ถึงคราวเงิน ‘คริปโต’ ออกมาสู้รถถัง!

เมื่อฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารในเมียนมาใช้วิธีระดมทุนสู้กองทัพด้วยเงินสกุลคริปโตฯ นั่นย่อมหมายถึงการทำสงครามที่เปลี่ยนรูปแบบที่ผู้มีอำนาจไม่คุ้นเคยและต้องหวั่นไหว

สินทรัพย์ดิจิทัลของนักสู้ที่พม่าใช้ชื่อ Tether

ซึ่งกำลังจะกลายเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องมือกอบกู้ประเทศและเสริมสร้างศักยภาพสำหรับผู้ที่แสวงหาเสรีภาพทางการเมืองในยุคสมัยที่คำว่า “ไร้คนกลาง” กำลังมีความสำคัญขึ้นทุกวัน

มาจากคำว่า Decentralized Finance หรือ DeFi อันเป็นแนวทางที่ผู้คนทั่วโลกกำลังพยายามสร้างขึ้นเป็นสินทรัพย์ทางเลือกที่ไม่ต้องขึ้นอยู่กับ “ผู้กำกับ” หรือ regulators แบบเดิมอีกต่อไป

ยิ่งในกรณีของพม่าที่ผู้ต่อต้านการ “รวมศูนย์อำนาจ” ของกองทัพภายใต้การนำของพลเอกพิเศษ มิน อ่องหล่าย ด้วยแล้ว การใช้ “สินทรัพย์ดิจิทัลนอกเหนือการควบคุมของอำนาจส่วนกลาง” ยิ่งจะตอบโจทย์ของวิกฤตที่กำลังคุกคามเมียนมาอยู่

รัฐบาลคู่ขนานของเมียนมาที่เรียกตัวเองว่า National Unity Government หรือ NUG (รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ) ได้ประกาศอนุญาตให้ประชาชนใช้ Tether

เพราะเชื่อว่าการใช้ “การเงินทางเลือก” เช่นนี้ หากเป็นที่นิยมของประชาชนมากขึ้นก็จะมีส่วนทำให้อำนาจของกองทัพอ่อนแอลง

เพราะกองทัพคุมทั้งธนาคารกลางและระบบของสถาบันการเงิน

แต่สินทรัพย์ดิจิทัลปฏิเสธระบบการควบคุมแบบดั้งเดิมทุกประการ

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติของเมียนมา ซึ่งเป็นกลุ่มที่เรียกร้องประชาธิปไตยต่อต้านรัฐประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ได้รับรองการจำหน่าย Tether สกุลเงินดิจิทัลในประเทศอย่างเป็นทางการ

โดยระบุอย่างชัดแจ้งว่า เป้าหมายคือการต่อต้านกองทัพที่ยึดอำนาจของประเทศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

โดยการใช้ FinTech หรือ Financial Technology

ถือได้ว่าเป็นแนวทาง “คริปโตสู้รถถัง” กันเลยทีเดียว

เหรียญ Tether ออกโดยบริษัทในฮ่องกง Tether Ltd. เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่ใช้บล็อกเชน

มีมูลค่าผูกไว้กับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ จึงไม่มีความผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยนเหมือนเงินสกุลดิจิทัลอื่นเช่น Bitcoin

NUG ซึ่งก่อตั้งขึ้นในเดือนเมษายนปีที่แล้วโดยสมาชิกรัฐสภาที่ถูกกองทัพสั่งยุบหลังรัฐประหาร

รัฐบาลคู่ขนานยังคงวิพากษ์วิจารณ์กองทัพและต่อต้านโดยใช้กำลังในหลายภูมิภาคในประเทศ

แม้จะไม่มีกองกำลังหรืออำนาจมากพอที่จะกลับคืนอำนาจการควบคุมประเทศ แต่ก็ได้รับการสนับสนุนอย่างเข้มแข็งจากประชาชนและประชาคมโลกข้างนอก

การที่ NUG อนุญาตให้ประชาชนใช้ Tether เพราะมีคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจกระแสแห่คริปโต และเชื่อว่าหากมีการใช้เงินสกุลทางเลือกนี้มากขึ้นก็อาจทำให้อำนาจของกองทัพอ่อนแอลง

เพราะประชาชนคนพม่ากำลังเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสจากวิกฤตเศรษฐกิจอันเกิดจากวิกฤตการเมืองและโรคระบาด

คนมีเงินฝากธนาคารก็ถูกบังคับไม่ให้ถอนเงินเกินจำนวนที่รัฐบาลกำหนด

ค่าของเงินจ๊าตก็ร่วงหล่นลงมาอย่างหนัก เพราะตลาดการเงินมีความหวั่นวิตกต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจเมียนมาในภาวะที่เกือบจะเข้าสู่ “สงครามกลางเมือง”

ดังนั้น เงินสกุล Tether จึงให้ประโยชน์แก่พลเมืองเมียนมาในการทำธุรกรรมหรือโอนเงินโดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกตรวจสอบหรือขัดขวางโดยทางการทหาร

ที่ปรึกษาด้านธุรกิจที่ย่างกุ้งคนหนึ่งบอกนักข่าวว่า

“สมมติว่าประชาชนส่วนใหญ่ใช้สกุลเงินดิจิทัลเป็นประจำ มันก็อาจจะทำให้เงินสกุลจ๊าตของทางการปัจจุบันกลายเป็นแค่แผ่นกระดาษ ไม่ว่าธนาคารกลางจะพิมพ์ธนบัตรออกมากี่ใบก็ตาม"

ปีที่แล้ว โครงการที่ชื่อว่า Myanmar Dollar (MYD) ที่ก่อตั้งโดยกลุ่มนิรนามได้รับความสนใจจากผู้คนจำนวนมาก

MYD มีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาเสรีภาพในการจัดการทรัพย์สินสำหรับพลเมืองทุกคนโดยไม่ต้องใช้ระบบสกุลเงินแบบรวมศูนย์

ตามแนวทางของโครงการนี้จะมีการออกสกุลเงินดิจิทัลที่มีชื่อเดียวกันในท้องถิ่น โดย 55% จะถูกแจกจ่ายให้กับประชาชน และอีก 45% ที่เหลือจะจัดสรรให้กับ NUG และองค์กรการกุศลเพื่อเป็นทุนในกิจกรรมของพวกเขา

แต่แล้ว MYD ก็ต้องหยุดดำเนินการในเดือนธันวาคมและเว็บไซต์ของบริษัทต้องปิดตัวลง เพราะผู้ดำเนินการขาดประสบการณ์จริง

คนที่รู้เรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศบอกว่า คนกลุ่มนี้มีเจตนาที่ดี แต่ที่ล้มเหลวเพราะขาดความสามารถในการสร้างตลาด

ที่สำคัญคือ ประชาชนที่ให้การสนับสนุนโครงการนี้ก็ไม่สามารถรับ MYD ได้

ในทางตรงกันข้าม Tether เป็นสกุลเงินดิจิทัลที่มีอยู่ ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อใช้ในการทำธุรกรรมทั่วโลก

แม้การใช้งานในเมียนมาไม่ได้รับไฟเขียวของทางการ แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะผู้บริหารรัฐบาลก็ไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงการทำธุรกรรมส่วนตัวระหว่างบุคคลได้อยู่ดี

NUG เริ่มออกพันธบัตรที่ไม่มีดอกเบี้ยเพื่อใช้ในกิจกรรมทางการเมืองของตนในเดือนพฤศจิกายน และเพิ่งอนุญาตให้ใช้ Tether สำหรับการทำธุรกรรมของพันธบัตร

นอกจากนี้ คาดว่า Tether จะประสบความสำเร็จ เพราะความเชื่อมั่นที่ลดลงในสกุลเงินจ๊าต

อัตราแลกเปลี่ยนเมื่อต้นเดือนมกราคมปีที่แล้วอยู่ที่ประมาณ 1,300 จ๊าตต่อเหรียญสหรัฐฯ แต่ค่าเงินอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วหลังจากที่กองทัพเข้าควบคุมรัฐบาล

ล่าสุดอัตราอ้างอิงของธนาคารกลางสำหรับสกุลเงินของเมียนมาในปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1,800 จ๊าตต่อดอลลาร์

แต่ถ้าไปที่ร้านรับแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ก็จะอยู่ที่ 1,900 จ๊าตต่อดอลลาร์

ไม่ต้องสงสัยว่าทำคนพม่าจำนวนมากที่มีทรัพย์สินรีบเทขายเงินจ๊าดเพื่อเก็บเป็นดอลลาร์ไว้ เพราะยิ่งนับวันราคาค่างวดของเงินสกุลทางการก็อ่อนตัวลงตลอด

รูปแบบของการต่อสู้ทางการเมืองของคนพม่ากำลังแปรเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี

ถึงคราว FinTech ต้องออกมาสู้รถถังแล้วจริงๆ!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ