ทรัมป์ชี้ว่าแฮร์ริสเป็นพวกสังคมนิยม ส่วนแฮร์ริสชี้ว่าทรัมป์เป็นเผด็จการ สหรัฐกำลังเข้าสู่การเลือกระหว่าง “สังคมนิยม” กับ “ฟาสซิสต์”
ในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 2024 ทั้งสองพรรคต่างชี้ว่าอีกฝ่าย “ไม่ใช่พวกประชาธิปไตย” ถ้าจะฟันธงว่าสหรัฐอเมริกาในยามนี้เป็น “สังคมนิยม” หรือ “ฟาสซิสต์” อย่างใดอย่างหนึ่งไม่น่าจะถูกต้อง ที่ถูกต้องกว่าคือคนอเมริกันนับล้านที่ชอบแนวทางสังคมนิยมกับอีกหลายล้านที่ต้องการผู้นำฟาสซิสต์ (เลือกตั้ง 2020 คนอเมริกัน 74 ล้านคนเทคะแนนให้ทรัมป์) นำสู่ข้อสรุปว่าเลือกตั้งสหรัฐ 2024 คือเลือกระหว่าง “สังคมนิยม” กับ “ฟาสซิสต์”
ภาพ: รองประธานาธิบดีแฮร์ริสขณะหาเสียง
เครดิตภาพ: https://www.facebook.com/ABCNews/videos/560906773209223
เลือกแฮร์ริสนำสู่สังคมนิยม:
แต่ไหนแต่ไรพวกรีพับลิกันโจมตีว่าตัวแทนพรรคเดโมแครตเป็นพวกสังคมนิยม ต้องการเปลี่ยนประเทศเป็นสังคมนิยม นโยบายหลายอย่างที่สอดคล้องแนวทางสังคมนิยมเป็นหลักฐานที่เห็นกันอยู่แล้ว พวกนี้จะชอบออกกฎหมายควบคุมเศรษฐกิจสังคม ขยายอำนาจรัฐบาลกลางทุกด้าน รัฐบาลกลางเข้ากำกับควบคุมแม้กระทั่งเศรษฐกิจเอกชน (private economy) เหล่านี้เป็นแนวทางสังคมนิยม
เมื่อรองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) เป็นตัวแทนเดโมแครตชิงตำแหน่งประธานาธิบดี พวกรีพับลิกันยิ่งตอกย้ำว่าเธอเป็นสังคมนิยม ทรัมป์โจมตีว่าแฮร์ริส “เป็นคอมมิวนิสต์เต็มตัว” ('full communist') นโยบายของเธอทำไม่ได้จริง แฮร์ริสคิดควบคุมราคาสินค้าจำเป็นตามแนวสังคมนิยมซึ่งเป็นไปไม่ได้ สหภาพโซเวียตกับอีกหลายประเทศได้พิสูจน์แล้วว่าแนวทางนี้ล้มเหลว ทรัมป์ยกเรื่องนี้หลังแฮร์ริสนำเสนอระบบควบคุมราคากลางต่อสินค้าจำพวกอาหาร ของกินของใช้ประจำวัน ทรัมป์ย้ำว่าอันตรายมากหากคนของพรรคเดโมแครตชนะเลือกตั้ง เธอเป็นพวกมาร์กซิสต์ (Marxist) พวกฟาสซิสต์ (fascist)
ฝ่ายรีพับลิกันจะสรุปว่าหากปล่อยให้พรรคนี้บริหารประเทศไปนานๆ ในที่สุดอเมริกาจะกลายเป็นสังคมนิยม พวกรีพับลิกันย้ำหลักฐานหลายทศวรรษที่ผ่านมานับวันรัฐบาลกลางจะควบคุมเศรษฐกิจสังคมมากขึ้น ถอยห่างจากเสรีประชาธิปไตย
สังคมนิยมประชาธิปไตย:
คำว่าลัทธิสังคมนิยมหรือ Socialism มีผู้ใช้และอธิบายหลายความหมายตามแต่ยุคสมัย นักวิชาการส่วนหนึ่งจะยึดถือสังคมนิยมตามแนวคิดของมาร์กซ์กับเฮเกล จากคำปฏิญญาคอมมิวนิสต์หรือคำประกาศคอมมิวนิสต์ (Communist Manifesto) เมื่อปี ค.ศ.1848 (กล่าวถึงหลัก 8 ประการ เช่น การยึดที่ดินเป็นของรัฐ การเก็บภาษีก้าวหน้า ยกเลิกสิทธิมรดก)
อย่างไรก็ตาม ลัทธิสังคมนิยมมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงจากดั้งเดิม นักสังคมนิยมปัจจุบันจะใช้นิยามอื่นที่มีความแตกต่างหลากหลาย
ในศตวรรษที่ 19 ลัทธิสังคมนิยมเป็นที่ชื่นชอบในฝรั่งเศส เยอรมนีและอังกฤษ แต่หลังผ่านไปหลายสิบปีไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์จะเข้าเงื่อนไขปฏิวัติสังคม เริ่มสงสัยว่าทุนนิยมจะก้าวสู่สังคมนิยมตามที่มาร์กซ์กล่าวไว้หรือไม่
เอดูอาร์ด แบร์นชไตน์ (Eduard Bernstein, 1850-1932) ชี้ว่าสังคมอุตสาหกรรมเอื้อให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แม้ว่าด้านที่แย่ยังคงอยู่ ความเหลื่อมล้ำมีจริงแต่ไม่ถึงกับทนไม่ได้ ความมั่งคั่งกระจายตัวมากขึ้น ชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น แบร์นชไตน์เห็นว่าควรตีความแนวคิดมาร์กซิสต์ใหม่ เห็นว่าในชุมชนสังคมนิยมต้องมีประชาธิปไตยร่วมด้วย ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล “เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ” (dictatorship of the proletariat) ของสังคมนิยม ให้การเปลี่ยนผ่านจากทุนนิยมสู่สังคมนิยมเป็นไปโดยสันติ ผ่านกระบวนการปฏิรูปรัฐสภา พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตยจะได้เข้าไปบริหารประเทศด้วยวิถีประชาธิปไตย
เลือกทรัมป์ได้ผู้นำฟาสซิสต์:
ตุลาคม 2024 Robert Jones จาก Public Religion Research Institute ชี้ว่า แนวทางที่ใช้ วิธีที่ทรัมป์พูดเลียนแบบนาซี สอดคล้องกับ White Supremacy มีทัศนคติดูถูกเหยียดหยามคนสีผิวอื่น อดีตประธานาธิบดีทรัมป์เคยพูดว่าอยากได้นายพลเหมือนที่ฮิตเลอร์มี เพราะเชื่อฟัง รับคำสั่งโดยไม่โต้แย้ง ไม่สนใจว่าคำสั่งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ แต่เรื่องนี้ผิดเพราะนายทหารสหรัฐต้องยึดถือรัฐธรรมนูญเป็นหลัก ไม่แปลกที่รองประธานาธิบดีแฮร์ริสกล่าวว่าทรัมป์คือฟาสซิสต์ (‘fascist’) ตามอย่างฮิตเลอร์ เขาอยากบริหารประเทศตามใจชอบ ใช้อำนาจโดยปราศจากการตรวจสอบ ไม่อยากให้ใครถ่วงดุลอำนาจ
แต่ทรัมป์แย้งว่า “ผมไม่ใช่นาซีและผมต่อต้านนาซี”
ทรัมป์ไม่น่าจะเป็นพวกนาซีหรืออยากเป็นฮิตเลอร์ แต่ความไม่เป็นประชาธิปไตย นิยมชมชอบผู้นำอย่างปูติน, คิม จองอึน เป็นที่รับรู้กันทั่วไป ที่น่าตกใจกว่าคือ คนอเมริกันหลายล้านที่ไม่เห็นด้วยกับความเสมอภาคเท่าเทียม คิดว่าพวกตนมีอภิสิทธิ์ เช่น กลุ่ม White Supremacy กับ Proud Boys
White Supremacy:
คนผิวขาวมักเลือกรีพับลิกัน หลายคนนิยม White Supremacy พวกนี้เทคะแนนให้พรรครีพับลิกัน สนับสนุนทรัมป์อย่างเหนียวแน่น แม้ทรัมป์ทำผิดกฎหมายหลายเรื่องที่คดีความจบแล้ว มีพฤติกรรมสร้างความเสื่อมเสียแก่ประเทศ ละเมิดสิทธิมนุษยชน
White Supremacy เป็นเรื่องที่คนผิวขาวบางกลุ่มเห็นว่าตนเป็นผู้ปกครองประเทศอันชอบธรรม มีอภิสิทธิ์เหนือชนกลุ่มน้อยชนเชื้อสายอื่นๆ เป็นความชอบธรรมที่คนผิวขาวใช้ชีวิตอย่างหรูหรา ส่วนคนผิวสีต้องเป็นผู้รับใช้คนผิวขาว การเหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติในสหรัฐที่กำลังพูดถึงไม่ใช่กรณีทัศนคติส่วนบุคคล แต่เป็นค่านิยมสังคม ยึดถือในคนกลุ่มก้อนใหญ่ คนเหล่านี้ต่อต้านความเสมอภาคเท่าเทียม แม้คนผิวสีชนกลุ่มน้อยเป็นพลเมืองอเมริกันตามกฎหมาย
พวก Boogaloo Bois (Proud Boys) คือกลุ่มขวาจัดที่ถูกตีตราว่าเป็น “fascists หรือ neo-fascists” พวกนี้มักเหยียดผิวเหยียดเชื้อชาติ นิยมความรุนแรง หลายคนมีอาวุธสงครามและแสดงท่าทีจะใช้ กลุ่มนี้สนับสนุนทรัมป์อย่างแข็งขัน พร้อมสนับสนุนด้วยกำลังอาวุธ
ในช่วงหาเสียง การชี้ว่าอีกฝ่ายแย่ไม่น่าเลือกเป็นแนวทางรณรงค์เลือกตั้งเชิงลบ (Negative Campaign) พยายามสร้างบุคลิกภาพลักษณ์แง่ลบ ชี้ให้สาธารณชนเห็นว่าผู้สมัครฝ่ายตรงข้ามอ่อนแอ ไร้น้ำยา ฉ้อฉล ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ไม่ซื่อสัตย์ เชื่อถือไม่ได้ ขาดคุณธรรม ไม่รักชาติ โง่เขลา ทำเพื่อตัวเอง ไม่เป็นประชาธิปไตย คำพูดเช่นนี้ประชาชนต้องใช้สติปัญญาความรู้ความเข้าใจ ไม่หลงไปกับความเท็จที่นักการเมืองตั้งใจสร้างขึ้น ต้องสามารถแยกความจริงออกจากความเท็จ ไม่ถูกนักการเมืองบางคนหลอกใช้
ที่สุดแล้วควรตั้งถามว่าการเมืองที่เป็นอยู่ทำให้ชีวิตดีขึ้นหรือไม่ สังคมกำลังสู่ความก้าวหน้ายั่งยืนหรือกำลังทำลายตัวเอง เลือกตั้งวันนี้มีผลต่อวันพรุ่งนี้
ย้อนดูผลการสำรวจของ Quinnipiac University Poll เมื่อกรกฎาคมที่ผ่านมา คนอเมริกัน 47% ไม่เอาผู้สมัครที่มาจาก 2 พรรคใหญ่ สนใจพรรคทางเลือกที่ 3 (a third-party candidate) ตอกย้ำความจริงที่ว่าคนอเมริกันเบื่อหน่ายการเมือง ไม่คิดว่าพรรคเดโมแครตกับรีพับลิกันเป็นทางออก แต่ที่สุดแล้วเมื่อมาถึงสัปดาห์สุดท้ายก่อนเลือกตั้งคนอเมริกันได้แต่เลือกตัวแทนจาก 2 พรรคใหญ่อยู่ดี ซ้ำรอยการเลือกตั้งรอบก่อนๆ เป็นระบอบการเมืองที่คนอเมริกันยังเอาชนะไม่ได้ หลายคนคิดว่าระบอบการเมืองปัจจุบันไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชนจริง รู้สึกแปลกแยกต่อนักการเมือง
ประเด็นความไม่เป็นประชาธิปไตยบ่งชี้ว่าประชาธิปไตยสหรัฐยังไม่สมบูรณ์ แต่ต้องยอมรับว่า หากเทียบกับหลายประเทศ การเมืองอเมริกาพัฒนามากกว่า วัฒนธรรมประชาธิปไตยแข็งแรง สังคมส่งเสริมเสรีภาพทางความคิด แม้ประชาชนมีความเห็นต่าง ที่สุดแล้วระบบสามารถแก้ไขปัญหาด้วยตัวเอง ไม่ลุกลามบานปลาย เป็นประเทศที่สามารถดึงประโยชน์จากดำรงอยู่ในประชาคมโลก (ไม่ว่าต่างชาติจะเห็นด้วยกับนโยบายสหรัฐหรือไม่ก็ตาม) จึงสมควรเรียนรู้ทั้งจุดอ่อนจุดแข็งของอเมริกา นำมาปรับใช้กับตัวเอง
ในอนาคตประเทศนี้จะเป็นสังคมนิยม เผด็จการฟาสซิสต์หรือประชาธิปไตยเต็มตัวเป็นประเด็นที่ควรติดตาม การเมืองอเมริกามีผลต่อระเบียบโลก มีผลต่อนานาชาติ การเลือกตั้งสหรัฐจึงไม่ใช่เรื่องของคนอเมริกันเท่านั้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู2024 (2)
เนทันยาฮูย้ำว่า อิสราเอลหวังอยู่ร่วมกับนานาชาติโดยสันติ แต่กระแสโลกต่อต้านอิสราเอลส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมของอิสราเอล นโยบายกับความจริงจึงย้อนแย้ง
ท่าทีความมั่นคงของเนทันยาฮู 2024 (1)
บัดนี้สถานการณ์ชี้ชัดแล้วว่าอิสราเอลกำลังจัดการฮิซบุลเลาะห์ต่อจากฮามาส ทำลายอิหร่านกับสมุนให้เสียหายหนัก
ทรัมป์จะเป็นเผด็จการหากชนะอีกสมัย?
หากได้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัยและปกครองแบบเผด็จการ ก็ต้องถือว่าเป็นเผด็จการที่มาจากความต้องการของคนอเมริกันตามระบอบประชาธิปไตยสหรัฐ
ทรัมป์คุกคามโลกเสรีประชาธิปไตย?
การที่ทรัมป์แสดงท่าทีเป็นมิตรต่อรัสเซีย จีน อาจไม่ปกป้องสมาชิกนาโต ชวนให้ตั้งคำถามว่าทรัมป์เป็นภัยคุกคามโลกเสรีประชาธิปไตยหรือไม่
ทรัมป์ชี้เลือกแฮร์ริสได้ผู้นำคอมมิวนิสต์
พวกสนับสนุนทรัมป์ชี้ว่าพรรคเดโมแครตต้องการเปลี่ยนประเทศเป็นสังคมนิยม บางนโยบายของแฮร์ริสยึดแนวทางสังคมนิยม
รัสเซียเตือนสงครามใหญ่หลังยูเครนรุกลึก (3)
ถ้าไบเดนอนุมัติให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธอำนาจทำลายสูงโจมตีรัสเซีย และปูตินโต้กลับทำลายฐานทัพ จุดยุทธศาสตร์อเมริกัน เมื่อถึงตอนนั้นสมรภูมิจะเปลี่ยนไปทันที