![AnAorueang](https://storage-wp.thaipost.net/2024/03/AnAorueang.jpg)
พูดกันเยอะ...
เรื่อง "ผู้ช่วยหาเสียง"
พลิกกฎหมายดูแล้วทำเป็นเล่นไป...ผิดกราวรูดเลยนะครับ ตั้งแต่ กกต.ยันผู้สมัครนายก อบจ.
ประเด็นที่นักร้องเบอร์หนึ่ง "เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ" ทำหนังสือร้อง กกต.ว่า ผู้ช่วยหาเสียงบางคน อาจขัดระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๖๓
เรื่องเล็กอาจกลายเป็นเรื่องใหญ่ได้ หากการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปอย่างเคร่งครัด
ไม่มั่วนิ่ม!
สาระสำคัญในคำร้องของ "เรืองไกร" มีดังนี้ครับ
ข้อ ๑.พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตราที่เกี่ยวข้อง (บางส่วน)
“มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัตินี้
“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” หมายความว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง
“สภาท้องถิ่น” หมายความว่า สภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด สภาเทศบาล สภาองค์การบริหารส่วนตำบล สภากรุงเทพมหานคร สภาเมืองพัทยา และสภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง
“ผู้บริหารท้องถิ่น” หมายความว่า นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายกเมืองพัทยา และผู้บริหารท้องถิ่น หรือคณะผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง
“ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
“มาตรา ๙ ให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งรักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้มีอำนาจออกระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้”
“มาตรา ๓๘ บุคคลผู้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
(๓) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึง วันเลือกตั้ง
ในกรณีที่มีการย้ายทะเบียนบ้านออกจากเขตเลือกตั้งหนึ่งไปยังอีกเขตเลือกตั้งหนึ่งภายในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเดียวกัน อันทำให้บุคคลมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกัน น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันเลือกตั้ง ให้บุคคลนั้นมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านครั้งสุดท้ายเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปี”
ข้อ ๒.ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๖๓ กำหนดไว้ดังนี้
ข้อ ๔ ในระเบียบนี้
“ผู้สมัคร” หมายความว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
“ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
“ผู้ช่วยหาเสียง” หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับการว่าจ้างจากผู้สมัครให้เข้าร่วม กิจกรรมในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง ตลอดระยะเวลาหรือช่วงระยะเวลาหนึ่ง และเป็นบุคคลที่ได้แจ้งรายละเอียด หน้าที่และค่าตอบแทนต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ยกเว้นบุคคลในครอบครัว ได้แก่ สามี ภริยาหรือบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ ๓.ดังนั้น “ผู้ช่วยหาเสียง” จึงควรหมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเฉพาะแต่ละ “สภาท้องถิ่น” หรือ “ผู้บริหารท้องถิ่น” เช่น นาย ท. ซึ่งอ้างเป็นผู้ช่วยหาเสียง แต่กลับเป็นผู้ปราศรัยหลักบนเวทีหาเสียง นายก อบจ. หรือ สภา อบจ. ในหลายจังหวัด ซึ่งสื่อมวลชนต่างๆ ลงข่าวอย่างชัดเจน เป็นต้น
ข้อ ๔.เมื่อมีข้อเท็จจริงที่เป็นความปรากฏโดยทั่วไป ที่แสดงให้เห็นว่า มีการหาเสียงเลือกตั้งในแต่ละ “สภาท้องถิ่น” หรือ “ผู้บริหารท้องถิ่น” ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ได้มีการใช้ “ผู้ช่วยหาเสียง” ที่อาจไม่ใช่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ตามความในกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง กกต.รู้หรือควรรู้อยู่แล้วนั้น เนื่องจากผู้ช่วยหาเสียงผู้บริหารหรือสภาท้องถิ่น กับ ผู้ช่วยหาเสียง สส.นั้น มีความหมายแตกต่างกัน
ข้อ ๕.พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ (บางส่วน)
มาตรา ๔ ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
“ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”
ข้อ ๖.ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑ กำหนดไว้ดังนี้
ข้อ ๔ ในระเบียบนี้
“ผู้สมัคร” หมายความว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
“ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
“ผู้ช่วยหาเสียง” หมายความว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับการว่าจ้างจากผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง ให้เข้าร่วมกิจกรรมในการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง ตลอดระยะเวลาหรือช่วงระยะเวลาหนึ่ง และเป็นบุคคลที่ได้แจ้งรายละเอียด หน้าที่และค่าตอบแทนต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด
ข้อ ๗.จากบทบัญญัติในพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๖๒ มาตราที่เกี่ยวข้อง และข้อกำหนดในระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยวิธีการหาเสียงและลักษณะต้องห้ามในการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๖๓ ที่กล่าวมาเป็นตัวอย่างข้างต้น ซึ่งตามข่าวประชาสัมพันธ์ที่ ๑๐/๒๕๖๘ วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๘ ซึ่ง กกต.ทราบแล้วนั้น กรณีจึงมีเหตุอันควรขอให้มีการตรวจสอบต่อไปว่าการหาเสียงเลือกตั้งในแต่ละ “สภาท้องถิ่น” หรือ “ผู้บริหารท้องถิ่น” ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ได้มีการใช้ “ผู้ช่วยหาเสียง” ที่อาจไม่ใช่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ตามระเบียบ กกต.หรือไม่
ครับ...ก็สรุปได้คร่าวๆ ผู้ช่วยหาเสียง มีอยู่ในกฎหมายมากกว่า ๑ ฉบับ แต่สถานะแตกต่างกันออกไป
ความต่างในคุณสมบัติของ ผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้งท้องถิ่น กับผู้ช่วยหาเสียงในการเลือกตั้ง สส. ที่เห็นชัดเจนคือ การที่ผู้ช่วยหาเสียง ต้องเป็น "ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง"
เมื่อไปดู "ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง" ของระเบียบ กกต.ทั้ง ๒ ฉบับ พบว่ามีความแตกต่างกัน
ผู้ช่วยหาเสียง ในการเลือกตั้งท้องถิ่น ต้องเป็น ผู้มีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น ไม่ใช่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สส.
เช่นเดียวกัน ผู้ช่วยหาเสียง เลือกตั้ง สส. คือผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สส. ไม่ใช่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น
ที่ซ้อนกันอีกชั้นคือ ผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น ต้องมีชื่ออยู่ในท้องถิ่นที่มีการเลือกตั้ง นั่นเพราะต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับถึงวันเลือกตั้ง
แน่นอนครับทั้ง "ทักษิณ" และ "พิธา" ต่างก็เป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นเหมือนกัน
ท้องถิ่นที่ว่าคือ กทม. ไม่ใช่จังหวัดที่มีการเลือกนายกอบจ.อยู่ในขณะนี้
แต่ กทม.ยังไม่ถึงเวลาเลือกผู้ว่าฯ กทม. "ทักษิณ" และ "พิธา" จะนำสถานะผู้มีสิทธิเลือกตั้งท้องถิ่นใน กทม. ไปใช้กับการเลือกตั้งนายก อบจ.ในจังหวัดอื่นมิได้
อยู่ที่ กกต.แล้วล่ะครับว่า จะตีความกฎหมายอย่างไร โดยเฉพาะระเบียบที่ กกต.เป็นผู้ออกเอง.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศรีธนญชัยสีส้ม
ซี้ซั้วต่า... พวกพูดไม่หมด พูดเข้าข้างตัวเอง บิดเบือน สร้างความเข้าใจผิดให้ผู้คนในสังคม เมื่อไหร่จะหมดไปเสียที
'๔๔ สส.ส้ม' เจตนาเซาะกร่อน
แผ่นเสียงตกร่อง มาแนวเดียวกับลุงป้าติดคุกเพราะเก็บเห็ดเลยครับ ๔๔ สส.พรรคส้มถูก ป.ป.ช.ออกหนังสือเชิญให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา คดีร่วมลงชื่อแก้ ม.๑๑๒ มีความผิดต่อมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรง
สภาล่ม-จมรัฐบาล
ล่มซ้ำซาก... แต่ก็ดีแล้วครับที่สภาล่ม ๒ วันติด เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ ไม่ควรถูกฉีก
ส่งเสริม 'ผีพนัน-ขี้เหล้า'
สภาล่ม... วานนี้ (๑๓ กุมภาพันธ์) เปิดวิทยุคลื่น ๘๗.๕ ฟังประชุมรัฐสภา เพราะเขามีวาระแห่งชาติ จะฉีกรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันกัน
ตายยกเข่ง
วันก่อนโน้น.... ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ “คนตั้งคำถามกันมากว่า ทำไมคอร์รัปชันไม่ลดลง!!”
'สี จิ้นผิง' เตือนอย่างสุภาพ
ชัดๆ... จากปากคนเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย "... ท่านสี จิ้นผิง ได้สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้