รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น พลเอก เผ่า ศรียานนท์ พันเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ พันเอก สวัสดิ์ สวัสดิเกียรติ และพันโท ถนอม กิตติขจร และพวกร่วมอยู่ด้วย ได้ยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เมื่อคณะรัฐประหารยึดอำนาจสำเร็จแล้ว ได้ประกาศยุบสภาและยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 คณะรัฐประหารได้นำร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่สี่นี้ ขึ้นเสนอผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพื่อลงนามประกาศใช้ ซึ่งในสมัยนั้นสภาได้มีมติไว้ว่า การลงนามในหนังสือราชการ ผู้สำเร็จราชการจะต้องลงนามทั้ง 2 ท่าน แต่กรณีของรัฐธรรมนูญใต้ตุ่มนี้มีผู้ลงนามประกาศใช้เพียงผู้เดียวคือ กรมขุนชัยนาทนเรนทร ประธานผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ขณะที่พระยามานวราชเสวี ไม่ได้ลงนามร่วมด้วย ส่วนผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในครั้งนั้น คือ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม ผู้บัญชาการทหารแห่งประเทศไทย (https://parliamentmuseum.go.th/ar63-Constitution2490.html) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร
ก่อนหน้าที่กรมขุนชัยนาทฯจะได้รับมติแต่งตั้งโดยรัฐสภาให้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์พร้อมกับพระยามานวราชเสวี หลังจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จเสวยราชย์หลังจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จสวรรคตในปี พ.ศ. 2489 ย้อนเวลากลับไปในปี พ.ศ. 2481 กรมขุนชัยนาทฯทรงถูกจับเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีกบฏโดยรัฐบาลหลวงพิบูลสงคราม
ในตอนท้ายของบทความที่แล้ว ผู้เขียนได้ตั้งประเด็นไว้ว่า “ถ้าเอกสาร No. 76 BRITISH LEGATION (10/18/39) BANGKOK CONFIDENTIAL February 7th , 1939 เป็นฉบับเดียวกับ FO 371/23586, Sir Josiah Crosby to FO, 7 February 1939 ที่อาจารย์กอบเกื้อใช้อ้างอิง อาจารย์กอบเกื้อน่าจะต้องตอบข้อสงสัยที่เกิดขึ้นว่า ท่านเขียนข้อความที่ว่า ‘พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาได้ทรงตรัสกับเอกอัครราชทูตอังกฤษว่า กรมขุนชัยนาทฯ พระปิตุลาที่รักของรัชกาลที่แปด มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างจริงจังในการสมรู้ร่วมคิด’ นี้ขึ้นมาได้อย่างไร ? แต่ถ้าเอกสาร No. 76 BRITISH LEGATION (10/18/39) BANGKOK CONFIDENTIAL February 7th, 1939 เป็นคนละฉบับกับ FO 371/23586, Sir Josiah Crosby to FO, 7 February 1939 ที่ท่านอาจารย์กอบเกื้อใช้ แต่ผู้ค้นเอกสารที่หอจดหมายเหตุอังกฤษยืนยันว่า เอกสารของเซอร์โจซาย ครอสบี้ที่รายงานกลับไปกระทรวงต่างประเทศลงวันที่ 7 February 1939 มีเพียงฉบับเดียวคือ No. 76 BRITISH LEGATION (10/18/39) BANGKOK CONFIDENTIAL February 7th, 1939 ผู้เขียนคงต้องขอความกรุณาท่านอาจารย์กอบเกื้อช่วยชี้แนะโดยการเปิดเผยสำเนาเอกสารอ้างอิงที่ท่านอาจารย์ใช้ในการเขียนข้อความที่ว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาได้ทรงตรัสกับเอกอัครราชทูตอังกฤษว่า กรมขุนชัยนาทฯ พระปิตุลาที่รักของรัชกาลที่แปด มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างจริงจังในการสมรู้ร่วมคิด’ ด้วย จักเป็นพระคุณอย่างยิ่งครับ”
------------
ล่าสุด ผู้เขียนยังไม่ได้รับการตอบใดๆจากท่านอาจารย์กอบเกื้อ ดังนั้น นิสิตนักศึกษาและนักวิชาการควรจะชะลอการอ้างอิงข้อความที่ยังเป็นประเด็นนี้ไว้ก่อน ส่วนที่เคยอ้างอิงไปแล้ว ก็น่าจะมาช่วยกันค้นหาว่า ตกลงแล้ว มีเอกสาร FO ใดที่กล่าวว่า “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาได้ทรงตรัสกับเอกอัครราชทูตอังกฤษว่า กรมขุนชัยนาทฯ พระปิตุลาที่รักของรัชกาลที่แปด มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างจริงจังในการสมรู้ร่วมคิด (การก่อกบฏ/ผู้เขียน)”
ในตอนนี้ จะขอนำข้อความที่น่าสนใจจากรายงานของเซอร์โจซาย ครอสบี้ (No. 76 BRITISH LEGATION (10/18/39) BANGKOK CONFIDENTIAL February 7th, 1939) มาให้ท่านผู้อ่านได้พิจารณาต่อจากตอนที่แล้ว
-----------------
“No. 76 BRITISH LEGATION (10/18/39) BANGKOK CONFIDENTIAL February 7th, 1939
7.ข้าพเจ้าเองมีแนวโน้มที่จะคิดว่า ความจริงน่าจะอยู่ระหว่างความเห็นสุดโต่งสองประการที่ได้ระบุไว้ (ความเห็นสุดโต่งด้านหนึ่งคือ มีผู้มุ่งหวังลอบสังหารหลวงพิบูลฯโดยต้องการล้มรัฐบาลและล้มล้างการปกครอง นำกลับไปสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ส่วนความเห็นสุดโต่งอีกด้านหนึ่ง คือ รัฐบาลหลวงพิบูลฯสร้างเรื่องขึ้นมาเพื่อหาทางกำจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างถอนรากถอนโคน รวมทั้งการบั่นทอนสถาบันพระมหากษัตริย์/ผู้เขียน)
ข้าพเจ้าเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่แผนการโค่นล้มรัฐบาลได้ถูกเปิดโปงขึ้นมาจริงๆ ซึ่งมีเหตุผลที่จะเข้าใจได้แบบนั้น หลังจากมีการพยายามลอบสังหารหลวงพิบูลฯ และเมื่อพิจารณาถึงความรู้สึกที่เปิดเผย (ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อหลวงพิบูลฯและพลพรรค/ผู้เขียน) ต่อสาธารณะของพระยาทรงสุรเดชและผู้ติดตามของเขา ข้าพเจ้าเชื่อว่า ปฏิกิริยาของบุคคลในรัฐบาลต่อแผนการนี้เกิดขึ้นด้วยความจริงใจและสมเหตุสมผลพอสมควรทีเดียว พวกเขาไม่พอใจกับความพยายามอันไร้เกียรติที่จะลอบสังหารผู้นำคนหนึ่งของพวกเขาในบ้านของเขาเอง และในขณะเดียวกัน พวกเขาก็กลัวความปลอดภัยส่วนบุคคลของพวกเขาและต่อระบบการปกครองตามรัฐธรรมนูญ
แม้จะเป็นเรื่องธรรมดาที่คนในรัฐบาลจะมีความรู้สึกอ่อนไหวเช่นนั้น อาจมีแรงจูงใจที่ไม่ใช่เรื่องปกป้องตัวเองและปกป้องระบอบการปกครองด้วย เช่น ความปรารถนาที่จะแก้แค้น และความมุ่งมั่นที่จะหาประโยชน์จากโอกาสนี้ในการทำทุกวิถีทางเพื่อกำจัดพรรคพวกของพระยาทรงสุรเดชและฝ่ายค้านใต้ดินที่ยังสนับสนุนพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
ด้วยแรงจูงใจที่หลากหลายเหล่านี้ ดูเหมือนว่าพวกเขาจะไปไกลเกินไป และมันก็เป็นเช่นนั้น อนิจจา! เป็นไปได้เพียงว่า ในความต้องการที่จะโจมตีผู้ที่ตนยึดถือเป็นศัตรูโดยไม่เลือกหน้านั้น กลายเป็นการลงโทษผู้บริสุทธิ์พร้อมกับผู้กระทำผิดด้วย นั่นคือการจับกุมกรมขุนชันนาทนเรนทร ซึ่งข้าพเจ้ารู้จักเป็นการส่วนตัวและเชื่อว่า ไม่สามารถหยุดยั้งการมีส่วนในข้อหาฆาตกรรมได้
(ในต้นฉบับภาษาอังกฤษ ตัวพิมพ์ทับซ้อนกัน นั่นคือ
1.whom I believe to be incapable of stopping to participation in an act of would-be murder.
2. whom I believe to be incapable of stooping to participation in an act of would-be murder.
ถ้าสิ่งที่เซอร์โจซาย ครอสบี้ เขียน คือ stopping จะได้ความว่า ไม่สามารถหยุดยั้งการมีส่วนในข้อหาฆาตกรรมได้ แม้ว่า เซอร์โจซาย ครอสบี้จะรู้จักกรมขุนชัยนาทฯเป็นการส่วนตัวว่า พระองค์ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการลอบฆาตกรรมหลวงพิบูลฯ
ถ้าสิ่งที่เซอร์โจซาย ครอสบี้ เขียน คือ stooping จะได้ความว่า ข้าพเจ้าเชื่อว่า พระองค์เป็นผู้ที่ไม่สามารถลดพระองค์ลงไปมีส่วนร่วมกับการฆาตกรรมหลวงพิบูลฯ)
ข้าพเจ้ามีแนวโน้มที่เชื่อว่า พระองค์บริสุทธิ์ ไม่ทรงยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเลย (I am inclined to believe, too, that he is innocent of participation in politics at all..) แม้จะไม่แน่ใจในประเด็นนั้นก็ตาม เพราะรัฐบาลอ้างว่า ได้พบเอกสารหลักฐานที่ใช้กล่าวหาพระองค์ได้ในวังของพระองค์เอง
อย่างไรก็ตาม เพื่อนที่ดีที่สุดคนหนึ่งของพระองค์ได้บอกข้าพเจ้าว่า เอกสารดังกล่าวคือ จดหมายฉบับเดียวเท่านั้นที่มาจากหนึ่งในพระขนิษฐา/เชษฐภคินี (sisters) ของพระองค์ ส่งถึงพระองค์ในขณะที่พระองค์ประทับอยู่ที่เกาะชวา โดยมีเนื้อความว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงเห็นชอบที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลจะทรงเสด็จไปศึกษาที่โรงเรียนประจำในอังกฤษ ซึ่งเรื่องดังกล่าวนี้แทบจะไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซงทางการเมือง และข้าพเจ้าเสียใจอย่างยิ่งที่ได้ยินว่าพระองค์ (กรมขุฯชัยนาทฯ/ผู้เขียน) ได้รับการปฏิบัติที่เลวร้ายอย่างยิ่ง เนื่องจากพระองค์ถูกกักขังอยู่ในห้องขังธรรมดาภายใต้สภาพที่น่าย่ำแย่ที่สุด ชาวสยามอาจโหดร้ายต่อกันมาก”
(โปรดติดตามรายงานของเซอร์โจซาย ครอสบี้ ได้ในตอนต่อไป)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รทสช. ขยับแล้วหลัง 'ทักษิณ' ขู่ตะเพิดพรรคร่วมรัฐบาล!
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวถึงกรณี นายทักษิณ
อดีตประธานสภาฯ ฉะพ่อนายกฯมีสิทธิ์อะไรไล่พรรคร่วมกลางสัมมนาพรรคเพื่อไทย
ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า “พ่อนายกฯ เป็นใคร มีสิทธิ์อะไรไล่พรรคร่ว
‘หนู’ ลั่นฟังแค่ ‘อิ๊งค์’ ยันร่วมรัฐบาลเป็นไฟต์บังคับ ‘ทักษิณ’ พูดไม่นำพา
"อนุทิน" ลั่น! รับสัญญาณจากนายกฯ อิ๊งค์เท่านั้น ยันที่ "ทักษิณ" พูดไม่ได้หมายถึงรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย "ท่านทักษิณพูดถึงพรรคที่ไม่เข้าร่วมประชุม ผมก็ไม่นำพาไปฟังอะไรมาก"
'อนุทิน' ยันไม่ใส่ใจคำพูด 'ทักษิณ' โชว์ห้าวตะเพิดพรรคร่วมฯ ขอฟังแค่นายกฯอิ๊งค์
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวผ่านรายการข่าวเที่ยง ทางไทยพีบีเอส ถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวในการสัมมนาพรรคเพื่อ
แกนนำคปท. จับตาท่าที 'อนุทิน-พีระพันธุ์' เอาอย่างไร หลัง 'ทักษิณ' พูดที่หัวหิน
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศ(คปท.)โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า เอาอย่างไร
ไม่ต้องปิดบังอีกต่อไป! สื่ออาวุโส ชี้อำนาจเด็ดขาดนำมาซึ่งการฉ้อฉลแบบเบ็ดเสร็จ
นายเทพชัย หย่อง สื่อมวลชนอาวุโส โพสต์เฟซบุ๊กว่าไม่ต้องอ้อมค้อม ไปต้องปิดบังอีกต่อไป ใครใหญ่ที่สุดตอน