หลายคนรู้ว่าสหราชอาณาจักร หรือพูดสั้นๆ ว่าอังกฤษ เป็นต้นแบบการปกครองประชาธิปไตยแบบรัฐสภา มีสมเด็จพระราชินีนาถเป็นประมุขประเทศ แต่บางคนอาจไม่รู้ว่าพรรค Labour Party ที่ยึดแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตยอยู่คู่การปกครองประเทศนี้มากว่าศตวรรษแล้ว
สังคมนิยมประชาธิปไตย:
สังคมนิยมประชาธิปไตย (Social Democracy หรือ Democratic Socialism) รับรู้ความไม่เท่าเทียมทางชนชั้น แต่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิวัติสังคมที่ใช้ความรุนแรงที่ต้องเห็นการแตกแยกในสังคมอย่างรุนแรง เกิดสงครามกลางเมืองที่คนชาติเดียวกันต้องมาประหัตประหารเสียชีวิตเพื่อล้มระบอบการปกครองเดิม
นักสังคมนิยมประชาธิปไตยเชื่อว่า เมื่ออุดมการณ์สังคมนิยมของตนดีจริง เป็นประโยชน์ต่อมวลชน ประชาชนจะเลือกเอง สามารถเป็นรัฐบาลบริหารประเทศผ่านการเลือกตั้ง ดังนั้น สังคมนิยมประชาธิปไตยจึงเป็นอุดมการณ์ที่ต้องการให้ระบอบการเมืองการปกครองเป็นไปตามสมัครใจ ประชาชนเป็นผู้เลือกว่าต้องการรัฐบาลจากพรรคการเมืองที่ยึดอุดมการณ์แบบใด การจะเป็นสังคมนิยมหรือไม่ต้องได้อำนาจผ่านการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย
ในด้านเศรษฐกิจ สังคมนิยมประชาธิปไตยมีแนวทางใกล้เคียงลัทธิเสรีนิยมสมัยใหม่ (Modern Liberalism) ให้แข่งขันเสรีแต่กลไกตลาดเพียงอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ รัฐบาลต้องเข้าแทรกแซงกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น เพื่อช่วยเหลือปกป้องปัจเจกชนที่อ่อนแอ รัฐต้องสนใจดูแลผู้มีรายได้ต่ำมากกว่าปล่อยให้ดำเนินชีวิตตามยถากรรม
พรรคแรงงานอังกฤษ:
พรรคแรงงานอังกฤษยึดแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตยตามแบบฉบับของตน เริ่มประกาศใช้คำว่า “Labour Party” อย่างเป็นทางการเมื่อปี ค.ศ.1906 จุดเริ่มต้นมาจากการรวมตัวของกรรมกร ใช้แนวคิดที่รวมหลายอย่างเข้ามาทั้งจากต่างประเทศกับในประเทศ สรุปรวบยอดเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยแบบหนึ่ง ยึดเป้าหมายเพื่อประโยชน์สุขของกรรมกร
จากการรวมกลุ่มกรรมกรจำนวนหนึ่งเพื่อรักษาสิทธิประโยชน์ของตน ปี 1918 ความเป็นพรรคเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น เปิดรับสมาชิกทั่วประเทศ จัดตั้งกลุ่มในพื้นที่ต่างๆ เคลื่อนไหวทางการเมืองระดับท้องถิ่น เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1920-30 พรรคเริ่มเป็นคู่แข่งพรรคอนุรักษนิยม ยุคที่สหภาพแรงงานเฟื่องฟู ในปี 1924 ได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาลครั้งแรก
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พรรคเป็นส่วนหนึ่งของพรรคร่วมรัฐบาล ด้วยบริบทสงครามและนโยบายรัฐบาล กิจการหลายอย่างกลายเป็นของรัฐ รัฐบาลเข้าควบคุมเศรษฐกิจสังคมใกล้ชิด แต่ไม่นานความนิยมต่อพรรคเสื่อมถอย เพราะการวางแผนจากส่วนกลางขาดประสิทธิภาพ ระบบราชการเชื่องช้า
อย่างไรก็ตาม พรรคแรงงานอังกฤษคงความเป็นพรรคหลักพรรคหนึ่งคู่กับพรรคอนุรักษนิยม มีโอกาสเป็นฝ่ายรัฐบาลอีกหลายครั้ง และมีพัฒนาการเรื่อยมา เช่น ปี 1972 เกิดตำแหน่งผู้นำ Young Socialist จากการเลือกตั้งภายในพรรคทั่วประเทศ ปี 1990 มติพรรคให้จัดตั้ง Policy Forum เพื่อทำงานด้านนโยบายโดยเฉพาะ มีจำนวนเกือบ 200 คน คณะทำงานมาจากการเลือกตั้งวาระ 2 ปี แบ่งเป็น 8 กลุ่มครอบคลุมนโยบายทุกด้าน
จะเห็นว่า ระบบการทำงานของพรรคโปร่งใสเป็นระบบระเบียบ เปิดกว้างให้สมาชิกพรรคทั่วประเทศมีส่วน มีคณะทำงานเฉพาะด้าน ตำแหน่งสำคัญมาจากการเลือกตั้งโดยสมาชิกทั้งหมด มีตัวแทนจากกลุ่มเฉพาะตามสัดส่วน เช่น ตัวแทนเยาวชน ตัวแทนคนผิวสี ตัวแทนนักสังคมนิยม ตัวแทนท้องถิ่น ตัวแทนสหภาพที่หลากหลาย เช่น สหภาพครู สหภาพเกษตรกร
พรรคแรงงานในยุคโลกาภิวัตน์:
พรรคแรงงานอังกฤษผูกติดกับสหภาพแรงงานเรื่อยมา แต่เมื่อระบบเศรษฐกิจโลกเปลี่ยน อุตสาหกรรมดั้งเดิมอย่างถ่านหิน เหล็กกล้า อู่ต่อเรือ อุตสาหกรรมหนักหลายอย่างเสื่อมถอย ในขณะที่ภาคบริการ ธุรกิจสมัยใหม่เติบโต เป็นปัจจัยให้สหภาพอ่อนแรง ผลคือพรรคแรงงานที่เคยผูกติดกับสหภาพต้องปรับตัวหายุทธศาสตร์ใหม่
โทนี แบลร์ (Tony Blair) คือผู้มากับแนวทางใหม่ ไม่ยึดฐานเสียงสหภาพมากเช่นอดีต ลดความเป็นสังคมนิยมและหันไปหาทุนนิยมมากขึ้น แบลร์ถึงกับเรียกชื่อพรรคว่าใหม่ว่า “New Labour”
แนวทางนี้หรือที่บางคนเรียกว่าลัทธิแบลร์ (Blairism) ถูกกล่าวขานว่าเป็น “ทางเลือกที่ 3” (third way) เป็นการผสมผสานทุนนิยมกับสังคมนิยม หลักคิดคือ ทุกวันนี้ไม่มีประเทศใดที่ใช้ระบบทุนนิยมเสรีเต็มร้อยหรือสังคมนิยมเต็มร้อย ล้วนเป็นการผสมผสาน 2 ลัทธิหรือมากกว่าเข้าด้วยกัน หวังสร้างสังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้น ให้การศึกษาแก่ประชาชนเพื่อหน้าที่การงานที่ดี สร้างสาธารณูปโภค พร้อมกับให้ทุกคนมีเสรีภาพ สิทธิที่จะมีความมั่งคั่งร่ำรวย ประชาชนสามารถเลือกเข้าถึงบริการต่างๆ ที่เหนือกว่า
ในช่วงที่โทนี แบลร์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี (1997-2007) แนวนโยบายของท่านคือสังคมแห่งความยุติธรรม (social justice) การกระจายรายได้ต้องเท่าเทียมมากขึ้น พลเมืองทุกคนมีคุณค่าเท่าเทียม ชุมชนที่มีโอกาสเท่าเทียม หวังสร้างสังคมที่คนเอื้ออาทรต่อกัน ส่งเสริมบทบาทของโบสถ์
แบลร์เห็นว่าทุกคนควรทำงานหนักและสะสมความมั่งคั่งของตน พร้อมกันนี้ต้องมีใจช่วยเหลือคนอื่น ปฏิเสธแนวคิดการเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตร่วมตามแนวทางสังคมนิยม ซึ่งในสหราชอาณาจักรหมายถึงรัฐวิสาหกิจต่างๆ เช่น กิจการรถไฟ โรงพยาบาลรัฐ โรงงานอุตสาหกรรมของรัฐ
ในด้านเศรษฐกิจ เป็นการผสมระหว่างตลาดทุนนิยมเสรีกับสังคมนิยมประชาธิปไตย ผลที่ออกมาจึงให้ความสำคัญแก่ “โอกาส” กับ “ผลลัพธ์” อย่างเท่าเทียม รัฐบาลทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาค พร้อมกับส่งเสริมการแข่งขัน ส่งเสริมธุรกิจเอกชน ลดภาษี ส่งเสริมให้มีงานทำ พร้อมกับเพิ่มสวัสดิการสังคม สนับสนุนทั้งผู้นำธุรกิจกับผู้นำสหภาพ
อย่างไรก็ตาม พวกฝ่ายซ้ายเห็นว่าแนวทางนี้เป็นอีกรูปแบบของเสรีนิยมใหม่ (neo-liberalism) มากกว่าการเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือพรรคฯ (ผู้นำใหม่) เห็นว่าการได้คะแนนจากฐานเสียงอื่นๆ และการปรับตัวตามยุคสมัยสำคัญกว่า
John McCormick อธิบายว่า ความจริงแล้วปัจจุบันไม่มีประเทศใดที่ใช้ Classical liberalism กับ Economic liberalism (capitalism) อีกแล้ว ทุกประเทศล้วนผสมทุนนิยมกับสังคมนิยมเข้าด้วยกัน เกิดแนวทางที่ 3 คือรัฐบาลยื่นมือเข้ามาดูแลจัดการกระจายความมั่งคั่ง ลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาสังคมต่างๆ เป็นแนวทางที่สนับสนุนบทบาทรัฐบาลใช้อำนาจครอบคลุมกว้างขวาง
ประเด็นวิพากษ์คือ เป็นความเข้าใจว่าทุนนิยมเสรีเอื้อนายทุน จึงเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดูแลปกป้องกรรมกร แต่เมื่อรัฐบาลเข้ามาควบคุมมากขึ้นก็เกิดคำถามอีกว่ารัฐบาลเข้ามาควบคุมเพื่อประโยชน์ของคนทั่วไปหรือเพื่อนายทุนกันแน่
ในแง่การเลือกตั้ง ความสำเร็จของรัฐบาลแบลร์คือ แนวคิดการเมืองการปกครองไม่สำคัญมากเท่ากับความเชื่อมั่นของประชาชนกับผลลัพธ์สุดท้าย โดยยึดความพึงพอใจของพลเมือง ที่สุดแล้วจึงอยู่ที่การหาเสียง การบริหารประเทศ เลือกใช้นโยบายที่เหมาะสมกับบริบท ส่วนจะเป็นลัทธิการเมืองใดชื่อพรรคใดอาจไม่สำคัญ เพราะไม่มีรัฐบาลใดที่ยึดลัทธิทุนนิยมเต็มร้อยกับสังคมนิยมเต็มร้อยมานานแล้ว
ความสำเร็จของสังคมนิยมอังกฤษ:
แม้ความเหลื่อมล้ำยังพบเห็นทั่วไป สังคมตั้งคำถามว่าพรรคแรงงานอังกฤษปัจจุบันเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยหรือเป็นทุนนิยมเสรี มีผลดีหลายอย่างเกิดจากลัทธิสังคมนิยม เช่น 1.มีสหภาพแรงงานและเป็นที่ยอมรับ 2.ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Service: NHS) 3.เรียนฟรีถึงอายุ 18 ปี 4.สวัสดิการที่อยู่อาศัย (รัฐสนับสนุนให้ทุกคนมีที่อยู่อาศัย) 5.กรรมกรมีรายได้และสวัสดิการดีขึ้น
หรืออาจตีความว่า เพราะตามระบอบประชาธิปไตยทุกพรรคหวังได้คะแนนเสียง จึงต้องทำตามข้อเรียกร้องของประชาชน ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลจากพรรคฝ่ายซ้ายหรือขวาล้วนมีนโยบายเชิงสังคมนิยมผสมอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น ต่างกันที่ว่าฝ่ายหนึ่งเอาสังคมนิยมขึ้นนำ กับอีกฝ่ายเอาทุนนิยมขึ้นนำ และให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าอยากเลือกพรรคใด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โครงการนิวเคลียร์อิหร่านกับสหรัฐ2025 (2)
จุดยืนร่วมจีน รัสเซีย และอิหร่าน 2025 บ่งบอกว่าจีนกับรัสเซียทนไม่ได้ที่รัฐบาลสหรัฐเล่นงานอิหร่านด้วยโครงการนิวเคลียร์อีกแล้ว
โครงการนิวเคลียร์อิหร่านกับสหรัฐ 2025 (1)
การเจรจารอบปี 2025 คือการเริ่มเล่นงานอิหร่านอีกครั้ง อาจต่างกันที่รายละเอียดวิธีการตามบริบทล่าสุด เป้าหมายสุดท้ายคือล้มระบอบอิหร่าน
แนวคิดนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย 2023 (3)
รัสเซียหวังระบบโลกหลายแกนนำที่มีความเท่าเทียมมากขึ้น อันจะส่งเสริมความมั่นคงของตน แต่เท่ากับขัดขวางฝ่ายตรงข้าม
เจ้าพ่อทรัมป์ (Trump the Godfather)
ทรัมป์ไม่ได้ทำงานคนเดียว ต้องรวมสมาชิกรัฐสภารีพับลิกัน รวมทั้งคนอเมริกันหลายล้านคนที่สนับสนุนอย่างแข็งขัน เป็นพวกอำนาจนิยม
แนวคิดนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย 2023 (2)
Russian Foreign Policy Concept 2023 สะท้อนมุมมองสถานการณ์โลก โดยเฉพาะส่วนที่รัสเซียกำลังเผชิญ วิสัยทัศน์อนาคตโลก
แนวคิดนโยบายต่างประเทศของรัสเซีย 2023 (1)
Russian Foreign Policy Concept 2023 มีรายละเอียดมาก ช่วยให้เข้าใจนโยบายต่างประเทศรัสเซียได้เป็นอย่างดี