจำเป็นที่จะต้องใช้ความยืนหยุ่นในการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน
    และตอกย้ำความสำคัญของการที่จะให้ทูตพิเศษอาเซียน “เข้าถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง”
    เห็นได้ชัดว่าพูดกันคนละภาษาแล้ว
แถลงการณ์บอกต่อว่า รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนยืนยันที่จะยึดหลักการของกฎบัตรอาเซียน และขณะเดียวกันก็ตระหนักว่าสถานการณ์ในเมียนมามีผลต่อความมั่นคงและความเป็นเอกภาพของภูมิภาค
    ตลอดจนความน่าเชื่อถือและสถานภาพความเป็นแกนหลักของอาเซียน (credibility and centrality of ASEAN)
    ในฐานะที่อาเซียนเป็นองค์กรที่ยึดกฎกติกาสากลเป็นหลัก (rules-based organization) แถลงการณ์ย้ำว่าเมียนมาเป็น “สมาชิกที่สำคัญของครอบครัวอาเซียน”
    ประโยคต่อมาของแถลงการณ์ตอกย้ำการที่รัฐมนตรีต่างประเทศต้องตัดสินทำอะไรที่รัฐบาลทหารเมียนมาไม่เห็นด้วยแน่นอน
    เพราะมี “บางประเทศสมาชิกอาเซียนได้เสนอว่า อาเซียนควรจะให้พื้นที่ (space) กับเมียนมาเพื่อฟื้นคืนกิจการภายในและกลับสู่ภาวะปกติตามแนวทางที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนเมียนมา)”
    ประโยคนี้แหละที่นำไปสู่ข้อสรุปว่า แล้วเมียนมาจะมีตัวแทนแบบไหนในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่กำลังจะเกิดขึ้นก่อนสิ้นเดือนนี้
    มีการระบุว่าสมาชิกอาเซียนบางประเทศได้รับการติดต่อจาก NUG (รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หรือฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหาร) ที่จะให้เชิญตัวแทนของเขามาร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน
    มาถึงประโยคสำคัญที่สุดของแถลงการณ์ที่บอกว่า
    “หลังจากมีการปรึกษาหารือกันอย่างกว้างขวาง ปรากฏว่าไม่มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ว่าด้วยการเชิญตัวแทนทางการเมืองจากเมียนมา” มาร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้
    จึงสรุปด้วยประโยคสุดท้ายว่า
เมื่อมีการแก่งแย่งจากหลายฝ่ายในเมียนมาเพื่อส่งตัวแทนของตนมาร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ ที่ประชุมนัดพิเศษของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจึงสรุปว่า จะต้องยืนยันยึดมั่นในหลักการ “ไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศสมาชิก”
    แต่ขณะเดียวกันก็จะ “เปิดทางให้พื้นที่แก่เมียนมาในการฟื้นคืนกิจกรรมภายในและกลับสู่ภาวะปกติ”
    ที่ประชุมจึงตัดสินใจที่จะเชิญ “ตัวแทนที่ไม่มีนัยทางการเมือง (non-political representative) จากเมียนมา” มาร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้
    ขณะเดียวกันก็รับทราบถึง “การสงวนสิทธิ์ในการเห็นต่าง” (reservations) จากตัวแทนเมียนมาในที่ประชุม
    (แถลงการณ์ของรัฐบาลทหารพม่าหลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมงแสดงความ “ผิดหวังอย่างลุ่มลึก” และ “คัดค้าน” มติของที่ประชุมอาเซียนครั้งนี้อย่างขึงขังทีเดียว)
    ผมสรุปว่าเป็นแถลงการณ์ที่ต้องใช้ความสามารถทางการทูตทั้งภาษาลีลาและการกำหนดนโยบายที่ท้าทายความสามารถของผู้นำอาเซียนอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนจริงๆ
    เคยเห็นนักกายกรรมไต่ลวดลอยฟ้าที่สร้างความหวาดเสียวให้กับผู้พบเห็นไหม? นั่นแหละสถานการณ์ของอาเซียนวันนี้!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ

แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ

เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง

พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์

ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด

เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!

อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว