เรื่องราวของซีเรียเต็มไปด้วยการแข่งขันช่วงชิงทั้งภายในกับอำนาจนอกประเทศ ความขัดแย้งภายในหลายมิติ เป็นอีกบทเรียนแก่นานาประเทศ
ประเทศซีเรียถือกำเนิดหลังสิ้นสงครามโลกครั้งแรก เดิมเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire) สถาปนาเป็นรัฐชาติ เป็นส่วนหนึ่งของกระแสรัฐอาหรับในระยะนั้น สร้างประเทศด้วยหลักทางโลกมากกว่าศาสนา บางคนมองว่าซีเรียเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประเทศอาหรับ
ภาพ: จักรวรรดิออตโตมัน (Ottoman Empire)
เครดิตภาพ: https://www.worldatlas.com/articles/why-did-the-ottoman-empire-fall.html
ในมุมมองของมุสลิม พื้นที่ซีเรียปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของดินแดนที่เรียกกว่า “ชาม” ประกอบด้วยดินแดนซีเรีย จอร์แดน เลบานอน ปาเลสไตน์ กลายมาเป็นซีเรียปัจจุบันจากข้อตกลงไซคส์-พิโกต์ (Sykes-Picot Agreement) สังคมซีเรียในสมัยนั้นที่ดินเกือบครึ่งอยู่ในเมืองของครอบครัวชนชั้นสูงราว 3 พันครอบครัว ชาวบ้านบางส่วนมีที่ดินเล็กๆ ของตนเอง แต่ส่วนใหญ่หรือราว 2 ใน 3 ไม่มีที่ดิน จึงดำรงชีพด้วยการรับจ้างทำการเกษตร เลี้ยงสัตว์ ฯลฯ ประชาชนร้อยละ 80 ยากจน
เจ้าของที่ดินจะมองว่าชาวบ้านเป็นเพียงที่มาของรายได้และอำนาจ พวกเขาจะแสวงหากำไรสูงสุด ฝ่ายชาวบ้านตอบสนองด้วยการทำงานไปวันๆ ผลผลิตการเกษตรจึงต่ำมาก
ช่วงปี 1920-1949 ซีเรียอยู่ใต้อาณัติฝรั่งเศส โครงสร้างทางการเมืองสังคมได้รับการวางรากฐานอย่างง่ายๆ ประเทศตั้งอยู่บนฐานอำนาจแบบเจ้าขุนมูลนาย (feudal) ที่มีอยู่แต่เดิม อำนาจการเมืองการปกครองจึงกระจุกตัวอยู่ในชนชั้นปกครองในเมือง มากกว่าที่จะกระจายแก่ประชาชนส่วนใหญ่ ชนเผ่าที่อยู่ในทะเลทรายหรือในเมืองเล็กๆ
ซีเรียเป็นประเทศเอกราชอย่างแท้จริงจากการแข่งขันระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส แรงกดดันจากอังกฤษผนวกกับความเป็นมหาอำนาจที่ลดลง ทำให้รัฐบาล Vichy ของฝรั่งเศสคลายการเป็นอาณัติ ให้เสรีภาพแก่ชาวซีเรียมากขึ้น จนได้รับเอกราชเมื่อเดือนเมษายน 1946
เมื่อเป็นเอกราชแล้วอำนาจการเมืองตกอยู่กับพวกชนชั้นปกครอง พวกเจ้าของที่ดิน พ่อค้ารายใหญ่ คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นพวกซุนนีในเมือง ดังนั้นแม้มีการเลือกตั้ง มีรัฐสภาแต่ผู้ที่ได้รับเลือกคือคนกลุ่มเดิมนี่เอง อาจมีพวกผู้นำชนเผ่าบ้าง และพวกเขาก็จัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศโดยไม่ยึดอุดมการณ์การเมืองหรือหลักศาสนาใดๆ และเป็นเช่นนี้ตั้งแต่ทศวรรษ 1930 จนสิ้นสุดในปี 1963
ในช่วงนี้เกิดการรัฐประหารแย่งชิงอำนาจหลายรอบ ล้วนปกครองแบบเผด็จการ
จะเห็นว่าในสมัยออตโตมันกับสมัยใต้อาณัติฝรั่งเศส พวกชนชั้นปกครองในซีเรียเป็นเพียงพ่อค้า เจ้าของที่ดิน มีอำนาจในขอบเขตของตน แต่เมื่อเป็นเอกราช ประกาศเป็นรัฐชาติสมัยใหม่ มีระบบรัฐสภา ชนชั้นปกครองขยับฐานะจากการมีอำนาจจำกัดกลายเป็นผู้มีอำนาจบริหารประเทศ
ส่วนประชาชนมีฐานะไม่ต่างจากเดิม ส่วนใหญ่ยังเป็นคนไร้ที่ดินทำกิน อยู่อย่างยากจน ต้องพึ่งพาชนชั้นปกครอง ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ
ชนชั้นปกครองไม่หวังให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่คิดแบ่งอำนาจให้ การพัฒนาประเทศหมายถึงการพัฒนาสินทรัพย์ อำนาจของพวกเขา
คำว่า “เอกราช” จึงมีค่าเพียงแค่อำนาจการปกครองสูงสุด “เปลี่ยนมือ” จากต่างชาติมาสู่ “ชนชั้นปกครอง” ในประเทศเท่านั้น
ภัยคุกคามชนชั้นปกครอง:
เมื่อประเทศได้รับเอกราช ชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มเริ่มต่อสู้กับรัฐบาลกลาง โดยเฉพาะกลุ่ม Alawi กับ Druze มีกลุ่มศาสนาที่ต้องการอำนาจ นอกจากนี้พวก Hashemites ในจอร์แดนกับอิรักมีความตั้งใจจะฮุบซีเรียเป็นของตนด้วย
ในสมัยนั้นความเจริญก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมเริ่มเข้ามาแต่ชนชั้นปกครองที่เป็นเจ้าของที่ดินพยายามรักษาอำนาจของตน ไม่ส่งเสริมให้ชาวบ้านมีการศึกษา ไม่ต้องการเปิดประเทศด้วยเกรงว่าจะสูญเสียความชอบธรรมในการเป็นเจ้าของที่
ในทศวรรษ 1950 สงครามเกาหลีทำให้ราคาฝ้ายเพิ่มขึ้นมาก การใช้ปั๊มน้ำ เป็นแรงกระตุ้นให้เจ้าของที่ดินเพิ่มการเพาะปลูกและได้ผลผลิตฝ้ายเพิ่มถึง 10 เท่าตัว และเกิดโรงงานอุตสาหกรรมกรรมขนาดเล็กที่เกี่ยวข้อง เป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดชนชั้นกลาง และการศึกษาสมัยใหม่ในกลุ่มคนบางกลุ่ม เริ่มเกิดกลุ่มก้อนที่ไม่สังกัดชนชั้นปกครองดั้งเดิม
พร้อมกับที่ชนกลุ่มน้อยอื่นๆ จัดตั้งการศึกษาของตนเอง เพื่อพ้นจากวัฏจักรชีวิตแบบเดิมจากสังคมที่พวกซุนนีเป็นชนชั้นปกครอง
รัฐบาลจากการเลือกตั้ง:
ปี 1954 มีการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ผลการเลือกตั้งได้พรรคต่างๆ เข้ามาร่วมบริหารประเทศ เกิดกลุ่มพรรคร่วมที่ว่า National Front ประกอบด้วยพรรคของชนชั้นปกครอง (ใกล้ชิดตะวันตก ทุนนิยม) พรรคบาธและพรรคคอมมิวนิสต์ พรรคเหล่านี้ต่างได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี การปกครองที่ดูเป็นประชาธิปไตย มีการถ่วงดุลกันและกัน แต่กลายเป็นว่ารัฐบาลมีปัญหาไม่เข้ากันภายใน
แรงกดดันจากนอกประเทศเป็นอีกปัจจัยให้การเมืองภายในแตกแยกมากขึ้น พวกนิยมตะวันตกเห็นว่าพวกคอมมิวนิสต์เติบโตมาก ในขณะที่พวกคอมมิวนิสต์ต่อต้านพวกทุนนิยม ส่วนกองทัพแยกออกเป็นหลายฝ่ายขึ้นกับว่าใกล้ชิดกับนักการเมืองฝ่ายใด
พรรคบาธอยู่ในฐานะกึ่งกลางทางการเมือง พยายามใช้โอกาสมีบทบาทในรัฐบาลสร้างฐานอำนาจให้ตนเองเพิ่มเติม
1963-70 การปฏิรูปของพรรคบาธ:
พรรคบาธ (Baath Party) หรือพรรคอาหรับสังคมนิยมบาธแห่งซีเรียเห็นว่า เดิมอาหรับมีเพียงหนึ่งเดียว แต่ถูกแบ่งแยกโดยลัทธิจักรวรรดินิยมเพื่อให้อาหรับอ่อนแอ พันธกิจของพรรคคือการรวมประเทศอาหรับให้เป็นหนึ่ง และเป็นผู้นำรวมอาหรับ พรรคถือว่าศาสนาอิสลามเป็นรากแห่งวัฒนธรรมของอาหรับที่ควรนับถือ แต่ต้องการสร้างโลกอาหรับตามแนวทางฝ่ายโลก รวมทุกคนที่พูดภาษาอาหรับโดยไม่จำกัดศาสนา
พรรคอ้างว่าดำเนินนโยบายที่ไม่ใช่ทุนนิยมหรือสังคมนิยม แต่เป็นทางเลือกที่ 3 มีคำขวัญว่า “wahda, hurriyah, ishtirahkiyah” หรือ เอกภาพ (Unity) เสรีภาพ (Freedom) ลัทธิสังคมนิยม (Socialism)
พรรคบาธมาพร้อมกับนโยบายปฏิรูปที่ดิน ทำให้ชนชั้นปกครองเดิมที่เป็นเจ้าของที่ดินอ่อนแอลง พรรคพยายามดึงอำนาจการบริหารประเทศเข้ามาที่ตัวเอง
มีนาคม 1963 เกิดรัฐประหารยึดอำนาจอีกรอบ การกระชับอำนาจคือการเล่นงานขั้วอำนาจเก่าซึ่งมักมีเชื้อสายอาหรับทั้งจากพรรคการเมืองอื่นและภายในพรรคบาธ ผู้มีอำนาจในพรรคบาธยุคนี้กลายเป็นพวกชนกลุ่มน้อย เช่น Alawi (ที่มาของระบอบอัสซาด) ความขัดแย้งทางการเมืองเปลี่ยนจากความขัดแย้งของชนชั้น อุดมการณ์ มาเป็นความขัดแย้งของกลุ่มศาสนา ชนเผ่า (ระหว่างชนเผ่าหรือตระกูลที่ใกล้ชิดพรรคบาธกับฝ่ายต่อต้าน)
พรรคบาธจึงครองอำนาจปกครองประเทศด้วยการรัฐประหาร จัดตั้งรัฐบาลที่มีกองทัพเป็นฐานอำนาจ ปกครองโดยชนชั้นปกครองที่มักอยู่ในกลุ่ม Alawi
ภายใต้การปกครองแบบอำนาจนิยมของพรรคบาธ การพัฒนาประเทศ การเปลี่ยนแปลงของสังคมมาจากบนลงล่าง คือมาจากการตัดสินใจของชนชั้นปกครอง พัฒนาการของพรรคคือพัฒนาการของประเทศ สถาบันสำคัญๆ ของประเทศคือสถาบันที่อยู่ภายใต้การกำกับของพรรค
การปฏิรูปที่ฟังดูดีนำความเจริญประสบอุปสรรค คนกลุ่มต่างๆ ต่อต้าน หนึ่งในนั้นคือ ภราดรภาพมุสลิม มีข้อมูลว่าการเคลื่อนไหวดังกล่าวได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากชนชั้นปกครองเดิม
แนวทางของพรรคบาธไม่ให้ความสำคัญกับศาสนา นักการศาสนาต่างๆ จึงต่อต้าน ในปี 1967 เกิดการประท้วงใหญ่ อย่างไรก็ตามรัฐบาลในตอนนั้นยังสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นโยบายต่างประเทศจีน2024จากมุมมองสหรัฐ
เป้าหมายนโยบายต่างประเทศคือการฟื้นฟูชาติจีนครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะใช้มุมมองจีนหรือสหรัฐ ทั้งคู่มองว่าต่างเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์และน่าจะเป็นปรปักษ์ในที่สุด
ยุทธศาสตร์แห่งชาติจีน2024จากมุมมองสหรัฐ
กำหนดเป้าหมาย ‘มีกองทัพเข้มแข็งระดับโลก เป็นผู้นำทบทวนระเบียบโลก’ ในการนี้จีนต้องเผชิญหน้าสหรัฐผู้นำระเบียบโลกปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปฐมบทอาหรับสปริงซีเรีย
ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคมเป็นต้นเหตุสำคัญของอาหรับสปริงซีเรีย รัฐบาลต่างชาติที่หวังล้มอัสซาดพยายามอยู่นานหลายปี รอจนวาระและโอกาสเป็นใจ
จากฮาเฟซ อัลอัสซาดสู่จุดเริ่มอาหรับสปริงซีเรีย
อำนาจการปกครองเป็นของคนส่วนน้อย คนกลุ่มนี้แหละที่ได้รับประโยชน์ ทิ้งให้ประชาชนจำนวนมากอยู่ตามมีตามเกิด อำนาจนี้เปลี่ยนมือไปมาจนมาถึงระบอบอัสซาดที่อยู่ได้ 2 ชั่วคน คือพ่อกับลูก
2024สงครามกลางเมืองซีเรียระอุอีกครั้ง
สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 14 ปียังไม่จบ สาเหตุหนึ่งเพราะมีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มก่อการร้าย HTS เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด
ฮิซบุลเลาะห์-อิสราเอลจากเริ่มรบสู่หยุดยิง
ถ้าคิดแบบฝ่ายขวา อิสราเอลที่หวังกวาดล้างฮิซบุลเลาะห์ การสงบศึกตอนนี้ไม่บรรลุเป้าหมายที่ต้องการ และฮิซบุลเลาะห์กำลังเปลี่ยนจุดยืนหรือ