ปี68สินเชื่อระบบแบงก์ไทยหืดจับ

ปี 2568 ยังเป็นอีกปีที่ต้องจับตากับทิศทางของเศรษฐกิจไทย เพราะยังมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งบวกและลบ ที่จะเข้ามามีผลกับภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสถานการณ์กดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่อาจส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน ความสามารถในการชำระหนี้ ตลอดจนความสามารถในการก่อหนี้ใหม่ที่ถูกจำกัดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขณะที่ภาคธุรกิจเองก็ปฏิเสธได้ยากว่ายังมีอีกหลายปัจจัยที่เข้ามากระทบ ทำให้มีการประเมินว่าภาพรวมสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยในปีนี้อาจชะลอลง ตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังมีข้อจำกัดในการขยายตัว

โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่ได้ออกบทวิเคราะห์ “คาดสินเชื่อระบบแบงก์ไทยปี 2568 เติบโตในระดับต่ำที่ 0.6% ตามสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวในกรอบจำกัด” ซึ่งระบุว่า สินเชื่อระบบแบงก์ไทยในปี 2567 ที่ผ่านมา หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปี สะท้อนการปรับตัวที่เกิดขึ้นทั้งในฝั่งผู้กู้และสถาบันการเงินในยุคหลังโควิด-19 โดยยอดคงค้างของสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ (ระบบแบงก์ไทย) มีโอกาสปิดสิ้นปี 2567 ในระดับต่ำกว่าสิ้นปี 2566 หรือหดตัวลงประมาณ 1.8% ซึ่งนับเป็นการหดตัวลงของสินเชื่อเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2553

ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยอาจหดตัวลงในปี 2567 สอดคล้องกับสัญญาณการฟื้นตัวช้าของภาพรวมเศรษฐกิจไทย หลังจากแรงส่งต่อสินเชื่อรวมทั้งระบบแบงก์ไทยจากสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อรายย่อยเริ่มทยอยถดถอยลงตั้งแต่ช่วงไตรมาส 2/2567 ซึ่งแรงฉุดหลักๆ ของสินเชื่อธุรกิจมาจากการชำระคืนสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่ และการลดลงอย่างต่อเนื่องของสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี ขณะที่สินเชื่อรายย่อยก็มีภาพอ่อนแอลงเกือบทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะสินเชื่อสำหรับ Big-Ticket Items ของครัวเรือน ทั้งสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อบ้าน ส่วนสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ (Ploans) หดตัวลงท่ามกลางสัญญาณของปัญหา NPL ที่เพิ่มสูงขึ้น

ส่วนในปี 2568 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จะยังคงเห็นสินเชื่อของระบบแบงก์ไทยเติบโตอย่างช้าๆ และอยู่ในระดับต่ำ สอดคล้องกับหลายปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในภาพรวม

ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจมีโอกาสฟื้นตัวได้ดีกว่าสินเชื่อรายย่อย โดยคาดว่าสินเชื่อธุรกิจอาจพลิกจากที่หดตัวลงตลอดปี 2565-2567 มาขยายตัวได้ที่ราว 1.5% ในปีนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากบรรยากาศการลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐในปีนี้สามารถทยอยกลับมาดีขึ้นกว่าปี 2567 ซึ่งแรงขับเคลื่อนของสินเชื่อธุรกิจอาจเริ่มจากการเริ่มเบิกใช้สินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน และสินเชื่อเพื่อการลงทุนของธุรกิจรายใหญ่ ขณะที่การฟื้นตัวของสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอียังคงอ่อนแอ ท่ามกลางข้อจำกัดในการฟื้นตัวของธุรกิจ เพราะต้องเผชิญปัญหาเฉพาะหน้า ทั้งกำลังซื้อที่ีอ่อนแอ การแข่งขัน และการฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึงของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม

สำหรับสินเชื่อรายย่อยในระบบแบงก์ไทย คาดว่าจะยังคงมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องในปี 2568 โดยอาจหดตัวลงประมาณ 1% ต่อเนื่องจากที่คาดว่าจะหดตัวลงประมาณ 2% ในปี 2567 เนื่องจากกรอบการฟื้นตัวที่จำกัดของรายได้ในภาคครัวเรือนและภาระหนี้สินที่มีอยู่เดิม มีผลต่อความสามารถในการก่อหนี้ก้อนใหม่ โดยเฉพาะหนี้ที่มีวงเงินต่อสัญญาที่ค่อนข้างสูง เช่น หนี้บ้าน และหนี้รถยนต์

ดังนั้น หากถอยออกมาประเมินภาพที่ใหญ่ขึ้น เป็นสถานการณ์สินเชื่อของระบบแบงก์ไทยในปี 2568 แล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าภาพรวมสินเชื่ออาจเติบโตในระดับต่ำที่ประมาณ 0.6% แม้จะเป็นระดับที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่คาดว่าสินเชื่อจะปิดสิ้นปี 2567 ในแดนลบ แต่ก็คงต้องยอมรับว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อในปีนี้ที่ระดับดังกล่าวเป็นระดับที่ไม่สูง และต่ำกว่าอัตราการเติบโตของมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจ (Nominal GDP Growth) ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบจากความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ไม่เพียงมีผลต่อการเบิกใช้สินเชื่อ และความสามารถในการกู้ยืมของทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือน

แต่ยังมีผลต่อการพิจาณาความเสี่ยงด้านเครดิตและการเฝ้าระวังดูปัญหาคุณภาพหนี้ในฝั่งของสถาบันการเงิน หลังสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) และสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิต (Stage2) ยังคงปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง.

 

ครองขวัญ รอดหมวน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อย่าฉวยโอกาสยามวิกฤต

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 8.2 ริกเตอร์ ที่มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา เมื่อเวลา 13.20 น.ของวันที่ 28 มี.ค. ได้ส่งผลให้แรงสะเทือนถึงประเทศไทยหลายพื้นที่ ได้สร้างความเสียหายรุนแรงเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

ใช้ประหยัดและมีประสิทธิภาพ

ราคาน้ำมัน ถือเป็นต้นทุนในทุกๆ ด้านของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งภาคการผลิตอย่างอุตสาหกรรม การบริการ การขนส่ง ล้วนแล้วแต่มีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนทั่วไป ในยุคที่ข้าวยากหมากแพง ราคาน้ำมันได้ถีบตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก

อสังหาฯไทยอาจซึมยาว?

สถานการณ์การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งจากสภาพเศรษฐกิจที่ซบเซาจนกำลังซื้อหดหาย ภาวะการเงินที่ไม่ผ่อนปรนเหมือนกว่า 10 ปีที่ผ่านมา ธนาคารระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น หลังจากหนี้เสียเริ่มลุกลามไปยังตลาดกลุ่มบน

จับตา“ส่งออกไทย”ท่ามกลางสงครามการค้า

“ภาคการส่งออก” ยังถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยในปี 2568 กระทรวงพาณิชย์ ยังคงตั้งเป้าหมายการส่งออกว่าจะขยายตัวได้ 2-3% หลังจากที่มูลค่าการส่งออกของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 2568

ผุดสถาบันปั้นซอฟต์พาวเวอร์

ประเทศไทยถือว่ามีซอฟต์พาวเวอร์อยู่หลายแขนง ไม่ใช่เพียงแค่อาหาร หรือสถานที่ท่องเที่ยวเท่านั้น ซึ่งในส่วนนี้เองเป็นโจทย์สำคัญที่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคิดค้นโซลูชัน วิธีการ

เปิดทีเด็ดความสำเร็จ

จากร้านขนมเล็กๆ ผลิตหลังร้านขายยาสู่แบรนด์ขนมไทยชั้นนำแบรนด์ “คุณเก๋ขนมหวาน” เริ่มต้นในปี 2540 และพลิกโอกาสครั้งสำคัญเมื่อได้ออกบูธในงาน Thaifex ปี 2549 จนนำไปสู่การวางจำหน่ายใน 7-Eleven เป็นครั้งแรกในปี 2551