ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา
วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ปรับคณะรัฐมนตรีและชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว ซึ่งรายงานจากสถานทูตฝรั่งเศสเห็นว่าเป็นการทำรัฐประหาร ในขณะที่รายงานสถานทูตอังกฤษรายงานว่าเป็นการยุบสภาฯและเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้ยกข้อความในรายงานสถานทูตที่เป็นภาษาอังกฤษต้นฉบับ ซึ่งจากรายงานดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า ทางสถานทูตอังกฤษเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของพระราชกฤษฎีกาฉบับวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ว่าเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศภาวะฉุกเฉินของฝ่ายบริหาร โดยในรายงานสถานทูตใช้คำว่า emergency decrees ซึ่งข้อความในตัวพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวเองก็มีคำว่า “ฉุกเฉิน” อยู่ด้วย (ดูภาพประกอบ) และจากรายงานสถานทูตอังกฤษ อัครราชทูตอังกฤษนายซีซิล ดอร์เมอร์ยังแสดงความเห็นด้วยต่อการประกาศภาวะฉุกเฉินโดยการยุบสภาผู้แทนราษฎร การปรับคณะรัฐมนตรี รวมทั้งการตราพระราชบัญญัติต่อต้านคอมมิวนิสต์
การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ปิดประชุมสภา ปรับคณะรัฐมนตรี และชะลอการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเป็นการชั่วคราว และการตราพระราชบัญญัติต่อต้านคอมมิวนิสต์ จึงไม่ใช่การทำรัฐประหารในสายตาของอัครราชทูตอังกฤษ เพราะเป็นพระราชกฤษฎีกาประกาศภาวะฉุกเฉิน ผู้เขียนเห็นว่า ความเห็นของอัครราชทูตอังกฤษต่อพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นสิ่งที่ควรนำมาพิจารณา เพราะอังกฤษ เป็นประเทศต้นแบบการปกครองแบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ผู้เขียนได้กล่าวถึงความเห็นของนักวิชาการต่างประเทศและในประเทศต่อกรณีการประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 ไปบ้างแล้ว ยังพบว่า ไม่มีนักวิชาการต่างประเทศที่สำรวจไปในตอนก่อนๆกล่าวว่า การประกาศพระราชกฤษฎีกาฯ เป็นการทำรัฐประหาร แต่พบว่า นักวิชาการไทยคนแรกที่กล่าวชัดเจนว่า การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 เป็นการทำรัฐประหาร คือ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ในบทความเรื่อง “กบฏบวรเดช การเมืองของประวัติศาสตร์ และประวัติศาสตร์ของการเมือง” วารสารธรรมศาสตร์ ปีที่ 13 ฉบับที่ 1 มีนาคม 2527 ได้ถูกนำมารวมเล่มกับบทความอื่นๆ ในหนังสือชื่อ ความคิด ความรู้ และอำนาจการเมืองในการปฏิวัติสยาม 2475, พิมพ์ครั้งที่ 1 สถาบันสยามศึกษา สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, พิมพ์ครั้งที่ 5 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, พ.ศ. 2560) นครินทร์เพียงแต่กล่าวว่า การประกาศพระราชกฤษฎีกาฯเป็นการทำรัฐประหาร แต่ไม่ได้อธิบายความอะไร
หลังจากนั้น 7 ปี ในวิทยานิพนธ์ของ ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์เรื่อง รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ได้อธิบายความไว้ 16 หน้าว่า การประกาศพระราชกฤษฎีกาฯนั้นเป็นการทำรัฐประหาร ตอนนี้ จะขอนำความในวิทยานิพนธ์ของธำรงศักดิ์มาเล่าต่อ
“ปัญหาประการหนึ่งที่เราต้องพิจารณาคือ ‘พระราชกฤษฎีกาให้ปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่’ ที่มีรัฐมนตรีจำนวนมากร่วมลงนาม กับ ‘คำแถลงการณ์ของรัฐบาล’ นั้นเป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ แม้ว่า ‘พระราชกฤษฎีกา’, ‘ประกาศตั้งคณะรัฐมนตรี’ และ ‘คำแถลงการณ์ของรัฐบาล’ ทั้ง 3 ฉบับนี้ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แผนกกฎษฎีกา ในฉบับวันเสาร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 โดยเรียงลำดับข้างต้น (ข้อสังเกตคือ ‘วันเสาร์’ เป็นวันหยุดราชการ) หากเราพิจารณาโดยวิธีตรรกะก็จะเห็นว่า พระราชกฤษฎีกากับคำแถลงการณ์ของรัฐบาลเป็นคนละส่วนกัน ที่ผู้ร่วมลงนามในพระราชกฤษฎีกา ไม่ได้ ‘รับรู้’ กับคำแถลงการณ์ของรัฐบาลเพราะเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีเสียแล้ว กล่าวคือ พระราชกฤษฎีกาให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีในการตั้ง ‘รัฐมนตรีลอย’ กลุ่มใหม่ สิ่งที่ตามมาคือ เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่จะออกคำแถลงการณ์ของรัฐบาล ความแตกต่างหรือเป็นคนละส่วนกันนี้ เราสามารถพบได้อย่างชัดเจนถึงมูลเหตุที่กล่าวอ้างในพระราชกฤษฎีกากับในคำแถลงการณ์ของรัฐบาล มูลเหตุที่กล่าวอ้างในพระราชกฤษฎีกามีความว่า
โดยที่ทรงพระราชดำริเห็นว่า สภาผู้แทนราษฎรในขณะนี้คงประกอบด้วยสมาชิกซึ่งตั้งขึ้นเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะถึงเวลาอันสมควรที่จะโปรดเกล้าฯให้ราษฎรตั้งผู้แทนขึ้นมา เพราะฉะนั้นจึงไม่เป็นการสมควรที่สภาจะพึงดำริการเปลี่ยนแปลงนโยบายสำคัญทางเศรษฐกิจอันเป็นรากเหง้าแห่งความเป็นความอยู่ของประเทศมาแล้วแต่โบราณ ณ บัดนี้ ปรากฏว่ามีสมาชิกเป็นจำนวนมากแสดงความปรารถนาแรงกล้าเพียรที่จะทำการเปลี่ยนแปลงไปในทางนั้น
โดยวิธีการอันเป็นอุบายในทางอ้อมที่จะบังคับข่มขู่ให้สภาต้องดำเนินการไปตามความปรารถนาของตนเป็นการไม่สมควร เป็นที่เห็นได้ชัดแล้วว่าจะประชุมกันบัญชาการของประเทศโดยความสวัสดิภาพไม่ได้แล้ว สามารถจะนำมาซึ่งความไม่มั่นคงต่อประเทศ และทำลายความสุขสมบูรณ์ของอาณาประชาราษฎร ทรงพระราชดำริเห็นว่า เป็นเวลาฉุกเฉินแล้ว สมควรต้องจัดการป้องกันความหายนะอันจะมาสู่ประเทศและอาณาประชาราษฎรทั่วไป”
มูลเหตุที่กล่าวอ้างในพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ได้ชี้ไปที่สภาผู้แทน ‘จำนวนมากปรารถนาแรงกล้า’ ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นจริงในสภาผู้แทนราษฎร เพราะในการประชุมสภา 2 ครั้งสุดท้ายคือ ครั้งที่ 58/2475 วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม และ ครั้งที่ 59/2475 วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2475 (ครั้งที่ 57/2475 คือวันศุกร์ที่ 17 มีนาคม) ปัญหาเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือปัญหานโยบายเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นญัตติหรือกระทู้ถามโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด ทั้งในพระราชกฤษฎีกาก็ไม่ได้พูดถึงปัญหาความแตกแยกในคณะรัฐมนตรีในปัญหาเค้าโครงการเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจริงแล้วแต่อย่างใด ทั้งไม่มีการใช้คำว่า ‘คอมมิวนิสต์’ ในพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ แต่มูลเหตุที่กล่าวอ้างในคำแถลงการณ์ของรัฐบาลกลับแตกต่างออกไป คือกล่าวถึงความแตกแยกของคณะรัฐมนตรีในปัญหาการวางนโยบายเศรษฐกิจ และ ‘เป็นที่เห็นได้แจ่มแจ้งว่ามีสมาชิกเป็นจำนวนมากคนมีความปรารถนาที่จะทำเช่นนั้น และมีความเลื่อมไสศรัทธาต่อรัฐมนตรีอันมีจำนวนข้างน้อยในคณะรัฐมนตรี’ โดยกล่าวถึงความแตกแยกในคณะรัฐมนตรีว่า
ในคณะรัฐมนตรี ณ บัดนี้เกิดแตกแยกกันเป็น 2 พวก มีความเห็นแตกต่างกันและไม่สามารถที่จะคล้อยตามกันได้ ความเห็นข้างน้อยนั้นปรารถนาที่จะวางนโยบายเศรษฐกิจไปในทางอันมีลักษณะเป็นคอมมิวนิสต์ ความเห็นข้างมากนั้นเห็นว่านโยบายเช่นนั้นเป็นการตรงกันข้ามแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวสยาม และเป็นที่เห็นได้โดยแน่นอนทีเดียวว่านโยบายเช่นนั้นจักนำมาซึ่งความหายนะแก่ประชาราษฎรแลเป็นมหันตภัยแก่ความมั่นคงของประเทศ
ทั้งหมดนี้กล่าวได้ว่า ในกรณี พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนาไม่เพียงถูก ‘บีบบังคับ’ ให้ลงนามร่วมในพระราชกฤษฎีกาแล้ว หากยัง ‘ถูกหลอก’ อีกด้วย เพราะในพระราชกฤษฎีกาให้คำอธิบายถึงมูลเหตุที่ค่อนข้างไม่สมจริง แต่ในคำแถลงการณ์ของรัฐบาลนั้นเป็นการโจมตีหลวงประดิษฐ์มนูธรรมอย่างรุนแรงว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ทั้งพระยามโนปกรณ์นิติธาดายังได้ใช้อำนาจเผด็จการตามพระราชกฤษฎีกาเป็นครั้งแรกโดยการออก ‘พระราชบัญญัติคอมมิวนิสต์ พุทธศักราช 2476’ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2476 โดยพระปรมาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ‘ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรี’ ซึ่งนัยของพระราชบัญญัติ ‘เป็นการสำทับให้เห็นชัดลงไปว่า หลวงประดิษฐ์ฯ นั้นเป็นผู้นิยมคอมมิวนิสต์จริงๆ’ และนี้น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้ พระยาพหลพลพยุหเสนาให้สัมภาษณ์แก่หนังสือมพิมพ์ประชาชาติอย่างยาวที่สุดเป็นครั้งแรกหลังการรัฐประหารไม่กี่วัน (รัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476/ผู้เขียน) โดยแสดงตนปกป้องหลวงประดิษฐ์มนูธรรมว่า ‘ไม่ใช่ความจริง’ อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่พระยามโนปกรณ์ฯ มีอำนาจเด็ดขาดแล้วเช่นนี้ ทางออกที่ถูกบังคับของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม คือการลี้ภัยไปต่างประเทศ โดยได้ออกจากประเทศเพื่อไปลี้ภัยในฝรั่งเศสเมื่อวันที่ 12 เมษายน ด้วยความรับรองจากรัฐบาลว่าจะให้เงิน 1,000 ปอนด์ต่อปี การลี้ภัยครั้งนี้มีเอกสารรับรองจากรัฐบาล ซึ่งลงนามโดยพระยาศรีวิสารวาจา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศหนึ่งฉบับแปลได้ความว่า ‘ผู้ถือเอกสารฉบับนี้ คือ หลวงประดิษฐ์ สัญชาติไทย นอกราชการ บัดนี้กำลังเดินทางไปตามต่างประเทศ ในฐานะพลเมืองธรรมดาเพื่อศึกษาสภาพการณ์ของโภคกิจในนานาประเทศ ถ้าผู้หนึ่งผู้ใดจะแสดงอัธยาศัยไมตรี หรือช่วยเหลือให้ความสะดวกแก่ท่านผู้นี้แล้ว ก็จะถือเป็นคุณค่าอันสูง’” (ประชาชาติ 14 เมษายน 2476)
จากข้างต้น ประเด็นสำคัญของธำรงศักดิ์คือ มูลเหตุที่กล่าวอ้างในพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ได้ชี้ไปที่สภาผู้แทน ‘จำนวนมากปรารถนาแรงกล้า’ ซึ่งยังไม่เกิดขึ้นจริงในสภาผู้แทนราษฎร เพราะในการประชุมสภา 2 ครั้งสุดท้ายคือ ครั้งที่ 58/2475 วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม และ ครั้งที่ 59/2475 วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2475 (ครั้งที่ 57/2475 คือวันศุกร์ที่ 17 มีนาคม) ปัญหาเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรม หรือปัญหานโยบายเศรษฐกิจ ไม่ได้เป็นญัตติหรือกระทู้ถามโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแต่อย่างใด ผู้เขียน
เข้าใจว่า ในความเข้าใจของธำรงศักดิ์ การปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อจะต้องมีการยื่นญัตติหรือตั้งกระทู้ถามเรื่องเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเสียก่อน และจะต้องเป็นสมาชิกจำนวนมากที่แสดงความต้องการจะลงมติรับนโยบายเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ
ดังนั้น เมื่อยังไม่เกิดขึ้นจริงและปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก็ดูเหมือนพระยามโนฯ จะ “มโน” สมชื่อ !?
ผู้เขียนจะกล่าวถึงประเด็นดังกล่าวนี้ของธำรงศักดิ์ในตอนต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯอิ๊งค์ บอกไม่เป็นไร พรรคร่วมฯเห็นต่างกฎหมายประชามติ ไม่ใช่ปัญหาใหญ่
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีการลงมติร่างพ.ร.บ.ประชามติ ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมสส. -สว. ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงไม่เป็นเอกฉันท์
'ก๊วนธรรมนัส' เปิดตัวเข้าคอก 'กล้าธรรม' ลั่นทำการเมืองสร้างสรรค์ ไล่พรรคร่วมฯค้านบ่อยๆก็ออกไป
พรรคกล้าธรรม นำโดยนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หัวหน้าพรรค พร้อมด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา และสส.จำนวน 20 คนที่ถูกพรรคพลังประชารัฐขับออก
ประธานกกต. เซ็นมตั้ง 415 ผู้ตรวจการเลือกตั้ง รับมือเลือกตั้งอบจ. 1 ก.พ.68
นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต.ลงนามในหนังสือคำสั่งคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลงวันที่ 18 ธ.ค. 2568 เรื่องแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด สำหรับปฏิบัติหน้าที่ในการเลือกตั้งนายกองค์การ
20 สส. ก๊วนธรรมนัส ย้ายเข้าพรรคกล้าธรรมแล้ว เพิ่มจำนวน สส.เป็น 24 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่ม สส. 20 คนที่ถูกขับพ้นพรรคพลังประชารัฐเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้แก่ 1.ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พะเยา 2.นายจตุพร กมลพันธ์ทิพย์ สส.ราชบุรี 3.นายจำลอง ภูนวนทา สส.กาฬสินธุ์ 4.นายจีรเดช ศรีวิราช สส.พะเยา 5.นายชนนพัฒฐ์ นาคสั้ว
พวกเรารอพวกท่านอยู่! หวด ‘กกต.-ปปช.’ เร่งทำงานเพื่อประเทศชาติให้เต็มที่
รศ.หริรักษ์ สูตะบุตร อดีตรองอธิการบดีฝ่ายบริหารบุคคล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กดังนี้
มติ 153 สว. ยืนประชามติ 2 ชั้น! อบรม 'ไอติม' พูดได้ไงจะมีผู้รณรงค์ให้ปชช.นอนหลับทับสิทธิ์
สว. ยกมือพรึ่บ 153 เสียง ผ่านกม.ประชามติ ฉบับกมธ.ร่วมฯ ยึดเสียงข้างมากสองชั้น ก๊วนสว.พันธุ์ใหม่ โวยดัดจริต สองมาตรฐาน โธ่! "ไอติม" โชว์กึ๋นนักเรียนนอก บอกสองชั้นเปิดช่องรณรงค์ให้ประชาชนนอนหลับทับสิทธิ์ สว.สีน้ำเงิน สวนทันควันใครจะกล้าทำแบบนั้น