ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 47)

 

ไชยันต์ ไชยพร

ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490  เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 และฉบับที่ 3 คือฉบับ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489  ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นแล้วว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ที่ใช้อยู่ระหว่าง พ.ศ. 2475-2489 เป็นรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่ระบอบคณาธิปไตยสืบทอดอำนาจโดยคณะราษฎร สาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญคณาธิปไตยสืบทอดอำนาจโดยคณะราษฎร ได้แก่

1. การเปิดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มีสิทธิ์รับรองคณะรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1

2. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มีจำนวนเท่ากับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 ที่มาจากการเลือกตั้ง

3. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี และมีวาระอยู่ยาวตราบที่ยังบังคับใช้บทเฉพาะกาลอยู่

4. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ชุดแรกที่แต่งตั้งขึ้นในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2476 มาจากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 ที่มาจากการทำรัฐประหาร

5. คณะรัฐมนตรี คณะที่ 4 ที่มาจากการทำรัฐประหาร แต่งตั้งตัวเองและพวกพ้องซึ่งส่วนเป็นสมาชิกคณะราษฎรให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2

6. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 รับรองตัวเองให้เป็นคณะรัฐมนตรี

จาก 1-5 บรรดาสมาชิกคณะราษฎรต่างแต่งตั้งตัวเองกลับไปกลับมาหมุนเวียนกันเป็นคณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เป็นระยะเวลาถึง 13 ปี จนมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นั่นคือ ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 นี้ แม้จะยกเลิกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และให้มีสมาชิกพฤฒสภาขึ้นแทน แต่ก็ยังกำหนดให้สมาชิกพฤฒสภามีสิทธิ์ในการรับรองคณะรัฐมนตรีร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้ง  และแม้ว่าจะกำหนดให้สมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่รัฐธรรมนูญฉบับที่ 3 นี้ได้กำหนดไว้ว่า ในช่วงแรกให้สมาชิกพฤฒสภามาจากการเลือกของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 

สมาชิกพฤฒสภาที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกขึ้นมาเป็นจำนวน 80 คน พบว่า เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 เป็นจำนวน 49 คน  และเป็นสมาชิกคณะราษฎร 55 คน (ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนให้ตัวเลขไว้ 45 และ  51 คน เพราะตกหล่นไปสี่ท่าน คือพันโท  ก้าน   จำนงภูมิเวท,  คุณปราโมทย์ [บุญล้อม] พึ่งสุนทร พ.ร.ต. พระยาศรยุทธเสนี (กระแส ประวาหะนาวิน) ร.น. และคุณจิตตะเสน  ปัญจะ

ที่เป็นสมาชิกคณะราษฎรและได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ด้วย)

หมายความว่า กว่าครึ่ง (49/80 คน) ของสมาชิกพฤฒสภาสืบต่อมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และกว่าครึ่ง (55/80) ของสมาชิกพฤฒสภาเป็นสมาชิกคณะราษฎร  นั่นคือ มีสมาชิกสภาพฤฒสภาที่เป็นสมาชิกคณะราษฎรเสีย 68.75 % ภายใต้รัฐธรรมนูญ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2489

และเมื่อเทียบกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่ตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2476  จำนวน 78 คน พบว่าเป็นสมาชิกคณะราษฎรเสีย 46 คน  นั่นคือ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่เป็นสมาชิกคณะราษฎร 58.9 % ภายใต้รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

จะเห็นได้ว่า สัดส่วนของสมาชิกคณะราษฎรในสมาชิกพฤตสภากลับเพิ่มมากขึ้นกว่าสมาชิกคณะราษฎรในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ที่ตั้งขึ้นครั้งแรก

ส่วนสมาชิกพฤฒสภาที่เหลือที่ไม่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และไม่ได้เป็นสมาชิกคณะราษฎรมี 30 คน  ในตอนก่อนๆ ได้กล่าวถึงประวัติของสมาชิกพฤฒสภาไม่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 และไม่ได้เป็นสมาชิกคณะราษฎรมี 30 คนไปบ้างแล้ว ได้แก่ คุณพึ่ง ศรีจันทร์และคุณแก้ว  สิงหะคเชนทร์  คุณเขียน กาญจพันธุ์ และพันโท เจือ  สฤษฎิ์ราชโยธิน และได้กล่าวถึง คุณจินดา พันธุมจินดาค้างอยู่ จึงจะขอกล่าวต่อไป

ตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงคุณจินดาว่า เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง คุณจินดาศรัทธาในคณะราษฎรเป็นอย่างมาก  และแสดงความนิยมชมชอบออกมาชัดเจนขึ้น  ดังจะเห็นได้จากเมื่อคณะราษฎรได้ตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นในปี พ.ศ. 2477 คุณจินดาก็ได้เข้าไปสมัครเรียนเป็นรุ่นแรกและจากการศึกษาในช่วงปี พ.ศ. 2480  และในช่วงที่เรียนที่ธรรมศาสตร์ คุณจินดาน่าจะมีโอกาสได้สนิทสนมและรู้จักกับท่านปรีดี พนมยงค์

อีกทั้งท่านยังเป็นผู้แปลหนังสือ Social Contract ของรุสโซเป็นภาษาไทยคนแรก และท่านก็ยังเปลี่ยนนามสกุลจาก พันธุมจินดา มาเป็น จินตนเสรี ด้วยความนิยมในแนวคิดเรื่องเสรีภาพและเจตจำนงเสรี (Free Will) และยังตั้งชื่อบุตรชายของท่านว่า เสรี (คุณเสรี จินตเสรี)

คุณจินดาน่าจะเริ่มแปล Social Contract ก่อน พ.ศ. 2479 โดยตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ต่อมาในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 ได้มีการตีพิมพ์หนังสือ สัญญาประชาคม หรือ Social Contract ของรุสโซ ที่แปลโดยคุณจินดา โดยความเป็นมาของการพิมพ์หนังสือคือ  ในช่วงหลัง 14 ตุลาฯ ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้ไปขอต้นฉบับแปล Social Contract ของรุสโซจากคุณจินดา ที่ไปหาคุณจินดา ก็เพราะได้รับคำแนะนำจากคุณสุภา ศิริมานนท์ ซึ่งเป็นปัญญาชนที่กว้างขวางและได้รับการนับถือในหมู่นักศึกษา คุณสุภาได้กล่าวว่าสนิทกับคนไทยเชื้อสายเวียดนามคนหนึ่ง อ่านเขียนภาษาฝรั่งเศสคล่อง..แถมยังเป็นคนแต่งตำราภาษาฝรั่งเศสที่มีการใช้กันอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2500 ซึ่งสำหรับนักเรียนภาษาฝรั่งเศสจะเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว  และคนๆนี้ก็มีทัศนะคติที่เห็นด้วยกับแนวทางประชาธิปไตย เพราะเคยแปลหนังสือในทางการเมืองมาก่อนหน้านี้”  บุคคลที่คุณสุภากล่าวถึงนี้ก็คือ คุณจินดา นั่นเอง        จากนั้นประธานฝ่ายเอกสาร ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยจึงไปทาบทามคุณจินดาด้วยตัวเองที่บ้านตรงซอยราชภัฏสวนสุนันทา และคุณจินดาก็ตกปากรับคำ และใช้เวลาอยู่พักหนึ่งก็นำต้นฉบับมามอบแก่ประธานฝ่ายเอกสารฯ โดยต้นฉบับเป็นลายมือ และท่านไม่ขอรับเงินโดยให้เหตุผลว่าท่านสนับสนุนประชาธิปไตย  จากนั้น หนังสือ สัญญาประชาคม ก็ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่สู่สาธารณะ (ข้อมูลจาก ศุภชัย ศุภผล,  “การสร้างความนิยมและปัญหาเกี่ยวกับการตีความทฤษฎีการเมืองของ ฌอง ฌากส์ รุสโซ ในบริบทการเมืองไทย” วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีการศึกษา 2556)

จากข้างต้น จะเห็นได้ว่า แม้ว่าคุณจินดาจะไม่ใช่สมาชิกพฤฒสภาที่เป็นสมาชิกคณะราษฎร แต่ท่านก็ศรัทธาในคณะราษฎรและปรีดี พนมยงค์

ต่อไปจะขอกล่าวถึงคุณจำลอง  ดาวเรือง

ก่อนหน้าที่จะได้รับเลือกเป็นสมาชิกพฤฒสภาในเดือนพฤษภาคม  พ.ศ. 2489 คุณจำลอง จำลอง ได้รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกใน พ.ศ. 2480 และครั้งที่สอง พ.ศ. 2481  โดยเป็นผู้แทนจังหวัดมหาสารคาม และเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่ 12 ที่มีนายทวี บุณยเกตุเป็นนายกรัฐมนตรี และคณะที่ 13 ที่มีหม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมชเป็นนายกรัฐมนตรี

คุณจำลองมีพื้นเพเป็นลูกอีสานคนมหาสารคาม ครอบครัวมีฐานะยากจน แต่เป็นผู้มีความรู้ความสามารถและมีใจรักใฝ่รู้ใฝ่เรียน เมื่อสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนแล้ว จึงได้เข้ามาศึกษาต่อด้านช่างเครื่องยนต์ ณ โรงเรียนช่างกล ในกรุงเทพมหานคร โดยได้รับการสนับสนุนจากหลวงพิศิษฐ์ศุภกร (เจ๊กหยงนี) ซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทรถขนส่งในจังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนช่างกลแล้ว จึงได้เดินทางกลับมาประกอบอาชีพโชเฟอร์ขับรถ รับส่งของและผู้โดยสารจากจังหวัดร้อยเอ็ด - สุรินทร์ ให้กับบริษัทของหลวงพิศิษฐ์ศุภกรราว ๆ 2-3 ปี โดยได้รับเงินเดือนเดือนละ 50 บาท จนกระทั่งมีเงินเก็บมากพอ เขาจึงตัดสินใจซื้อรถยนต์ขนส่งมาครอบครองและออกทำงานรับส่งด้วยตนเองได้ในที่สุด

(https://www.facebook.com/photo.php?fbid=3206767326038870&id=418729291509368&set=a.797398676975759)             

นอกจากเป็น ส.ส. มหาสารคามแล้ว คุณจำลองยังเป็นเสรีไทยสายอีสาน จากการที่ปรีดีให้ความไว้วางใจชักชวนให้คุณจำลองเข้าร่วมขบวนการเสรีไทย

เช่นเดียวกันกับคุณจินดา แม้ว่าคุณจำลองจะไม่ได้เป็นสมาชิกพฤฒสภาที่เป็นสมาชิกคณะราษฎร แต่ก็มีความสนิทสนมกับปรีดี พนมยงค์  และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พฤฒสภาได้รับการขนานนามว่าเป็น “สภาปรีดี”ง

คุณจำลองได้ลาออกจากการเป็นสมาชิกพฤฒสภาเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2489 เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดมหาสารคามเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2489

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'กล้าธรรม' คิดตรงเพื่อไทยลุยแก้รธน. 'ธรรมนัส' สั่ง สส. ห้ามขาดประชุมสภาฯ

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร ส.ส.ฉะเชิงเทรา และนายทะเบียนพรรคกล้าธรรม แถลงผลการประชุมพรรคประจำสัปดาห์ว่า เป็นการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อม ในการที่ ส.ส.ทั้ง 24 คนจะเข้าร่วมประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 13-14 ก.พ.นี้ เพื่อพิจารณาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

นักวิชาการ มธ. หวังถกแก้ ม.256 เปิดช่องตั้ง สสร. ผ่านวาระแรก คาดปรับ ครม.หลังศึกซักฟอก

นักวิชาการธรรมศาสตร์ เชื่อ รัฐสภาถกแก้ ม.256 เพื่อตั้ง สสร. ใกล้เคียงที่สุดที่จะผ่านวาระแรก ชี้ รับหลักการไปก่อน ค่อยถกรายละเอียดต่อวาระสอง ลั่น ไม่มีเหตุผ

'เสี่ยหนู' พูดชัดไม่เสี่ยงร่วมวงแก้รธน. ชี้ไม่ใช่กฎหมายรัฐบาล เป็นเรื่องแต่ละพรรค

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวการนัดร่วมรับประทานอาหารของพรรคร่วมรัฐบาล ครั้งต่อไปที่เป็นคิวของพรรค ภท. ว่า ขณะนี้ยังมีการพิจารณาวัน เพราะต้องรอหารือกับทาง นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช

ตรวจแนวรบเมียนมา มังกรสยายปีก..จีนเทายังเบ่งบาน?

หลังการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ทำการตัดการจ่ายไฟไปที่เมียนมา เมื่อวันพุธที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา ตามมติสภาความมั่นคงชาติ(สมช.) เพื่อสกัดการดำเนินธุรกิจของขบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ

ห้ามเชือด‘ทักษิณ’ องครักษ์พิทักษ์นายใหญ่แห่ขวางซักฟอกชั้น14อ้างเป็นคนนอก

"อุ๊งอิ๊ง" ยันเพิ่งมาเป็นนายกฯ ยังไม่ปรับ ครม. ต้องการความต่อเนื่องเพื่อความแข็งแรง ยอมรับโดนแน่ซักฟอกชั้น 14 ขณะที่ลูกหาบเพื่อไทยประสานเสียงห้ามอภิปรายไม่ไว้วางใจ