OCAแก้วิกฤตพลังงานไทย

ปัจจุบันปริมาณสำรองก๊าซของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจนเข้าขั้นวิกฤต ส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซ LNG ในราคาที่ผันผวนเพิ่มมากขึ้น มีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นของประชาชนและรายได้งบประมาณของรัฐลดลง ซึ่ง คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในงานสัมมนา "พลังงานราคาถูก.. ทางรอดเศรษฐกิจไทย” จัดโดยฐานเศรษฐกิจ ว่าไทยมีความจำเป็นต้องเร่งจัดหาแหล่งก๊าซธรรมชาติ โดยภาครัฐต้องเร่งเปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ บริหารจัดการแหล่งก๊าซในแปลงสัมปทานหมดอายุ แต่ยังมีศักยภาพในอ่าวไทย รวมถึงการเร่งเจรจาหาข้อยุติใน เขตไหล่ทวีปในทะเลที่ทับซ้อนระหว่างไทย-กัมพูชาทะเล หรือ OCA ที่เป็นความหวังทำให้ลดการนำเข้า LNG ส่งผลต่อค่าไฟฟ้าลดลงได้ในอนาคต

และการใช้กรอบบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ปี 2544 ในการเจรจาเขตพื้นที่ OCA มีความสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม เพราะสถานการณ์พลังงานของไทยอยู่ในภาวะวิกฤตพลังงาน เพราะปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติของประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง หากสามารถพัฒนา OCA ที่คาดว่าจะมีปริมาณก๊าซสำรองประมาณ 9 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท สามารถช่วยลดการนำเข้า LNG ได้อย่างมาก และยังช่วยให้เกิดการใช้ประโยชน์ท่อส่งก๊าซในอ่าวไทยได้อย่างเต็มศักยภาพ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานมีความพร้อมอยู่แล้ว

ส่วนขั้นตอนการดำเนินงานนั้นต้องเริ่มดำเนินการแก้ไขปัญหาพื้นที่ไหล่ทวีปทับซ้อนระหว่างไทยและกัมพูชา (TC-OCA) โดยเจรจากำหนดเส้นแบ่งเขตทางทะเลระหว่างไทยและกัมพูชาในพื้นที่ OCA ส่วนบน (เหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ) รวมถึงต้องเจรจากำหนดขอบเขตพื้นที่พัฒนาร่วม และวางหลักการแบ่งปันค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมที่อาจพบในพื้นที่ OCA ส่วนล่าง เพื่อนำไปสู่ข้อตกลง JDA (Joint Development Area)

ด้าน อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านนโยบายพลังงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI กล่าวว่า การพัฒนาแหล่งก๊าซจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล หรือ OCA น่าจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับประเทศไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ เพราะสามารถตอบโจทย์ความมั่นคงทางด้านพลังงานและราคาแล้ว ยังสามารถสร้างเศรษฐกิจให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ปิโตรเคมี ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เป็นผลบวกต่อประเทศไทย หากมองภาพสังคม สามารถสร้างทักษะ แรงงานที่มีฝีมือ และภาครัฐจะได้ภาษีจากการผลิตปิโตรเลียมด้วย

เช่นเดียวกับ วุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากไทยสามารถจัดหาก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้านได้ จะทำให้เกิดความมั่นคงของประเทศและมีราคาสมเหตุสมผลมากขึ้น และมีราคาต้นทุนที่ถูกลงได้ ส่วนประเด็นที่รัฐบาลไทยและกัมพูชาจะมีการเจรจาพื้นที่ OCA และแบ่งผลประโยชน์ปิโตรเลียมภายใต้ MOU 44 นั้น มองว่าไทยมีพื้นที่ข้อได้เปรียบหลายเรื่องทั้งโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และระบบท่อต่างๆ อีกทั้งมีรูปแบบความร่วมมือที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการผลิตท่อใหม่หรือการจ้างผลิตท่อ ซึ่งจะทำให้เกิดต้นทุนในราคาต่ำสุด

ด้าน อิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย บอกว่า OCA มีโอกาสสามารถเกิดขึ้นได้ เราควรเดินหน้าตามกรอบ MOU 44 แต่ถ้ารื้อมันไม่จบ และเรื่องนี้ไม่ควรเป็นเรื่องการเมือง ซึ่ง อดีตรัฐมนตรีพลังงานและต่างประเทศหลายคนบอกว่าควรเดินหน้า สัมปทานควรเป็นแบบโปร่งใส ทีมเจรจาต้องเป็นทีมต่อเนื่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่น และต้องมีความเชี่ยวชาญ เป็นที่ยอมรับ ผู้นำต้องมีบารมี การเจรจาควรเป็นความลับ แต่เมื่อมีความคืบหน้าต้องมีทีมสื่อสารเป็น Focus Group เพื่อมารับฟังซึ่งกันและกัน มองว่าไทยบอบช้ำเพียงพอแล้ว ทั้งจากตัวเรา เศรษฐกิจประเทศ และเศรษฐกิจโลก

ส่วนนักวิชาการอิสระอย่าง สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี ระบุว่า เรื่อง OCA ควรดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจปี 2544 มีการเจรจาต่อเนื่องเพื่อแบ่งเขตแดนทางทะเลและกำหนดข้อตกลงในการพัฒนาทรัพยากรร่วมกัน โดยใช้แนวทางที่เป็นกลางและไม่ยึดติดกับแนวคิดแบบชาตินิยม ที่สำคัญต้องลดความตึงเครียดทางการเมือง ควรมีการสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชนทั้งสองประเทศ โดยให้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนเกี่ยวกับประโยชน์ที่ทั้งสองประเทศจะได้รับจากการพัฒนาทรัพยากรในพื้นที่ทับซ้อน.

 

บุญช่วย ค้ายาดี 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แห่ส่งเสริมนวัตกรรมพลิกโลก

เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต ออฟ ติงส์ หรือ IoT(ไอโอที) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีสำคัญในยุคสมัยนี้ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนในยุคปัจจุบันเป็นอย่างมาก เพราะเป็นนวัตกรรมที่ทำให้การสื่อสารระหว่างมนุษย์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ไร้รอยต่อยิ่งขึ้น

แอ่วเหนือ...คนละครึ่งบูมเศรษฐกิจ

จากสถานการณ์อุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ของภาคเหนือ โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ทั้งในแง่ของการคมนาคม เดินทางเข้าสู่พื้นที่และความเสียหายต่อแหล่งท่องเที่ยว

ซึมยาวถึงกลางปีหน้า

ข้อมูลจากสถาบันยานยนต์จะพบว่า ในปี 2566 ตลาดยานยนต์ในไทยมีมูลค่ารวมกว่า 3 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 18% ของ GDP ประเทศ และจากการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ของภาครัฐที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์อันดับ 10 ของโลก อันดับ 5 ของเอเชีย และอันดับ 1 ของอาเซียน

ความท้าทายเศรษฐกิจโลก2025

ดูเหมือนว่าในปีหน้า 2568 การค้าโลกและเศรษฐกิจไทยยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายและโอกาส โดย finbiz by ttb ฉายภาพเศรษฐกิจภาพใหญ่ และเจาะความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลต่อการค้าโลกและการค้าของไทยไว้ได้อย่างน่าสนใจ

ศก.รัฐบาลมาดามแพจะรอดไหม?

ผลสำรวจความคิดเห็นของนิด้าโพล เมื่อ 2 วันก่อนนี้ มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในหัวข้อ “รัฐบาลนายกฯ อุ๊งอิ๊ง ไปไหวไหม” พบว่ามีคนเชื่อว่ารัฐนาวาของ มาดามแพ จะยืนหยัดจนครบเทอมเพียงแค่ 41% เท่านั้น โดยมองเรื่องจุดชี้เป็นชี้ตาย ปัญหาปากท้อง จะเป็นตัวชี้ขาดว่ารัฐบาลจะอยู่รอดหรือไม่รอด

เปิด5เคล็ดลับผ่อนบ้านหมดไว!!

การมีบ้านหรือคอนโดมิเนียมเป็นของตัวเอง อาจเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของมนุษย์เงินเดือนหลายๆ คน ด้วยหลากหลายเหตุผล เช่น เป็นการสร้างความมั่นคงให้กับชีวิต ขยับขยายที่อยู่เพื่อเริ่มสร้างครอบครัว หรือมีความคุ้มค่าในระยะยาว แทนการเช่าอยู่อาศัย