คำแถลงของประธานอาเซียน (บรูไน) ที่ออกมาเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ผ่านมาว่าจะไม่เชิญ “ผู้นำทางด้านการเมือง” ของเมียนมามาร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนปีนี้ถือว่าเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ที่ต้องบันทึกเอาไว้
มติของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในการประชุมนัดพิเศษออนไลน์วันนั้นคือไม่เชิญ มิน อ่องหล่าย จากพม่ามาร่วมประชุมสุดยอดในช่วง 26-28 ตุลาคมนี้
ตัวแทนจากเมียนมาจะไม่ใช่ “ระดับการเมือง” ส่วนจะเป็นระดับ “เจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ” อย่างไรหรือไม่ เป็นประเด็นที่คงจะต้องมีการตกลงกันในระหว่างสมาชิกอาเซียน 9 ประเทศ ที่ไม่รวมถึงเมียนมา
อาเซียนไม่มีทางเลือกอะไรมาก เมื่อผู้นำทหารพม่าไม่ยอมให้มีความคืบหน้าที่จะให้ทูตพิเศษอาเซียนเข้าประเทศเพื่อพบปะกับ “ผู้มีส่วนได้เสีย” ทุกฝ่ายในการหารือทางออกจากวิกฤตอันเกิดจากรัฐประหารเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
เพราะหากอาเซียนยอมให้ มิน อ่องหล่าย มาร่วมประชุมสุดยอด อาจจะถูกคว่ำบาตรโดยประเทศอื่นที่ปกติจะมาร่วมประชุมในฐานะ “คู่เจรจา” หรือ dialogue partners ซึ่งมีทั้งสหรัฐฯ, อียู, อังกฤษ, จีน, รัสเซียและอื่นๆ
กระทรวงต่างประเทศเมียนมาของรัฐบาลทหารพยายามจะแก้ตัวด้วยแถลงการณ์ว่ารัฐบาลพม่ามีพันธกรณีที่จะร่วมมือกับอาเซียนอย่างสร้างสรรค์ในการทำตามฉันทามติ 5 ข้อ
นั่นคือแถลงการณ์ทางการ แต่ในทางปฏิบัติเป็นอีกเรื่องหนึ่งโดยสิ้นเชิง
จุดยืนของไทยในกรณีนี้จึงน่าสนใจ
เพราะอย่างน้อย 4 ประเทศในอาเซียน คือ อินโดฯ, มาเลเซีย, สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ ออกมายืนยันว่าอาเซียนจะ “เสียผู้เสียคน” แน่ หากเชิญ มิน อ่องหล่าย มาร่วมประชุมสุดยอด
นักวิเคราะห์ที่ติดตามเรื่องนี้บอกว่า ไทยและประเทศอาเซียนอื่นๆ มีท่าทีที่อ่อนกว่า แต่เมื่อ มิน อ่องหล่าย ไม่ยอมผ่อนปรนอะไรเลย เสียงทักท้วงของไทยและอาเซียนอื่นก็ไม่มีน้ำหนักพอที่จะไม่เดินหน้าสกัด มิน อ่องหล่าย ได้
ก่อนหน้าการประชุมนัดพิเศษของรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนนั้น กระทรวงต่างประเทศไทยมีแถลงการณ์ว่าด้วยจุดยืนของไทยในเรื่องนี้
คุณธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับมุมมองของไทยต่อสถานการณ์ล่าสุดเกี่ยวกับการเยือนเมียนมาของผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียน ดังนี้
ไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนจะสามารถเดินทางเยือนเมียนมาได้ในเร็ววันนี้ และหวังว่าผู้แทนพิเศษจะมีโอกาสพบหรือเข้าถึงฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในระหว่างการเยือนเมียนมา หรือในโอกาสต่อๆ ไป เพื่อผลักดันการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของผู้นำอาเซียน
โดยการเยือนดังกล่าวจะเป็นก้าวแรกที่สำคัญของกระบวนการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพูดคุยกันระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในเมียนมาตามที่ระบุไว้ในฉันทามติ 5 ข้อของผู้นำอาเซียน
ไทยเห็นว่าเมียนมาเป็นสมาชิกของครอบครัวอาเซียน และเชื่อว่าเมียนมาก็ให้ความสำคัญกับครอบครัวอาเซียน และต้องการเห็นอาเซียนประสบความสำเร็จ ไทยเชื่อในภูมิปัญญาร่วมกันของทุกประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงเมียนมา ที่จะหาวิธีการที่จะเอาชนะความท้าทายต่างๆ ได้ด้วยกัน โดยคำนึงถึงความเป็นครอบครัวอาเซียนเดียวกัน
ไทยมีความเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าประชาคมระหว่างประเทศควรที่จะให้ความสำคัญลำดับสูงกับการให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมาต่อไป
โดยไทยในฐานะมิตรที่ดีของประชาชนเมียนมาทุกคนจะพยายามอย่างเต็มที่ต่อไปเพื่อให้ความช่วยเหลือ
ในขณะเดียวกัน ไทยขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในเมียนมาให้การรับประกันว่าการขนส่งความช่วยเหลือมนุษยธรรม โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับสาธารณสุขไปยังประชาชนที่มีความต้องการจะสามารถดำเนินได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
ไทยขอเน้นย้ำอีกครั้งถึงความปรารถนาที่จะเห็นสันติภาพและความสงบสุขกลับคืนสู่เมียนมา และข้อเรียกร้องให้มีการยุติความรุนแรง ปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมตัวเพิ่มเติม และให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเมียนมาหันหน้ามาพูดคุยกันผ่านช่องทางที่สร้างสรรค์ใดๆ เพื่อหาทางออกทางการเมืองร่วมกันโดยสันติ และดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยเพื่อประโยชน์ของประชาชนของเมียนมา
สรุปว่าแถลงการณ์ของไทยใช้ถ้อยคำที่ควรจะใช้อย่างกว้าง ๆ และตามหลักการ
แต่ในทางปฏิบัติแล้วก็สะท้อนว่า ความพยายามของไทยที่ใช้ “การทูตเพื่อนบ้านที่เข้าใจทุกฝ่าย” นั้นไม่อาจจะน้าวโน้ม มิน อ่องหล่าย ให้ยอมโอนอ่อนตามเลยแม้แต่น้อย ซึ่งเป็นที่มาของ “เกมการทูตสกัดมิน อ่องหล่าย” ของอาเซียนวันนี้
พรุ่งนี้วิเคราะห์ภาษาและลีลาของแถลงการณ์ฉบับนี้ที่จะมีผลต่อเนื่องไปอีกยาวนาน เพราะรัฐบาลทหารพม่าออกแถลงการณ์โต้ทันควันว่าไม่ยอมรับมติชน ถือว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของพม่าและไม่มีมติที่เป็นเอกฉันท์
ถ้า มิน อ่องหล่าย เล่นบท “เด็กเกเร” ต่อ อาเซียนจะทำอย่างไร? ไทยจะพลิกเกมนี้อย่างไร?
เป็นคำถามที่ท้าทายยิ่งนัก.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ถามแสกหน้า 'ทักษิณ' จะพลิกเศรษฐกิจไทยยังไง ทุกซอกมุมในสังคมยังเต็มไปด้วยทุจริตโกงกิน
นายสุทธิชัย หยุ่น นักวิเคราะห์ข่าวและผู้ดำเนินรายการข่าวชื่อดัง โพสต์เฟซบุ๊ก ถึงกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า “เขาจะพลิกประเทศไทยให้เศรษฐกิจล้ำโลกได้หรือ
เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนที่กลายเป็น ที่ซ่องสุมของอาชญากรรมข้ามชาติ
เมื่อวานเขียนถึงรายงานในสำนักข่าวชายขอบที่สำนักจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยว่าด้วยกิจกรรมอาชญากรรมข้ามชาติในบริเวณ “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” ที่สามเหลี่ยมทองคำ
แหล่งค้ามนุษย์ใน 3 เหลี่ยมทองคำ
เขตเศรษฐกิจพิเศษหรือ SEZ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่โยงกับไทยนั้นกลายเป็นประเด็นเรื่องอาชญกรรมข้ามชาติที่สมควรจะได้รับความสนใจของรัฐบาลไทยอย่างจริงจัง
ไบเดนหรือทรัมป์? เอเชียน่าจะเลือกใครมากกว่า?
ผมค่อนข้างมั่นใจว่าการดีเบตระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ วันนี้ (เวลาอเมริกา) จะไม่ให้ความสำคัญต่อเอเชียหรืออาเซียน
พรุ่งนี้ ลุ้นดีเบตรอบแรก โจ ไบเดนกับโดนัลด์ ทรัมป์
ผมลุ้นการโต้วาทีระหว่างโจ ไบเดน กับโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (27 มิถุนายน) เพราะอยากรู้ว่า “ผู้เฒ่า” สองคนนี้จะมีความแหลมคมว่องไวในการแลกหมัดกันมากน้อยเพียงใด
เธอคือ ‘สหายร่วมรบ’ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรค NLD คนสุดท้าย!
อองซาน ซูจีมีอายุ 79 ปีเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา...และยังถูกจำขังในฐานะจำเลยของกองทัพพม่าที่ก่อรัฐประหารเมื่อกว่า 3 ปีที่แล้ว