'อย่าเช่นสัตว์ดิรัจฉาน'

วันนี้ ๒๓ ตุลาคม เป็นวัน "ปิยมหาราช"

"พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" รัชกาลที่ ๕ เสด็จสวรรคต เมื่อ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๓

คือเมื่อ ๑๑๔ ปีล่วงแล้ว

พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่รักยิ่งของพสกนิกร  เมื่อสวรรคต จึงพร้อมใจกันถวายพระราชสมัญญาว่า "พระปิยมหาราช"

รัชกาลที่ ๕ ทรงนำสังคมประเทศก้าวข้ามยุค "ไพร่ทาสเจ้าขุนมูลนาย"

ไปสู่มิติ "ไทย-อารยสากล"!

ก้าวนั้น เป็น "ก้าวนำไทย" ทุกด้านสู่ตราบปัจจุบัน

พระราชวิสัยทัศน์ "อัจฉริยภาพ" แห่งพระปิยมหาราช อันเด่นชัด พระองค์ทรงวางแนวทางเป็นรากแก้ว "ไทย-สู่อารยสากล"

..........ไว้ที่ "การศึกษา"

ให้คนได้มีการศึกษา แล้วคนที่ได้รับการศึกษา ก็จะมา "สร้างชาติ-พัฒนาเมือง" ให้ก้าวคู่ไปกับเข็มนาฬิกาสังคมโลก

"จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"

เป็นหนึ่งกายภาพ "สร้างคนทางการศึกษาให้ออกไปสร้างชาติ-พัฒนาเมือง"

ณ ครั้งปฏิวัติสังคมประเทศ พระองค์ทรงส่ง "พระราชโอรส" ๔ พระองค์ ไปศึกษาต่างประเทศ คือ

-"พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์" ("กรมพระจันทบุรีนฤนาถ" ต้นราชสกุล "กิติยากร")

เมื่้อสำเร็จการศึกษา เสด็จกลับมาทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงพระคลังมหาสมบัติและกระทรวงพาณิชย์

-"พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์" ("กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์" ต้นราชสกุล "รพีพัฒน")

นำความรู้สาขาที่ทรงศึกษากลับมาพัฒนาสังคมชาติในตำแหน่งเสนาบดี "กระทรวงยุติธรรม" และเสนาบดี "กระทรวงเกษตราธิการ"

-"พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม" ("กรมหลวงปราจิณกิติบดี" ต้นราชสกุล "ประวิตร")

กลับมาทรงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่ง "ราชเลขาธิการ" ใน "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"

-"พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าจิรประวัติวรเดช" ("กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช" ต้นราชสกุล "จิรประวัติ")

ก็ทรงนำความรู้ที่ได้ศึกษาร่ำเรียนจากตะวันตก มาวางรากฐานทางการทหาร ทรงดำรงตำแหน่ง "ผู้บัญชาการทหารบก" และเสนาบดี "กระทรวงกลาโหม"

นับว่าเด่นชัด การปฏิรูปสังคมประเทศ รากที่ยั่งยืน ต้องมาจาก "การศึกษา"

ศึกษาในเป้าหมาย เรียนเพื่อนำที่รู้ไปพัฒนาชาติ แต่ถ้านำที่รู้ไปล้มล้างชาติ นั่นไม่ใช่ศึกษา

แต่เรียกว่าศิษย์-อาจารย์ "ซ่องสุม" ในสถานศึกษา!

จดหมายฉบับหนึ่ง มีบันทึกไว้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ชาติยุคเปลี่ยนผ่าน มีผู้นำมากล่าวถึงกันอยู่บ้าง

คือจดหมายที่ "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ทรงพระราชนิพนธ์พระราชทานแก่บรรดา "พระราชโอรส" ที่เสด็จไปทรงเรียนหนังสือในยุโรป เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๘ ดังนี้

..........................................

พระบรมราโชวาท ในรัชกาลที่ ๕       

ขอจดหมายคำสั่งตามความประสงค์ให้แก่ลูกบรรดาซึ่งจะให้ออกไปเรียนหนังสือในประเทศยุโรป จงประพฤติตามโอวาทที่จะกล่าวต่อไปนี้…

๑.

 “การซึ่งจะให้ออกไปเรียนครั้งนี้ มีความประสงค์มุ่งหมายแต่จะให้ได้วิชาความรู้อย่างเดียว ไม่มั่นหมายจะให้เป็นเกียรติยศชื่อเสียงอย่างหนึ่งอย่างใดในชั้น ซึ่งยังเป็นผู้เรียนวิชาอยู่นี้เลย

เพราะฉะนั้น ที่จะไปครั้งนี้ อย่าให้ไว้ยศว่าเป็นเจ้า ให้ถือเอาบรรดาศักดิ์เสมอลูกผู้มีตระกูลในกรุงสยาม

"…ความประสงค์ข้อนี้ ใช่ว่าจะเกิดขึ้นเพราะไม่มีความเมตตากรุณาหรือจะปิดบังซ่อนเร้นไม่ให้รู้ว่าเป็นลูกอย่างนั้นเลย

พ่อคงรับว่าเป็นลูกและมีความเมตตากรุณาตามธรรมดาที่บิดาจะกรุณาต่อบุตร

แต่เห็นว่า ซึ่งจะเป็นยศเจ้าไปนั้น ไม่เป็นประโยชน์อันใดแก่ตัวนัก"

"…และถ้าเป็นเจ้านายแล้ว ต้องรักษายศศักดิ์ในกิจการทั้งปวง ที่จะทำทุกอย่างเป็นเครื่องล่อตา ล่อหูคนทั้งปวง ที่จะให้พอใจดู พอใจฟัง จะทำอันใด ก็ต้องระวังตัวไปทุกอย่าง ที่สุด จนจะซื้อจ่ายอันใดก็แพงกว่าคนสามัญ เพราะเขาถือว่ามั่งมี เป็นการเปลืองทรัพย์ในที่ไม่ควรจะเปลือง

เพราะเหตุว่า ถึงจะเป็นเจ้าก็ดี เป็นไพร่ก็ดี เมื่ออยู่ในประเทศไม่ใช่บ้านเมืองของตัว ก็ไม่มีอำนาจที่จะทำฤทธิ์เดชอันใดผิดไปกับคนสามัญได้

เพราะฉะนั้น จึงขอห้ามเสียว่า อย่าได้ไปอวดอ้างเอง หรืออย่าให้คนใช้สอยอวดอ้างว่าเป็นเจ้านายอันใด จงประพฤติให้ถูกตามคำสั่งนี้”

๒.

 “…การซึ่งให้มีโอกาสและให้ทุนทรัพย์ซึ่งจะได้เล่าเรียนวิชานี้ เป็นหลักทรัพย์มรดกอันประเสริฐ ดีกว่าทรัพย์สินเงินทองอื่นๆ ด้วยเป็นของติดตัวอยู่ได้ไม่มีอันตรายที่จะเสื่อมสูญ     ลูกคนใดที่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็ดี หรือไม่มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดก็ดี ก็ต้องส่งไปเรียนวิชาทุกคน ตลอดโอกาสที่จะเป็นไปได้ เหมือนหนึ่งได้แบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ลูกเสมอๆ กันทุกคน…”

๓.

 “…เจ้านายจะเป็นผู้ได้ทำราชการ มีชื่อเสียงดี ก็อาศัยได้แต่สติปัญญาความรู้และความเพียรของตัว

เพราะฉะนั้น จงอุตสาหะเล่าเรียนโดยความเพียรอย่างยิ่ง เพื่อได้มีโอกาสที่จะทำการให้เป็นคุณแก่บ้านเมืองของตนและโลกที่ตัวได้มาเกิด"

 “ถ้าจะถือว่าเกิดมาเป็นเจ้านายแล้ว นิ่งๆ อยู่จนตลอดชีวิตก็เป็นสบาย ดังนั้น จะไม่ผิดอันใดกับสัตว์ดิรัจฉาน

อย่างเลวนัก สัตว์ดิรัจฉานมันเกิดมากินๆ นอนๆ แล้วก็ตาย แต่สัตว์บางอย่าง

ยังมีหนัง มีเขา มีกระดูก เป็นประโยชน์ได้บ้าง

แต่ถ้าคนประพฤติอย่างเช่นสัตว์ดิรัจฉานแล้ว จะไม่มีประโยชน์อันใดยิ่งกว่าสัตว์ดิรัจฉานบางพวกไปอีก"

 “เพราะฉะนั้น จงอุตสาหะที่จะเรียนวิชาเข้ามาเป็นกำลังที่จะทำตัวให้ดีกว่าสัตว์ดิรัจฉานให้จงได้ จึงจะนับว่าเป็นการได้สนองคุณพ่อ ซึ่งได้คิดทำนุบำรุงเพื่อจะให้ดีตั้งแต่เกิดมา”

๔.

 “อย่าได้ถือตัวว่าเป็นลูกเจ้าแผ่นดิน พ่อมีอำนาจยิ่งใหญ่อยู่ในบ้านเมือง ถึงจะเกะกะไม่กลัวเกรง คุมเหงผู้ใดเขาก็จะมีความเกรงใจพ่อ ไม่ต่อสู้ หรือไม่อาจฟ้องร้องว่ากล่าว

การซึ่งเชื่อใจดังนั้น เป็นการผิดแท้ทีเดียว

เพราะความปรารถนาของพ่อ ไม่อยากจะให้ลูกมีอำนาจที่จะเกะกะอย่างนั้นเลย"

 “…อีกประการหนึ่งชีวิตสังขารมนุษย์ไม่ยั่งยืนยืดยาวเหมือนเหล็กเหมือนศิลา ถึงโดยว่าจะมีพ่ออยู่ในขณะหนึ่ง ก็คงจะมีเวลาที่ไม่มีได้ขณะหนึ่งเป็นแน่แท้

ถ้าประพฤติความชั่วเสียแต่ในเวลามีพ่ออยู่แล้ว โดยจะปิดบังซ่อนเร้นอยู่ได้ด้วยอย่างหนึ่งอย่างใด

เวลาไม่มีพ่อ ความชั่วนั้น คงจะปรากฏเป็นโทษติดตัวเหมือนเงาตามหลังอยู่ไม่ขาด"

 “เพราะฉะนั้น จงเป็นคนอ่อนน้อม ว่าง่าย สอนง่าย อย่าให้เป็นทิฐิมานะไปในทางที่ผิด จงประพฤติตัวหันมาทางที่ชอบ ที่ถูก อยู่เสมอเป็นนิจเถิด

จะละเว้นทางที่ชั่วซึ่งรู้ได้เองแก่ตัว หรือมีผู้ตักเตือนแนะนำให้รู้แล้ว อย่าให้ล่วงให้เป็นไปได้เลยเป็นอันขาด”

๕.

 “…จงจำไว้ ตั้งใจอยู่ให้เสมอว่า ตัวเป็นคนจน มีเงินใช้เฉพาะแต่ที่รักษาความสุขของตัวพอสมควรเท่านั้น ไม่มั่งมีเหมือนใครๆ อื่น

และไม่เหมือนกับผู้ดีฝรั่งเลย ผู้ดีฝรั่งเขามั่งมีสืบตระกูลกันมาด้วยได้ดอกเบี้ยค่าเช่าต่างๆ

ตัวเองเป็นผู้ได้เงินจากราษฎรเลี้ยงพอสมควรที่จะเลี้ยงชีวิตและรักษาเกียรติยศเท่านั้น อย่าไปอวดมั่งอวดมีทำเทียบเทียมเขาให้ฟุ้งซ่านไปเป็นอันขาด…”

๖.

 “วิชาที่จะออกไปเรียนนั้น ก็คงต้องไปเรียนภาษาและหนังสือในสามภาษา คือ อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมัน ให้ได้แม่นยำ ชัดเจน คล่องแคล่ว จนถึงแต่งหนังสือได้สองภาษาเป็นอย่างน้อย

เป็นวิชาหนังสืออย่างหนึ่ง กับวิชาเลขให้เรียนรู้คิดใช้ได้ในการต่างๆ อีกอย่างหนึ่ง เป็นต้น วิชาสองอย่างที่จำเป็นจะต้องเรียนให้รู้ให้ได้จริงๆ เป็นชั้นต้น

แต่วิชาอื่นๆ ที่จะเรียนต่อไป ให้เป็นวิชาชำนาญวิเศษในกิจการข้างวิชานั้น จะตัดสินเป็นแน่นอนว่า ให้เรียนสิ่งใดในเวลานี้ ก็ยังไม่ควรจะต้องเป็นคำสั่งต่อภายหลัง…”

๗.

 “…......อย่าตื่นตัวเองว่าได้ไปร่ำเรียนภาษาฝรั่งแล้วลืมภาษาไทย กลับเห็นเป็นการเก๋การกี๋อย่างเช่นนักเรียนบางคนมักจะเห็นผิดไปดังนั้น"

 “…เพราะเหตุฉะนั้น ในเวลาที่ออกไปเรียนวิชาอยู่ ขอบังคับว่า ให้เขียนหนังสือถึงพ่อทุกคน อย่างน้อยเดือนละฉบับ

เมื่อเวลายังเขียนหนังสืออังกฤษไม่ได้ ก็เขียนมาเป็นหนังสือไทย ถ้าเขียนหนังสืออังกฤษหรือภาษาหนึ่งภาษาใดได้ ให้เขียนภาษาอื่นนั้นมาฉบับหนึ่ง

ให้เขียนคำแปลเป็นหนังสือไทยอีกฉบับหนึ่ง ติดกันมาอย่าให้ขาด เพราะเหตุที่ลูกยังเป็นเด็ก ไม่ได้เรียนภาษาไทยแน่นอนมั่นคง ก็ให้อาศัยไต่ถามครูไทยที่ออกไปอยู่ด้วย

หรือค้นดูตามหนังสือภาษาไทย ซึ่งได้จัดออกไปให้ด้วย คงจะพอหาถ้อยคำที่จะใช้แปลออกเป็นภาษาไทยได้

แต่หนังสือไทยที่จะเป็นกำลังช่วยอย่างนี้ยังมีน้อยจริง เมื่อเขียนเข้ามาคำใดผิดจะติเตียนออกไป แล้วจงจำไว้ใช้ให้ถูกต่อไปภายหน้า"

 “อย่าให้มีความกลัวความกระดากว่าผิด ให้ทำตามที่เต็มอุตสาหะความแน่ใจว่าเป็นถูกแล้ว เมื่อผิดก็แก้ไปไม่เสียหายอันใด”

๘.

 “…เมื่ออยู่ในโรงเรียนแห่งใด จงประพฤติการให้เรียบร้อยตามแบบอย่าง ซึ่งเขาตั้งลงไว้ อย่าเกะกะวุ่นวายเชื่อตัวเชื่อฤทธิ์ไปต่างๆ

จงอุตส่าห์พากเพียรเรียนวิชา ให้รู้มาได้ช่วยกำลังพ่อเป็นที่ชื่นชมยินดีสมกับที่มีความรักนั้นเถิดฯ”

.....................................

พสกนิกรทั้งแผ่นดินคือลูกของพระมหากษัตริย์ ทั้ง ๘ ข้อนี้ จึงพูดได้ว่า "ดั่งมรดกพ่อมีให้แก่ลูก"

ทุกสถาบันศึกษา

ควรยิ่ง ที่จะนำไปจารึกเป็น "บัญญัติ ๘ ประการ" ให้ท่อง-ให้จำ-ให้น้อมนำประยุกต์ปฏิบัติ เพราะ....

พระบรมราโชวาทนี้ "ค่าควรเมือง" แท้จริง.

-เปลว สีเงิน

๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๗

 

คนปลายซอย

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถ้าบ้านเมือง 'ไม่มีทหาร'

"พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว" และ "สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี"

ความเหมือนที่แตกต่าง ของช่วงโค้งสุดท้าย เลือกตั้งไทย-สหรัฐฯ | จับจ้องมองโลก..อิสรา สุนทรวัฒน์

ความเหมือนที่แตกต่างของช่วงโค้งสุดท้าย เลือกตั้งไทย-สหรัฐฯ | จับจ้องมองโลก.. จับจ้องมองโลก..อิสรา สุนทรวัฒน์ : วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ.2567

ตากใบ:ตากยังไงให้แห้ง?

รัฐบาลชอบพูด "ถอดบทเรียน" ผมเห็นด้วย ดังนั้น วันนี้ ๒๕ ตุลาคม ๒๕๖๗ ผมก็อยากให้ "นายกฯ แพทองธาร-พรรคเพื่อไทย" และ "คนในระบบรัฐ"