เปิดขุมทรัพย์จากพฤติกรรมสุดขี้เกียจ

เชื่อหรือไม่ว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่กดสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันเดลิเวอรี ทั้งที่ร้านอยู่ใกล้แค่ใต้คอนโดฯ สั่งซื้อของจากร้านสะดวกซื้อทั้งที่ร้านอยู่แค่ฝั่งตรงข้าม หรือยอมจ่ายเงินจ้างคนไปต่อคิวเพื่อซื้อของ ทำธุระ หรือแม้แต่เล่นเกมแทน นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของ “พฤติกรรมขี้เกียจ" ที่สะท้อนไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในปัจจุบันที่ต้องการความสะดวกสบาย แม้กระทั่งกิจกรรมง่ายๆ หรือใช้เวลาไม่มาก

การเพิ่มขึ้นของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เต็มใจจ่ายและพร้อมใช้เงินแก้ปัญหาเพื่อแลกกับความสะดวกสบาย เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เรียกว่า Lazy Economy เทรนด์ที่เติบโตอย่างรวดเร็วมาก

โดยเฉพาะตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่สร้างเศรษฐกิจวิถีใหม่ไปทั่วโลก และยังมีสถิติน่าสนใจที่พบว่า ธุรกิจสตาร์ทอัปทั่วโลกกว่า 34% ทำธุรกิจเพื่อสนับสนุนคนขี้เกียจอีกด้วย

จากผลงานวิจัย “เจาะลึกอินไซต์ พิชิตใจคนขี้เกียจ” ของนักศึกษาสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ชี้ชัดว่า ตลาดคนขี้เกียจยังคงเป็นที่จับตามองและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องถึงอนาคต โดยทาง ผศ.ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด จาก CMMU จะพาขยับเข้าไปทำความรู้จักกับพฤติกรรมสุดขี้เกียจ และเทรนด์ Lazy Economy ให้มากยิ่งขึ้น พร้อมร่วมค้นหาสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์เทรนด์นี้ เพื่อคว้าโอกาสแจ้งเกิดและเติบโตในธุรกิจนี้

สำหรับ TOP 4 สุดยอดพฤติกรรมขี้เกียจที่ทำให้ใครๆ ก็ต้องยอมควักกระเป๋าจ่ายและเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ได้แก่ ขี้เกียจเดินทาง เพราะการไปไหนมาไหนแต่ละที เสียทั้งเงินเสียทั้งเวลา โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ที่ไปทางไหนก็เจอแต่รถติด LAZY Consumer จึงยอมจ่ายเพื่อซื้อเวลา ส่งผลให้สินค้าและบริการต่างๆ ที่ช่วยลดการเดินทางตอบโจทย์และเติบโตอย่างรวดเร็ว

ต่อมาคือขี้เกียจรอ ในยุคดิจิทัลที่ทุกอย่างรวดเร็ว ทันใจไปหมดอย่างทุกวันนี้ ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะชาว LAZY Consumer ติดนิสัยไม่ชอบการรอคอย ชอบอะไรที่รวดเร็ว ทันใจ และไม่เสียเวลา ทำให้เกิดธุรกิจที่เน้นความรวดเร็ว สะดวกสบาย ไม่ต้องรอนาน เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย

นอกจากนี้ ยังขี้เกียจออกแรง ร้อยทั้งร้อยของ LAZY Consumer จะชอบอยู่ในโหมดประหยัดพลังงาน จึงชอบหาวิธีหรือทางลัดต่างๆ ที่จะช่วยให้ออกแรงน้อยที่สุด จึงมักเลือกใช้สินค้าหรือบริการที่ช่วยทุ่นแรงหรือให้คนมาทำแทนได้ ส่งผลให้สินค้าและบริการที่ช่วยลดภาระในชีวิตประจำวันขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง

แม้จะยังไม่มีตัวเลขที่แน่ชัดเกี่ยวกับมูลค่าของ Lazy Economy ทั่วโลก แต่จากการเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่น ธุรกิจ Delivery และช็อปปิ้งออนไลน์ต่างๆ ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่าตลาดนี้มีศักยภาพมหาศาลและมีแนวโน้มเติบโตอีกมากทั้งในปัจจุบันและในอนาคต เพราะยิ่งหาเงินได้มากก็ยิ่งอยากใช้เงินแก้ปัญหา ไม่ว่าใครก็ชอบความรวดเร็ว สะดวกสบาย และไม่ว่าจะยุคใดสมัยใด การใช้เงินแก้ปัญหาเพื่อซื้อความสะดวกสบายก็จะยังคงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้มีรายได้สูง ยิ่งมีรายได้สูงเท่าไหร่แนวโน้มที่จะใช้เงินซื้อความสะดวกสบายก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

ขณะเดียวกัน ยิ่งทำงานหนักก็ยิ่งไม่อยากทำอะไร เพราะลำพังแค่ทำงานอย่างเดียวก็เหนื่อยจนแทบไม่อยากไปคิดหรือทำอะไรต่อแล้ว ดังนั้นตราบใดที่คนยังต้องทำงานหนักและมีวิถีชีวิตที่เร่งรีบ สินค้าหรือบริการที่ช่วยทุ่นพลังกาย พลังสมอง และทุ่นเวลาจึงไม่มีทางตกเทรนด์ และยิ่งเทคโนโลยีเจริญมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้คนขี้เกียจ ปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีคือผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการของมนุษย์ขี้เกียจ ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาเจริญก้าวหน้าเท่าไหร่ก็ยิ่งทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างยิ่งง่ายเพียงแค่ขยับปลายนิ้ว เพิ่มความสะดวกสบายให้ชีวิตได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด

อย่างไรก็ดี ตราบใดที่ผู้คนยังแสวงหา “ทางลัด” มาช่วยทำให้ชีวิต ง่าย รวดเร็ว สะดวกสบาย เศรษฐกิจขี้เกียจก็จะยังเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดไป ไม่มีวันตกเทรนด์ โอกาสแจ้งเกิดธุรกิจใหม่ๆ จึงยังเปิดกว้างเสมอสำหรับผู้ที่มองเห็นนั่นเอง.

 

รุ่งนภา สารพิน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ผ่าแผนรับมือรถติดสร้างสายสีส้ม

จากการที่รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในฐานะผู้อำนวยการโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เตรียมจัดการจราจรเพื่อดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม

สงครามการค้าเวอร์ชัน 2.0

อย่างที่ทราบกันดีว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐล่าสุด ผู้ชนะก็คือ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน ซึ่งคว้าชัยแบบทิ้งห่างคู่แข่งอย่างนางกมลา แฮร์ริส ตัวแทนจากพรรคเดโมแครต

แห่ส่งเสริมนวัตกรรมพลิกโลก

เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ออฟ ติงส์ หรือ IoT(ไอโอที) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญในยุคสมัยนี้ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะเป็นนวัตกรรมที่ทำให้การสื่อสารระหว่างมนุษย์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไร้รอยต่อยิ่งขึ้น

OCAแก้วิกฤตพลังงานไทย

ปัจจุบันปริมาณสำรองก๊าซของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจนเข้าขั้นวิกฤต ส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซ LNG ในราคาที่ผันผวนเพิ่มมากขึ้น มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นของประชาชนและรายได้งบประมาณของรัฐลดลง

แอ่วเหนือ...คนละครึ่งบูมเศรษฐกิจ

จากสถานการณ์อุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ทั้งในแง่ของการคมนาคม เดินทางเข้าสู่พื้นที่และความเสียหายต่อแหล่งท่องเที่ยว

ซึมยาวถึงกลางปีหน้า

ข้อมูลจากสถาบันยานยนต์จะพบว่า ในปี 2566 ตลาดยานยนต์ในไทยมีมูลค่ารวมกว่า 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 18% ของ GDP ประเทศ และจากการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ของภาครัฐที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อันดับ 10 ของโลก อันดับ 5 ของเอเชีย และอันดับ 1 ของอาเซียน