ฟัง "คุณนพดล ปัทมะ" ผู้มีส่วนร่วมใน MOU 44 ไปแล้ว
ประเด็นหลักที่ต้องเน้นให้เข้าใจกันตามที่คุณนพดลให้สัมภาษณ์
คือ ข้อผูกมัดใน MOU 44
การเจรจาพื้นที่ ที่อ้างทับซ้อนทางทะเลบริเวณเกาะกูด "ไทย-กัมพูชา" จะแยกเจรจาและตกลงเฉพาะ "เรื่องใด-เรื่องหนึ่ง" ไม่ได้
ต้องทำพร้อมกันให้ตกลงทั้ง ๒ เรื่อง คือ
-ทั้งเรื่องเขตแดนในไหล่ทวีป และ
-ทั้งเรื่องแบ่งปันผลประโยชน์ทางพลังงานในพื้นที่พัฒนาร่วม
คุณนพดลบอกว่า MOU 44 เป็นเรื่องทางทะเล เขมรจะเคลมไปซ้ำรอย "ปราสาทพระวิหาร" ไม่ได้
เพราะ MOU 43 "ปราสาทพระวิหาร" เป็นเรื่องทางบก เอาไปอ้างกับพื้นที่ทางทะเล อันเป็น MOU 44 ไม่ได้
ส่วนประเด็นเขมรเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วม "อนุสัญญา UNCLOS" นั้น มีค่าเท่ากัน
เพราะในเมื่อเขมรเป็นสมาชิก UN ก็ต้องอยู่ในกรอบของ UNCLOS 1982 อยู่ดี
ทีนี้มาฟังทาง "คุณคำนูณ สิทธิสมาน" อดีต สว.ผู้แม่นข้อมูลดูบ้าง
ตามที่คุณนพดลยกอ้างนั้น คุณคำนูณยกเอกสารหลักฐานขึ้นมาแย้งในแง่มุมน่าใคร่ครวญ ลองอ่านแล้วชั่งกันดูว่าอันไหนจะมีน้ำหนักกว่ากัน
ค่อยๆ อ่านให้เข้าใจความไปในแต่ละวรรคตอนนะครับ เพราะถ้าอ่านพรืดเหมือนอ่านเรื่องที่ผมคุยโม้เอาสนุกไปวันๆ แบบนั้นจะไม่รู้เรื่อง
....................................
Kamnoon Sidhisamarn
MOU 2544
ชั่งน้ำหนัก 6 ข้อเสีย 2 ข้อดี
_____________
ข้อเสียของ MOU 2544
1.ไทยไม่มีประเด็นใดๆ จะต้องเจรจาเรื่องกรรมสิทธิ์เหนือเกาะกูด (อย่างน้อยก็ในส่วน “ตัวเกาะ”)
เพราะเกาะกูดเป็นของไทยมา 127 ปีแล้ว โดยสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ.1907 คนไทยทุกฟากความคิดเห็นตรงกันในข้อนี้
รัฐบาลกัมพูชาเองก็เริ่มยอมรับ จึงปรากฏเส้นเว้ารอบตัวเกาะด้านทิศใต้เป็นรูปตัว U ในแผนผังประกอบ MOU 2544
2.อาจเข้าข่ายว่า ตั้งแต่วันที่ 18 มิถุนายน 2544 วันที่ไทยจรดปากกาลงนามใน MOU 2544
ไทยยอมรับการคงอยู่โดยปริยายซึ่งเส้นเขตไหล่ทวีป ค.ศ.1972 ด้านทิศเหนือ
ประกาศโดยกฤษฎีกา 439/72/PRK ของกัมพูชาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2515
ทั้งๆ ที่ตลอด 29 ปีก่อนหน้านั้น ไทยตอบโต้กัมพูชาทุกรูปแบบมาโดยตลอด และอาจเข้าลักษณะ “กฎหมายปิดปาก” หากต้องเป็นความขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ในอนาคต
หากมีวันนั้นในอนาคต อาจซ้ำรอยคดีพิพาทปราสาทพระวิหาร (ภาคแรก) พ.ศ.2505 ในอดีต
-การได้รับแผนที่ฝรั่งเศสอัตราส่วน 1 : 200,000 ระวางดงรัก เมื่อปี ค.ศ.1908 แล้วไม่ทักท้วงทันที หรือในหลายปีต่อมา
-สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จปราสาทพระวิหารเมื่อ พ.ศ.2472 พบเห็นการชักธงชาติฝรั่งเศส แล้วไม่ทักท้วง
ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศให้ความสำคัญกับการตกลง รวมทั้ง "พฤติกรรม-พฤติกรรมการแสดงออก" ของคู่กรณีมากเป็นพิเศษ
ในบางกรณี ให้ความสำคัญยิ่งกว่าถ้อยคำตามสนธิสัญญาเสียอีก
หมายเหตุ ข้อหักล้างข้อเสียกรณีที่ 2 นี้คือ ประเทศไทยไม่ได้ต่ออายุการรับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมานานแล้ว
(การเข้าแก้ต่างในคดีปราสาทพระวิหาร ภาค 2 เมื่อปี 2556 เป็นการตีความคำพิพาทคดีเดิมเมื่อปี 2505)
รัฐบาลชุด "นายเศรษฐา ทวีสิน" ได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2567
แจ้งให้ทุกหน่วยงานในทุกกระทรวง ทบวง กรม ทราบว่า
"ประเทศไทยไม่รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในทุกกรณี"
หากมีความจำเป็นต้องจัดทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศที่มีบทเกี่ยวกับอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ
ให้จัดทำ “ข้อสงวนไม่รับอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อมิให้กระทบต่ออำนาจอธิปไตยของชาติ" ไว้ในทุกกรณี ให้ถือเป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
เรื่องนี้ ผมได้ยื่นกระทู้ถามสดในวุฒิสภา เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น มาตอบยืนยัน ถือเป็นการ "บันทึกไว้ในวุฒิสภา" แล้ว
3.สารัตถะใน MOU 2544 เป็นคุณต่อกัมพูชามากกว่าไทย ในพื้นที่ทั้ง 2 ส่วนของข้อตกลง
คือ ส่วนบน เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ และส่วนล่างเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ
ส่วนบนเส้น 11 - กัมพูชาที่เสียเปรียบในการเจรจาเรื่อง "เขตแดนทางทะเล" ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศยุคปัจจุบัน
คือ "อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.1982" (UNCLOS 1982) ข้อ 121 และข้ออื่นๆ ชนิดแทบจะไม่มีประตูสู้ได้เลย
เหลืออยู่ประตูเล็กๆ ประตูเดียวที่จะอ้างว่า "กัมพูชายังไม่ได้ให้สัตยาบัน UNCLOS 1982"
กลับสามารถหยิบยกเป็นประเด็นมาต่อรองกับการเจรจาตกลงแบ่งผลประโยชน์ในพื้นที่ส่วนล่างได้
โดยเป็นฝ่ายไทยเสียเอง ยอมสละข้อได้เปรียบของประเทศตัวเอง
ส่วนล่างเส้น 11 - การกำหนดให้เจรจาเฉพาะแบ่งผลประโยชน์ ไม่เจรจาปักปันเขตแดน
ทำให้การเจรจาหลุดออกจากหลักกฎหมายระหว่างประเทศ UNCLOS 1982 ที่ไทยได้เปรียบ
แล้วไปยอมรับเส้นเขตไหล่ทวีปนอกกฎหมาย ค.ศ.1972 ของกัมพูชา มาเป็นเส้นกำหนดเขตแบ่งผลประโยชน์ทางทิศตะวันตกโดยไม่หือไม่อือ
เท่ากับประเทศไทยทิ้งความได้เปรียบในการเจรจาทั้งส่วนบนเส้น 11 และส่วนล่างเส้น 11 ไป
4.การยอมรับพื้นที่ส่วนล่าง เส้น 11 เป็นพื้นที่แบ่งผลประโยชน์ทั้งหมด
โดยนำเส้นเขตไหล่ทวีปนอกกฎหมาย ค.ศ.1972 ของกัมพูชามาเป็นเส้นกำหนดเขตแบ่งผลประโยชน์ทางทิศตะวันตก
ทำให้กัมพูชาได้รับผลประโยชน์ ในส่วนที่ไม่สมควรจะได้รับ หรืออีกนัยหนึ่ง ทำให้ไทยไม่ได้รับผลประโยชน์ในส่วนที่สมควรจะได้รับ
5.ทำให้การเจรจา "จำกัดกรอบ" ไว้ภายใต้รูปแบบเดียว ถ้าถึงทางตันก็ไปต่อไม่ได้
6.หากยึดสารัตถะรูปแบบการเจรจาตาม MOU ก็เท่ากับเป็นการเจรจานอกกรอบ UNCLOS 1982 ที่ไทยเป็นภาคีสมาชิก 1 ใน 160 ประเทศ
_____________
ข้อดีของ MOU 2544
1.ทำให้มีกรอบการเจรจาที่ชัดเจน
หมายเหตุ ข้อดีที่ 1 มีข้อหักล้างที่ว่า หากกรอบการเจรจานั้นมีข้อเสียมากกว่าข้อดี ทำให้ประเทศไทยต้องเสียเปรียบ จะนับเป็นข้อดีได้หรือ?
- ลักษณะ "ล็อกตัวเอง" ของ MOU 2544 ที่กำหนดให้เจรจาทั้ง 2 ส่วน คือ ส่วนบนเส้น 11 เจรจาแบ่งเขตแดน
และส่วนล่าง เส้น 11 เจรจาแบ่งผลประโยชน์จากปิโตรเลียม ไป "พร้อมกัน" และ "ไม่อาจแบ่งแยกได้"
ทำให้การเจรจาไม่มีทางสำเร็จได้ง่ายๆ
“พร้อมกัน” - to simultaneously
“ไม่อาจแบ่งแยกได้” - as an indivisible package
เพราะฝ่ายกัมพูชาต้องการเจรจาแต่เรื่องปิโตรเลียม ไม่ต้องการเจรจาเรื่องเขตแดน
ฝ่ายไทยแยกเป็น 2 ความคิด
"กระทรวงการต่างประเทศ" ต้องการเจรจาเรื่องเขตแดนให้ลุล่วงไปด้วยชัดเจนพร้อมกันเลย
แต่ "ฝ่ายการเมืองบางส่วน" และหน่วยงานด้านพลังงานต้องการเจรจาเรื่องปิโตรเลียมให้ลุล่วงไปก่อน
เมื่อไม่สำเร็จ ประเทศไทยก็ยังไม่เสียผลประโยชน์ ไม่ว่าเขตแดนหรือปิโตรเลียม
หมายเหตุ 1 - นี่เป็น “ข้อดีในด้านกลับ” ที่พรรคพวกผู้รู้ของผมบางท่าน เมื่อได้ฟังแล้วก็บอกว่า นี่เป็นทำนองเดียวกับสำนวนฝรั่งที่ว่า blessing in disguise
เมื่อรัฐบาลยืนยันจะเอาแต่ MOU 2544 เราก็เฉยไว้ เพราะเดี๋ยวเราจะเจอ MOU ใหม่ที่ร้ายกว่าเก่า เช่นจะเจรจาเฉพาะ "เรื่องผลประโยชน์จากปิโตรเลียม"
หมายเหตุ 2 - บางคนในฝ่ายสนับสนุนเจรจาแบ่งผลประโยชน์จากปิโตรเลียม ตีความแบบศรีธนญชัยว่า
ที่ MOU 2544 ระบุให้เจรจา 2 เรื่องพร้อมกัน และไม่อาจแบ่งแยกได้ ก็ไม่ได้บอกว่าต้อง "เสร็จพร้อมกัน" นี่นา มีตรงไหนกำหนดไว้บ้าง?
นำข้อเสีย 6 และข้อดี 2 มาชั่งน้ำหนักกันได้
คำนูณ สิทธิสมาน
1 พฤศจิกายน 2567
#MOU2544
..........................................
จบเรื่อง MOU 44 วันนี้แล้ว ในการคัดเลือกตัว "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ" วันนี้ ก็มาลุ้นกัน
ว่า "๗ คณะกรรมการคัดเลือก" ที่อดีตปลัดคลัง "สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์" เป็นประธาน
จะเลือกตาม "ใบสั่งมา"?
หรือเลือกตาม "ใจสั่งมา"?
"กิตติรัตน์ ณ ระนอง-กุลิศ สมบัติศิริ" เป็นคำตอบ!
-เปลว สีเงิน
๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๗
คนปลายซอย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วัน 'นาฬิกากรรม'
"๒๒ พฤศจิกา." คือวันนี้ละ ได้รู้กันซะทีว่าศาลรัฐธรรมนูญจะ "รับ-ไม่รับ" คำร้อง "นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร" ไว้พิจารณาวินิจฉัยหรือไม่?
'วิชาการประจบโจร'
เอาละซี.... เมื่อยูเครนงัด "ขีปนาวุธพิสัยไกล" ถล่มรัสเซีย! ฝ่ายรัสเซีย ก็งัด "นิวเคลียร์" ขึ้นมาลูบคลำ พลางว่า "ถ้าไอ้น้องเล่นขนาดนี้ พี่ก็ยินดีสนอง"
'พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง'
ช่วงนี้ ถึงมกรา.ปีหน้า อย่ามัวงงงวยกับแฟชั่นแต่งตัวนายกฯ หญิงผู้งามเลิศในปฐพี จนลืมดูโลกเป็นอันขาด! เบิ่งกันไว้บ้างเน้อ....
"ผมไปใต้มาครับ"
จู่ๆหายไป ๒ วัน..... ก็เกรงใจท่าน กลับมาถึงสำนักงานตอน ๒ ทุ่มกว่า คุยในไทยโพสต์ไม่ทัน งั้นขอคุยในเว็บ"เปลว สีเงิน"แทนละกัน
พิลึก! 'รมว.คลัง' อ้างยังไม่ได้รายชื่อ 'ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ' คนใหม่
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปฎิเสธให้สัมภาษณ์ กรณีจะนำรายชื่อ นายกิตติรัต
ตามคาด! อสส.ไม่รับดำเนินการคดี 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างการปกครอง
อัยการสูงสุดไม่รับดำเนินการคดีทักษิณ-เพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเเล้วพร้อมผลการสอบถ้อ