ชมโบราณสถาน ‘อนุราธปุระ’ (จบ)

หลังจากจัดการกับแซนด์วิชคนละชิ้นเป็นมื้อกลางเสร็จเรียบร้อย ผมก็ตอบตกลงที่จะไป “มหินทเล” กับน้าวสันตรา- คนขับตุ๊กๆ ซึ่งพอผมตอบตกลงแกก็พาไปชมโบราณสถานในเมืองโบราณอนุราธปุระอีกแค่ 1 แห่งก่อนมุ่งหน้ามหินทเล ผมค่อนข้างแน่ใจว่าแกได้ตัดบางสถานที่สำคัญออกไปเพื่อทำเวลา

สถานที่แห่งสุดท้ายในเมืองโบราณอนุราธปุระคือ “สระแฝด” เรียกว่า “คุตทัม โพคุนา” เป็นส่วนหนึ่งของวัดอภัยคีรีราชมหาวิหาร วัดแห่งนี้มีอายุประมาณ 2,100 ปี เป็นวัดที่มีขนาดใหญ่สุดในจำนวน 5 วัดสำคัญของเมืองโบราณอนุราธปุระ มีเจดีย์อภัยคีรี หนึ่งในแปด “อัฐมสถาน” ที่ไม่ควรพลาดการไปกราบสักการะ

นอกจากนี้ยังมีงานสถาปัตยกรรมและประติมากรรมที่เลื่องลือภายในเขตวัด ได้แก่ พระพุทธรูปปางสมาธิ, รูปแกะสลักทวารบาล, รัตนปราสาท, อัฒจันทร์ศิลา หรือ “มูนสโตน” เป็นต้น ผมมาหาข้อมูลทีหลังแล้วนึกเสียดายที่ไม่ได้ไปเยี่ยมชมให้ทั่ว

ในส่วนของสระแฝดที่น้าวสันตราพามานี้อยู่วงนอกสุดทางฝั่งตะวันออกของเขตวัด จากตรงนี้จะมองไม่เห็นส่วนอื่นๆ ของวัด ความจริงแล้วจะพูดว่าสระแฝดคงไม่ถูกต้องนัก เพราะสระทั้งสองมีขนาดไม่เท่ากัน โดยสระทางทิศเหนือมีขนาดเล็กกว่า ขนาด 16x40 เมตร และ 28x16 เมตร ความลึก 5.5 และ 4.3 เมตร ตามลำดับ ระยะห่างระหว่างด้านกว้างของสระทั้งสองเท่ากับ 5.5 เมตร บันไดทางลงไปยังสระทิศเหนือมี 2 ทาง หัว-ท้าย ทางลงสระทิศใต้มี 3 ทาง เพิ่มทางฝั่งทิศตะวันตกเข้ามา รอบสระแม้จะมีบันไดไปสู่ก้นสระ แต่ชันเกินไปที่จะเดินลงได้

 “คุตทัม โพคุนา” สร้างขึ้นเมื่อเมื่อใดยังเป็นที่ถกเถียง แต่เชื่อว่าอยู่ในยุคกลางของราชธานีอนุราธปุระ แม้สร้างขึ้นมานานถึงประมาณ 2 พันปี แต่ก็ถือเป็นสระที่มีระบบการจัดการน้ำที่ดีเยี่ยมใน มีการต่อท่อใต้ดินยาวประมาณ 3 กิโลเมตรเชื่อมกับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ น้ำเข้ามายังสระทางทิศเหนือ (สระเล็ก) ผ่านระบบกรองน้ำ มีช่องใต้ดินที่เชื่อมระหว่างสระทั้งสอง ไหลจากสระเหนือสู่สระใต้ ทำให้เกิดการกรองอีกชั้น นอกจากนี้น้ำที่ไหลบ่าไม่ผ่านท่อ อาจเป็นน้ำฝนที่ตกหนักจนเอ่อล้นกำแพงอิฐขอบสระ ก็ยังมีบ่อรางสำหรับดักโคลนอยู่ทางลงของสระทิศเหนือ

คุตทัม โพคุนา หรือ “สระแฝด” ภายในเขตวัดอภัยคีรี เมืองโบราณอนุราธปุระ

การใช้งานของสระสันนิษฐานได้ 2 กรณี คือเป็นที่สรงน้ำของพระในวัดอภัยคีรี หรือไม่ก็เป็นสระสรงน้ำของพระมหากษัตริย์และพระราชินี สระแฝดถูกทิ้งร้างนานหลายศตวรรษจนนักสำรวจชาวอังกฤษมาพบ และเริ่มการบูรณะเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 แล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อกลางศตวรรษที่แล้ว

ออกจากสระโบราณ น้าวสันตราขับตุ๊กๆ ลงใต้ เข้าไปยังลานโล่งกว้างที่สามารถถ่ายรูปสถูปเชตวันของวัดเชตวนารามจากระยะไกล เห็นครึ่งบนของสถูป จากนั้นกลับออกไปยังถนนแล้วขับไปจอดอีกจุด สามารถถ่ายรูปเห็นสถูปแต่ไม่เต็มองค์เช่นเดิม เพราะมีต้นไม้บังไว้

วัดเชตวันวนารามสร้างขึ้นโดยพระเจ้ามหาเสนา (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.816-844) ภายหลังจากที่มหาวิหารแห่งอนุราธปุระถูกทำลายลง สำหรับสถูปเชตวันแรกสร้างนั้นมีความสูงถึง 122 เมตร ถือเป็นสถูปที่มีความสูงที่สุดในโลกและเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงเป็นอันดับ 3 ของโลกในเวลานั้น (หากไม่นับพีระมิดของอียิปต์ก็จะถือว่าสูงที่สุดในโลก) เชื่อว่ารัดประคดของพระพุทธเจ้าได้รับการบรรจุไว้ภายในสถูป เวลาต่อมาหลังจากย้ายราชธานีไปยังโปลอนนารุวะ สถูปถูกทิ้งร้าง จนเมื่อได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยพระเจ้าปรากรมพาหุ ความสูงถูกลดลงเหลือ 71 เมตร ทว่าพื้นที่ส่วนฐานทั้งหมดของสถูปยังถือว่ามีขนาดใหญ่ที่สุด กินพื้นที่ 233,000 ตารางเมตร

เชตวันสถูป วัดเชตวนาราม เคยเป็นสถูปที่สูงที่สุดในโลก

เท่ากับว่าในบรรดา “อัฐมสถาน” ของอนุราธปุระ ยังมีเจดีย์ลังการามที่น้าวสันตราไม่ได้พาผมไป คงเพราะว่าไม่อยู่ในเส้นทางผ่านที่จะไปมหินทเล ซึ่งเจดีย์ลังการามสร้างขึ้นโดยสมัยพระเจ้าวลากัมพาหุที่ 1 ราว พ.ศ.440 หลังจากซ่อนพระองค์ระหว่างเพลี่ยงพล้ำในศึกสงครามอยู่ในสถานที่ชื่อ “ศิลาโสภากันดากา” แล้วสามารถวางแผนรบจนขับไล่ศัตรูออกไปได้ ต่อมาจึงสร้างเจดีย์แห่งนี้ขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ชื่อ “เจดีย์ศิลาโสภากันดากา” มีลักษณะคล้าย “ถูปาราม” เจดีย์แห่งแรกในศรีลังกา

เจดีย์ถูกล้อมและคลุมไว้อีกชั้นด้วยโครงสร้างที่เรียกว่า “วฏะดาเก” มีเสาหินจำนวน 88 เสา เจดีย์สร้างขึ้นบนฐานสูง 3 เมตรเหนือพื้นดิน มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 14 เมตร ได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่เมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และได้รับการรู้จักในชื่อใหม่ว่า “ลังการาม”

ยังไม่ถึงบ่าย 3 โมง น้าวสันตรามุ่งหน้ามหินทเลที่อยู่ห่างไปทางตะวันออกของเมืองโบราณอนุราธปุระเกือบๆ 15 กิโลเมตร แกเลี้ยวขวาเข้าจอดในวัดแห่งหนึ่ง รอบด้านเต็มไปด้วยป่า แกบอกให้ผมหยิบเป้ลงจากเบาะรถ เพราะว่าลิงอาจจะมาขโมย

ระหว่างทางจากอนุราธปุระไปมหินทเล

แกเดินนำเข้าไปยังต้นไทรขนาดใหญ่ ไม่ทราบอายุ แต่รากได้แผ่ขยายออกกว้างขวาง ด้านหนึ่งของต้นแผ่ทำมุมเป็นห้อง ขนาดร้านอาหารเล็กๆ ร้านหนึ่ง แถมยังจับกันเป็นรูปประตู มีคานเหนือประตู ในห้องกว้างมีม้านั่งทำด้วยปูนตั้งอยู่ด้วยจำนวนหนึ่ง ถ้าใครเดินทางไกลมาเหนื่อยๆ ก็นั่งพักได้สบาย หากว่าไม่เกรงใจสิ่งที่จัดแสดงอยู่ใกล้ๆ กัน นั่นคือโครงกระดูกมนุษย์ ได้จากมนุษย์จริงๆ เป็นโครงกระดูกในสภาพสมบูรณ์ ยืนตรงอยู่ในห้องเดี่ยวขนาดเท่าศาลของทวยเทพตามวัดฮินดู ผนังสามด้านฉาบปูน หลังคาก็เป็นปูน ด้านหน้ามีลักษณะคล้ายประตู แต่เป็นประตูลูกกรงลวดตารางสี่เหลี่ยม เห็นโครงกระดูกถนัดชัดเจน

ต้นไทรเก่าแก่ มีห้องกว้างและประตูทางเข้า

ผมโค้งคำนับให้คุณท่านผู้เป็นวิทยาทานสำหรับปลงสังเวช กดชัดเตอร์ถ่ายรูป 3 รูป แล้วโค้งคำนับอีกครั้ง น้าวสันตราหายไปแล้ว ผมรีบวิ่งตาม เจอแกรออยู่ที่รถ

ก่อนถึงมหินทเลไม่ถึง 2 กิโลเมตร น้าวสันตราจอดข้างทาง แล้วชี้ให้ผมเดินเข้าป่าขึ้นเนินไปเอง ประมาณ 100 เมตร ผมโผล่ไปเจอกับสระน้ำโบราณขนาดใหญ่ รายล้อมด้วยซากปรักหักพัง กว้างขวางพอสมควร ไม่มีป้ายข้อมูลใดๆ เขียนปักไว้เลย แต่เชื่อว่าน่าจะเป็นวัดโบราณ

ผมแคปหน้าจอแผนที่กูเกิลไว้แล้วมาหาข้อมูลทีหลัง ทราบว่าสถานที่แห่งนี้คือ “คาลูดิยะ โพคุนา” หมายถึง “สระน้ำดำ” เป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถานมหินทเล ในอดีตมีอาคารรอบสระที่สร้างขึ้นโดยผ่านการออกแบบอย่างดี ทั้งอุโบสถ สถูป และอื่นๆ มีร่องรอยแสดงให้เห็นถึงการใช้ธาราศาสตร์อย่างก้าวหน้าและกลมกลืนไปกับลักษณะสิ่งแวดล้อมที่มีทั้งถ้ำ โขดหิน และเกาะกลางสระ น้ำในสระไหลสู่ตัวอาคาร ห้องอาบน้ำ ห้องส้วม ผ่านท่อและรางอย่างเป็นระบบ ที่มาของชื่อ “สระน้ำดำ” เกิดจากภาพสะท้อนในน้ำของเนินเขาและต้นไม้ที่ออกมาสีออกหม่นดำ

สระน้ำดำ ส่วนหนึ่งของวัดมหินทเล

กลับไปยังน้าวสันตรา ก่อนออกรถแกถามว่าที่โบราณสถานมหินทเลผมต้องการไกด์มืออาชีพหรือไม่ ผมตอบว่าไม่ต้องการ ก่อนนี้ที่วัดลิงชุมแกก็ถามมารอบหนึ่งแล้ว แกย้ำ “แน่ใจนะ?” ผมตอบ “แน่ใจ”

แกขับขึ้นเนินไปยังมหินทเล พอจอดตุ๊กๆ ที่ลานจอดปุ๊บชายคนหนึ่งเดินเข้ามาหาผมทันที เขาแต่งชุดขาวล้วน ผมหยักศกเป็นลอนเล็กๆ ยาวประบ่า ตัวดำปี๋ แม้ใส่หน้ากากก็เห็นว่ามีแผลเป็นเต็มใบหน้าเหมือนรอยปะผุ ยับยู่ยี่ ดูๆ ไปก็ชวนให้หวาดเกรง คิดว่าคงมีเชื้อสายของกลุ่มชาติพันธุ์โบราณในศรีลังกา หรือไม่ก็เป็นลูกหลานของทาสผิวดำจากแอฟริกาที่โปรตุเกสเคยนำมายังเกาะแห่งนี้ และนี่คงเป็นไกด์มืออาชีพที่น้าวสันตราต้องการจะแนะนำ

ไม่พูดพร่ำทำเพลง เขาเรียกให้ผมเดินตามไปดูรูปแกะสลักสิงโตสูงราว 2.5 เมตร หลังพิงโขดหินและยืนพ่นน้ำ ปัจจุบันไม่มีน้ำพุ่งออกมา ทว่ารูบริเวณจมูกของสิงโตถูกเจาะไว้ชัดเจน ซึ่งนี่คือโบราณสถานที่เรียกว่า “สิงหา โพคุนา” หรือบ่อสิงห์ รับน้ำผ่านท่อโบราณมาจาก “นาคา โพคุนา” หรือบ่อพญานาคห่างออกไปหลายร้อยเมตร ด้านบนของเนินเขา ใช้เป็นน้ำกินน้ำใช้สำหรับพระสงฆ์ของวัดมหินทเล ซึ่งบางเวลาในอดีตมีพระสงฆ์จำวัดอยู่คราวละหลายพันรูป

บ่อสิงห์ จุดรับน้ำกินน้ำใช้สำหรับพระสงฆ์ในวัดมหินทเล

พี่หน้ายับแกบอกว่าถ้าไม่มีไกด์อาชีพนักท่องเที่ยวจะไม่เดินมาตรงนี้ และไม่มีทางรู้เลยว่ามันคืออะไร ด้านบนของโขดหินเหนือหัวสิงห์มีลักษณะคล้ายวิหารจำลองขนาดราว 2x2 เมตร สูงประมาณครึ่งเมตร เพิ่มเสน่ห์ให้กับบ่อสิงห์ รอบวิหารจำลอง 3 ด้านที่ไม่ติดกับโขดหินและเนินดินเป็นภาพแกะสลักหิน มีภาพเสาสลับกับภาพสิงห์, คนกับช้าง, คนคู่เต้นรำ เหนือขึ้นไปเป็นชั้นหลังคา ขนาดกว้างยาวน้อยกว่าและสูงประมาณ 30 เซนติเมตร มีภาพแกะสลักเช่นกัน แต่รายละเอียดน้อยกว่ามาก เหนือหลังคามีรูปสัตว์มงคลที่ดูไม่ออกว่าเป็นตัวอะไร เขาชี้ให้ดูภาพแกะสลักหินเหล่านี้ แล้วบอกว่าถ้าไม่มีไกด์มืออาชีพก็จะไม่ได้เห็น

เดินตามออกไปไม่กี่ก้าวผมก็พูดกับเขาว่า “ขอให้เคลียร์กันก่อน ไม่ทราบว่าค่านำเที่ยวของคุณราคาเท่าไหร่?” เขาตอบ “แล้วแต่จะให้ ถ้าแฮปปี้ก็ให้มาก ไม่แฮปปี้ก็ให้น้อย” ผมยืนยันให้เขาบอกราคา เขาจึงนำเสนอที่ 20 ดอลลาร์ แล้วค่อยๆ ลดลงมา 15 ดอลลาร์ และ 10 ดอลลาร์ ผมบอกจะให้ 1,000 รูปี เพราะเราคงใช้เวลาที่นี่แค่ประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น เขาว่า “นั่นเท่ากับ 5 ดอลลาร์เองนะ” เมื่อเขาพูดอย่างนี้ ผมจึงยื่นให้ฟรีๆ 100 รูปี เขาก็รับไปด้วยใบหน้าที่ดูเศร้านิดๆ

ผมเดินขึ้นไปอีกราว 100 เมตร มีคนกวักมือเรียกให้ไปซื้อตั๋ว 1,000 รูปี น่าเสียดายที่ไม่มีข้อมูลเอกสารใดๆ ให้มาพร้อมกับตั๋ว แล้วคนขายตั๋วก็แนะนำ “ดิส อีส เท็มเพิล บอย เขาจะพาคุณชมโบราณสถานของมหินทเล” ผมบอกว่าเพิ่งปฏิเสธไกด์ไปเมื่อกี๊นี่เอง สุดท้ายก็ต้องคุยเรื่องราคากันอีก

เขาคิด 2,000 รูปี ผมต่อเหลือ 1,000 รูปี เขาขอพบครึ่งทางที่ 1,500 ผมยืนยันที่ 1,000 เขาโอเค หนุ่มคนนี้นุ่งกางเกงยีนส์ เสื้อเชิ้ตแขนยาว เครารกครึ้มแย่งกันโผล่ออกมาจากหน้ากากผ้า อายุยังไม่ถึง 30 ปี

เป็นอันว่าผมต้องใช้ไกด์มืออาชีพอยู่ดี แต่จะมืออาชีพขนาดไหน ขอยกยอดไปบอกตอนหน้าครับ

และจะว่ากันด้วยเรื่อง “มหินทเล” สถานที่ก่อกำเนิดพุทธศาสนาในลังกาทวีป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข้าอยากได้อะไร...ข้าต้องได้

เราคนไทยมักจะอ้างว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ มีการบริหารกิจการต่างๆ ภายในประเทศตามหลักการของนิติธรรม แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐจริงหรือ

เมื่อ 'ธรรมชาติ' กำลังแก้แค้น-เอาคืน!!!

เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา...ท่านเคยคาดๆ ไว้ว่า ฤดูหนาว ปีนี้น่าจะมาถึงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม

จ่ายเงินซื้อเก้าอี้!

ไม่รู้ว่าหมายถึง "กรมปทุมวัน" ยุคใด สมัยใคร จ่ายเงินซื้อเก้าอี้ ซื้อตำแหน่ง ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ตามที่ "ทักษิณ ชินวัตร" สทร.แห่งพรรคเพื่อไทย ประกาศเสียงดังฟังชัดในระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก

ไม่สนใจใครจะต่อว่า เสียงนกเสียงกา...ข้าไม่สนใจ

ถ้าหากเราจะบอกว่านายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเสียงตำหนิ มีการนำเอาการพูดและการกระทำที่ไม่ถูกไม่ต้อง ไม่เหมาะไม่ควร

จาก 'น้ำตา' ถึง 'รอยยิ้ม' พระราชินี

ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา...ได้อ่านข่าวพระราชาและพระราชินีสเปน เสด็จฯ ทรงเยี่ยมเยียนผู้คนที่ประสบภัยน้ำท่วมในเมืองปอร์ตา แคว้นบาเลนเซีย