เสียค่าโง่ให้กัมพูชา

ดีครับ...

เอา MOU 44  เข้าไปถกในสภาฯ

แล้วยกเลิกเสีย

เว้นเสียแต่ว่ารัฐบาลสามารถชี้แจงได้ว่า ไม่มีความเสี่ยงใดๆ ที่ไทยจะเสียดินแดน คือ เกาะกูด ให้กัมพูชา

รวมถึงการสูญเสียทรัพยากรในทะเล แบบเสียค่าโง่ให้กัมพูชา

หรือคนไทยต้องสูญเสียประโยชน์เพราะนักการเมือง ๒ ประเทศฮั้วกัน

ถ้ารัฐบาลสามารถหักล้างข้อวิตกกังวลนี้ได้อย่างหมดจด ก็เดินหน้าหอบ MOU 44 ไปเจรจากับกัมพูชาต่อให้บรรลุผลเพื่อประชาชน

แต่หากทำไม่ได้แล้วเดินหน้าต่อ ก็อย่าเที่ยวไล่ฟ้องประชาชน หากเขาตั้งข้อสงสัยว่ารัฐบาลกำลังขายชาติ

อยากให้รัฐบาลอ่านบทความที่เขียนโดย ดร.ประจิตต์ โรจนพฤกษ์ ที่คณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา เผยแพร่เมื่อ ปี ๒๕๕๔

และปัจจุบันมีการนำมาเผยแพร่ต่อ ในหลากหลายช่องทาง

ฉะนั้นขอนำมาซอยย่อยเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้นโดยเฉพาะ ประเด็น "เกาะกูด"

เกาะกูด เป็นเงื่อนไขสำคัญมากที่รัฐบาลต้องพิจารณาอย่างละเอียด เพราะกรรมสิทธิ์ในเกาะกูดเป็นปัจจัยสำคัญในการแบ่งเขตทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา

ในขณะที่ไทยยืนยันเกาะกูดเป็นของไทย ตามหลักฐาน หนังสือสัญญาระหว่างกรุงสยามกับฝรั่งเศส ลงวันที่ ๒๓ มีนาคม ร.ศ. ๑๒๕ (ค.ศ. ๑๙๐๗) ข้อ ๒ ระบุว่า "รัฐบาลฝรั่งเศสยอมคืนดินแดนเมืองด่านซ้ายและเมืองตราดกับเกาะทั้งหลายซึ่งอยู่ภายใต้แหลมสิงห์ลงไปจนถึงเกาะกูดนั้นให้แก่กรุงสยาม"

จริงหรือไม่ที่กัมพูชาไม่เคย โต้แย้งกรรมสิทธิ์ดังกล่าวแต่อย่างใด?

มีกรณีหนังสือพิมพ์รัศมีกัมพูชา ฉบับวันที่ ๒๙-๓๐ มกราคม ๒๕๓๙ ได้ตีพิมพ์บทความว่า เกาะกูดเคยเป็นของกัมพูชา และไทยได้เข้ายึดและวางกำลังกองทัพเรือเหนือเกาะกูดในสมัยเขมรแดง

แม้เชื่อกันว่าทางการกัมพูชาไม่เคยโต้แย้งกรรมสิทธิ์เหนือเกาะกูดของไทย แต่กัมพูชากลับถือเอาเส้นแสดงจุดเล็งจากยอดสูงสุดของเกาะกูด มายังหลักเขตทางบกที่ ๗๓ เป็นเส้นไหล่ทวีปและเส้นทะเลอาณาเขตของตน

และยังขยายเส้นไหล่ทวีปจากยอดสูงสุดของเกาะกูด  ผ่าดินแดนบนบกของเกาะกูด เลยไปประมาณกึ่งกลางฝั่งตรงข้ามของอ่าวไทย

นี่คือสิ่งที่ไทยและกัมพูชารู้มาตลอด

นอกจากนี้ ในประกาศกฤษฎีกากัมพูชานี้ยังได้อ้างว่ามีการปักปันเขตไหล่ทวีป แต่ไม่ระบุว่ามีการปักปันกับใคร เมื่อใด

เท่ากับเป็นการกล่าวเท็จโดยสิ้นเชิง

ประกาศกฤษฎีกากัมพูชาซึ่งกำหนดทะเลอาณาเขตกัมพูชา ได้ใช้เส้นเดียวกับประกาศเขตไหล่ทวีปกัมพูชาจาก หลักเขต ๗๓ ไปสู่ฝั่งเกาะกูด เท่ากับว่าแบ่งเขตทางทะเลของเกาะกูดไปประมาณครึ่งหนึ่ง

นี่คือการอ้างสิทธิ์ใช่หรือไม่?

ฉะนั้นรัฐบาลต้องศึกษาข้อมูลให้ตกผลึกเสียก่อน แล้วค่อยยืนยันว่า กัมพูชาไม่เคยอ้างกรรมสิทธิ์ในเกาะกูด  

แน่นอนครับการประกาศเขตไหล่ทวีปฝ่ายเดียวไม่มีทางที่กฎหมายจะผูกพันประเทศอื่น อย่างที่กัมพูชาทำอยู่

หลักกฎหมายระหว่างประเทศที่บัญญัติไว้ในข้อ ๒ ของอนุสัญญาฯ ค.ศ. ๑๙๕๘ เกี่ยวกับไหล่ทวีป และข้อ ๗๗ ของอนุสัญญาฯ ค.ศ. ๑๙๘๒ ระบุว่า การประกาศเขตไหล่ทวีปฝ่ายเดียวไม่มีผลทางกฎหมายผูกพันประเทศอื่น

"เว้นแต่จะได้มีความตกลงระหว่างกัน"

ดังนั้น เส้นเขตทางทะเล ทั้งทะเลอาณาเขตและเขตไหล่ทวีปที่กัมพูชาประกาศกฤษฎีกาฝ่ายเดียวแม้จะอ้างว่าถูกต้องตามกฎหมายเพียงใด ก็ไม่ผูกพันไทย

แต่ปัญหามันเกิดทันทีเมื่อมี MOU 44

การทำบันทึกความเข้าใจฯ ในปี ๒๕๔๔ เท่ากับเป็นการยอมรับประกาศเขตทางทะเลของกัมพูชาและก่อให้เกิดพื้นที่ทับซ้อน

อารัมภบทของบันทึกความเข้าใจฯ นี้ วรรค ๓ กล่าวว่า

"ยอมรับว่า (Recognizing) จากผลของการอ้างสิทธิของประเทศทั้งสองในเรื่องทะเลอาณาเขตไหล่ทวีป และเขตเศรษฐกิจจำเพาะในอ่าวไทยทำให้เกิดพื้นที่ที่มีการอ้างสิทธิทับซ้อน (พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน)"

จากที่ไม่ควรมีพื้นที่ทับซ้อน กลับไปยอมรับว่ามีพื้นที่ทับซ้อน

นี่คือปฐมบทของหายนะ

ตาม MOU 44 ฉบับนี้ ข้อ ๑ ที่ตกลงทำความตกลงชั่วคราวเกี่ยวกับ "พื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อน" โดยเฉพาะในการจัดทำความตกลงต่อไปเพื่อพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียมและแบ่งเขตทางทะเลในข้อ ๒ นั้นย่อมเป็นการยืนยันการยอมรับเขตอ้างสิทธิทับซ้อนระหว่างกัน ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ ๒๖,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร

เพราะผลประโยชน์บังตา ความเสียหายจึงเกิดขึ้น

มีบทความชื่อ Border Conflicts between Cambodia and Vietnam โดย Ramses Amer ได้แสดงแผนที่เขตทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชาไว้ พบว่าพื้นที่ทางทะเลตามบันทึกความเข้าใจฯ ส่วนบนที่ไทยและกัมพูชาตกลงจะแบ่งเขตนั้นเป็นของไทยทั้งหมด!

ไม่มีส่วนไหนทับซ้อนกับกัมพูชาเลย

แต่รัฐบาลทักษิณเมื่อปี ๒๕๔๔ กลับไปยอมรับ เส้นของกัมพูชาที่ลากผ่าเกาะกูด

แม้ไม่ใช่การยอมรับว่าเกาะกูดเป็นของไทยครึ่งกัมพูชาครึ่ง แต่การยอมรับ "เส้นเถื่อน" ของกัมพูชามาแนบไว้ใน MOU 44 ไม่ต่างจากเสียค่าโง่ให้กัมพูชาไปแล้วครึ่งหนึ่ง

หากดำเนินการทำความตกลงตามบันทึกความเข้าใจฯ ต่อไป จะทำให้พื้นที่ทับซ้อนในทะเลส่วนล่างซึ่งตกลงจะแสวงประโยชน์ร่วมกันนั้น เมื่อความตกลงมีผลบังคับก็จะเป็นผลให้พื้นที่ในท้องทะเลเหนือส่วนล่างนี้เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ทับซ้อนไปด้วยทันที

จะเป็นปัญหาในการแบ่งพื้นที่ทับซ้อนในทะเลส่วนล่างต่อไป

ฉะนั้นหากกัมพูชาไม่ยอมปรับเส้นเขตทางทะเลดังกล่าวตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศแล้ว ฝ่ายไทยจะต้องรีบบอกเลิก MOU 44 โดยเร็ว

มิฉะนั้นแล้ว หากเป็นคดีขึ้นสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศหรือศาลระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเล ประเทศไทยย่อมเสียเปรียบในรูปคดีแน่

เพราะศาลก็จะบังคับให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจฯ ตามที่ศาลเห็นสมควร

ครับ...รัฐบาลควรกลับไปคิดให้รอบคอบก่อนที่จะตั้ง คณะกรรมการร่วมทางเทคนิค (Joint Technical Committee: JTC) ถือ MOU 44 ไปคุยกับกัมพูชา

คิดในแง่ดี กัมพูชาไม่ได้ต้องการเกาะกูด แค่ต้องการต่อรองผลประโยชน์ในพื้นที่อ้างว่าทับซ้อนกับไทยให้ได้มากที่สุด ทั้งที่ไม่ควรได้ตั้งแต่แรก

หากเลวร้ายสุดก็เป็นไปตาม กฤษฎีกากัมพูชา ขอเกาะกูดไปครึ่งหนึ่ง

แต่ไม่ว่าจะกรณีไหน หากยังยึด MOU 44 เป็นคัมภีร์ ก็เท่ากับเสียค่าโง่ให้กัมพูชาไปแล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก็เลี้ยงหลานไง!

อย่าเพิ่งเบื่อ กับการเขียนถึง MOU 44 ซ้ำแล้วซ้ำอีกนะครับ เพราะผลกระทบจะมากกว่าการเสียเขาพระวิหาร

ถึงคิว 'แพทองธาร'

งานงอก! เริ่มต้นจากข้อเขียนของ "คำนูณ สิทธิสมาน" เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า อย่าเสี่ยงจงใจขัดรัฐธรรมนูญ! MOU 44 ต้องผ่านรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ ๖๐ มาตรา ๑๗๘

หนึ่งในเหตุวิกฤต

ปล่อยไปไม่ได้ วันก่อน นายกฯ แพทองธาร พูดเรื่อง การจัดการพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา ทำเอาโซเชียลร้อนฉ่า

จ่อคอหอย 'ทักษิณ'

สงสัยกันเยอะพอควร... พรรคเพื่อไทยกับพรรคส้ม ถล่มกันเละในสนามเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุดรธานี มันของจริง หรือทะเลาะทิพย์