เผลอแป๊บเดียว วันนี้เราเข้าเดือนสุดท้ายของปีแล้ว ถือว่าเราเข้าฤดูกาลซื้อของขวัญสำหรับคริสต์มาสและปีใหม่อย่างเป็นทางการ ถึงแม้ตามห้างต่างๆ ในบ้านเราจะแต่งคริสต์มาสตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายนก็ตาม สำหรับสหรัฐอเมริกา หนึ่งวันหลังเทศกาล Thanksgiving จะเข้าฤดูกาลคริสต์มาสอย่างเป็นทางการและเต็มรูปแบบครับ
ก่อนเข้าเรื่อง มันคงไม่สายเกินไปที่จะพูดถึง Black Friday สักหน่อย เพราะถ้าไม่พูดวันนี้ ต้องรออีกปีกว่าจะพูดอีกที
อย่างที่บอกครับ Black Friday ไม่ได้เป็นนิทรรศการหรือเทศกาลอะไร ไม่ได้เป็นวันหยุดพิเศษเกี่ยวกับศาสนาหรือสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ มันเป็นเพียงวันพิเศษสำหรับนักช็อปทั้งหลาย ที่ทางร้านค้าจะล้าง
สต๊อกออกไปเพื่อรับสินค้าใหม่เข้ามา ต้อนรับเทศกาลคริสต์มาส อะไรที่อยู่ในร้านค้ามาตั้งแต่หลังคริสต์มาสปีก่อน จนตลอดปีที่ผ่านมา จะล้างออกไปให้หมดด้วยการลดราคากระหน่ำ ลดราคาประเภทไม่เกรงใจ ไม่เอากำไร ไม่หวังประโยชน์อะไรทั้งสิ้น สำหรับราคาลดกระหน่ำในวัน Black Friday แล้ว ถ้าถูกกว่านี้ก็คือแจกและฟรีครับ
ดังนั้นในวัน Black Friday จะเป็นวันที่ห้างเปิดเช้ากว่าปกติ ถ้าวันธรรมดาเปิด 10 โมงเช้า ในวัน Black Friday จะเปิดตั้งแต่ 7 โมงเช้า (บางที่เปิด 6 โมงเช้าด้วยซ้ำ) อย่าทำเป็นเล่นไปครับ เปิดเช้ากี่โมงก็แล้วแต่ มีคิวรอแล้ว ดังนั้นจะเห็นภาพห้างเปิดปุ๊บ มีคนทะลักเข้ามาปั๊บ และในสมัยก่อนลูกค้ามีการชกต่อยแย่งสินค้ากัน จนต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเฝ้าดูความเรียบร้อยและความสงบครับ
จะเป็นวันที่นักช็อปมีความสุขและสนุกสนานในตัว สินค้าที่เขาเล็งมาตลอดปีจะอยู่ในราคา….ไม่ซื้อก็โง่
แต่ผมไม่แน่ใจว่าในยุคนี้ Black Friday ยังเป็นที่ฮือฮาและนิยมเหมือนเมื่อก่อนหรือไม่ ยุคที่ผมเรียนปริญญาโท (ยุค 90s) เป็นยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตที่สมบูรณ์ขนาดนี้ จะเป็นยุคที่ต้องใช้ Modem เชื่อมกับอินเทอร์เน็ตอยู่ ยุคนั้นยังต้องใช้ America Online ไม่สะดวกสบาย ทันสมัยเหมือนในยุคนี้ ยุคนั้นเป็นยุคที่ยังต้องไปห้างเพื่อซื้ออะไรก็แล้วแต่ ดังนั้นห้างจะใหญ่ และห้างจะมีสินค้าหลากหลาย เพราะถ้าเราไม่ไปห้าง เราไม่รู้จะซื้อสินค้าที่ไหน
แต่ในยุคนี้ เราไม่ต้องไปห้างได้ เราซื้อออนไลน์ก็ได้ ผมเลยไม่แน่ใจว่าภาพเก่าๆ ที่ผมเคยสัมผัส ที่คนยืนหน้าห้างตั้งแต่เช้ามืดวัน Black Friday ยังมีอยู่หรือไม่ อย่าว่าแต่คนยืนหน้าห้างเลย ตัวห้างยังมีอยู่หรือเปล่า? เพราะรู้แน่ๆ ว่าห้างใหญ่ๆ ในสหรัฐเป็นสิ่งที่อยู่ในอดีต และแทบจะไม่มีแล้ว ส่วนบ้านเราคนยังนิยมไปห้างอยู่
(เปรียบเทียบกับอินโดฯ ที่ผมเคยอยู่ พวกเรายังโชคดีที่มีอะไรทำ มีที่อื่นไปได้ ที่อินโดฯ มีแต่ไปห้าง เพราะไม่รู้จะไปไหน)
แต่วิญญาณ Black Friday ยังอยู่ เพราะยอดขายในวันดังกล่าวทางออนไลน์และในโลกจริงมีมากกว่าวันอื่นๆ ในรอบปีครับ บวกกับ Cyber Monday แล้ว ฤดูการซื้อของต้อนรับฤดูกาลคริสต์มาสเข้มแข็งมาก ถ้าถามว่า Cyber Monday คืออะไร? ก็คือ อีกวันหนึ่งที่จะซื้อของนั่นล่ะ ซึ่งจะเป็นการซื้อของออนไลน์เป็นหลัก
แต่ผมสงสัยอยู่ว่าทำไม Black Friday จึงมีชื่อว่า Black Friday?
ที่มาของคำว่า Black Friday ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการซื้อของ มันเกิดขึ้นจากความพยายามของนักลงทุนชื่อ Jay Gould กับ Jim Fisk เมื่อปี 1869 อยากปั่นราคาทองคำ จึงทำให้ราคาทองคำและตลาดทองคำตกเหวทีเดียว จากนั้นคำว่า Black Friday จะพูดถึงเรื่อง เหตุการณ์ร้ายๆ เหตุการณ์ลบๆ ตลอด
Black Friday เริ่มเกี่ยวกับการช็อปปิ้งในยุค 1950s ในเมือง Philadelphia ตำรวจที่นั่นบ่นกันเองว่า หลังวัน Thanksgiving หนึ่งวัน (ก็คือวันศุกร์) จะมีผู้คนแห่เข้ามาในเมืองเพื่อซื้อของ ทำให้พวกเขาต้องทำงานหนักช่วงเทศกาลวันหยุดยาว เพราะต้องดูแลมวลชนที่เข้ามามหาศาล เขาเลยเรียกกันเองว่าเป็น Black Friday จากนั้นความหมายกับคำนี้เป็นสิ่งคู่กันมาโดยตลอด ทั้งในวงตำรวจและคนทั่วไป
พอคำนี้เริ่มฮิตขึ้นมา เริ่มมีกระแสตีกลับจากทางร้านค้าว่า Black Friday เป็นคำที่มีความหมายออกทางลบไปหน่อย จึงพยายามสร้างกระแสเปลี่ยนเป็น Big Friday จะดีกว่าไหม? กระแสนี้ไม่ติด คนก็ยังนิยมใช้คำว่า Black Friday ต่อ เลยพยายามปรับอีกที แทนที่จะปรับชื่อ เขาปรับความเข้าใจและสร้าง story แทน โดยสร้างเรื่องว่า Black Friday เป็นวันที่ร้านค้าทั้งหลายจะโกยกำไรกัน หรือ “go in the black” แทนที่จะ “go in the red” ที่แปลว่าขาดทุน
ความจริงไม่มีเหตุการณ์ใดหรือวันไหนที่เริ่มใช้คำว่า Black Friday ในความหมายที่เราคุ้นกัน รู้แต่ว่าในยุค 1970s-1980s กระแส Black Friday เริ่มเป็นที่นิยมและร่วมเป็นส่วนของชีวิตคนอเมริกาทุกๆ ปี จนเป็นที่ยอมรับและเป็นอีกหนึ่งเทศกาลในปฏิทินคนอเมริกาไปแล้ว
ส่วนอีก “เหตุการณ์” หนึ่งที่ผมเห็นผ่านตาทุกปี แต่ไม่เคยรู้ที่มา (แล้วไม่เคยสนใจที่จะรู้ที่มาด้วยซ้ำ) คือภาพที่ประธานาธิบดีสหรัฐจะยืนที่โพเดียมแถลงข่าว และมีไก่งวงใหญ่ๆ อยู่ตัว-สองตัว ซึ่งประธานาธิบดีก็จะพูดไปเรื่อยๆ และในที่สุดก็จะมีคำว่า Parden the Turkey ผมเข้าใจตลอดว่าเป็นไก่งวงที่คนนำมามอบให้รับประทานในวัน Thanksgiving แต่พอเอาไปคิด มันดูโหดร้ายไปนิดนึงไหม? ทำไมต้องเอาไก่งวงที่ตัวเองจะกินมาให้คนทั่วโลกได้เห็น มันดูใจดำไปหน่อย ผมยอมรับว่าผมไม่เคยใส่ใจในเรื่องนี้ และไม่เคยรู้ว่าเขาทำอะไร เรื่องนี้จะเข้าข่ายเรื่อง Black Friday ว่าถ้าไม่พูดแบบวันนี้ ก็ไม่รู้จะพูดอีกทีเมื่อไหร่
ตั้งแต่ยุค 1860s มีฟาร์มเลี้ยงไก่งวง บริจาคไก่งวงให้กับประธานาธิบดีจริง ส่วนประธานาธิบดีในยุคนั้นจะเอาไปกินหรือไปปล่อยก็แล้วแต่เขา พอวันเวลาผ่านไป เริ่มมีหลายฟาร์ม หลายสมาคมเลี้ยงไก่งวง ตั้งใจบริจาคไก่งวงให้กับประธานาธิบดี แต่ยุคแรกที่จะมีการ “อภัยโทษ” ตัวไก่งวงนั้น เริ่มช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประธานาธิบดี Harry S. Truman มีความเห็นว่าไก่งวงที่คนบริจาคเข้ามามันเยอะเกิน ลำพังตัวเขากับครอบครัวเขากินไม่หมด จะเอาไก่งวงไปแจกให้กับเจ้าหน้าที่ในทำเนียบฯ ก็ไม่หมด เกิดแนวความคิดว่าควรจะปล่อยไก่งวงเหล่านี้ให้ไปอยู่ตามฟาร์มต่างๆ
ส่วนประเพณี Pardon the Turkey เป็น “ประเพณี” จริงจัง ซึ่งหมายความว่า “อภัยโทษ” ตัวไก่งวงนั้นเริ่มจริงจังในยุคประธานาธิบดี Ronald Reagan เป็นต้นมาครับ และเป็นประเพณีที่ประธานาธิบดีจะรับไก่งวงที่สมาคม (หรือฟาร์ม) บริจาคให้ มาปล่อยตามฟาร์มให้คนชมครับ
วันนี้ถือเป็นวันให้ความรู้รอบตัวในเรื่องที่อาจไม่ใช่เรื่องครับ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วันส่งท้าย 'สวัสดีปีใหม่'
หวังว่าวันนี้คงไม่สายเกินไปที่ผมจะทักแฟนคอลัมน์ด้วยคำว่า “สวัสดีปีใหม่” ครับ เนื่องจากวันนี้เป็นวันแรกที่เราได้เจอกันในรอบปีใหม่ แต่ผมมีคำถามอยู่คำถามหนึ่งว่า
'This is what butterflies listen to after a long day.'
ทิ้งท้ายปีนี้ด้วยคอลัมน์สบายๆ ครับ ผมไม่แน่ใจว่าสิ่งที่ผมจะเขียนในวันนี้ จะถึงใจแฟนคอลัมน์หรือเปล่า เพราะผมไม่แน่ใจว่าพวกเราชอบฟังเพลงแนว Podcast
Gisele Pelicot วีรสตรีของโลก
วันนี้ผมขออนุญาตเขียนเรื่องที่อาจสะเทือนใจ และสร้างความอึดอัดให้กับแฟนคอลัมน์หลายท่าน มันไม่ใช่เรื่องที่คนปกติจะนั่งพูดคุยกัน เป็นเรื่องสะเทือนใจ
สงครามที่โลกลืม…ปิดฉากไปแล้ว
มันแปลกจริงๆ ครับ ประมาณเกือบ 2 สัปดาห์ที่แล้ว อยู่ๆ ผมนึกถึงคอลัมน์ที่ผมเคยเขียน เรื่องเกี่ยวกับ “สงครามที่โลกลืม”
President Biden….You’re a Good Dad
ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีสารพัดเรื่องที่น่าสนใจและน่าเขียนถึง เรื่องแรกต้องเป็นเรื่องประกาศกฎอัยการศึกในเกาหลีใต้ เพราะเป็นเรื่องไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้น และถือว่าเป็นการประกาศฟ้าผ่าทีเดียว
'ศาลอาญาระหว่างประเทศ….มีไว้ทำไม?'
เมื่อวันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court หรือ ICC) ได้ออกหมายจับนายกรัฐมนตรีอิสราเอล Benjamin Netanyahu