มันแปลกจริงๆ ครับ ประมาณเกือบ 2 สัปดาห์ที่แล้ว อยู่ๆ ผมนึกถึงคอลัมน์ที่ผมเคยเขียน เรื่องเกี่ยวกับ “สงครามที่โลกลืม”
คนไทยเราชอบพูดในทำนองว่า “คนไทยลืมง่าย” อันนี้ผมไม่เถียง แต่ผมมีความเห็นว่า ไม่ใช่เฉพาะคนไทย “ลืมง่าย” แต่มนุษย์ต่างหาก “ลืมง่าย” ซึ่งไม่ใช่ว่าคนเราทุกคนขี้ลืม แต่สำหรับใครที่เป็นทาสสื่อและทาสข่าวนั้น เราเห็นและรู้เฉพาะสิ่งที่สื่อส่องให้เราเห็น สิ่งที่สื่อส่องให้เราเห็นมันก็ต้องเป็นเรื่องที่น่าติดตามและน่าสนใจ ณ เวลานั้น
เอาง่ายๆ ครับ เรื่องประกาศกฎอัยการศึกที่เกาหลีใต้ ณ เวลาประกาศกฎอัยการศึก ถือว่าเป็นข่าวใหญ่โตทั่วโลก เป็นข่าว Hot และเป็นข่าวที่ทุกสำนักติดตาม เรื่องนี้ดูเหมือนไม่มีวี่แวว ไม่มีที่มาที่ไป แล้วโผล่มาจากไหนไม่รู้ใช่ไหมครับ? แต่อันนั้นคือมาจากมุมมองพวกเราที่ไม่ได้อยู่เกาหลีใต้ ในประเทศของเขาคงมีเรื่องราวโจมตีประธานาธิบดีทุกวัน คงมีการติชมจากสารพัดสำนัก และสารพัดนักเลงคีย์บอร์ด แต่เนื่องจากพวกเราไม่ดีอยู่ที่นั่น เราไม่รู้ เราไม่เห็น และเราไม่ตาม ซึ่งไม่ต่างกับเขาไม่ตามเรื่องราวภายในประเทศเรา ที่พวกเราติดตามอย่างเผ็ดมันส์ อย่างสนุกสนาน อย่างดุเดือด พวกเราจะเป็นจะตายเรื่องการวิเคราะห์และวิจารณ์การเมืองไทยของเรา
แต่โลกภายนอกไม่สน ไม่รู้ และไม่ติดตาม…จนกว่าจะมีประเด็นให้โลกมอง
เกาหลีใต้ทำให้เห็นชัดเลยครับ คืนประกาศกฎอัยการศึก และอีก 1-2 วันหลังจากนั้น มีแต่คนพูดถึงและมองเกาหลีใต้ เพราะสื่อส่องให้เราสนใจ และสื่อสนใจ แต่พอสถานการณ์เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ สื่อโลกส่องไปที่อื่น เพราะจะให้ติดตามข่าวคราวเกาหลีใต้ ไม่ได้มีอะไรที่เขาจะสนใจ เพราะเขาไม่ใช่คนท้องถิ่น และตลาดเขาไม่ใช่คนท้องถิ่นครับ สื่อโลกก็เลยส่องไปที่อื่น เเละความทรงจำของเกาหลีใต้เริ่มกลายเป็นอดีต
แต่ภายในประเทศเกาหลีใต้คงเล่นประธานาธิบดีทุกวัน วิจารณ์อย่างดุเดือด เพราะเป็นเรื่องของเขา ถ้าเป็นเช่นนี้แล้ว พวกเราลืมไหมครับ? เมื่อเราไม่ได้อยู่ในประเทศของเขา เมื่อเราไม่ได้ติดตามข่าวคราวของเขาเหมือนคนท้องถิ่น เราอาศัยสื่อนอกเป็นหลัก ต่อเมื่อสื่อนอกไม่ส่องเรื่องเกาหลีใต้แล้ว เราเป็นคนขี้ลืมไหมครับ?
ในภาษาอังกฤษมีสำนวนที่ว่า “Out of Sight, Out of Mind” ซึ่งถ้าเปรียบกับสำนวนไทยจะใกล้เคียงกับสำนวน “รักแท้แพ้ความใกล้ชิด” ความจริง 2 สำนวนนี้จะแตะเรื่องความขี้ลืมของคนก็ได้ แต่ไม่เชิงครับ ในกรณี “Out of Sight, Out of Mind” คือเมื่อไม่เห็น เราอาจไม่นึกถึง ส่วน “รักแท้แพ้ความใกล้ชิด” คือมีเหตุทำให้ไม่นึกถึงคนเก่าหรือคนเดิม
ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีการปิดฉาก “สงครามที่โลกลืม” แบบน่าตกใจ ประการแรกคือ สงครามกลางเมืองในซีเรีย เป็นสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานมาก และก็มีข่าวฝ่ายโจมตีหรือฝ่ายกบฏสามารถลุกขึ้นฮือ โจมตีฝ่ายรัฐบาล สร้างความฮือฮาเป็นระยะๆ แต่ในที่สุด ฝ่ายรัฐบาล (โดยแกนนำประธานาธิบดี Bashar al-Assad) สามารถควบคุมสถานการณ์ และดับการเคลื่อนไหวของฝ่ายกบฏทุกครั้ง
ผมยอมรับว่าในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว พอเริ่มมีข่าวฝ่ายกบฏซีเรียกำลังลุกฮือ ผมก็นึกว่าในอีกไม่กี่วันข้างหน้าคงจะมีข่าวฝ่ายกบฏต้องพ่ายแพ้ เพราะอย่าลืมว่าประธานาธิบดี Assad อยู่ในตำแหน่งมา 20 กว่าปี ต่อเนื่องจากคุณพ่อเขาที่ครองเมืองก่อนหน้านั้นเป็นเวลา 20 ปีเหมือนกัน เขาบริหารประเทศแบบเผด็จการ หรือจะเรียกว่าโคตรเผด็จการก็ว่าได้ ใครมีความคิดเห็นต่าง…ต้องมีอันเป็นไป ใครอยากโค่นล้มเขา…ตายทั้งตระกูล และกลุ่มไหนคิดกบฏ Assad ไม่ลังเลจะใช้อาวุธเคมีอย่างอำมหิตและไร้มนุษยธรรม เขาเคยทำไปแล้ว และโลกรู้ว่าเขาทำ แต่ไม่มีใครทำอะไรเขาได้
คนซีเรียต้องก้มหน้ารับสถานการณ์ไป ไม่มีทางเลือก เพราะ Assad กับพวกพ้องมีอำนาจเหนือกฎหมาย และไม่มีใครแตะเขาได้
ผมจึงเฉยๆ ในช่วงแรกที่เห็นข่าวกลุ่มกบฏลุกฮือ แต่พอวันเวลาผ่านไป เริ่มมีข่าวกลุ่มกบฏนี้กำลังยึดเมืองหลวงได้ กำลังชนะกองทัพซีเรียได้ และเริ่มมีข่าวว่าทหารซีเรียบางหน่วยไม่สู้เต็มที่กับกองกบฏ เริ่มตั้งคำถามในใจว่าเป็นการนับถอยหลัง Assad จริงเหรอ? หลังจากนั้นไม่กี่วัน Assad หนีออกจากประเทศลี้ภัยไปรัสเซีย ตามด้วยภาพคนซีเรียแสดงความดีอกดีใจที่เผด็จการปีศาจของเขาออกจากประเทศ มีภาพค้นที่พัก และดูรถหรูของ Assad ที่จอดในโรงรถเป็นฝูง
ทำให้ผมเข้าใจว่าแต่เดิมที Assad สามารถครองซีเรียอย่างเผด็จการได้ ไม่ใช่เพราะเพียง ฝีมือกองทัพของเขาอย่างเดียว แต่เพราะกองกำลังจากรัสเซียและอิหร่าน (กลุ่ม Hezbollah) อีกต่างหาก ภารกิจไหนที่กองทัพซีเรียไม่ทำกับคนซีเรียกันเอง กองกำลังรัสเซียและ Hezbollah ยินดีทำ ทำสุดฝีมือ และทำต่อเนื่องมาตั้งแต่มีสงครามกลางเมือง (ตั้งแต่ปี 2011)
แต่ตลอด 2 ปีที่รัสเซียปะทะกับยูเครน และ 1 ปีที่อิสราเอลปะทะกับฮามาส กองกำลังรัสเซียและ Hezbollah ไม่มีกำลังพอที่จะส่งเสริมและหนุน Assad ต่อได้ เขาต้องดึงทรัพยากรและกำลังของเขามาต่อสู้สงครามของเขาเอง เลยเหลือแต่กองทัพซีเรียที่จะหนุน Assad ต่อไป บวกกับบทบาทของตุรกี (เพื่อนบ้าน) ที่มีอิทธิพลและรับผลกระทบจากผู้ลี้ภัยซีเรียเป็นจำนวนหลายล้านคนช่วงตลอดสงครามกลางเมือง
ประธานาธิบดีตุรกี (Recep Tayyip Erdogan) พยายามเจรจากับ Assad ไม่กี่วันก่อนฝ่ายกบฏจะโค่นล้มเขา แต่ตามรายงานข่าว เป็นการเจรจาที่ไม่สำเร็จ ฝ่าย Erdogan เลยแถลงในทำนองว่า “ขอให้โชคดี” ให้กับ Assad ต่อสถานการณ์ในซีเรีย และในที่สุด Assad ต้องลี้ภัยไปรัสเซีย
คำถามที่ต้องถามต่อคือ เมื่อผู้นำฝ่ายกบฏ (Abu Mohammad al-Jolani) ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้นำใหม่ของซีเรียนั้น เขาจะบริหารประเทศต่อไปอย่างไร เพราะฝั่งสหรัฐไม่ได้หนุนอะไรเขา เขาไม่ใช่คนของซีกตะวันตก อย่าลืมว่าแม้แต่ Assad เองตอนเป็นประธานาธิบดีครั้งแรก สื่อและซีกตะวันตกเหมือนมีความหวังกับเขา เพราะดูเป็นคนรุ่นใหม่ เป็นคนเข้าใจโลกและมีวิสัยทัศน์ ไม่เหมือนผู้เป็นพ่อ ดังนั้นเขาน่าจะนำเสรีและประชาธิปไตยเข้ามาในซีเรียมากกว่าในอดีต แต่ในที่สุดเป็นเผด็จการมากกว่าพ่อเขา
al-Jolani จะเป็นอย่างไรต่อ ไม่มีใครรู้ครับ สหรัฐก็ไม่ไว้ใจ เพราะกลุ่ม Hayat Tahrir al-Sham (หรือ HTS) ถูกสหรัฐประกาศว่าเป็นกลุ่มก่อการร้าย ในที่สุด al-Jolani จะบริหารประเทศ “คืนความสุขให้ประชาชน” เหมือนที่เขาสัญญา หรือจะเป็นหนังซ้ำ ที่กลุ่มกบฏเข้ามาสัญญาโน่นสัญญานี่ แต่ในที่สุดเป็นเผด็จการมากกว่าคนที่เขาโค่นล้ม (เหมือนกลุ่มตอลิบันในอัฟกานิสถาน) อันนี้ต้องรอดูกันต่อไปครับ
รู้แต่ว่าตอนนี้ชาวซีเรียยังเฉลิมฉลองกันอยู่ เขามีความหวังและมีอนาคตกลับมา ทำให้ต้องถามดูว่าชาวซีเรียที่ลี้ภัยเกือบ 8 ล้านคนนั้น จะแห่กลับบ้านต่อเมื่อมีผู้นำใหม่ไหม? หรือจะรอดูสถานการณ์? รู้อย่างเดียวครับ “สงครามที่โลกลืม” ปิดฉากไปหนึ่งสงคราม และปิดฉากด้วยความรวดเร็ว ว่องไว ทำให้คนที่ตามข่าวเรื่องนี้ตั้งตัวไม่ทันจริงๆ
หรือเขามีสัญญาณที่จะต้องเปลี่ยนขั้วมาโดยตลอด เพียงแต่เราไม่ใช่คนท้องถิ่นเลยไม่ติดตามข่าวคราวเรื่องนี้ จนกว่าสื่อโลกส่องให้เราเห็น?.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
President Biden….You’re a Good Dad
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีสารพัดเรื่องที่น่าสนใจและน่าเขียนถึง เรื่องแรกต้องเป็นเรื่องประกาศกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ เพราะเป็นเรื่องไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้น และถือว่าเป็นการประกาศฟ้าผ่าทีเดียว
คุยเรื่อง…ที่ไม่ใช่เรื่อง
เผลอแป๊บเดียว วันนี้เราเข้าเดือนสุดท้ายของปีแล้ว ถือว่าเราเข้าฤดูกาลซื้อของขวัญสำหรับคริสต์มาสและปีใหม่อย่างเป็นทางการ ถึงแม้ตามห้างต่างๆ
'ศาลอาญาระหว่างประเทศ….มีไว้ทำไม?'
เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court หรือ ICC) ได้ออกหมายจับนายกรัฐมนตรีอิสราเอล Benjamin Netanyahu
'BRO!!!!!'
เกือบ 2 สัปดาห์กับผลการเลือกตั้งในสหรัฐ ที่สร้างความประหลาดใจให้กับคนทั่วไป เว้นบรรดานักวิเคราะห์แม่นๆ….หลังผลออกมา พวกนี้ยังพูดเต็มปากเต็มคำว่า
“ถ้าไม่เลือกเรา...เขามาแน่”...ทำให้เขาชนะขาดลอย
ผมไม่แน่ใจว่ากว่าแฟนคอลัมน์จะได้อ่านบทความนี้ เรื่องที่ผมจะเขียนนั้นมันแห้งเกินไปหรือเปล่า เพราะกว่าจะถึงวันที่ได้อ่านบทความนี้ เรื่องนี้อาจจะเก่าไปแล้วก็ได้
ผมจะไม่แปลกใจถ้าTrumpชนะ….แต่ผมจะแปลกใจถ้าHarrisแพ้
อีกไม่กี่วันข้างหน้าจะได้รู้กันว่าใครจะเป็นผู้นำ “The Free World” ระหว่างอดีตประธานาธิบดี กับอดีตรองประธานาธิบดี