ยุบเรื่องเล็ก-อยู่เรื่่องใหญ่

ต้องบอกว่า.........

"ธรรมนัส" นี่ เป็น "โอปปาติกะเทพ" ของแท้!

คือ "เกิดปุ๊บ-โตปั๊บ"

เป็นพรรค "แก้มลิง" บิ๊กป้อม ด้วยจำนวน ส.ส.ทั้งก๊วนตัวเองและพวก "สัมภเวสีพรรค" ที่จรมาซบ รวมแล้วตอนนี้ "เฉียด ๓๐"

ไม่ใช่ "หอกข้างแคร่" รัฐบาล......

แต่มันคือหอก "ทะลุกลางแคร่" พร้อมเสียบก้นนายกฯ "คว่ำรัฐบาล" กลางสภาได้ทุกเวลาที่ต้องการ!

เพราะทุกวันนี้ เสียงรัฐบาลเหนือกว่าฝ่ายค้านไม่กี่สิบ เมื่อธรรมนัสยกก๊วนออกไป และมีพรรคจิ๋วที่เคยหนุนรัฐบาลซบสมทบ

ผมดูคร่าวๆ รัฐบาลเหลือเสียงเหนือฝ่ายค้านไม่ถึงสิบ ในการโหวตกฎหมายสำคัญๆ แค่ซีกธรรมนัสยกมือให้ฝ่ายค้าน

รัฐบาล "พัง" ทันที!

เมื่อเส้นทางการเมืองระบบรัฐสภาเป็นอย่างนี้ นายกฯ "ยุบสภา" ก่อนจะถูก "เตะคว่ำ" กลางสภาดีมั้ย?

นี่...แฟนคลับลุงตู่ ทั้งริงไซด์ทั้งบนอัฒจันทร์ ส่งเสียงขรมด้วยห่วงใย

ดูเหมือนนายกฯ ก็รู้ แฟนๆ เป็นห่วง แต่ผมดูท่านให้สัมภาษณ์ จับน้ำคำและน้ำเสียงได้ว่า

คำที่ท่านตอบเมื่อวาน (๒๐ ม.ค.๖๕) ได้ใคร่ครวญ-ไตร่ตรองมาก่อนแล้ว

ผมจะยก ๒ ประโยคที่นายกฯ พูดเมื่อวาน ประโยคแรก

"ผมไม่ได้คิดจะดำเนินการในเรื่องปรับคณะรัฐมนตรี หรือยุบสภาอะไรต่างๆ  โดยเฉพาะขณะนี้กฎหมายก็ยังไม่เรียบร้อย"

และประโยคที่สอง.....

"อย่างไรก็ตามขอบคุณประชาชนที่เชื่อมั่นและเชื่อถือที่ผ่านมา ซึ่งผมก็ได้วางอนาคตไว้พอสมควร โดยเฉพาะแก้ปัญหาที่หมักหมม

เป็นภาระของผมที่ทำให้การทำงานใหม่ๆ ออกมาได้ช้า โดยต้องเห็นใจเจ้าหน้าที่และข้าราชการด้วย ซึ่งผมเข้าไปลงรายละเอียดในทุกเรื่อง

อะไรติดขัดตรงไหน ก็พร้อมสั่งการเพิ่มเติมให้ ไม่เคยว่างเว้นการทำงาน"

ฟังเผินเหมือนคนละเรื่อง แต่ถ้าฟังพิศจะเข้าใจว่ามันเป็น "คนละเรื่องเดียวกัน"

คือการยุบ-ไม่ยุบสภา นั้น......

มีองค์ประกอบที่ต้องใคร่ครวญทาง "ผลได้-ผลเสีย" ของบ้านเมืองทั้งทางสั้้น-ทางยาว มากกว่ามุ่งเฉพาะด้าน "ผลประโยชน์" นักการเมือง

แน่นอน การเมืองระบบรัฐสภา ตอนเลือกตั้ง "คุณภาพประชาชน" เป็นใหญ่ เมื่อเลือกตั้งแล้ว "ปริมาณมือ ส.ส." ในสภาเป็นใหญ่

เมื่อเกิด "ปริมาณแปรผัน" เช่นนี้ ก็รู้แหละ "ยุบสภา" คือทางเดินตามกติกาของมัน

ส่วน "ตอนไหน-เมื่อไหร่" นั้น ก็ต้องนำแต่ละองค์ประกอบของเหตุปัจจัยมาเข้าสมการ "เทอมงาน-เทอมเวลา" เพื่อหาจุดพอดีของ "ประโยชน์อันพึงมี" ต่อบ้านเมือง เป็นเข็มวัด

ที่นายกฯ บอก "ไม่ยุบสภา" ด้วยเหตุ...

๑.ยังเป็น "รัฐบาลเสียงข้างมาก" อยู่

๒.ต้องจัดทำ "งบประมาณรายจ่ายแผ่นดิน ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๖" ให้ผ่านสภาก่อน

๓.ต้องให้กฎหมายลูก ๒ ฉบับ เพื่อการเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญที่แก้ไขกัน ผ่านสภาประกาศใช้ก่อน

นี่แค่ ๓ เหตุ ที่ยังยุบสภาไม่ได้ โดยไม่พูดถึงการเป็นเจ้าภาพ APEC ของไทย และกฎหมายสำคัญๆ อีกหลายฉบับจะต้องตกไป

ประเด็น พ.ร.บ.งบประมาณ ๖๖ ยังไม่มี พวก ส.ส.เขาคงไม่สนใจเท่าไหร่ เพราะไม่ใช่ผลประโยชน์พวกเขาโดยตรง

แต่ประเด็น กฎหมายลูก "เลือกตั้งใหม่" ด้วยบัตร ๒ ใบ ที่ยังไม่ผ่านสภานี่แหละ ประโยชน์พวกเขาโดยตรง

ดังนั้น นายกฯ คงอ่านเกมแล้ว....

ทั้งฝ่ายค้าน-ฝ่ายรัฐบาล ไม่กล้าทำให้ยุบสภาตอนนี้จนกว่ากฎหมายลูก ๒ ฉบับ ผ่านวาระ ๓ ประกาศใช้ นั่นแหละ

แล้วจะซักเมื่อไหร่ล่ะ?

อยากรู้ ก็ดูจากเทอม "สมัยประชุมรัฐสภา" ละกัน ตอนนี้่ยังอยู่ในประชุมรัฐสภาสมัยสามัญประจำปี ครั้งที่สอง จะปิดสมัยประชุม วันที่ ๒๘ กุมภา.๖๕

จะไปเปิดสมัยประชุมอีกที ก็ราวๆกลางพฤษภา.๖๕ และไปปิดราวๆ กลางเดือนกันยา.๖๕

ดูตามปฏิทินสมัยประชุมแล้ว ทั้ง พ.ร.บ.งบประมาณ ทั้งกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง โน่นแหละ...กว่าจะคลอดก็ช่วงพฤษภา.-กันยา.

แบบนี้ ก็หมายความว่า นับจากมกรา.ไปจนถึงกันยา. ตีซะว่า ๘ เดือน ถ้าไม่มีเหตุจร พรรคร่วมรัฐบาลพรรคไหน ปุบปับมีขาใหญ่ไปบังคับให้ไล่พวกเขาออกจากพรรคละก็

รัฐบาลอยู่สบายๆ "ยังไม่ยุบสภา" แน่!

ลากยาวอีกซักเดือนกว่าๆ ประชุม APEC เสร็จ ก็ยุบสภา ไปเลือกตั้งใหญ่ ต้นปี ๖๖

แบบนั้่น ทริปเปิลวิน ทั้งประเทศ ทั้งชาวบ้าน และทั้งนักเลือกตั้ง ทุกอย่างลงตัว

แต่ถ้า "ขาเล็ก-ขาใหญ่" ใจร้อน ต้องการ (ทำ) ให้ยุบ มีนา.-เมษา. หรือเดือนไหนก็ได้ เอาเร็วๆ พร้อมเลือกตั้ง "กติกาเดิม"

มันก็ได้......

แต่ "มีนา.-เมษา." ปิดสมัยประชุม ซ้ำช่วงสงกรานต์ ถ้ามีการสร้างเหตุ-สร้างสถานการณ์ ให้รัฐบาลต้องตัดสินใจ

ก็ต้องดูว่ารัฐบาล โดยนายกฯ จะตัดสินใจทางไหน เพราะมันมี ๒ ทางให้เลือก

ทางตรง คือทางยุบภา และทางเอี้ยว คือทางรัฐบาล "รัฐประหาร" ตัวเอง (แก้รำคาญ)!

แต่เท่าที่สดับตรับฟัง ท่านผู้นำฝ่ายค้าน "ชลน่าน ศรีแก้ว" ประกาศ จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในทันทีที่เปิดประชุมสมัยแรก คือ เดือนพฤษภา.

กฎหมายบอก.......

เมื่อมีญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯ แล้ว "ห้ามยุบสภา" จนกว่าจะผ่านขั้นตอนลงมติไปแล้ว!

นี่ถือเป็น "ใบเซอร์" จากฝ่ายค้าน รับประกันตำแหน่งนายกฯ ให้ลุงตู่ ใครทำให้ยุบก่อนไม่ได้

จะได้ก็ตอน "ออกเสียงโหวต" นั่นแหละ

ถ้าธรรมนัสต้องการสะสางบัญชีนายกฯ คณะพรรค ๓๐ เสียง ร่วมโหวต "ไม่ไว้วางใจนายกฯ" กับฝ่ายค้าน แบบนี้ละก็

"ทั้งนายกฯ-ทั้งรัฐบาล" ต้องออกทั้งยวง!

แต่ก็นั่นแหละ ในเมื่อร่างกฎหมายลูก ๒ ฉบับ ตามไทม์ไลน์ จะเสร็จประกาศใช้ราวๆ กรกฎา.๖๕

แบบนี้ อดเปรี้ยวไว้กินหวาน รักษารัฐสภาไว้ทำหน้าที่ตรายางให้คลอดกฎหมายลูก ได้เลือกตั้งบัตร ๒ ใบกัน จะไม่แลนด์สไลด์โทนีกว่าหรือ?

เนี่ย....

ดูตามเงื่อนไข "ประโยชน์ร่วม" ไม่น่าจะทำให้ยุบสภากันตอนช่วงต้นปี-กลางปี ส่วนปลายปี มีโอกาส

ฟังตามข่าว พรรคที่ธรรมนัสยกคณะออกไปสังกัด ก็พรรคคนกันเอง "พลเอกวิชญ์" ใช่ใครที่ไหน

ก็ "หัวหน้าทีมงาน" บิ๊กป้อมแต่อ้อน-แต่ออก เป็นทั้งเพื่อนเลิฟ ทั้งประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ

นอกจากเพื่อนเลิฟบิ๊กป้อม......

พลเอกวิชญ์ก็บัดดี้กับเสธ.ไอซ์ "ลูกพี่ธรรมนัส" คุมอาณาจักรสนามม้านางเลิ้งมาก่อน

ธรรมนัสก็เคยบอก พลเอกวิชญ์รู้จักกันดี เป็นที่ "เคารพนับถือ" กันมานาน!

ถ้าเป็นตามข่าว พรรคเศรษฐกิจไทย ของพลเอกวิชญ์ จะมี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายบิ๊กป้อม มาเป็นเลขาฯ ด้วยละก็

พัชรวาทกับเพื่อไทยใช่อื่นไกล "พี่น้องกัน" เห็นมั้ยล่ะ อภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่แล้ว ถูกยำกันถ้วนหน้า

ลุงป้อม "แคล้วคลาด" อยู่คนเดียว ก้าวไกลนินทาเพื่อไทยเสียงยังไม่จางหายดีด้วยซ้่ำ!

สรุป........

๑ ป."พี่ใหญ่" จะยังไง อีก ๒ ป.พี่รองกับน้องเล็ก ก็ยังต้องเกรงใจ

"ยุทธศาสตร์แก้มลิง" ลุงป้อม เอาธรรมนัสไปอมในกระพุ้งแก้ม เป็นแคมกันกระแทก "ธรรมนัสกับนายกฯ"

ก็ต้องเห็นใจ ให้ "พี่ใหญ่" เขาบริหารหัวใจบริวารเขาบ้าง ถึงอย่างไร งานนี้ ยังไม่ใช่งานสุดท้ายในภารกิจรัฐบาล ๓ ป.

ลมยอดหญ้าเพิ่งโชย.....

เตรียมใจรอ "มรสุมใหญ่" กระหน่ำประเทศดีกว่า คงไม่ช้าหรอก!

คนปลายซอย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'Grab rider ต้วง'

ดู "นาฬิกากรรม" แล้ว ก็อยากบอกว่า.... ช่วงนี้ ใครมีธุระอะไร ก็ไปทำซะให้เสร็จ ยังพอมีเวลา