นายกรัฐมนตรี 2 คนที่มาจากตระกูลชินวัตรต้องถูกยึดอำนาจจากการทำรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 ทำให้นายใหญ่ของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นหมายเลข 1 ของตระกูลชินวัตรมีความประหวั่นพรั่นพรึงการทำรัฐประหารของทหารเป็นอย่างมาก จึงมีความพยายามที่จะสกัดกั้นการทำรัฐประหารของทหาร โดยพยายามให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม เพื่อให้นักการเมืองสามารถแทรกแซงการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ของนายพลในกองทัพ ความพยายามนี้มีมาตั้งแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในสมัยของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา
ทวีสิน และต่อเนื่องมาถึงรัฐมนตรีกลาโหมคนปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการประกาศเรื่องนี้ออกมา ปฏิกิริยาของสังคมก็คือ ไม่เห็นด้วยที่นักการเมืองจะเข้าแทรกแซงกิจการของกองทัพ เพราะเชื่อว่าถ้าเป็นเช่นนั้นจะไม่เป็นผลดีกับประเทศชาติ ทำให้แกนนำพรรคเพื่อไทยออกมาชี้แจงว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้เป็นของพรรคเพื่อไทย แต่เป็นของ สส.คนหนึ่งของพรรคเท่านั้น และให้มีการถอนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวออกไปก่อน
ไม่ว่าแกนนำของพรรคเพื่อไทยจะพูดอย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เชื่อว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย เพราะข้อความที่โพสต์เกี่ยวกับเรื่องนี้มีโลโก้ของพรรคอยู่ที่มุมบนด้านขวาอย่างชัดเจน และการเสนอกฎหมายจะต้องมี สส.รับรองอย่างน้อย 25 คน ดังนั้นการนำเสนอ พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ต้องมี สส.ของพรรคอย่างน้อย 25 คนเห็นด้วย และรับรองการนำเสนอ พ.ร.บ.ดังกล่าว เสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องดังกล่าวนี้ก็คือ การร่างกฎหมายใดๆ ที่มีเป้าหมายในการยับยั้งการทำรัฐประหาร เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ หัวหน้าพรรคร่วมก็ออกมาพูดชัดเจนว่าจะเขียนกฎหมายไว้อย่างไรก็ไม่มีทางนำไปปฏิบัติได้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่มีการทำรัฐประหารก็จะมีการฉีกรัฐธรรมนูญ กฎหมายที่เขียนไว้ก็ไม่มีความหมายอะไร และวิธีการที่จะยับยั้งการทำรัฐประหารที่ดีที่สุดก็คือ นักการเมืองต้องไม่ทำชั่ว ต้องไม่โกงบ้านโกงเมือง
ถ้าหากเราพิจารณาการทำรัฐประหาร 3 ครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นในประเทศไทย การวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องจริง ไม่ว่าจะเป็นการทำรัฐประหารในปี 2534 ปี 2549 และปี 2557 มีต้นตอมาจากการทำตัวชั่วร้ายของนักการเมืองทั้งสิ้น ในปี 2534 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ทำรัฐประหารเพราะมีการโกงกินเป็นล่ำเป็นสันจนได้ชื่อว่าเป็น Buffet Cabinet คือ รัฐมนตรีหลายคนมีการโกงกินกันมหาศาล และยังมีเรื่องที่รัฐบาลพยายามเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งนายทหารในตำแหน่งสำคัญๆ
ในปี 2549 คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ทำรัฐประหารเพราะรัฐบาลมีพฤติกรรมที่ชั่วร้าย 4 เรื่อง คือ 1) สร้างความแตกแยก 2) มีการโกงกิน 3) แทรกแซงการทำงานขององค์กรอิสระทำลายกระบวนการตรวจสอบ และ 4) จาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนจำนวนมากรับไม่ได้ เกิดการชุมนุมของคนเสื้อเหลืองที่มีชื่อว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่มีคนมาร่วมชุมนุมมากมาย และใช้เวลามากกว่า 100 วันในความพยายามที่จะขับไล่รัฐบาล มีความขัดแย้งระหว่างคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดงที่เรียกว่าแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นจุดเริ่มต้นของความแตกแยกระหว่างประชาชนเสื้อเหลืองและเสื้อแดงที่มีความต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
ในปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรมเพราะทำผิดกฎหมายหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแบบสุดซอย ยกโทษให้คนที่ทำผิดทางการเมือง รวมเอาคนทุจริต คนฆ่าและทำร้ายคนอื่น คนเผาบ้านเผาเมืองตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2556 สาระของพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นเรื่องที่ประชาชนรับไม่ได้ จึงรวมตัวกันชุมนุมต่อต้าน จำนวนคนร่วมชุมนุมหลายล้านคน เพราะมีการกระทำที่ผิดหลักจริยธรรม ขาดหลักธรรมาภิบาลของรัฐบาลหลายเรื่องนอกเหนือจากการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ได้แก่ การโกงโครงการจำนำข้าวที่ทำให้ประเทศเสียหายหลายแสนล้าน การโยกย้ายข้าราชการไม่เป็นธรรมเพื่อช่วยเหลือญาติพี่น้อง ในขณะที่มีการชุมนุมของคนหลายล้านคนที่ต่อต้านรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรม ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลก็มีการชุมนุมเช่นกัน ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลถูกทำร้าย มีคนตายหลายสิบคน และมีคนบาดเจ็บหลายร้อยคน และมีแนวโน้มว่าประชาชน 2 ฝ่ายอาจจะปะทะทำร้ายกัน คสช.จึงต้องทำรัฐประหารเพื่อยับยั้งการปะทะกันของประชาชน และกำจัดรัฐบาลที่หมดความชอบธรรม
แม้ว่าคำว่า “รัฐประหาร” อยู่โดดๆ จะเป็นคำที่มีความหมายเชิงลบ หมายถึงการเข้าสู่อำนาจของกลุ่มคนที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และมีลักษณะเป็นเผด็จการ แต่ถ้าหากมีการพิจารณาต้นตอของการทำรัฐประหารแต่ละครั้ง เราก็จะเห็นว่าการทำรัฐประหารที่เกิดขึ้นเป็นความจำเป็นเพื่อกำจัดนักการเมืองชั่ว นักการเมืองขี้โกง นักการเมืองที่เล่นพวก นักการเมืองที่ไม่เคารพกฎหมาย นักการเมืองที่ทำผิดรัฐธรรมนูญ นักการเมืองที่เอาเปรียบคนอื่น และบางกรณีการกระทำบางอย่างของพวกเขาเป็นการ “ขายชาติ” ดังนั้นเราจึงได้เห็นประชาชนจำนวนมากพึงพอใจการทำรัฐประหาร 3 ครั้งสุดท้ายที่เกิดขึ้นในปี 2534 ปี 2549 และปี 2557 มีการนำดอกไม้และอาหารมามอบให้ทหาร มาถ่ายรูปกับทหารที่รักษาความสงบในพื้นที่ต่างๆ เพราะพวกเขามองเห็นว่าการทำรัฐประหารทั้ง 3 ครั้งเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะไม่มีหนทางอื่นใดที่จะกำจัดนักการเมืองชั่วได้
ดังนั้น เราจึงสรุปได้ว่าถ้าหากนักการเมืองไม่ทำชั่ว ก็ไม่ต้องกลัวรัฐประหาร การออกกฎหมายป้องกันการทำรัฐประหารจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ จะเขียนกฎหมายอย่างไรก็เขียนได้ แต่ในเชิงปฏิบัติ กฎหมายที่เขียนไว้ไม่สามารถป้องกันการทำรัฐประหารได้ การบริหารประเทศที่มีจริยธรรมตามหลักธรรมาภิบาลต่างหากที่สามารถยับยั้งการทำรัฐประหารได้ ถ้าหากนักการเมืองไม่ทำชั่ว แล้วทหารลุกขึ้นมาทำรัฐประหาร ประชาชนก็ไม่ยอมรับ ไม่เห็นด้วย ไม่สนับสนุน แต่ถ้านักการเมืองชั่ว ประชาชนก็จะเห็นความจำเป็นและเห็นด้วยกับการทำรัฐประหาร ดังนั้นแค่นักการเมืองไม่ทำชั่ว ก็ไม่ต้องกลัวรัฐประหารหรอกนะ ง่ายแค่นี้ ทำได้ไหมล่ะ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'หิริ-โอตตัปปะ'คือวาระแห่งชาติ!!!
คงต้องยอมรับอย่างมิอาจปฏิเสธได้เลยว่า...ไอ้สิ่งที่เรียกว่า ความอาย หรือจะเรียกภาษาพระ ภาษาบาลี ประมาณว่า หิริ-โอตตัปปะ ก็คงพอได้ นับวันมันชักเป็นอะไรที่ ขาดแคลน
'เห็นลิ้นไก่' แก้ กม.กลาโหม
ป่วนกันทั้ง "กรมปทุมวัน" หลังคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ หรือ ก.พ.ค.ตร. มีคำวินิจฉัยกรณีตำรวจยศ พ.ต.อ. ตำแหน่งนักบิน (สบ 5) รายหนึ่ง
ลัคนาธนูกับเค้าโครงชีวิตปี 2568
ยังอยู่ในช่วงเจ็ดปีของการเปลี่ยนแปลงใหญ่สุขภาพอนามัย-หนี้สิน-ลูกน้องบริวาร และเกือบตลอดปีผู้หลักผู้ใหญ่อวยสถานะ-ยศ-เงินทองให้ แต่มีช่วงซ้อมรับทุกข์และการได้ความผิดที่ไม่ได้ก่อ
ดร.เสรี ลั่นรังเกียจ วาทกรรมแซะสถาบัน
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสารโพสต์เฟซบุ๊กว่า เกิดวาทกรรมใหม่ "ใบอนุญาตที่ 2"
เด็กฝึกงาน...ไม่ผ่านโปร
ฉากทัศน์ทางการเมืองของประเทศไทยหลังจากรู้ผลของการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นภาพที่สร้างความกังวลให้กับคนไทยจำนวนมากที่ไม่ได้เลือกพรรคส้มหรือพรรคแดง
'ความเป็นไทย' กับกรณีน้ำท่วมภาคเหนือ-ภาคใต้
ถึงแม้จะก่อเกิด ถือกำเนิด ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี...แต่ด้วยเหตุเพราะไปเติบโตที่ภาคใต้ ไม่ว่าเริ่มตั้งแต่อำเภอทุ่งสง จังหวัดหน่ะคอนซี้ทำหมะร่าด ไปจนอำเภอกันตัง