อภินิหารทางกฎหมาย

ทำเป็นเล่นไป

โอกาสที่ "ทักษิณ ชินวัตร" จะกลับมามีสถานะเป็นนักโทษชาย มีอยู่เหมือนกันครับ

จาก ๒ กรณี

กรณีแรกคือ คดี ม.๑๑๒ ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในศาลอาญา

หากผิดจริง โอกาสติดคุกก็ย่อมมี

ส่วนกรณีหลัง กำลังฮือฮากันอยู่ในโลกโซเชียล กรมราชทัณฑ์ส่งตัว "ทักษิณ" ไปโรงพยาบาลตำรวจ โดยไม่ขอศาล

ไม่ได้ร้องขอต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๔๖

เป็นกรณีที่ "ไพศาล พืชมงคล" โพสต์ในโซเชียล

"...พรรคเพื่อไทยจะดูแคลนการร้องของคุณชาญชัย  อิสระเสนารักษ์ไม่ได้ เพราะว่า

การส่งตัวนายทักษิณ ไปโรงพยาบาลตำรวจ ไม่ได้ขออนุญาตศาล จริงๆ ใครๆ ก็รู้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำผิดกฎหมาย

การไปอยู่โรงพยาบาล ๑๘๐ วันจึงไม่มีผลเป็นการถูกจำคุกตามคำพิพากษา จึงไม่เข้ากฎเกณฑ์ที่จะได้รับประโยชน์จากการอภัยโทษและนำไปอ้างพักโทษไม่ได้

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๔๖ ชัดเจนว่า เมื่อศาลทราบว่ามีเหตุอย่างนี้ศาลจะต้องทำการไต่สวน ซึ่งเป็นบทบัญญัติบังคับศาลโดยตรง

ศาลจะทราบได้โดยหลายทาง เช่นศาลทราบเอง หรือผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนทราบเอง หรือเลขานุการศาลรายงานให้ศาลทราบ หรือมีประชาชนร้องให้ทราบ เมื่อศาลทราบแล้วกฎหมายบังคับให้ต้องทำการไต่สวน การไต่สวนก็ไม่ยาก เพราะพยานหลักฐานชัดเจนว่ามีการส่งตัวไปโรงพยาบาลตำรวจโดยไม่ขออนุญาตศาล

โรงพยาบาลตำรวจไม่ใช่สถานที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นที่ขังจำเลย ไปอยู่สักกี่วันก็ไม่มีผลเป็นการจำคุก ดังนั้นการไปนอน ๑๘๐ วัน จึงถือว่าถูกจำคุก ๑๘๐ วัน แล้วอ้างเข้าเกณฑ์พักการลงโทษตามพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษไม่ได้  เมื่อไม่เข้าเกณฑ์ก็ต้องรับโทษจำคุกต่อไปตามคำพิพากษาและพระบรมราชโองการ

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นศาลที่มีคำพิพากษาจำคุก เป็นศาลที่ออกหมายขังจำเลย และเป็นศาลที่เคยออกหมายจับจำเลย

ดังนั้น ศาลจึงมีอำนาจที่จะออกหมายจับและหมายขังได้ทันทีที่ความจริงปรากฏจากการไต่สวน ซึ่งน่าจะใช้เวลาสั้นมาก

เรื่องนี้จะเป็นจุดตั้งต้น ของการทำผิดกฎหมายอาญาในการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ทั้งฝ่ายราชทัณฑ์ ฝ่ายโรงพยาบาลตำรวจ กระทรวงยุติธรรม แม้กระทั่งระดับนายกรัฐมนตรีที่ต้องรับผิดชอบทางอาญาตามกฎหมายบริหารราชการแผ่นดินมาตรา ๒๐ แบบนางสาวยิ่งลักษณ์ที่โดนมาแล้ว

ดังนั้นเรื่องนี้จึงประมาทไม่ได้โดยเด็ดขาด..."

ก็เป็นไปตามที่สงสัยกันมาตลอดว่า การไปนอนรักษาตัว ห้องวีไอพี ชั้น ๑๔ โรงพยาบาลตำรวจของ "ทักษิณ" นั้น ถือว่าเป็นการติดคุกแล้วหรือยัง

แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นใหม่

เดือนมกราคมที่ผ่านมา "ชาญชัย อิสระเสนารักษ์" อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ เคยไปยื่นเรื่องให้ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๔๖ โดยเคร่งครัดในการทุเลาการบังคับโทษจำคุกของ "ทักษิณ"

วันนั้น "ชาญชัย" เตือนว่า กรมราชทัณฑ์จะอ้าง พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ปี ๒๕๖๐ และอ้างกฎกระทรวงออกตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ ไม่ได้

กรมราชทัณฑ์อาจดำเนินการให้มีมาตรการบังคับโทษด้วยวิธีอื่น นอกจากการจำคุกในเรือนจำ แต่มาตรการดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ขณะนั้น กระทรวงยุติธรรม กรมราชทัณฑ์ยืนยันทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย

คือระเบียบราชทัณฑ์ ปี ๒๕๖๐

ในทางกฎหมายเมื่อจำเลยต้องโทษให้จำคุก ต้องทำอย่างไรถึงจะไม่ติดคุกได้ ก็มีการชี้โพรงให้เห็นกันมาพักใหญ่แล้ว

คือการขอทุเลาการบังคับจำคุก ป.วิ.อ. ม.๒๔๖

บุคคลที่มีสิทธิร้องขอต่อศาล ได้แก่

๑.ตัวจำเลยเอง

๒.คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง

๓.ญาติของจำเลยเอง

๔.พนักงานอัยการ

๕.ผู้บัญชาการเรือนจำ

๖.พนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุก

๗.ศาลเห็นศาลสั่งเองได้

เหตุที่จะขอทุเลาการจำคุกมีดังนี้

๑.จำเลยวิกลจริต

กรณีที่จำเลยวิกลจริตนี้ หากเป็นโทษถึงขั้นประหารชีวิตและบุคคลนั้นวิกลจริตอยู่ก่อนถูกประหารชีวิต ให้รอการประหารชีวิตไว้จนกว่าจะหาย และขณะทุเลาอยู่นั้นศาลอาจสั่งกักขังหรือทำทัณฑ์บนหรือหาประกันก็ได้ หรือจะสั่งห้ามเข้าเขตที่กำหนดก็ได้ และถ้าผู้วิกลจริตนั้นหายภายใน ๑ ปีนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลดโทษประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๔๘

๒.เมื่อเกรงว่าจำเลยจะอันตรายถึงแก่ชีวิตหากต้องจำคุก

๓.จำเลยตั้งครรภ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๕๘๙/๒๕๔๗ จำเลยยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดี ๒๔๖ (๓) (๔) จำเลยมีครรภ์ ๗ ปีขึ้นไปและจำเลยคลอดบุตรแล้วยังไม่ถึง ๑ เดือน จำเลยคลอดบุตรก่อนศาลอุทธรณ์จะทำคำพิพากษาเหตุในการขอทุเลาหมดไปแล้ว ไม่มีเหตุที่จะต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยว่ามีเหตุ (๓) (๔) เพราะไม่มีประโยชน์แก่การพิจารณา เนื่องจากไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป 

๔.จำเลยคลอดบุตรแล้วแต่ยังไม่ถึง ๓ ปีและจำเลยต้องเลี้ยงดู

ถ้าศาลเห็นว่าเป็นดัง ๔ เหตุกรณีนี้ ศาลจะสั่งให้ทุเลาการบังคับไว้ก่อนจนกว่าเหตุที่ได้ขอต่อศาลนี้จะหมดไป  

กรณีศาลมีคำสั่งให้ทำการทุเลาการบังคับได้ ต่อมาพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปหรือจำเลยมิได้ปฏิบัติตามวิธีการหรือมาตรการ ศาลมีอำนาจเปลี่ยนแปลงคำสั่งหรือให้ดำเนินการตามหมายจำคุกได้เช่นกัน

กรณี "ทักษิณ" เข้าข่ายข้อไหน

ข้อ ๒ ใกล้เคียงสุด

แล้วกรมราชทัณฑ์ได้ขอศาลหรือไม่

และศาลสั่งว่าอะไร

แต่...เดือนสิงหาคมที่ผ่านมา "ทักษิณ" คือหนึ่งในผู้ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ

และ "ทักษิณ" ได้รับการปล่อยตัวทันที

จากผู้ป่วยวิกฤตหนักห่างหมอไม่ได้ กลับเดินตัวปลิวเข้าบ้านจันทร์ส่องหล้า

กลัดกระดุมเม็ดแรกผิดตั้งแต่วันที่ส่งตัว "ทักษิณ" ไปโรงพยาบาลตำรวจ หลังจากนั้น "ทักษิณ" ควรมีชื่อเป็นผู้ได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือไม่

ช่างซับซ้อนจริงๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อย่าปล่อยให้เหลิง

นักร้องยังไม่ทำงาน... จนถึงขณะนี้ยังไม่มีคำร้องเกี่ยวกับการปราศรัยของ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปยัง กกต.เลยครับ

เจอตอ ชั้น ๑๔

งวดเข้ามาทุกทีครับ... หากไม่มีอะไรผิดพลาด วันที่ ๑๕ มกราคมนี้ พยานหลักฐานกรณีนักโทษเทวาดาชั้น ๑๔ น่าจะอยู่ในมืออนุกรรมการสอบสวนชุดเฉพาะกิจแพทยสภา ชุดที่ คุณหมออมร ลีลารัศมี เป็นประธาน ครบถ้วนสมบูรณ์

'ทักษิณ' ตายเพราะปาก

แนวโน้มเริ่มมา... ปลาหมอกำลังจะตายเพราะปาก เรื่องที่ "ทักษิณ ชินวัตร" ไปปราศรัยใหญ่โต เวทีเลือกตั้งนายก อบจ.หลายจังหวัด ทำท่าจะเป็นเรื่องแล้วครับ

พ่อลูกพาลงเหว

มันชักจะยังไง.... พ่อลูกคู่นี้จะไปได้สักกี่น้ำกันเชียว ก่อนนี้ "ทักษิณ" ริ "ยิ่งลักษณ์" ยำ

นี่แหละตัวอันตราย

การเมืองปีงูเล็กจะลอกคราบ เริ่มต้นใหม่ ไฉไล กว่าเดิม หรือจะดุเดือดเลือดพล่าน ไล่กะซวก เลือดสาดกันไปข้าง