มีงบซื้ออาวุธแต่ไร้งบสร้างเด็กฉลาด!

 ผมอ่านเจอคำประกาศนี้ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ว่าปีนี้ “งบประมาณไม่เพียงพอ” ในการรับสมัครเยาวชนเข้าร่วมโครงการรุ่นที่ 25 สำหรับ “โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” แล้วก็ตกใจไม่น้อย

วันต่อมาก็มี “คำชี้แจง” ว่าเพราะสถานการณ์โควิดและงบประมาณจึงพิจารณา “ทบทวน” แนวทางในการดำเนินการให้เหมาะสมในการรับสมัครสำหรับทุนปี 2566

แม้จะมีคำชี้แจง แต่ก็ยังอดเป็นห่วงไม่ได้ว่าการจัดสรรงบประมาณของรัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างเด็กไทยให้มีโอกาสแข่งขันในระดับโลกน้อยกว่าการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ได้อย่างไร

ทั้งๆ ที่งบของโครงการ JSTP นี้เป็นเพียงเศษเสี้ยวของงบกลาโหม

ผมจึงชวนศิษย์เก่าโครงการนี้มาสนทนาด้วย (ติดตามชมใน Suthichai Live ทาง FB Live และ YouTube Live คืนนี้ 19.30 น.)

เด็กไทยที่เคยผ่านโครงการนี้ต่างยืนยันตรงกันว่า JSTP ช่วยให้พวกเขาและเธอได้ทดลองทำในสิ่งที่ฝันจะทำในทุกรูปแบบ

เป็นโครงการที่หวังว่าวันหนึ่งประเทศไทยจะไปถึง “รางวัลโนเบล” ได้

แม้จะไปไม่ถึง แต่ก็เป็นเป้าหมายที่เยาวชนไทยควรจะต้องพยายามไขว่ขว้าให้ได้

อีกทั้งโครงการนี้ก็ได้สร้างโอกาสให้เยาวชนไทยก้าวเข้าสู่สถาบันการศึกษาระดับสูงกันมากมาย

เป็นการสร้างชุมชนคนรุ่นใหม่ที่มีคุณค่าไปตลอดชีวิตสำหรับทั้ง 24 รุ่นที่ผ่านมา

ศิษย์เก่ากลุ่มนี้ได้ปรึกษาหารือกันแล้ว มีมติว่าจะเดินหน้าร่วมกันพยายามกอบกู้ให้โครงการนี้ยังเดินหน้าต่อไปเพื่อประโยชน์ของเยาวชนรุ่นต่อๆ ไป

เพราะหากปราศจากการสนับสนุนของรัฐและเอกชนแล้ว การสร้าง “มันสมอง” ของคนรุ่นต่อไปก็จะสิ้นหวังทันที

ผมเห็นข้อความนี้จากคุณอาจวรงค์ ป๋องแป๋ง จันทมาศ ทางเฟซบุ๊กเกือบจะทันทีว่า

“ด่วน! โครงการ JSTP ไม่เปิดรับ เนื่องจากงบประมาณปี 2565 ไม่เพียงพอ...โครงการนี้ได้สร้างนักวิจัยและอาจารย์รุ่นใหม่ๆ มาแล้วหลายต่อหลายคน นับว่าเป็นหนึ่งในโครงการด้านการศึกษาที่มีประโยชน์มาก...”

ต่อมาเห็นความเห็นของคุณเรืองโรจน์ “กระทิง” พูนผล ว่า

“เจอข่าวนี้พร้อมกันรวมกับหลายๆ ข่าวในช่วงเวลานี้มันทำให้รู้สึกเศร้าใจและหมดหวังในอนาคตของประเทศนี้ลงไปอีกเยอะเลย...

“วิสัยทัศน์ในการมองอนาคตให้ขาด + วางยุทธศาสตร์ที่ทั้งอ่านภาพอนาคตที่คมและขาด แต่ยืดหยุ่นเพียงพอในการปฏิบัติตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป + ความสามารถและความกล้าหาญในการจัดสรรทรัพยากรและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องในทิศทางเดียวกัน และความกล้าหาญในการตัดสินใจ และที่สำคัญที่สุดคือการสร้างทรัพยากรบุคคล รวมทั้ง upskill คนทั้งประเทศเพื่อตอบโจทย์โลกธุรกิจในอนาคตที่จะเร็วและแรงกว่าปัจจุบันเยอะมากๆ

“บอกตรงๆ ว่ามองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้แบบเป็นรูปธรรมเลยในช่วงเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา

“และยังมองไม่เห็นเลยว่าอีก 5-10 ปีข้างหน้าในอนาคตที่ประเทศไทยเราต้อง play catch-up game แล้วเราจะสู้ได้ยังไงในระดับ macro

“ขนาดวิ่งอย่างสุดแรงแข่งกับเพื่อนบ้านในหลายๆด้านต่อให้เริ่มตั้งแต่ปีนี้ก็ยังอาจจะไม่ทันในหลายๆด้านเลย...”

คุณกระทิงยืนยันว่าโดยส่วนตัวแล้วสุดท้ายก็จะยังสู้สุดใจต่อไปเพื่อผลักดันในหลายๆ ด้านที่ตัวเองเชื่อมั่น และจะทำมากขึ้นและทำเต็มที่ แต่สุดท้ายการขยับในระดับ macro

“ถ้าไม่มีการขยับแบบ move heaven & earth จากภาครัฐยังไงมันก็แทบจะเป็น mission impossible อยู่ดี...”

อีกท่านหนึ่งที่แสดงความกังวลคือ คุณหมอมานพ พิทักษ์ ภากร แห่งศิริราช เขียนในทวิตเตอร์ว่า

“อ่านข่าว สวทช.ต้องยกเลิกทุนพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ของเด็ก เพราะไม่มีงบ แต่ ครม.กลับอนุมัติซื้อเครื่องบินรบหมื่นกว่าล้านแล้วก็เศร้า...”

ว่าแล้วท่านก็เอาสถิติและชาร์ตของต่างชาติมาตอกย้ำว่า

Failure of empire typically begins with decline in education

แปลว่าความล้มเหลวของจักรวรรดิ (แต่โบราณ) นั้นมักจะเริ่มด้วยการถดถอยของการศึกษา

หมอมานพเล่าว่า งบวิจัยปีงบประมาณนี้ก็อยู่ในสถานการณ์เดียวกัน

คือโดนตัดงบไปเยอะมาก

คุณหมอบอกว่าดูด้านนี้มา 3 ปี งบลดลงไป 35%

แล้วจะสร้างความรู้ พัฒนานวัตกรรมได้ยังไง

“ขนาดแล็บผมเอง มีปัญหาเรื่องทุนวิจัยน้อยกว่าท่านอื่นยังรู้สึกได้ กลุ่มวิจัยอื่นน่าจะหนัก โดยเฉพาะนักวิจัยรุ่นใหม่ๆ”

ต่อจากนั้นผมก็ได้อ่านความเห็นของอาจารย์อีกท่านหนึ่งเป็นประสบการณ์ของนักวิชาการที่บอกว่า

ทุกวันนี้นโยบายและวิธีปฏิบัติของประเทศยังสวนทางกัน

ท่านถามว่าทำไมประเทศไทยจึงไม่ให้ความสำคัญในการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยที่มีศักยภาพให้เก่งขึ้น

เพราะการสร้างทรัพยากรมนุษย์ของประเทศและสังคมไทย เป็นเรื่องสำคัญที่ควรจะทำก่อนจะพัฒนาในด้านอื่นๆ

ภาวะเศรษฐกิจในช่วงการระบาดของโควิดเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ควรจะไปประหยัดและตัดงบประมาณด้านอื่นๆ มาใช้ในโครงการนี้มากกว่าการตัดลดงบประมาณของโครงการนี้

“ประเทศไทยกำลังขาดคนเก่งที่มีทักษะระดับสูงในเกือบทุกด้าน ทำให้ไม่สามารถจะพัฒนาประเทศได้เร็วขึ้นและมากขึ้น จึงติดกับดักรายได้ปานกลางมานานนับสิบปี เพราะในอดีตเราไม่ได้สนใจสร้างคนเก่งอย่างจริงจังและเพียงพอ”

อาจารย์บอกว่าตอนนี้ประเทศไทยจึงมีนโยบายจะดึงคนเก่งจากทั่วโลกมาช่วยพัฒนาประเทศ ซึ่งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายและต้นทุนที่สูงกว่ากันมาก

เช่นเดียวกับการเสียเงินซื้อความรู้และเทคโนโลยีที่แพงจากต่างประเทศแทนที่จะพัฒนาขึ้นเอง พร้อมกับการสร้างงานให้คนไทยทำ

การไม่ให้ความสำคัญในการพัฒนาเด็กเยาวชนและคนไทยให้เก่งขึ้นและตัดลดงบประมาณลง จนต้องหยุดโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับเด็กและเยาวชน รุ่นที่ 25 นี้ แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีนโยบายและวิธีปฏิบัติที่สวนทางกัน

“และยังไม่ได้ให้ความสำคัญในการพัฒนาเด็ก เยาวชน และคนไทยให้เก่งขึ้น เพื่อทำงานให้ประเทศชาติและสังคมไทยอย่างจริงจัง ซึ่งจะสร้างผลกระทบและความเสียหายในการพัฒนาประเทศและสังคมไทยต่อไปในอนาคต”

ความเห็นจากผู้คนวงการต่างๆ อย่างนี้เป็นการตอกย้ำว่า ถ้านายกรัฐมนตรีไม่ลงมาแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังก็คงจะเป็นจุดเริ่มต้นของความล้มเหลวของชาติจริงๆ!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ประเทศเดียวในโลก ‘นายกฯทับซ้อน’ มหันตภัยปี 2568

นายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าสำนักวิจัยต่าง ๆ กำลังวิเคราะห์เพื่อพยากรณ์ว่าประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายสาหัสอะไรบ้างใน

บิ๊กเซอร์ไพรส์ 'สุทธิชัย หยุ่น' เล่นซีรีส์ 'The White Lotus ซีซั่น 3'

เรียกว่าสร้างความเซอร์ไพรส์อย่างต่อเนื่อง สำหรับซีรีส์ The White Lotus ซีซั่น 3 ซึ่งจะสตรีมผ่าน Max ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2025 เพราะนอกจากจะมี ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล หรือ ลิซ่า BLACKPINK ไอดอลเกาหลีสัญชาติไทย ที่กระโดดลงมาชิมลางงานแสดงเป็นครั้งแรก ในบทของ มุก สาวพนักงานโรงแรม

ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน

นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ

เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ

เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ