หยุดนับอายุความ

เที่ยงคืนพรุ่งนี้ (๒๕ ตุลาคม) คดีตากใบจะหมดอายุความแล้ว

จำเลยทุกคนจะเป็นอิสระ เจ้าหน้าที่รัฐจะไปจับตัวมาดำเนินคดีไม่ได้

และฟ้องในคดีเดิมอีกไม่ได้

แต่ในทางสังคมจะจมอยู่กับคดีตากใบไปจนตาย

มีข้อถกเถียงเรื่องอายุความอยู่เหมือนกัน ว่าทำไมต้องมี

วัตถุประสงค์ของระบบยุติธรรมบางประเทศที่ให้มีอายุความ เพราะเชื่อว่า การพิสูจน์ความจริง นั้น ต้องรีบทำให้เร็วที่สุด

ต้องทำในขณะที่ พยานหลักฐานยังสดและใหม่

เพราะทำให้โอกาสที่ศาลจะตัดสินผิดพลาดคลาดเคลื่อนมีน้อย

กลับกันยิ่งทิ้งเวลาไว้เนิ่นนาน หลักฐานต่างๆ ย่อมสูญหายไปตามกาลเวลา

แต่ในประเทศไทยเริ่มเปลี่ยนแนวคิดเรื่องอายุความแล้วในบางคดี

นั่นคือคดีคอร์รัปชัน 

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๘  โดยมีสาระสำคัญ ที่น่าสนใจ และควรขยายไปยังคดีที่มีผลกระทบกับสังคมในวงกว้าง

ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ. ๒๐๐๓  (United Nations Convention Against Corruption: UNCAC) ท่าให้มีหน้าที่ในการปฏิบัติตามพันธกรณีอนุสัญญาดังกล่าวหลายประการ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายภายในของประเทศไทย เพื่ออนุวัติการตามอนุสัญญา ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล

การที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเพื่ออนุวัติการตามพันธกรณีอนุสัญญาดังกล่าว ก่อให้เกิดผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ในเรื่องความพยายามและความจริงจังในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายภายในเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

และก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมถึงการแก้ไขปัญหาการทุจริตภายในประเทศ

จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการปฏิรูปประเทศตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ ในการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตมีกลไกในการจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

มีประเด็นที่สำคัญคือเรื่องอายุความ

ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ มาตรา ๗๔/๑ กำหนดให้ในการดำเนินคดีอาญาตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดี หรือระหว่างการพิจารณาของศาล อายุความจะสะดุดหยุดอยู่ และเมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลยแล้ว ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจะไม่นำเรื่องอายุความมาใช้บังคับ

การแก้ไขนี้มิได้เป็นการขยายอายุความในคดีทุจริตแต่อย่างใด แต่เป็นการยกเว้นมิให้นับอายุความในกรณีที่ผู้กระทำความผิดหลบหนีเท่านั้น

ครับ...แม้ไม่ใช่การขยายอายุความ แต่ผลก็ไม่ต่างกันนัก

หนีเมื่อไหร่อายุความก็หยุดรอตามตัวมาลงโทษ

ไม่อยากนอนคุกก็ต้องหนีให้ได้ตลอดชีวิต

คดีตากใบ มีข้อเสนอให้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ขยายอายุความของคดีตากใบ เพื่อนำจำเลยทั้งหมดมารับโทษ

ในคดีอาญาสามารถออกกฎหมายเพื่อเอาผิดย้อนหลังได้จริงหรือ

"นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ" อดีต สส.พัทลุง โพสต์ความเห็นไว้ดังนี้ครับ

"...อย่ายัดความโง่ ใส่หัวประชาชน

การออกพระราชกำหนดขยายอายุความ ในความผิดทางอาญา มันทำไม่ได้ อายุความมันขึ้นกับอัตราโทษ แม้อายุความไม่ใช่โทษทางอาญา แต่อายุความที่ยาวขึ้นมันเป็นโทษกับผู้ต้องหาหรือจำเลย จะไม่มีผลย้อนหลัง ศาลฎีกาก็ยืนแนวนี้มาตลอด

วิงวอนรัฐบาลอย่าหลอกประชาชน และวิงวอนประชาชนก็อย่ายอมให้รัฐบาลหลอก รัฐบาลจับผู้ต้องหาไม่ได้แล้วยังมาหลอกประชาชนอีกว่าจะออก พ.ร.ก.ขยายอายุความ เป็นการหลอกหาคะแนนไปเรื่อยๆ

ทั้งคดีตากใบ และ ไอคอนกรุ๊ป ขยายอายุความไม่ได้..."

ใช่ครับ...หลักกฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษ ถือเป็นหลักที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศไทยมายาวนาน

เคยถูกนำมาปรับกับการพิจารณาวินิจฉัยในศาลยุติธรรม ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑/๒๔๘๙  ที่สรุปได้ว่า 

"...คดีเป็นปัญหากฎหมายในเบื้องต้นที่จะต้องวินิจฉัยเกี่ยวด้วยการบังคับใช้บทพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม ศาลนี้เห็นว่าพระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พุทธศักราช ๒๔๘๘ เฉพาะที่บัญญัติย้อนหลังให้การกระทำก่อนวันใช้พระราชบัญญัติเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติด้วยนั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  มาตรา ๑๔ และเป็นโมฆะ ตามมาตรา ๖๑ (รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ยกเลิกเมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม ๒๔๘๙) 

เมื่อบทบัญญัติที่โจทก์ฟ้องขอให้เอาผิดแก่จำเลย  ศาลนี้ได้วินิจฉัยแล้วว่าเป็นโมฆะ อันจะลงโทษจำเลยไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์อันใดที่ศาลจะฟ้องคำพยานหลักฐานโจทก์ในเรื่องนี้ต่อไปอีก จึงพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์เสีย..."          

ศาลรัฐธรรมนูญ ก็เคยมีคำวินิจฉัยคุ้มครองสิทธิของประชาชนในเรื่องดังกล่าวมาแล้ว ความปรากฏในคำวินิจฉัยที่ ๓๐/๒๕๖๓ 

สรุปได้ว่า

"...การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๕/๒๕๕๗ เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวเพิ่มเติม ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗ กำหนดให้บุคคลมารายงานตัวในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๐๐ นาฬิกา โดยปรากฏชื่อจำเลยในคดีนี้ คำสั่งดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้การไม่มารายงานตัวต้องรับโทษทางอาญา 

แต่ต่อมาในวันเดียวกันนั้น คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่  ๒๙/๒๕๕๗ เรื่อง ให้บุคคลมารายงานตัวตาม คำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ลงวันที่ ๒๔ พฤษภาคม  ๒๕๕๗ กำหนดให้บุคคลที่มีรายชื่อตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ไม่มารายงานตัวภายในวันเวลาที่กำหนด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี หรือปรับไม่เกิน  ๔๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นการออกคำสั่งเรียกให้มารายงานตัวก่อน แล้วออกประกาศกำหนดโทษของการกระทำดังกล่าวลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้ทราบทั่วกันในภายหลัง (วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗) จึงเป็นการกำหนดโทษทางอาญาให้มีผลย้อนหลัง แก่บุคคลผู้ไม่มารายงานตัวตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งเกิดขึ้นก่อน ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรมที่ว่า 'ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย' จึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง” 

เมื่อพิจารณา ข้อเท็จจริงจากคำวินิจฉัยพบว่า หลัก 'กฎหมายอาญาไม่มีผลย้อนหลังเป็นโทษ'  นั้น บุคคลจะมีความผิดต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้นบัญญัติว่าเป็นความผิด และกำหนดโทษของความผิดไว้ 

ดังนั้น การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติออกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๕/๒๕๕๗ ออกคำสั่งเรียกให้รายงานตัวก่อนและออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ ๒๙/๒๕๕๗ กำหนดโทษของการกระทำดังกล่าวในภายหลัง จึงเป็นคำสั่งที่มีโทษอาญาย้อนหลังไปลงโทษการกระทำที่เกิดขึ้นก่อน จึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง และขัดต่อหลักนิติธรรม..."

ฉะนั้น การออกกฎหมายมาบังคับใช้ในภายหลังเพื่อย้อนเอาผิด คงถึงขั้นต้องไปรื้อรัฐธรรมนูญเสียก่อน 

คดีตากใบไปไกลสุดได้แค่นี้

ในอนาคต คดีที่กระทบกับสังคมสูง หากจะเอาผิดผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หนีเพื่อให้หมดอายุความ แนวทางในกฎหมาย ป.ป.ช.มีความเป็นไปได้มากที่สุด

หนีเมื่อไหร่ หยุดนับอายุความ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดับฝันพรรคส้ม

รู้แล้วจะอึ้ง! เผื่อบางท่านยังไม่ได้อ่าน หรือผ่านตา รายงานของกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร

อภินิหารทางกฎหมาย

ทำเป็นเล่นไป โอกาสที่ "ทักษิณ ชินวัตร" จะกลับมามีสถานะเป็นนักโทษชาย มีอยู่เหมือนกันครับ จาก ๒ กรณี

จุดตาย 'แพทองธาร'

เอาที่สบายใจเลยครับคุณพี่ วานนี้ (๒๑ ตุลาคม) เสี่ยอ้วน ภูมิธรรม เวชยชัย บอกว่า นักร้องจะทำให้เศรษฐกิจชาติพัง

ไปให้ถึง 'สุดซอย'

ครบ ๒๘ ปี ย่างเข้าสู่ปีที่ ๒๙ แล้วครับ "ไทยโพสต์" หนังสือพิมพ์สุดซอย แต่ไม่สุดโต่ง

งานเข้า 'บอสแม้ว'

ใกล้เข้าไปอีกนิด... เป็นความคืบหน้าจากทาง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในคดี "ทักษิณ ชินวัตร" ครอบงำพรรคการเมือง