'ตากใบ' ที่ไม่หมดอายุความ

มีข้อสงสัย...

เหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองปี ๒๕๕๓ มีผู้เสียชีวิต ๘๗ คน เป็นประชาชน ๗๙ คน และทหาร ๘ นาย

อัยการสั่งฟ้อง "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ในฐานะนายกรัฐมนตรี

และ "สุเทพ เทือกสุบรรณ" ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)

ในข้อหาร่วมกันก่อหรือใช้ให้ผู้อื่นกระทำหรือฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

การชุมนุมของคนเสื้อแดงปี ๒๕๕๓ มี "ทักษิณ ชินวัตร" อยู่เบื้องหลังสั่งการจากต่างประเทศ จุดประสงค์เพื่อชิงอำนาจคืน

การชุมนุมทางการเมือง กลายเป็นสงครามกลางเมือง เพราะมีกองกำลังติดอาวุธชุดดำ ปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเป็นระยะๆ

นี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

รวมทั้งทหาร

๒๕ ตุลาคม ปี ๒๕๔๗ มีการสลายการชุมนุม หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ จังหวัดนราธิวาส มีประชาชนถูกควบคุมตัวกว่า ๑,๓๐๐ คน เสียชีวิต ๘๕ คน และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก

นี่ไม่ใช่การชุมนุมทางการเมือง ไม่ใช่เรื่องชิงอำนาจ เป็นการรวมตัวของชาวบ้านเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการคุมขังประชาชน ๖ คนที่ถูกกล่าวหาว่ามอบอาวุธให้ผู้ก่อความไม่สงบ

นายกรัฐมนตรีขณะนั้นคือ "ทักษิณ ชินวัตร" และปฏิกิริยาแรกของเขา คือกล่าวว่ามีผู้เสียชีวิต เพราะพวกเขายังอ่อนแอจากการอดอาหารระหว่างเดือนรอมฎอน

แทนที่เจ้าหน้าที่รัฐและรัฐบาลจะถูกฟ้องร้อง กลับกลายเป็นว่า อัยการสั่งฟ้องแกนนำการชุมนุมจำนวน ๕๙ คน ในข้อหาปลุกปั่นยุยงให้เกิดความวุ่นวาย

แต่ต่อมารัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ถอนฟ้องด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง

"...การยุติข้อพิพาทในคดีนี้จะเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ส่งผลดีต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การฟ้องคดีและการดำเนินคดีต่อไปจึงไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ และอาจกระทบต่อความปลอดภัย หรือความมั่นคงของชาติ รวมทั้งผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ…"

นั่นคือเหตุผลที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ให้ไว้

ในช่วงรัฐบาลทักษิณ ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งคนของรัฐบาล ถูกฟ้องร้องแม้แต่รายเดียว

แม้มีความพยายามฟ้องร้องคดีที่มีผู้เสียชีวิต ๗๘ คน

ศาลในขณะนั้นได้สรุปสำนวนในคดีดังกล่าวว่า สาเหตุของการเสียชีวิตของทั้ง ๗๘ คนนั้นเกิดจาก การขาดอากาศหายใจ

ไม่ได้มีหลักฐานปรากฏว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต

การปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานทำตามหน้าที่ ซึ่งในคดีดังกล่าวมี พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีตแม่ทัพภาคที่ ๔ เป็นจำเลยด้วย พนักงานสอบสวนจึงได้ส่งสำนวนให้อัยการ

แต่อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง

ให้เหตุผลว่าไม่ปรากฏพยานหลักฐาน ว่าผู้ใดทำให้เสียชีวิต ซึ่งในเวลานั้นผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสมีความเห็นเช่นเดียวกับอัยการ จึงมีคำสั่งไม่ฟ้อง ทำให้คดีดังกล่าวสิ้นสุดลงในช่วงแรก

กองทัพภาคที่ ๔ ปฏิบัติหน้าที่ภายใต้การรับรู้ของ นายกรัฐมนตรี

แต่ฝ่ายการเมืองไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ

เป็นที่รับรู้กันดีว่ายุครัฐบาลทักษิณ มักใช้นโยบายตาต่อตา ฟันต่อฟัน เช่นคดีปราบยาเสพติด รัฐบาลใช้คำว่าเปิดสงครามกับขบวนการค้ายาเสพติด

สร้างแรงจูงใจให้เจ้าหน้าที่รัฐแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง

เมื่อต้นปี ๒๕๔๖ "ทักษิณ" ยกให้การแก้ปัญหายาเสพติดเป็น "วาระแห่งชาติ"

สั่งการให้แต่ละจังหวัดจัดทำบัญชีรายชื่อผู้เกี่ยวข้อง และกำหนดเป้าหมายลดผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้ได้ ๑๐๐% ภายในสามเดือน

ผลของการรณรงค์ในช่วงสามเดือนแรก เป็นเหตุให้มีการวิสามัญฆาตกรรมสูงถึง ๒,๒๗๕ ราย

"ทักษิณ" บอกว่า “เราไม่ได้ฆ่าพวกเขา พวกคนเลวมันฆ่าตัดตอนกันเอง”

๑๔ มกราคม ๒๕๔๖ "ทักษิณ" กล่าวเปิดงานรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดว่า

 “ไม่มีอะไรภายใต้ดวงอาทิตย์นี้ที่ตํารวจไทยทำไม่ได้”

เป็นการยกคำพูดของ "พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์"  ขึ้นมาสร้างความชอบธรรม ก่อนจะเผยความคิดของตนเองว่า

 “...เพราะว่าพวกค้ายามันโหดร้ายต่อลูกหลานของเรา  เราก็ต้องโหดร้ายกับมันกลับไปบ้าง ซึ่งไม่ใช่เรื่อง

เลวร้าย..."

นั่นคือทัศนคติของ "ทักษิณ" ระหว่างเป็นผู้นำประเทศ

หลังถูกวิจารณ์จากยูเอ็น ปฏิกิริยาของ "ทักษิณ" คือ...

"...ยูเอ็นไม่ใช่พ่อ..."

กรณีตากใบ เกิดหลังการใช้ความรุนแรงแก้ปัญหายาเสพติด

และ "ทักษิณ" จุดชนวนหลังเหตุปล้นปืนจากกองพันพัฒนาที่ ๔ ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (ค่ายปิเหล็ง) จ.นราธิวาส ทำให้มีทหารเสียชีวิต ๔ นาย ด้วยการบอกว่า

"...เป็นฝีมือโจรกระจอก..."

ที่ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติเจ็บช้ำน้ำใจมากที่สุดคือการที่ "ทักษิณ" พูดถึงทหารที่เสียชีวิตทั้ง ๔ นายว่า... 

"...โดนเขาขโมยปืนไปได้ก็สมควรตาย..."

เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่ "ทักษิณ" เอ่ยปากขอโทษเสียใจกรณีตากใบ ๒ ครั้ง แต่ครั้งหลัง เขาบอกว่า

"...รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ตอนนั้นอยู่ในการควบคุมของทหาร ผมก็ได้รับรายงาน ก็เสียใจ จำไม่ค่อยได้ เสียใจ..."

"ทักษิณ" พยายามไม่ให้ตัวเองตกเป็นเป้าโจมตี และให้แสดงความรับผิดชอบ ด้วยการบอกว่า "...จำไม่ค่อยได้..."

และบอกว่าหลังเกิดเหตุไม่มีเจ้าหน้าที่รายงาน

จะจำไม่ได้ได้อย่างไร ในเมื่อ "ทักษิณ" เป็นคนพูดเองเมื่อปี ๒๕๕๖ ว่า วันนั้นขณะเกิดเหตุได้ตีกอล์ฟอยู่ย่านบางนา และได้รับรายงานว่ามีการไปล้อมโรงพักเพื่อจะให้ปล่อยตัวผู้ต้องหา ซึ่งเป็นผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาว่านำอาวุธไปส่งให้ผู้ก่อความไม่สงบ

หลังเหตุการณ์ตากใบ เกิดการชุมนุมประท้วงไปหลายจังหวัด มีการฉายวีซีดีที่จัดทำโดยกลุ่มมุสลิม แสดงให้เห็นถึงภาพเหตุการณ์ และโจมตีรัฐบาลทักษิณว่าเป็นต้นเหตุ จะต้องรับผิดชอบ

วีซีดีที่ว่านี้ได้ถูกส่งไปยังกลุ่มมุสลิมหลายกลุ่มในประเทศไทย ขณะที่รัฐบาลทักษิณขู่ว่าการครอบครองวีซีดีดังกล่าวมีความผิดตามกฎหมาย

รัฐบาลสามารถฟ้องร้องผู้ที่มีไว้ในครอบครองได้

ผู้คนในปัจจุบันไม่ได้รับรู้ถึงบรรยากาศการปกครองแบบตาต่อตาฟันต่อฟันของรัฐบาลทักษิณ จึงอาจมองภาพไม่ออก และตั้งคำถามว่าทำไมรัฐบาลต้องรับผิดชอบ

การนำเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ครั้งนี้ จึงเป็นการชี้ให้เห็นว่า บรรดาผู้ต้องหาคดีตากใบที่หนีจนหมดอายุความในวันนี้เป็นแค่ระดับปฏิบัติ

แต่รัฐบาลคือผู้กุมนโยบาย

เมื่อรัฐบาลนิยมความรุนแรง ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ความรุนแรงของระดับปฏิบัติ

นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไม "ทักษิณ" ถึงมีส่วนต้องรับผิดชอบสูงสุดในกรณีตากใบ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อุ๊งอิ๊ง' แย่แล้ว

เปลี่ยนไวราวกับติดจรวด! คือการเมืองไทยครับ เรื่องความนิยมชมชอบของประชาชน เป็นสัจธรรมการเมืองจริงๆ เพราะเปลี่ยนไปราวฟัากับเหวในช่วงเวลาแค่สัปดาห์ หรือเดือนเท่านั้น

ดับฝันพรรคส้ม

รู้แล้วจะอึ้ง! เผื่อบางท่านยังไม่ได้อ่าน หรือผ่านตา รายงานของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร

หยุดนับอายุความ

เที่ยงคืนพรุ่งนี้ (๒๕ ตุลาคม) คดีตากใบจะหมดอายุความแล้ว จำเลยทุกคนจะเป็นอิสระ เจ้าหน้าที่รัฐจะไปจับตัวมาดำเนินคดีไม่ได้

อภินิหารทางกฎหมาย

ทำเป็นเล่นไป โอกาสที่ "ทักษิณ ชินวัตร" จะกลับมามีสถานะเป็นนักโทษชาย มีอยู่เหมือนกันครับ จาก ๒ กรณี

จุดตาย 'แพทองธาร'

เอาที่สบายใจเลยครับคุณพี่ วานนี้ (๒๑ ตุลาคม) เสี่ยอ้วน ภูมิธรรม เวชยชัย บอกว่า นักร้องจะทำให้เศรษฐกิจชาติพัง

ไปให้ถึง 'สุดซอย'

ครบ ๒๘ ปี ย่างเข้าสู่ปีที่ ๒๙ แล้วครับ "ไทยโพสต์" หนังสือพิมพ์สุดซอย แต่ไม่สุดโต่ง