เป้าหมายนโยบายต่างประเทศคือการฟื้นฟูชาติจีนครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะใช้มุมมองจีนหรือสหรัฐ ทั้งคู่มองว่าต่างเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์และน่าจะเป็นปรปักษ์ในที่สุด
ธันวาคม 2024 กระทรวงกลาโหมสหรัฐเผยแพร่รายงานพลังอำนาจกับพัฒนาการด้านความมั่นคงจีน ฉบับปี 2024 หรือ “Military and Security Developments Involving the People’s Republic of China 2024”อธิบายผ่านมุมมองของสหรัฐ มีสาระสำคัญดังนี้
ภาพ: ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง พูดคุยกับนักวิจัยดาวเทียมในมาเก๊า
เครดิตภาพ: https://english.news.cn/20241220/41dfeca8006243d99674d7d9b2cd8f4b/c.html
เป้าหมายนโยบาย 2023:
เป้าหมายหลักที่จีนระบุเมื่อปี 2023 คือ สร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกัน (Community of common destiny) คู่กับการสร้างระเบียบโลกใหม่ตามแนวคิดจีน สัมพันธ์กับ "การฟื้นฟูชาติจีนครั้งยิ่งใหญ่" (The great rejuvenation of the Chinese nation)
จำต้องปรับระเบียบโลก เพราะที่เป็นอยู่ไม่สนับสนุนเป้าหมายจีน ต้องการระเบียบโลกที่ “ยุติธรรมกว่าและเท่าเทียมกันยิ่งขึ้น” ในยามที่บริบทโลกปัจจุบันไร้เสถียรภาพและอันตรายกว่าเดิม ดังที่ปรากฏความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
รายงานพลังอำนาจกับพัฒนาการด้านความมั่นคงจีนชี้ว่า ตลอดปี 2023 รัฐบาลจีนบ่อนทำลายอิทธิพลสหรัฐทั่วทุกที่ ลดทอนความสัมพันธ์ความมั่นคงระหว่างสหรัฐกับประเทศหุ้นส่วน โดยเฉพาะ Five Eyes กับ AUKUS จีนกังวลที่รัฐบาลสหรัฐชี้ว่าจีนเป็นภัยคุกคาม พยายามให้พันธมิตรทั่วโลกขวางนโยบายต่างประเทศจีน ในขณะที่จีนพยายามกระชับความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศในแอฟริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ลาตินอเมริกา และภูมิภาคตะวันออกกลาง ร่วมมือกับองค์กรภูมิภาค เช่น อาเซียน ขยายสมาชิก BRICS เพื่อต้านองค์กรฝ่ายตะวันตก อันเป็นการส่งเสริมความเป็นผู้นำฝ่ายโลกใต้ (Global South) ของจีนโดยปริยาย
วิเคราะห์: พวกประเทศตะวันตกมักมีความเจริญมากกว่า บางครั้งเรียกว่าประเทศพัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่เป็นทุนนิยมเสรีประชาธิปไตย (โดยภาพรวม) พวกนี้มักตั้งอยู่ซีกโลกเหนือ ส่วนประเทศที่อยู่ทางซีกโลกใต้มักเป็นประเทศกำลังพัฒนา มักเป็นประชาธิปไตยอ่อนแอหรือเป็นอำนาจนิยม ในอีกด้านการแบ่งเป็นฝ่ายเหนือฝ่ายใต้สะท้อนความไม่สมดุลใน "ระเบียบโลก" ที่ประเทศมหาอำนาจตะวันตกมีอำนาจเหนือกว่าและได้ประโยชน์จากระเบียบโลกปัจจุบัน แต่ไหนแต่ไรรัฐบาลจีนจะยึดว่าตนอยู่ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา หวังมีส่วนจัดระเบียบโลกให้เท่าเทียมมากขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของพวกซีกโลกใต้
เรื่องการปรับปรุงระเบียบโลกใหม่สอดคล้องกับสุนทรพจน์ในงานประชุมสมัชชาสหประชาชาติประจำปี 2022 ของนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ ที่กล่าวว่า “โลกกำลังเจอปัญหาใหญ่ นับวันยิ่งแบ่งแยก ความไม่เท่าเทียมขยายกว้าง ความท้าทายแผ่ขยายออกไป” ต้องปรับเปลี่ยนระบบการเงินโลกปัจจุบันที่สร้างโดยประเทศร่ำรวยและเป็นผู้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากระบบการเงินโลก ต้นเหตุความไม่เท่าเทียม นับวันประเทศพัฒนากับกำลังพัฒนาจะแตกต่างมากขึ้น ไม่ไว้ใจกัน ไม่อยากร่วมมือกัน จำต้องแสวงหาทางออกร่วมกันบนพื้นฐานความปรารถนาดี ร่วมมือกันภายใต้สหประชาชาติ
รายงานฯ ชี้ว่า จีนหวังให้นานาชาติโดดเดี่ยวสหรัฐ ให้เข้าใจว่ารัฐบาลสหรัฐคือต้นเหตุความตึงเครียด แต่ผลที่ได้กลับตรงกันข้าม งานวิจัยของ Pew Research Center เมื่อปี 2023 ระบุว่า 81% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลกไม่เชื่อใจสี จิ้นผิง 76% ไม่คิดว่าจีนเป็นผู้สร้างสันติภาพ
นโยบายต่างประเทศกับการป้องกันประเทศ:
รัฐบาลจีนตระหนักว่ากลไกความมั่นคงสนับสนุนนโยบายต่างประเทศ จำเป็นในยามที่สถานการณ์ภายนอกไม่มั่นคงและช่วยปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติ มักมีปฏิสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับประเทศหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เสมอ เช่น การติดต่อสื่อสารระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซ้อมรบร่วม พยายามผูกมิตรประเทศเชื่อมสัมพันธ์ทางทหาร
กับสหรัฐที่เป็นคู่แข่งนั้น จีนสัมพันธ์ด้วยการทูตทางทหารเพื่อเลี่ยงความขัดแย้ง ช่วยรักษาเสถียรภาพ แต่บางครั้งปรับลดความสัมพันธ์ เช่น ประเด็นไต้หวัน
ปี 2023 จีนยังคงร่วมมือกับรัสเซียต้านสหรัฐ มีวิสัยทัศน์ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่สอดรับกัน ควรตีความว่าจีนสนับสนุนรัสเซียรบยูเครน ขายสินค้าสองประสงค์ (dual-use goods คือสินค้าที่สามารถนำไปใช้ทั้งทางพลเรือนและทางทหาร) ที่จำต้องใช้ในการสร้างอาวุธ จีนมักโทษสหรัฐกับนาโตต่อสงครามนี้ เพิ่มการค้าระหว่างประเทศกับรัสเซียสูงเป็นประวัติการณ์ ไม่สนใจคำวิพากษ์จากนานาชาติ
จีนกับรัสเซียยังคงร่วมซ้อมรบต่อเนื่อง ลาดตระเวนทางอากาศร่วม ส่งสัญญาณความสัมพันธ์ทางทหารแก่นานาชาติ นอกจากนี้ยังซ้อมรบร่วม 3 ชาติกับแอฟริกาใต้ และอีกครั้งกับอิหร่าน
จีนปรับใช้บทเรียนสงครามยูเครนกับยุทธศาสตร์สหรัฐปิดล้อมจีน มาตรการคว่ำบาตรที่ตะวันตกทำต่อรัสเซียทำให้จีนเร่งพัฒนาพึ่งพาตนเองด้านการป้องกันประเทศ เทคโนโลยีและความยืดหยุ่นด้านพลังงาน (energy resilience)
จีนกลายเป็นผู้สนับสนุนหลักเกาหลีเหนือนับจากสิ้นสหภาพโซเวียต เป็นคู่ค้ารายใหญ่สุด เกาหลีเหนือพึ่งพานำเข้าพลังงาน ปุ๋ยและอาหารจากจีน เพราะเห็นว่าเกาหลีเหนือเป็นรัฐกันชนของตน ระมัดระวังหากต้องคว่ำบาตรเศรษฐกิจ เกรงว่าจะสะเทือนความมั่นคงรัฐบาลเกาหลีเหนือ แต่จีนไม่สนับสนุนการทหารดังเช่นที่รัสเซียช่วยเกาหลีเหนือเพราะขัดข้อมติคณะมนตรีความมั่นคง เป็นท่าทีที่จีนยึดถือเรื่อยมา
จีนรักษาระยะห่างความสัมพันธ์กับกลุ่มตัวแทนอิหร่าน (Iranian Proxies) ไม่พยายามใกล้ชิด เช่น ฮิซบุลเลาะห์ในเลบานอน ฮูตีในเยเมน กองกำลังที่อิหร่านสนับสนุนในอิรัก แต่ไม่ประณามกลุ่มเหล่านี้ เช่น ฮูตีที่ขัดขวางการเดินเรือในทะเลแดง
จีนสนใจสถานการณ์ในอัฟกานิสถานที่ตอนนี้อยู่ใต้การปกครองของตอลิบัน เพราะกองกำลังติดอาวุธมุสลิมในมณฑลซินเจียง โดยเฉพาะพวกอุยกูร์สุดโต่งสัมพันธ์กับอัฟกานิสถาน
จีนแสดงท่าทีผู้รักสันติภาพ หวังสงครามฮามาส-อิสราเอลยุติโดยเร็ว ส่งเสริมแนวทางทวิรัฐ (two-state solution) มักวิพากษ์สหรัฐที่ช่วยอิสราเอลทำให้ความขัดแย้งบานปลาย
ทางการจีนใช้กำลังทหารกับความขัดแย้งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลจีนเรื่อยมา เป็นปัญหาเก่าที่ยังแก้ไขไม่ได้
ปัญหาทะเลจีนใต้เป็นหนึ่งในความขัดแย้งหลัก เป็นพื้นที่สำคัญ เนื่องจากเป็นเส้นทางเดินเรือขนส่งน้ำมันกับสินค้า รัฐบาลจีนยืนกรานว่าเป็นพื้นที่ของตนตามเส้นประ (dashed line) ที่วาดเอาเอง สร้างความขัดแย้งกับบรูไน ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม เกิดการเผชิญหน้าระหว่างประเทศบ่อยครั้ง โดยเฉพาะกับฟิลิปปินส์
จีนกับญี่ปุ่นพิพาท EEZs ในทะเลจีนตะวันออก หมู่เกาะเซนกากุ (Senkaku Islands) ปัญหาเหล่านี้ยังคงอยู่
ในด้านความสัมพันธ์ทางทหาร รายงานฯ ชี้ว่าจีนใกล้ชิดกับรัสเซียมากที่สุด ช่วยรัสเซียทางอ้อมขายสินค้าสองประสงค์ เพิ่มการค้าทวิภาคีอย่างรวดเร็วในยามที่รัฐบาลสหรัฐกับพวกคว่ำบาตรรัสเซีย
เมื่อมองรอบสถานการณ์โลกจะพบว่าจีนในยามนี้ไม่สนใจบทบาทการทหารโดยเฉพาะการทำศึกสงครามกับใคร จากนโยบายแม่บทที่ตอนนี้ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนามากที่สุด เร่งขยายการค้าระหว่างประเทศซึ่งจำเป็นต่อการพัฒนา ชีวิตความเป็นของคนจีนกว่า 1,400 ล้านคน ซึ่งตอนนี้เห็นผลค่อนข้างชัดอยู่แล้ว สังคมจีนพัฒนาอย่างรวดเร็ว นวัตกรรมจีนโดดเด่น เป็นโรงงานผลิตสินค้าป้อนตลาดโลกที่ใหญ่ที่สุด ความขัดแย้งจากการทำสงครามทำลายบรรยากาศการค้าการลงทุน ขัดขวางเป้าหมายตามนโยบาย
อย่างไรก็ตาม จีนตระหนักเหมือนที่สหรัฐเข้าใจ คือ มหาอำนาจมักเผชิญหน้ากัน เฉพาะจีนกับสหรัฐนับวันจะแรงมากขึ้น ผลประโยชน์ขัดแย้ง รัฐบาลสหรัฐกระชับมาตรการปิดล้อมหนักขึ้นทุกที โลกกำลังแบ่งขั้วชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งด้านการค้าการลงทุน เทคโนโลยี การเมืองระหว่างประเทศ รัฐบาลสหรัฐกีดกันแม้กระทั่งนักศึกษาจีน สถานการณ์เช่นนี้น่าจะรุนแรงขึ้นในปี 2025 นี้
ไม่ว่าจะใช้มุมมองจีนหรือสหรัฐ ทั้งคู่มองว่าต่างเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์และน่าจะเป็นปรปักษ์ในที่สุด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ยุทธศาสตร์แห่งชาติจีน2024จากมุมมองสหรัฐ
กำหนดเป้าหมาย ‘มีกองทัพเข้มแข็งระดับโลก เป็นผู้นำทบทวนระเบียบโลก’ ในการนี้จีนต้องเผชิญหน้าสหรัฐผู้นำระเบียบโลกปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปฐมบทอาหรับสปริงซีเรีย
ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคมเป็นต้นเหตุสำคัญของอาหรับสปริงซีเรีย รัฐบาลต่างชาติที่หวังล้มอัสซาดพยายามอยู่นานหลายปี รอจนวาระและโอกาสเป็นใจ
จากฮาเฟซ อัลอัสซาดสู่จุดเริ่มอาหรับสปริงซีเรีย
อำนาจการปกครองเป็นของคนส่วนน้อย คนกลุ่มนี้แหละที่ได้รับประโยชน์ ทิ้งให้ประชาชนจำนวนมากอยู่ตามมีตามเกิด อำนาจนี้เปลี่ยนมือไปมาจนมาถึงระบอบอัสซาดที่อยู่ได้ 2 ชั่วคน คือพ่อกับลูก
จากสถาปนาประเทศซีเรียสู่พรรคบาธ
เรื่องราวของซีเรียเต็มไปด้วยการแข่งขันช่วงชิงทั้งภายในกับอำนาจนอกประเทศ ความขัดแย้งภายในหลายมิติ เป็นอีกบทเรียนแก่นานาประเทศ
2024สงครามกลางเมืองซีเรียระอุอีกครั้ง
สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 14 ปียังไม่จบ สาเหตุหนึ่งเพราะมีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มก่อการร้าย HTS เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด
ฮิซบุลเลาะห์-อิสราเอลจากเริ่มรบสู่หยุดยิง
ถ้าคิดแบบฝ่ายขวา อิสราเอลที่หวังกวาดล้างฮิซบุลเลาะห์ การสงบศึกตอนนี้ไม่บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ และฮิซบุลเลาะห์กำลังเปลี่ยนจุดยืนหรือ