Thank you, Fernando

โค้งสุดท้ายในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐมาถึงแล้ว ผมขอประกาศตัวว่า ผมไม่ใช่นักวิเคราะห์แม่นๆ….หลังผลออกมาครับ บ้านเมืองเราเต็มไปด้วยนักวิเคราะห์ที่จะฟันธงและวิเคราะห์อย่างหนึ่ง…. ก่อนผลออกมา แล้วจะวิเคราะห์อีกแบบหนึ่ง…. หลังผลออกมา แต่ส่วนใหญ่หลังผลออกมานั้น เมื่อไม่ตรงกับสิ่งที่ตัวเองวิเคราะห์และฟันธงก่อนผลออกมา มักจะพูดว่า “ผลต้องออกมาแบบนี้อยู่แล้ว…. ผมรู้อยู่แล้ว…. ผมรู้ก่อนล่วงหน้า แต่พูดไม่ได้” น่าเบื่อมากจริงๆ

ถ้าจะให้ผมฟันธงและวิเคราะห์ว่าใครจะชนะหรือแพ้นั้น เอาเป็นว่าผมจะตอบแบบนักการเมือง (ซึ่งไม่รู้ว่าอันไหนแย่กว่ากัน ระหว่างตอบแบบนักการเมือง กับนักวิเคราะห์แม่นๆ... หลังผลออกมา) แต่สำหรับการเลือกตั้งครั้งนี้มันสูสีเกิน เอาเป็นว่าผมจะไม่แปลกใจถ้าทรัมป์ชนะ แต่ผมจะแปลกใจถ้าแฮร์ริสแพ้ เอาเป็นว่าสัปดาห์หน้าเราคุยกันเรื่องการเลือกตั้งในสหรัฐเต็มๆ เลยดีกว่า วันนี้ขอเขียนเรื่องใกล้ใจผมครับ

ใครที่รู้จักผมจะรู้ว่า สำหรับกีฬานั้น โลกของผมจะหมุนรอบ 2 ทีม ทีมบาสคือ LA Lakers ผมคลั่งไคล้ขนาดวันที่เขาแข่งจะเป็นวันดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเขาชนะหรือแพ้ แต่กีฬาโปรดที่ผมเติบโตและรักคือเบสบอล ส่วนทีมโปรดคือ LA Dodgers

เหตุผลคือ ผมเกิดและใช้ชีวิตตอนเด็กๆ ที่เมือง Los Angeles รัฐแคลิฟอร์เนียครับ และทีมประจำเมืองในกีฬาแต่ละประเภทต้องมีอยู่แล้ว เนื่องจาก LA เป็นเมืองใหญ่ แต่สำหรับ Lakers กับ Dodgers เป็นทีมที่ชนะบ่อยในยุคนั้น และชนะ ระดับแชมป์หลายรอบ เลยได้ใจของคนทั้งเมือง

สำหรับคนเราทุกคน เวลาเชียร์กีฬาอะไรก็แล้วแต่ หรือมีทีมโปรดที่จะครองใจตั้งแต่เกิดจนตายนั้น ช่วงวัยเด็กๆ มีอิทธิพลอย่างแรง อย่างตัวผม ใจผมอยู่ที่ Lakers กับ Dodgers เพราะผมอยู่ในเมืองนั้น ในยุคที่ชนะบ่อย และผมเล่นกีฬา ส่วนสิ่งสำคัญคือ เวลาผมไปเล่นเบสบอลกับเพื่อน ผมจะจินตนาการว่าผมเป็น Steve Garvey เวลาจะตีลูก

ช่วงเวลาเด็กๆ จะเป็นช่วงวิเศษจริงๆ ถ้าเผื่อเรามีทีมในใจ เพราะทีมนั้นๆ ถ้าสามารถครองใจเราตั้งแต่เด็กได้ จะอยู่ในใจจนตายครับ และเมื่อเรานึกถึงทีมของเรา เราจะย้อนกลับไปนึกถึงช่วงแรกๆ ที่ดูทีมนั้น ที่สนามหรือในทีวี เราจะจำทุกบริบทในวันวาน จะนึกถึงขอบสนาม จะนึกถึงเสียงเชียร์ เวลาดูกับคุณพ่อ (กับแม่ด้วย) มันไม่มีความรู้สึกอะไรใดๆ ทั้งสิ้นที่จะเทียบเท่า หรือจะเปรียบเทียบกับการเห็นทีมที่เราเชียร์สุดหัวใจ (ที่เป็นตัวแทนเมืองเราด้วย) ชนะชิงชนะเลิศ ความปลื้มปีติ ความภาคภูมิใจ ความดีใจสุดๆ มันไม่มีคำบรรยายไหนทั้งสิ้นครับ เช่นเดียวกับช่วงเวลาที่ทีมเราแพ้ ทั้งเมือง ทั้งรัฐ จะฝ่อลงขึ้นมาทันที จะหดหู่ทั้งบ้านเมือง และจากวันที่มีความหวังและสดใสนั้น ดูมืดมนและไร้ความหวังทันตา

ที่ผมพูดถึงเรื่องนี้ เรื่องอิทธิพลที่ทีมโปรดมีผลต่อชีวิต คือเมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา ฮีโร่ผมคนหนึ่งเสียชีวิตอย่างกะทันหันด้วยวัยเพียง 63 ปี คือนาย Fernando Valenzuela

ผมเชื่อว่าพูดชื่อนี้ออกมาปุ๊บ 99.99% ของแฟนคอลัมน์ (เอาเป็น 100%) ไม่น่าจะรู้จัก แต่สำหรับพวกเรา (พวกผม) ที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ Dodgers ถือว่าเป็นข่าวใหญ่ เพราะ Fernando (คิดดู ผมไม่ได้เรียกนามสกุล เรียกชื่อเขา) มีบทบาทสำคัญต่อวัยเด็กๆ ของผม

Fernando เล่นตำแหน่ง Pitcher ซึ่งถ้าพูดตามความเป็นจริง เขาไม่ได้เก่งอะไรมากมาย ไม่ได้วิเศษวิโสอะไร เขาไม่ถึงชั้นเทพ หรืออมตะอะไร เพียงแต่ปีที่เขาเริ่มเล่น ปี 1981 (ผมอายุ 11 ขวบพอดี) ตอนที่เขาอายุ 20 นั้น เขาเข้ามาปุ๊บ เหมือนจุดชนวนให้ทั้งทีมกระตุ้นพลัง และกระตุ้นแรงให้เล่นเต็มที่ เข้ามาปุ๊บชนะรวด 8 ครั้ง ด้วยท่าโยนลูกที่แปลกพิสดาร

เวลานึกถึงการโยนลูก ก็แค่โยนธรรมดาใช่ไหมครับ? แต่ท่าของ Fernando คือระหว่างโยนมีการเหลือบมองฟ้าทุกครั้ง เหมือนจะสัมผัสขอพลังจากพระเยซูและพระเจ้า สิ่งที่แฟนคอลัมน์ต้องเข้าใจคือ pitchers ในเกมหนึ่งจะโยนลูกประมาณร้อยครั้ง และทุกๆ ครั้งที่ Fernando โยนลูกจะเหลือบมองข้างบน

สองปรากฏการณ์นี้ทำให้คนทั้งเมืองบ้าคลั่ง Fernando และทำให้คนทั่วประเทศติดตามเขาด้วย เขากลายเป็นฮีโร่ของคนเม็กซิกัน ทั้งที่อยู่ในเม็กซิโกและอาศัยอยู่ใน LA อย่างหนึ่งที่พวกเราต้องเข้าใจคือ LA จะรับอิทธิพลจากเม็กซิโกเยอะ คนเม็กซิกันใน LA ก็ล้น เขามีย่านของเขา มีสังคมของเขา และมีโลกของเขา ที่ไม่ต้องพูดภาษาอังกฤษก็ได้ ส่วนมากจะหนีชีวิตลำบากในเม็กซิโกมาหาชีวิตที่ดีกว่าในอเมริกา ดังนั้น ที่อยู่แบบผิดกฎหมายมีเยอะกว่าที่ถูกกฎหมายครับ

ซึ่งคือปัญหาของ LA ที่แก้ไม่ตก ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาที่ผู้เสียภาษีถูกต้องต้องแบกผู้อพยพจากเม็กซิโก ก็ถือว่าเป็นปัญหาที่มีมายาวนานและจะมีอีกต่อไป ทำให้สังคมกลมกลืนกันยาก ต่างผิวสี อยู่ต่างย่านและโลกของตัวเอง โดยที่ไม่คลุกคลีกัน แต่ในปี 1981 Fernando ทำให้คน LA ทุกคน ทุกเชื้อชาติ ทุกผิวสี กลมกลืนกันและรักกัน ปรากฏการณ์ของ Fernando ยิ่งใหญ่ขนาดมีชื่อเป็นที่ยอมรับคือ Fernandomania (Fernando-Mania)

ช่วงเวลานั้น ปีนั้น LA ทั้งเมืองไม่ว่าจะย่านไหนก็ตาม มีแต่คนใส่เสื้อ Fernando มีแต่คนใส่เสื้อ Dodgers มีแต่คนมีความสุข มีแต่คนมีความหวัง พร้อมใจกันส่งพลังให้ Dodgers เพราะปีนั้น คลื่น Fernandomania ผลักดันให้ Dodgers สู่รอบชิงชนะเลิศ (World Series) แข่งกับ New York Yankees ที่เรามักจะพ่ายแพ้ใน World Series

สำหรับใครที่เข้าใจภูมิภาคของสหรัฐจะรู้ว่า สองตลาดยิ่งใหญ่คือ แคลิฟอร์เนียกับนิวยอร์ก และยิ่งถ้าทีมของ 2 รัฐนี้มาแข่งกัน ratings จะพุ่งกระฉูด ปีนั้น Fernando นำชัยชนะให้ Dodgers ชนะศัตรูได้ และสร้างความเป็นตำนาน ชื่อ Fernando Valenzuela ให้อยู่ในใจพวกเราตลอดไป

ยิ่งใหญ่แค่ไหนครับ? ตอนนั้นคุณพ่อคุณแม่ทำร้านคอฟฟี่ช็อปเล็กๆ (ชื่อ Smokes Coffee Shop) คอฟฟี่ช็อปในที่นี้ไม่เหมือนยุคนี้ที่เป็นร้านกาแฟ แต่คอฟฟี่ช็อปในยุคนั้นคือ Diner ที่ขายอาหารประเภทแฮมเบอร์เกอร์มากกว่าครับ คุณพ่อจะเป็นกุ๊ก คุณแม่จะทำหน้าที่เสิร์ฟและแคชเชียร์ ช่วงปิดเทอมผมทำหน้าที่ช่วยเหลือ และมีคนล้างจานอยู่ข้างหลัง ส่วนใหญ่คนล้างจานจะเป็นคนเม็กซิกัน พูดภาษาอังกฤษได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ถูกกฎหมายบ้าง ไม่ถูกกฎหมายบ้างครับ

ท่ามกลาง Fernandomania คุณพ่อผมมีความตั้งใจอยากพาคนล้างจานในร้าน (เป็นคนเม็กซิกัน พูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ และเข้ามาแบบไม่ถูกกฎหมาย ชื่อ Juan) ไปดูเบสบอลที่ Dodger Stadium รอบที่ Fernando เล่น ถึงแม้จะพยายามอธิบายว่าจะพาไปดู ผมไม่แน่ใจว่าเขาเข้าใจหรือไม่ แต่พอเอาตั๋วให้เขาดู และพูดว่า “Fernando” เขาตาโตขึ้นมาทันที วันที่เรานั่งในสนาม พอวินาทีที่ Fernando ปรากฏตัว Juan น้ำตาซึมครับ ถึงแม้เราคุยกันคนละภาษาก็ตาม วันนั้นเราพูดภาษาเบสบอลเข้าใจกันดี

ปีนี้ Dodgers ของผมจะแข่งกับ Yankees อีกรอบในเวที World Series…..Go Dodger Blue!!!!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

28 ยังแจ๋ว!!!!

ผมขออนุญาตเขียนเรื่องเบาๆ อีกสักครั้งหนึ่งครับ ไม่เขียนวันนี้ผมไม่รู้จะเขียนตอนไหน และเอาเข้าจริงผมอยากพาแฟนๆ ทั้งหลายออกจากโลกข่าวดิไอคอนกรุ๊ปครับ

8ปีที่แล้ว….ที่ไม่มีวันลืม

ในชีวิตทุกคนมักจะมีอยู่ไม่กี่เหตุการณ์ที่ทำให้เราจำบรรยากาศ จำบริบท จำความรู้สึก และจำทุกรายละเอียด เมื่อเรารำลึกถึง หรือนึกถึงอีกที

แค้นนี้ต้องชำระ…ขนาดนั้นเลยเหรอ?

พรุ่งนี้ครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์สถานการณ์สู้รบ ปะทะ หรือสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส (ครั้งล่าสุด) ถ้าย้อนเวลากลับไปปีที่แล้ว พวกเราคงจำข่าวการโจมตี

'เปิดและปิดเครื่อง'

ก่อนอื่นผมต้องขอโทษสำหรับคอลัมน์สัปดาห์ก่อนที่หายไปครับ ผมไม่ได้หายไปไหน และผมไม่ได้ไปไหน ผมพร้อมและตั้งใจเขียนคอลัมน์ปกติ แต่เมื่อเริ่มเขียน