3 มกราคม 2022 จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักรและสหรัฐร่วมออกแถลงการณ์ The Joint Statement of the Leaders of the Five Nuclear-Weapons States on Preventing Nuclear War and Avoiding Arms Races
สาระสำคัญคือ ทั้ง 5 ชาติจะหลีกเลี่ยงทำสงครามนิวเคลียร์ต่อกันและหลีกเลี่ยงการแข่งขันทางอาวุธ ถือเป็นความรับผิดชอบสำคัญสุดที่จะลดความเสี่ยงสถานการณ์เช่นนั้น
ภาพ: ขีปนาวุธข้ามทวีปติดหัวรบนิวเคลียร์ Dongfeng-41
เครดิตภาพ: http://eng.chinamil.com.cn/view/2019-10/01/content_9642171.htm
1.ยอมรับว่าไม่มีใครชนะในสงครามนิวเคลียร์และต้องไม่ทำสงครามนี้ต่อกัน อาวุธนิวเคลียร์มีหน้าที่เพื่อป้องกันประเทศ ป้องปรามการรุกรานและสงคราม และจะร่วมกันไม่ให้อาวุธนิวเคลียร์กระจายออกไป
2.จะเอ่ยถึงภัยคุกคามจากนิวเคลียร์ ย้ำความสำคัญยึดมั่นข้อตกลงทวิภาคีกับพหุภาคีเรื่องไม่แพร่กระจายอาวุธ การปลดอาวุธและควบคุมอาวุธ ยึดมั่นสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty: NPT) เจรจาด้วยสุจริตใจ (in good faith) เพื่อลดการแข่งขันอาวุธนิวเคลียร์ตั้งแต่ต้นจนกระทั่งปลดอาวุธภายใต้การควบคุมของนานาชาติอย่างเข้มงวดและมีประสิทธิภาพ
3.แต่ละประเทศจะรักษาและเพิ่มมาตรการป้องกันการใช้อาวุธนิวเคลียร์โดยไม่ตั้งใจ การยิงโดยพลการ ย้ำไม่กำหนดเป้ายิงอาวุธต่อประเทศใดๆ
4.จะร่วมกับรัฐอื่นๆ สร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยนำสู่การปลดอาวุธ จนถึงเป้าหมายสุดท้ายที่โลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์โดยไม่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศใด ใช้ช่องทางการทูตทั้งทวิภาคีกับพหุภาคี หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าทางทหาร กระชับเสถียรภาพและอยู่ในภาวะคาดการณ์ได้ เสริมสร้างความเข้าใจ ความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน ป้องกันการแข่งขันอาวุธซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร แก้ปัญหาด้วยการหารืออย่างสร้างสรรค์ด้วยความเคารพ ยอมรับผลประโยชน์ความมั่นคงและข้อกังวลของกันและกัน
แถลงการณ์ 5 ชาตินิวเคลียร์ตอกย้ำโอกาสเกิดสงครามนิวเคลียร์ระหว่างมหาอำนาจเป็นไปได้น้อยมาก แต่การเผชิญหน้าช่วงชิงยังคงอยู่ ประเทศใดจะเป็นเหยื่อรายต่อไป
วิเคราะห์:
ประการแรก ตอกย้ำ Non-Proliferation of Nuclear Weapons
เป้าหมายหลักของสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) คือจำกัดอาวุธนิวเคลียร์ให้อยู่ในมือ 5 ประเทศ พูดให้ชัดคือ 5 ประเทศนี้เท่านั้นที่มีอาวุธนิวเคลียร์ถูกต้องตามกฎหมายโลก (สหประชาชาติ)
ต้นปี 2022 มีกว่า 190 ประเทศได้ลงนามในสนธิสัญญา ด้านอินเดีย ปากีสถานและอิสราเอล (ที่มีอาวุธนิวเคลียร์หรือที่ถูกชี้ว่ามี) ไม่ยอมรับสนธิสัญญา (และไม่มีทางยอมรับ) ส่วนเกาหลีเหนือถอนตัวออกไปเมื่อมกราคม 2003
ประการที่ 2 ตอกย้ำอำนาจสมาชิกถาวรคณะมนตรี
คณะมนตรีความมั่นคง (Security Council) เป็นส่วนที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากหน่วยงานอื่นๆ คือ มีอำนาจตัดสินใจภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติและชาติสมาชิกจะต้องปฏิบัติตาม หาไม่แล้วอาจถูกลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง
สมาชิกถาวรมีสิทธิออกเสียงคัดค้าน การคัดค้านเพียงประเทศเดียวทำให้ข้อมติตกไปทันที จีน ฝรั่งเศส รัสเซีย สหราชอาณาจักรและสหรัฐล้วนเป็นสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ การประกาศจุดยืนนิวเคลียร์ครั้งนี้ตอกย้ำบทบาทความสำคัญของทั้ง 5 ประเทศ เพราะข้อมติของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติมีผลบังคับใช้ มีบทลงโทษชัดเจน เช่น คว่ำบาตรประเทศใดประเทศหนึ่ง จนถึงประกาศทำสงครามกับประเทศนั้น
ดังนั้น นอกจากจุดยืนตามแถลงการณ์ สิ่งที่แฝงอยู่คือการย้ำพลังอำนาจของ 5 ชาติ เป็นผู้มีบทบาทรักษาความมั่นคงโลกมานานและมีโอกาสเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการนี้มากที่สุด
ประการที่ 3 การแข่งขันช่วงชิงมีต่อเนื่องและต่อไป
ความจริงที่คนทั้งโลกเห็นคือการแข่งขันช่วงชิงของมหาอำนาจนิวเคลียร์เหล่านี้ แถลงการณ์ล่าสุดช่วยลดความตึงเครียดได้บ้าง ย้ำเตือนว่าโอกาสเกิดสงครามนิวเคลียร์น้อยมาก แต่การแข่งขันสะสมอาวุธ การเผชิญหน้าในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะกรณียูเครน ตะวันออกกลาง อินโด-แปซิฟิก เหล่านี้เป็นจริงและดำเนินเรื่อยมา เพียงแต่จำกัดขอบเขตไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ต่อกัน ผลลัพธ์คืออาจเกิดการปะทะด้วยอาวุธในพื้นที่จำกัดขอบเขต ในประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังตัวอย่างในอดีต เช่น สงครามอินโดจีน สงครามเกาหลี อัฟกานิสถาน
ยุคสงครามเย็นคือหลักฐานชิ้นสำคัญที่ชี้ว่าไม่ว่าชาติมหาอำนาจจะขัดแย้งมากแต่สุดท้ายไม่ทำสงครามต่อกันโดยตรง แม้มีเหตุที่ใกล้จะเป็นเช่นนั้น เช่น วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา (Cuban Missile Crisis) เมื่อเดือนตุลาคม 1962 เป็นกรณีตัวอย่าง สถานการณ์ในช่วงนั้นสหภาพโซเวียตอยู่ระหว่างติดตั้งและขนส่งขีปนาวุธเข้าไปในคิวบา ทั้งขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ ขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ทั้งแบบพิสัยกลางและพิสัยไกล อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่โซเวียต 45,000 นายกำลังปฏิบัติหน้าที่ในคิวบา ตอบโต้ที่สหรัฐติดตั้งขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์พิสัยกลาง รุ่น PGM-19 Jupiter จำนวน 15 ชุดในตุรกีจ่อหน้าบ้านโซเวียต
ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) สั่งประเทศพร้อมทำสงคราม และส่งกองเรือจำนวนมากไปสกัดกั้นกองเรือรัสเซียที่กำลังเดินทางมาคิวบา ประกาศว่าพร้อมทำสงครามนิวเคลียร์กับสหภาพโซเวียต ตุลาคม 1962 ยื่นคำขาดให้กองเรือรัสเซียบรรทุกขีปนาวุธถอยกลับออกจากคิวบาภายใน 48 ชั่วโมง ในที่สุด 2 ฝ่ายตกลงกันได้ โดยที่โซเวียตยอมถอนกองเรือออกไปพร้อมกับที่สหรัฐทำข้อตกลงลับว่าจะถอนขีปนาวุธติดหัวรบนิวเคลียร์ Jupiter ออกจากตุรกีและสัญญาว่าจะไม่โจมตีคิวบาหรือโค่นล้มระบอบคาสโตร
วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบาเป็นกรณีตัวอย่างชี้ให้เห็นว่า 2 อภิมหาอำนาจต่างระวังที่จะยั่วยุจนถึงขั้นเกิดสงครามระหว่างกันโดยตรง ต่างทราบดีว่าสงครามนิวเคลียร์มีแต่หายนะและกระทบทุกประเทศทั่วโลก (ประเทศอื่นๆ ต่อต้านสงครามนิวเคลียร์ล้างโลกเช่นกัน)
แต่การแข่งขันช่วงชิงยังดำเนินต่อไป ปีที่แล้วสหรัฐสร้างพันธมิตรเพิ่มเติม คือพันธมิตรทางทหารระหว่างสหรัฐ-อังกฤษ-ออสเตรเลีย หรือ AUKUS เป็นการดึงอังกฤษที่ไม่ใช่ประเทศในภูมิภาคเข้ามาในอินโด-แปซิฟิก (ต้องตระหนักว่าอังกฤษมีเรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์) การก้าวขึ้นมาของรัสเซียในยุคปูติน ความร่วมมือทางอาวุธระหว่างรัสเซียกับจีน ที่ฝ่ายหนึ่งมีเทคโนโลยี มีประสบการณ์กับอีกฝ่ายมีเงินมีทรัพยากรมหาศาล มีผลประโยชน์ที่ต้องรักษามากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งรัสเซียกับจีนต่างอาศัยกันและกัน เป็นปัจจัยให้อีกประเทศฟื้นฟูเติบใหญ่
ดังนั้น เมื่อมหาอำนาจไม่ทำสงครามโดยตรงต่อกัน ที่ควรระวังคือบางประเทศกลายเป็นพื้นที่แย่งชิงระหว่างมหาอำนาจเหล่านี้ และอาจเกิดขึ้นในอินโด-แปซิฟิก ซึ่งเคยเกิดมาแล้วในสงครามอินโดจีน สงครามเวียดนาม เรื่องนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ของชาติมหาอำนาจ
ประการที่ 4 การใช้อาวุธนิวเคลียร์กับประเทศที่ 3
ถ้าอ่านให้ดี แถลงการณ์ระบุว่า 5 ชาติหลีกเลี่ยงทำสงครามนิวเคลียร์ต่อกัน ตีความว่าอาจใช้กับประเทศอื่นๆ ที่ไม่อยู่ใน 5 ชาตินี้
รัฐบาลสหรัฐมีแนวคิดพัฒนาหัวรบนิวเคลียร์ที่มีอานุภาพทำลายต่ำ (low-yield warheads) อำนาจทำลายจำกัดขอบเขต รังสีไม่แพร่กระจายในวงกว้าง ไม่กระทบประเทศอื่น สิ่งนี้อาจเป็นหัวรบนิวเคลียร์แบบใหม่ที่จะพัฒนาและใช้กับประเทศที่ 3 ถ้าจำเป็น
เป็นเวลานานแล้ว นักวิชาการหลายคน นักการเมืองบางคนพูดถึงการปลดอาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดหรือลดให้เหลือน้อยที่สุด ประโยชน์ที่ได้ไม่ใช่แค่เรื่องสงครามนิวเคลียร์ล้างโลก ยังรวมถึงการนำงบประมาณมหาศาลไปพัฒนาประเทศ ดูแลสังคม เป็นความจริงที่จำนวนหัวรบของสหรัฐกับรัสเซียลดลงเรื่อยมา แต่น่าจะเป็นการลดบนหลักการไม่มีเหตุที่ต้องครอบครองมากเหมือนแต่ก่อน ในขณะที่ประโยชน์การใช้ยังดำรงอยู่ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลที่เปิดเผยหรือแบบปกปิด โอกาสที่ 5 ชาติปลอดนิวเคลียร์จึงเป็นไปได้ยาก เพราะนี่คือเครื่องมือแห่งผลประโยชน์สำคัญที่ต้องใช้งานต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู2024 (2)
เนทันยาฮูย้ำว่า อิสราเอลหวังอยู่ร่วมกับนานาชาติโดยสันติ แต่กระแสโลกต่อต้านอิสราเอลส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของอิสราเอล นโยบายกับความจริงจึงย้อนแย้ง
ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู 2024 (1)
บัดนี้สถานการณ์ชี้ชัดแล้วว่าอิสราเอลกำลังจัดการฮิซบุลเลาะห์ต่อจากฮามาส ทำลายอิหร่านกับสมุนให้เสียหายหนัก
เลือกตั้งสหรัฐ2024เลือกสังคมนิยมหรือฟาสซิสต์
ทรัมป์ชี้ว่าแฮร์ริสเป็นพวกสังคมนิยม ส่วนแฮร์ริสชี้ว่าทรัมป์เป็นเผด็จการ สหรัฐกำลังเข้าสู่การเลือกระหว่าง “สังคมนิยม” กับ “ฟาสซิสต์”
ทรัมป์จะเป็นเผด็จการหากชนะอีกสมัย?
หากได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัยและปกครองแบบเผด็จการ ก็ต้องถือว่าเป็นเผด็จการที่มาจากความต้องการของคนอเมริกันตามระบอบประชาธิปไตยสหรัฐ
ทรัมป์คุกคามโลกเสรีประชาธิปไตย?
การที่ทรัมป์แสดงท่าทีเป็นมิตรต่อรัสเซีย จีน อาจไม่ปกป้องสมาชิกนาโต ชวนให้ตั้งคำถามว่าทรัมป์เป็นภัยคุกคามโลกเสรีประชาธิปไตยหรือไม่