ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 33): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม”

 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 

การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร)  การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี  แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง

ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า

ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า

และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า

การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่  8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ? 

การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์  สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร

ต่อจากกบฏบวรเดชเป็นเวลาเกือบสองปี ได้เกิด “กบฏนายสิบ” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ไม่มีข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกบฏนายสิบนี้ นอกเหนือไปจากข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลที่เริ่มต้นจากการที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้รับแจ้งเบาะแสมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่สืบรู้มาว่ามีผู้สมคบคิดกันวางแผนจะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์และวางแผนกำจัดบุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาล

และเช่นกัน กบฏพระยาทรงสุรเดช ก็ไม่ต่างจากกรณีกบฏนายสิบ นั่นคือ   “ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดจริงหรือไม่ หากแต่หลวงพิบูลสงครามเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีแนวคิดต่อต้านตน” (ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้าhttp://wiki.kpi.ac.th/index.php?title =พันเอก_พระยาทรงสุรเดช_(เทพ_พันธุมเสน)  ) 

กล่าวได้ว่า กบฏที่เกิดขึ้น 3 ครั้งก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่นำไปสู่การเกิด รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490  เป็นกบฏจริงอยู่เพียงครั้งเดียว นั่นคือ กบฏบวรเดช ส่วนอีกสองครั้งนั้น เป็นกบฏในจินตนาการของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม

ในวิกีพีเดียกล่าวถึง “กบฏพระยาทรงสุรเดช” ไว้ว่า “เมื่อพันเอกหลวงพิบูลสงครามได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 พันเอกพระยาทรงสุรเดชขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนรบ จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำนักศึกษาไปฝึกภาคสนามที่จังหวัดราชบุรี ได้ถูกคำสั่งให้พ้นจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ และบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งก็คือเขมรโดยทันที พร้อมด้วยร้อยเอกสำรวจ กาญจนสิทธิ์ ท.ส. ประจำตัว  ได้มีการกวาดล้างโดย หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จับตายนายทหารคนสนิทของพระยาทรงสุรเดช 3 คน จับกุมผู้ที่ต้องสงสัย จำนวน 51 คน เมื่อเวลาเช้ามืดของวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2481” และในการจับกุมผู้ต้องสงสัย 51 คนนั้น กรมขุนชัยนาทนเรนทรก็เป็นหนึ่งในนั้น                                           

‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม”

ความเป็นมาของการตกเป็นเหยื่อการเมือง (ต่อจากตอนที่แล้ว)

คราวที่แล้วได้กล่าวถึงหนังสือ Siam becomes Thailand ของจูดิธ สโตว์ (Judith A. Stowe/ ตีพิมพ์ปี พ.ศ. 2534)  และจากคำบรรยายของสโตว์ คือ กรมขุนชัยนาทฯไม่เคยทรงเกี่ยวข้องกับการเมืองเลย   และหากเป็นเช่นนั้นจริงตามที่สโตว์กล่าว กรมขุนชัยนาทฯตกเป็นเหยื่อทางการเมืองของหลวงพิบูลฯ

ต่อไปจะกล่าวถึงข้อเขียนของ กอบเกื้อ สุวรรณฑัต-เพียน (Kobkua Suwannathat-Pian)  ที่เขียนถึงการที่รัฐบาลหลวงพิบูลสงครามสั่งจับกุมกรมขุนชัยนาทฯ ข้อเขียนของกอบเกื้อที่จะนำมาพิจารณามีสองเล่ม เล่มแรกตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2538 คือ Thailand’s Durable Premier: Phibun through Three Decades 1932-1957 (นายกรัฐมนตรีที่ยาวนานของประเทศไทย: พิบูลในสามทศวรรษ 2475-2500)  เล่มที่สองพิมพ์ปี พ.ศ. 2546  Kings, Country and Constitutions: Thailand’s Political Development 1932-2000 (พระมหากษัตริย์ ประเทศและรัฐธรรมนูญ: พัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทย 2475-2543) ใน  Thailand’s Durable Premier: Phibun through Three Decades 1932-1957 กอบเกื้อกล่าวถึงบริบททางการเมืองก่อนการจับกุมกรมขุนชัยนาทฯ ไว้ดังนี้

“…ตั้งแต่เขา (หลวงพิบูลฯ) เริ่มมีความโดดเด่นทางการเมืองในช่วงปลายปี 2476 เขาได้ถูกลอบทำร้ายถึงแก่ชีวิตอยู่หลายครั้ง การลอบทำร้ายครั้งแรกในการลอบทำร้ายต่อเนื่องหลายครั้งที่แปลกประหลาด (bizarre) เกิดขึ้นเมื่อหลวงพิบูลฯได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการถูกยิงในขณะที่เขาเดินทางกลับจากการแข่งขันฟุตบอลของกองทัพบก เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ 2477   ต่อจากนั้น ได้เกิดความพยายามทำรัฐประหารของนายทหารชั้นนายสิบในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2478  ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2481 ถูกคนขับรถของเขาเองลอบยิง และครั้งสุดท้ายในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2481 เขาถูกลอบวางยาพิษในอาหาร  ชัดเจนว่า หลวงพิบูลฯได้สร้างศัตรูทางการเมืองไว้มากตั้งแต่เขาได้ชัยชนะต่อกองกำลังทหารของพวกอนุรักษ์นิยมและพวกรอยัลลิสต์ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476  เมื่อเขาขึ้นเป็นผู้นำรัฐบาล หลวงพิบูลฯจึงอนุมัติให้มีการจับกุมครั้งใหญ่ต่อศัตรูทางการเมืองของเขาในวันที่ 29 มกราคม พ.ศ.  2481 (ปฏิทินเดิม) ด้วยข้อหากบฏ  บรรดาผู้ที่ถูกจับกุม คือ กรมขุนชัยนาทนเรนทร พระปิตุลาของรัชกาลที่แปด; พระยาเทพหัสดิน รอยัลลิสต์ ผู้บัญชาการทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และนายทหารและสมาชิกของพวกอภิชนเก่าที่มีความผูกพันระบอบเดิมและพระยาทรงสุรเดช พระยาทรงสุรเดชถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับแผนการล้มรัชกาลที่แปดและรัฐบาลของพระองค์  พระยาทรงฯได้รับข้อเสนอว่า จะยอมให้จับกุมตามข้อกล่าวหาหรือจะลี้ภัย  พระยาทรงฯเลือกที่จะลี้ภัยและ (รัฐบาล) ยอมให้เขาเดินทางออกไปอินโดจีน”

ต่อจากข้อความข้างต้นนี้ กอบเกื้อมีความเห็นว่า “It is difficult to gauge the truth behind the sweeping arrest, particularly in light of the lengthy and emotional arguments that have followed in its wake.  Practically everyone arrested denied the charges.” 

แปล: “เป็นการยากที่จะประเมินความจริงเบื้องหลังการจับกุมครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงข้อโต้แย้งที่ยืดเยื้อและสะเทือนอารมณ์ที่ตามมาภายหลัง  เกือบทุกคนที่ถูกจับกุมปฏิเสธข้อกล่าวหา”

หลังข้อความนี้ กอบเกื้อได้ใส่เชิงอรรถที่ 39 ไว้  โดยข้อความในเชิงอรรถมีดังนี้

“39. The arrest of leading personalities only days after the departure of King Ananda, on charges that they were conspiring to dethrone the young King and restore the throne to ex-King Prajadhipok or in favour of Prince Nakorn Sawan, seems to demonstrate Phibun’s determination to be rid of his political rivals. (Government Communique, 29 January 1938(9), in Sri Krung, 3 February 1938.)

Prince Aditya was reported to have said to the British Ambassador that Prince Rangsit, the beloved uncle of the young King, was seriously involved in the conspiracy.  Prince Chula-chakrapong had likewise implied that ex-King Prajadhipok might have been privy to the attempts to assassinate Phibun since Prajadhipok was ‘desperate’ and ‘it was his nature to shut his eyes to unpleasant things which were likely to fall out to his advantage’ (FO 371/23586, Sir Josiah Crosby to FO, 7 February 1938(9)).  According to some Thai political literature, the decision by Phibun and his government to do away with their political rivals marked the dark age of Thai politics and symbolized the immoral rule of the People’s Party personified by Phibun.”

แปล: “   การจับกุมบุคคลสำคัญเพียงไม่กี่วันหลังจากการเสด็จพระราชดำเนินกลับของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่แปด (กลับสวิสเซอร์แลนด์/ผู้เขียน) ด้วยข้อหาสมคบคิดที่จะโค่นล้มยุวกษัตริย์ (รัชกาลที่แปด) และคืนราชบัลลังก์ให้แก่อดีตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวหรือเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์ฯ  ดูเหมือนจะแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของหลวงพิบูลฯที่จะกำจัดคู่แข่งทางการเมืองของเขา (Government Communique, 29 มกราคม พ.ศ. 2481 (9) ในศรีกรุง 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481) มีรายงานว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาได้ทรงมีตรัสกับเอกอัครราชทูตอังกฤษว่า กรมขุนชัยนาทฯ พระปิตุลาที่รักของรัชกาลที่แปด มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างจริงจังในการสมรู้ร่วมคิดนี้  พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ทรงตรัสเป็นนัยเช่นกันว่า อดีตพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอาจทรงรู้เห็นในความพยายามที่จะลอบสังหารหลวงพิบูลฯ เนื่องจากพระปกเกล้าทรง 'หมดหวัง' และ 'เป็นนิสัยของพระองค์ที่จะหลับตาต่อสิ่งที่ไม่พึงประสงค์ซึ่งมีแนวโน้มจะเป็นประโยชน์ต่อพระองค์ ' (FO 371/23586, Sir Josiah Crosby ถึง FO, 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 (9))  ตามข้อเขียนไทยบางฉบับ การตัดสินใจของหลวงพิบูลฯและรัฐบาลของเขาที่จะกำจัดคู่แข่งทางการเมืองถือเป็นยุคมืดของการเมืองไทยและเป็นสัญลักษณ์ของการปกครองที่ผิดศีลธรรมของคณะราษฎรที่พิบูลย์เป็นสัญลักษณ์”

จากข้อความที่เป็นตัวเข้มในย่อหน้าข้างต้น ซึ่งต่อท้ายด้วย (FO 371/23586, Sir Josiah Crosby ถึง FO, 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 (9))  หมายความว่า ผู้เขียน (กอบเกื้อ) ได้ข้อมูลที่เป็นตัวเข้มจาก FO 371/23586, Sir Josiah Crosby ถึง FO, 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 (9))  อันเป็นรายงานจากเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยที่ส่งกลับไปยังกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษ โดย FO ย่อมาจาก Foreign Office

ดังนั้น ข้อมูลที่ว่า พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภาได้ทรงมีตรัสกับเอกอัครราชทูตอังกฤษว่า กรมขุนชัยนาทฯ พระปิตุลาที่รักของรัชกาลที่แปด มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างจริงจังในการสมรู้ร่วมคิดนี้  ย่อมจะต้องอยู่ใน FO 371/23586, Sir Josiah Crosby ถึง FO, 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 (9))

เราจะติดตามเอกสาร FO 371/23586, Sir Josiah Crosby ถึง FO, 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 (9) ในตอนต่อไป

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 43)

ก่อนจะเกิดรัฐธรรมนูฉบับที่ 4 หรือรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 คือฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

'วิสุทธิ์' วอน สว. 80-90 เสียง หนุนร่างแก้รธน. ตัดอำนาจวุฒิสภาให้ประเทศเป็นปชต.

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์กรณีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมของพรรคร่วมรัฐบาลพรรคอื่น

'วรชัย' พูดเต็มปาก! 'ชวน' ไม่ควรว่าทักษิณ ถ้ายังกวาดบ้านตัวเองไม่สะอาด

นายวรชัย เหมะ อดีตสส.สมุทรปราการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายชวน หลีกภัย สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ทำนองว่า ตัวเองเป็นนักการเมืองรุ่นเก่าที่ไม่โกง