เยือนถิ่น ‘มหินทเถระ’

ภูเขา 4 ลูกตั้งอยู่ไม่ห่างกันนัก ความสูงใกล้เคียงกันประมาณ 300 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และภูเขาลูกที่สำคัญที่สุดคือ “มหินทเล” ชื่อนี้ไม่เกี่ยวกับทะเล หากเป็นสถานที่ก่อกำเนิดพุทธศาสนาในลังกาทวีป

เรื่องราวตอนที่แล้วจบลงตรงที่การเจรจาต่อรองการใช้บริการไกด์ประจำโบราณสถานมหินทเลบริเวณจุดขายตั๋ว ไกด์อายุน้อยแต่เคราดกรกครึ้มแสดงท่าทางคึกคักเมื่อผมตอบตกลงใช้บริการ

ตลอดการเดินทางในศรีลังกาทริปนี้ ผมสังเกตเห็นว่าแม้นักท่องเที่ยวมีน้อยนิด บางแห่งมีพอๆ กับจำนวนไกด์ หรือน้อยกว่าจำนวนไกด์ โอกาสที่ไกด์แต่ละคนจะไม่ได้จ๊อบในแต่ละวันมีสูงมาก แต่ดูเหมือนราคาค่าบริการไม่ลดลง แถมยังสูงขึ้นด้วยซ้ำไป ขัดแย้งกับหลักอุปสงค์อุปทาน ไกด์และคนขับตุ๊กๆ เรียกราคาสูงไว้ก่อนแล้วค่อยมาต่อรองราคาทีหลัง คงเพราะว่านี่คือกลุ่มคนที่ทานทนพิษเศรษฐกิจได้ดี อาจมีเงินเก็บพอประมาณ ไม่ลำบากขัดสนจนถึงขั้นต้องทิ้งอาชีพจากการปิดประเทศในช่วงการระบาดของโควิด-19

ร่องรอยของหอฉันแห่งวัดมหินทเลราชมหาวิหาร

หน้าทางเข้าวัดมหินทเลมีไกด์ 2 คน ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเวลาบ่าย 3 โมงครึ่ง นอกจากผมแล้วก็ไม่มีใครอื่นอีกเลย ผมปฏิเสธไปหนึ่ง และอีกหนึ่งจำใจยอมใช้บริการ เพราะคนขายตั๋วแนะนำว่านี่คือ “เด็กวัด” ที่ใกล้ชิดกับวัดและมีพ่อแม่ที่ต้องเลี้ยงดู

ใกล้ๆ จุดขายตั๋วเป็นลานกว้าง เรียกว่า “เมดา มาลูวา” มีกลุ่มโบราณสถานที่ส่วนมากเหลือแต่ส่วนฐาน ไกด์ใหม่เอี่ยมของผมชี้ให้ดูแต่ละจุดอย่างรีบเร่ง ที่น่าสนใจมากกว่าอย่างอื่นคือ “หอฉัน” มีรางหินขนาดใหญ่ กว้าง-ยาวประมาณ 1 คูณ 10 เมตร ลึกประมาณ 1 เมตร ไกด์ของผมอธิบายว่าเป็นที่ใส่ข้าว ส่วนใกล้กันเป็นรางหินที่ขนาดเล็กกว่ามาก เขาบอกว่าเป็นที่ใส่ผัก (แต่ข้อมูลจากเว็บไซต์ amazinglanka.com ระบุว่ามีไว้ใส่ข้าวต้ม) พระสงฆ์นั่งฉันรวมกันกลางห้องโถง บริเวณนี้มีร่องรอยของระบบน้ำดื่มน้ำใช้ที่ปล่อยมาตามท่อส่งตรงมาจากบ่อพญานาคด้านบนใกล้ยอดเขา

หลวงพ่อโตแห่งมหินทเล (ซ้าย) และหินอาราธนากาลา (ขวา)

โบราณสถานสำคัญอื่นๆ ในอาณาบริเวณนี้ยังมีโบสถ์ขนาด 19 คูณ 19 เมตร สร้างขึ้นโดยใช้เสาหิน 48 ต้น มีประตูทางเข้า 4 ด้าน ไกด์ของผมเรียกว่า Conference room หรือที่ประชุมสงฆ์ และซากอาคารอีกหลัง เชื่อว่าเป็นหอพระบรมธาตุ ด้านซ้าย-ขวาของประตูมีแผ่นหินแกรนิตขนาดใหญ่ตั้งฉากกับพื้น เป็นจารึกของพระเจ้ามหินทุที่ 4 ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1499-1515 เขียนกฎระเบียบของวัดแผ่นหนึ่ง และรายละเอียดการใช้จ่ายของวัดแผ่นหนึ่ง

ขอคั่นนิดนึงว่ามี 2 โบราณสถานสำคัญของมหินทเลที่ผมไม่ได้ไปเยี่ยมชมสักการะ เพราะทางเข้าที่น้าวสันตรา คนขับตุ๊กๆ พามานั้นไม่ได้ผ่าน นั่นคือ “กัณฐกเจดีย์” ขนาดเส้นรอบวง 130 เมตร ปัจจุบันไม่เหลือส่วนยอด แต่ยังโดดเด่นด้วยขอบใกล้ฐาน 3 ชั้น และสิ่งที่เรียกว่า “วาฮัล คาเด” หรือส่วนประดับตกแต่งที่ยื่นออกมาจากผิวของเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ คล้ายหิ้งหน้ากว้างๆ หลายชั้น แกะสลักเป็นรูปเทวดา มนุษย์ สัตว์ และพืชพรรณ เชื่อว่าเจดีย์แห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อ 2,141 ปีก่อนเป็นอย่างน้อย

ภายในวิหารพระพุทธไสยาสน์ บนเนินเขาติดกับเจดีย์มหาเสยะ

โบราณอีกแห่งคือโรงพยาบาลสงฆ์ และว่ากันว่าเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกของโลก สร้างขึ้นเมื่อราว 2 พันปีก่อน แต่สิ่งหลงเหลือของโรงพยาบาลในปัจจุบันสร้างขึ้นภายหลัง นั่นคือในสมัยพระเจ้าเสนาที่ 2 ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.1396-1430 โรงพยาบาลแห่งนี้มีห้องสำหรับพระสงฆ์อาพาธ 31 ห้อง แต่ละห้องพระสงฆ์อาพาธอยู่ร่วมกันได้ 2 รูป นอกจากนี้ยังมีสถานที่สำหรับบดยา ห้องเก็บยา และห้องอาบน้ำอุ่นหรืออบสมุนไพร-อบไอน้ำ

เมื่อครั้งพระภิกษุ “ฟา-เหียน” ของจีนเดินทางมายังบริเวณนี้เมื่อคริสต์ศตวรรษที่ 5 ท่านได้บันทึกว่ามหินทเลมีพระสงฆ์จำวัดอยู่ถึงประมาณ 2 พันรูป จึงย่อมเป็นสิ่งธรรมดาที่มหินทเลจะมีระบบสาธารณูปโภคครบครัน เพื่ออำนวยความสะดวกให้พระสงฆ์ดำรงชีวิตและปฏิบัติศาสนกิจได้ไม่ติดขัด

หินอาราธนากาลา เจดีย์อัมภัสตถละ และเจดีย์มหาเสยะ ถ่ายจากฐานหลวงพ่อโต

ไกด์หนุ่มเดินนำผมขึ้นบันไดหินไปหลายร้อยขั้น ถึงจุดถอดรองเท้าตั้งบนชั้นวาง ไกด์ของผมส่งเสียงเหนื่อยหอบออกมาให้ได้ยิน จากนั้นเราเดินเข้าไปยังส่วนบนของวัดมหินทเล ป้ายขนาดใหญ่แสดงข้อมูลตรงประตูทางเข้าล้วนเป็นภาษาสิงหล ไกด์ของผมก็พูดไปเรื่อยเปื่อย ส่วนมากจะถามคำถามเชิงลองภูมิพุทธศาสนาของผมเสียเป็นส่วนใหญ่ ผมเองก็ไม่ได้ต้องการให้เขาอธิบายอะไรมากมายอยู่แล้ว เพราะยังไงก็ลืมรายละเอียดอยู่ดี นอกจากนี้ภาษาอังกฤษของเขาสำเนียงฟังค่อนข้างยากอีกด้วย

เมื่อเดินเข้ามาในบริเวณสำคัญที่สุดของมหินทเลนี้ หากมองจากภาพมุมสูง บริเวณพื้นราบตรงกลางคือเจดีย์อัมภัสตถละ (Ambasthala Dagaba หมายถึงเจดีย์บนเนินมะม่วง) ล้อมรอบ 3 ด้านด้วยยอดเขา 3 ยอด ด้านขวามือซึ่งต้องขึ้นบันไดหินไปอีกเกือบ 100 ขั้น คือมหาสถูป ซ้ายมือซึ่งต้องขึ้นบันไดไปเช่นกัน ประดิษฐานพระพุทธรูปขนาดใหญ่ และด้านหลังของเจดีย์เจดีย์อัมภัสตถละเป็นทางขึ้นไปยังหินอาราธนา (Aradhana Gala) ที่โด่งดังเป็นที่นิยมในการถ่ายภาพ และเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของมหินทเล

เจดีย์มหาเสยะและหลวงพ่อโตแห่งมหินทเล

สำหรับเจดีย์อัมภัสตถละคือจุดที่พระมหินทเถระพบกับพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะเป็นครั้งแรก เมื่อวันเพ็ญเดือนวิสาขะ ปีใดไม่แน่ชัด แรกเริ่มการพับกันพระมหินทเถระได้ขอชีวิตให้กับกวางตัวหนึ่งที่กำลังจะถูกพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะยิงสังหารในระหว่างการล่าสัตว์ อันเป็นความบันเทิงปกติของพระเจ้าแผ่นดิน และหลังจากพระมหินทเถระแสดงธรรมแล้ว พระเจ้าเทวานัมปิยติสสะก็ทรงกลายเป็นพุทธมามกะ สถานที่แห่งนี้จึงถือเป็นจุดที่ให้กำเนิดพุทธศาสนาในศรีลังกา

ในตั๋วที่ผมเพิ่้งซื้อมา เขียนข้อความที่พระมหินทเถระตรัสกับพระเจ้าแผ่นดินศรีลังกาว่า “มหาบพิตรผู้ยิ่งใหญ่ โปรดงดเว้นการฆ่านกบนท้องฟ้าและสัตว์ป่าในพงไพร สิ่งมีชีวิตทั้งหลายมีสิทธิ์ที่จะใช้ชีวิตในโลกใบนี้อย่างมีอิสรเสรี มหาบพิตรเป็นเพียงผู้ปกครองเท่านั้น” หลังจากนั้นพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะก็ได้สร้างวัดขึ้น ณ ที่แห่งนี้ และได้ปรับปรุงถ้ำให้เป็นกุฏิสงฆ์ 68 คูหาทั่วบริเวณนี้ในเวลาไล่เลี่ยกัน

ต่อมาเมื่อพระมหินทเถระดับขันธ์นิพพานละสังขารไปแล้ว ก็ได้มีการสร้างเจดีย์ขึ้น ณ จุดที่พระอรหันต์และมหาราชได้พบกัน ภายในบรรจุพระธาตุของพระมหินทเถระ รอบเจดีย์มีร่องรอยของ “วฏะดาเก” ล้อมคลุมพระเจดีย์ แบบเดียวกับที่ถูปารามและลังการาม

สำหรับนาม “มหินทะ” ภาษาสิงหลเขียนเป็น “มิหินทุ” และมหินทเล ก็เรียก “มิหินทเล” เขียนด้วยอักษรโรมันว่า Mihinthale แปลว่า “ที่ราบสูงมิหินทุ”

ที่ผมไม่สามารถยืนยันปี พ.ศ. การพบกันของพระมหินทเถระกับพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะนั้น เพราะข้อมูลส่วนนี้ค่อนข้างสับสน ค้นเท่าไรก็ยังไม่มั่นใจว่าอันไหนถูกต้องตรงตามความเป็นจริง แต่ก็พอจะจำกัดกรอบช่วงปีลงได้ กล่าวคือพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.293-333 (บางแหล่งข้อมูล พ.ศ.296-336) พระเจ้าอโศกมหาราช บิดาของพระมหินทเถระ เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธหลัง พ.ศ.283 ส่วนพระมหินทเถระประสูติ พ.ศ.258 ดับขันธ์นิพพาน พ.ศ.338 และมีบันทึกว่าพระมหินทเถระเริ่มออกยาตราจากแคว้นมคธพร้อมพระภิกษุอีก 4 รูปเพื่อมายังศรีลังกาในปี พ.ศ.291 ซึ่งข้อมูลชุดนี้มีความสอดคล้องกัน ฉะนั้นการถือกำเนิดพุทธศาสนาในศรีลังกาจึงอยู่ระหว่าง พ.ศ.293 ถึง พ.ศ.333 อันเป็นช่วงการครองราชย์ของพระเจ้าเทวานัมปิยติสสะ โดยปีที่เป็นไปได้มากคือ พ.ศ.296

เราเดินขึ้นไปยังมหาสถูปหรือ “มหาเสยะ” ก่อน ไกด์อธิบายอะไรบางอย่างที่ผมฟังไม่ถนัด ค้นข้อมูลทีหลังทราบว่าเป็นสถูปหรือเจดีย์ที่สร้างขึ้นโดยพระเจ้ามหาธาติกะมหานาค ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.550-562 เจดีย์มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 41 เมตร

ผมอ่านจารึกจากแผ่นโลหะหน้าพระเจดีย์จึงทราบว่าพระอุณาโลมธาตุ หรือเส้นขนระหว่างคิ้วของพระพุทธเจ้าถูกบรรจุไว้ภายใน และมีตอนหนึ่งที่ระบุว่า สยามของเราในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงส่งความช่วยเหลือในการบูรณปฏิสังขรณ์มาเมื่อ พ.ศ.2436 ทว่าการบูรณปฏิสังขรณ์ประสบผลสำเร็จในอีกประมาณ 60 ปีถัดมา

สำหรับเจดีย์และสถูปในภาษาสิงหลใช้ในความหมายที่ใกล้เคียงกันมาก เรียกได้หลายคำ ทั้ง Cetiya, Dagaba, Dagoba, Seya และ Thupa

ผมเดินเวียนขวา 1 รอบ มองเห็นสถูปโบราณน้อยใหญ่เบื้องล่างแซมอยู่กับต้นไม้และก้อนหิน ภูเขาในย่านใกล้เคียง ป่าและผืนน้ำ แล้วเดินเข้าไปยังวิหารพระพุทธไสยาสน์ที่อยู่ติดกับพระเจดีย์ ตามผนังของวิหารมีรูปปั้นและภาพเขียนเหล่าภิกษุสงฆ์และเทวดาต่างพนมมือถวายสักการะหันหน้าไปทางพระพุทธรูป

จากนั้นเราก็เดินลงมายังลานหน้าเจดีย์อัมภัสตถละ ไกด์หนุ่มขอเดินไปนั่งพัก แสดงอาการเหนื่อยออกมาอย่างชัดเจน เป็นไปได้ว่าเขาสูบบุหรี่จัดหรือปอดมีปัญหา บอกว่าจะไม่ตามผมขึ้นไปยังพระพุทธรูปบนยอดเขาด้านซ้ายมือ ผมไม่ว่าอะไร เดินขึ้นไปกราบ ถ่ายรูปพระพุทธรูปองค์โตปางโปรดอาฬาวกยักษ์ ซึ่งทราบว่าไม่ได้มีอายุเก่าแก่มากนัก สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2536 แต่เวลาถ่ายภาพไม่ว่าจากมุมใด ให้ความงดงามและสร้างสมดุลแก่ภาพถ่ายอย่างดียิ่ง

ผมเดินลงจากยอดเขามาแล้วลังเลที่จะขึ้นไปยัง “อาราธนา กาลา” ตามตำนานเล่าว่าเป็นเนินก้อนหินจุดที่พระมหินทเถระใช้อิทธิฤทธิ์เหาะลงมาเมื่อครั้งกระโน้น ไกด์เคราดกแนะนำว่าขึ้นไปก็จะถ่ายรูปหินไม่เห็น รูปที่ได้ก็จะเป็นวิวป่าเขียว น้ำเบื้องล่าง พระพุทธรูป และมหาสถูป วิวพระพุทธรูปกับมหาสถูปจะไม่สามารถอยู่ในเฟรมเดียวกันได้ สู้ถ่ายจากพระพุทธรูปและมหาสถูปไม่ได้ ผมก็เลยไม่ขึ้นไป เดินลงจากยอดเขาตามหลังไกด์หนุ่มลงมา

ตอนหลังถึงทราบว่าได้พลาดถ้ำ “มหินทะ คูหา” กุฏิของพระมหินทเถระที่มีเตียงหินอยู่ด้านใน ซึ่งต้องเดินไปตามทางเล็กๆ จากด้านหลังของเจดีย์อัมภัสตถละ

ระหว่างเดินบันไดลงจากยอดเขา เจอกับกลุ่มสาวๆ ชาวท้องถิ่นที่เดินสวนขึ้นไป พวกเธอหิ้วทรายกันคนละถุงสองถุง ไกด์เคราดกบอกว่าพวกเธอกำลังขนทรายเข้าวัดเป็นการทำบุญ พอเราเดินผ่านสาวๆ กลุ่มนั้นมา ไกด์ของผมก็บอกว่าสาวๆ กลุ่มนั้นโบกมือตามหลังให้ผม “คุยได้นะ จะจัดแจงให้” แต่ผมบอกเขาไปว่า “อย่าเพิ่งหาเรื่องตอนนี้เลย”

ไกด์หนุ่มเลี้ยวซ้ายเข้าป่า ไปพบกับ Naga Pokuna หรือบ่อพญานาค ด้านหลังเป็นกำแพงหินธรรมชาติ กักน้ำไว้โดยขอบคันหินที่คนสร้างขึ้น ตรงมุมหนึ่งของผนังบ่อธรรมชาติ มีภาพแกะสลักหินเป็นรูปพญานาค 5 เศียร ไกด์ของผมเรียกว่า Cobra หรืองูเห่า ซึ่งขอบอกตามตรงว่าเหมือนงูเห่ามากกว่าจริงๆ

เขาเดินนำต่อไปในป่า เป็นทางลัดที่จะพาเราลงไปยังลานจอดรถ ระหว่างเดินอยู่นี้เขาพูดว่าเงินที่ผมจะให้มีความสำคัญกับเขามากเพียงใด ช่วงนี้ไม่มีนักท่องเที่ยวเลย เงินที่ได้จากผมจะช่วยให้ครอบครัวของเขามีกินไปอีกหลายวัน ผมก็คิดว่าจะให้เขามากกว่าที่ตกลงกันไว้อยู่แล้ว ไม่ใช่เพราะคุณภาพในบริการ แต่เพราะอัธยาศัยที่ดี เขาขอให้ผมยื่นเงินให้ก่อนออกจากเขตป่า คงเพราะกลัวว่าคนขายตั๋วจะเห็นเข้า แล้วอาจถูกหักส่วนแบ่งมากขึ้นกว่าเดิม

ผมให้เขา 1,500 รูปี จากที่ตกลงกันไว้ที่ 1,000 รูปี แต่เขาขออีก 500 รูปี เท่ากับราคาที่เขาเสนอตอนแรก รวมเป็น 2,000 รูปี ผมก็ให้ไปตามคำขอ เวลานี้ศรีลังกาประสบกับภาวะเงินเฟ้ออย่างหนัก ข้าวของราคาแพงขึ้นหลายสิบเปอร์เซ็นต์

ไกด์เคราดกเดินมาส่งผมถึงลานจอดรถ คนขายตั๋วยืนรออยู่พร้อมยกมือไหว้ เช่นเดียวกับไกด์หน้ายับที่ผมปฏิเสธไปก่อนหน้านี้ก็ยังยืนอยู่ที่เดิม ทุกคนอวยพรให้ผมโชคดี

เหตุการณ์หลังจากนี้ระหว่างคนทั้งสามจะเป็นอย่างไร ผมไม่อาจรู้ได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สับสนอลหม่าน แพทองธาร...พาลแพแตก

เราเคยทำนายไว้ว่าเมื่อนายกรัฐมนตรีที่ชื่อเศรษฐาพ้นจากการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 และได้แพทองธารมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31

โลกแห่งความเป็นจริงที่กำลังถูกกลืนกิน

ด้วยความก้าวหน้า-ก้าวไกลของเทคโนโลยีข้อมูล-ข่าวสาร ที่เตลิดเปิดเปิงไปถึงระดับ 5G-6G และไม่รู้จะอีกกี่ G ภายในอนาคตอันใกล้ แถมยังมีตัวเร่ง ตัวกระตุ้น

เก้าอี้ 'ผบ.ตร.' ชัด

อุ๊ย....อุ๊ย แม้ บิ๊กต่าย-พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รอง ผบ.ตร.จะปฏิเสธเสียงแข็งการเข้าพบ นายกฯ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่เกี่ยวกับการทาบทาม

เลือกผู้แทนกันยังไง...เมืองไทยจึงเป็นเช่นนี้

หลังจากรู้ผลการเลือกตั้งในคืนวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 บ้านเมืองไทยก็ดูพิกลพิการ อยู่ในสภาพที่ไม่อาจจะเดินหน้าเพื่อการพัฒนาที่จะสร้างความเจริญก้าวหน้า

ว่าด้วยการ'ฟันธง'ของนักวิเคราะห์ทั้งหลาย

ถึงเคยคลุกคลีอยู่กับการ วิเคราะห์ การบ้าน-การเมือง มาร่วมกว่าๆ 2 ทศวรรษเห็นจะได้ แต่ด้วยอายุปูนนี้และด้วยสภาพแวดล้อมที่ทำให้ตัวเองใกล้ๆ