“ไทยโพสต์ อิสรภาพแห่งความคิด” เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา ฉลองปี 28 ก้าวเข้าสู่ปีที่ 29 แต่ภารกิจยังมั่นคงเช่นเดิม เป็นสุนัขเฝ้าบ้าน เฝ้าเมือง และยืนหยัดต่อประชาชนอยู่เช่นเดิม
สำหรับประเด็นการเมืองที่ต้องติดตามกรณีวันเดียวกัน “น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ” และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เชิญหัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลและแกนนำพรรคร่วมรับประทานอาหารเย็นร่วมกัน ที่โรงแรมโรสวูด กรุงเทพฯ
หลายฝ่ายจับตาว่าจะคุยประเด็นการเมืองในหลายประเด็น โดยเฉพาะ กกต.รับวินิจฉัยพรรค 6 พรรค กระทำการขัดรัฐธรรมนูญ ที่ปล่อยให้นายทักษิณ ชินวัตร แทรกแซงในการตั้งรัฐบาล
แม้แกนนำรัฐบาลจะปากแข็งบอกว่าไม่หนักใจ และพร้อมชี้แจงตามกระบวนการ ตามกฎหมาย ซึ่งทางฝั่งพรรคเพื่อไทยเตรียมยกข้อต่อสู้ว่า ทักษิณไม่ได้ครอบงำ เนื่องจากตามข่าวเสนอชื่อ ชัยเกษม นิติสิริ เป็นนายกฯ แต่สุดท้ายที่ประชุมพรรคเลือก “อุ๊งอิ๊งค์” เป็นนายกฯ ขณะที่พรรคร่วมก็ยืนยันไม่ได้ทำตามนายใหญ่ เพราะเป็นคนละพรรคกัน ในฐานะหุ้นส่วน มิใช่ลูกน้องในคอกอย่างในสมัยก่อน
ขณะที่การหารือเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ล่าสุด พรรคเพื่อไทยก็คงจะแห้วไม่สามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจได้เช่นเดิม เพราะพรรคสีแดงไม่ได้มีเสียงในสภาฯ เยอะเหมือนสมัยก่อน เนื่องจากพรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา เดินเกมเป็นพรรคแนวอนุรักษนิยม คือไม่ให้แตะปมมาตรา 112 และทุจริต ฉะนั้นพรรคเพื่อไทยจะหวังช่วยใคร คงต้องไปหาวิธีอื่นๆ
ส่วนแก้รัฐธรรมนูญก็อาจติดด่านทำประชามติสองชั้น หลัง สว.สีน้ำเงินโดดขวาง เพราะมองว่ากฎหมายสูงสุดของประเทศ ไม่ควรจะแก้ไขได้กันได้ง่ายตามอำเภอใจนักการเมือง สอดรับกับหัวขบวนฝ่ายอนุรักษนิยมฝากไว้
ขณะที่ประเด็นร้อนๆ และกลิ่นตุๆ และอาจเป็นปมขัดแย้งในรัฐบาลหลังไม่หมด จับตา “จตุพร พรหมพันธุ์” วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชนแฉยับว่า พรรคเพื่อไทยกำลังจะแหวกกติกาวิปรัฐบาล ด้วยการให้ สส.เพื่อไทย นำโดย “เจ๊เดือน” มนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เสนอร่าง พ.ร.บ.ขนส่งทางราง พ.ศ. ต่อที่ประชุมสภาฯ และหวังใช้เป็นร่างกฎหมายหลักแทนร่าง ครม. แต่เนื่องจากเพื่อนๆ พรรคร่วมรัฐบาลในสภาฯ ไหวตัวทัน และหวั่นจะยกมือขวาง ประธานในที่ประชุมสภาฯ จึงสั่งปิดประชุมไปก่อนลงมติรับหลักการในสภาฯ แรกเมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา อาจสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมือง และไม่ทราบว่าจะดันเรื่องนี้ต่อในสัปดาห์นี้หรือไม่
“จตุพร” อธิบายร่างกฎหมายของพรรคเพื่อไทย ส่อเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนที่ดำเนินการ หรือได้สัมปทาน รถไฟฟ้าแบบสุดซอย ยิ่งกว่าร่างกฎหมายของ ครม. โดยเฉพาะในมาตรา 19 ที่แปลความได้ว่า ส่อให้เอกชนเป็นเจ้าของโครงการ และ ได้กรรมสิทธิ์ทรัพย์สินของโครงการรถไฟฟ้า และที่ดินสองข้างทางสถานี พร้อมเรียกร้องไปที่นายกฯ ควรออกมาชี้แจงเรื่องนี้ ว่าสุดท้ายเป็นผลประโยชน์ของบ้านเมืองหรือกลุ่มทุนที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทย และยังส่งคนเข้ามาเป็นรัฐมนตรีจริงหรือไม่
สอดคล้องกับกลิ่นคาวอีกเรื่องในทำนองเดียวกัน ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ที่มี “นายพิชัย ชุณหวชิร” รองนายกฯ และ รมว.คลัง เป็นประธาน เตรียมเสนอแนวทางแก้ไขสัญญาโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่คู่สัญญาร่วมลงทุนอยู่ในขั้นตอนแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน โดยที่ประชุมมีมติให้แก้ไขสัญญา 5 ประเด็น เพื่อเสนอให้ ครม.พิจารณาในเดือน ต.ค.นี้
ทั้งนี้ มีเสียงอื้ออึงในแวดวงการเมือง ว่าจะแก้ไขสัญญาเป็น “สร้างไป-จ่ายไป” จากเดิมสร้างเสร็จก่อน และรัฐจ่ายคืนให้เอกชน พร้อมการตั้งข้อสังเกตเอื้ออำนวยช่วยเหลือเอกชนคู่สัญญาสัมปทาน ให้ได้รับเงินที่รัฐร่วมลงทุนเร็วขึ้น ไม่ต้องรอให้ก่อสร้างงานโยธาเสร็จก่อนตามสัญญาเดิม, เงินที่เอกชนต้องจ่ายแก่รัฐก็จ่ายช้าลง เดิมต้องจ่ายก้อนเดียว แต่ก็จะได้ผ่อนจ่ายแทน ยังช่วยเอกชนลดภาระค่าใช้จ่ายในการกู้เงินจำนวนมาก “ประหยัดค่าดอกเบี้ย” มหาศาล ถือเป็นผลประโยชน์มูลค่ามหาศาลแก่เอกชน และเป็นการแก้สัญญาที่เกี่ยวข้องกับเงื่อนไขสาระสำคัญทางการเงินของโครงการ ผิดไปจากตอนประมูล ฯลฯ
ชาวบ้านฝากถามนายกฯ จะอธิบายและชี้แจงอย่างไรว่าไม่เข้าข่ายเอื้อประโยชน์แก่เอกชนยักษ์ใหญ่เกินสมควร และหาก ครม.เห็นชอบจะมีใครต้องติดคุกหรือไม่.
คางคำ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บันทึกหน้า 4
22 พ.ย. ลุ้น ผลการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะ “รับ-ไม่รับ” คำร้องของ “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ให้ “ทักษิณ ชินวัตร” และ “พรรคเพื่อไทย” หยุดพฤติการณ์ล้มล้างการปกครอง จาก 6 กรณี ดังนี้ หนึ่ง “ทักษิณ” ไม่ยอมติดคุกแม้แต่วันเดียว
บันทึกหน้า 4
ต้องเรียกว่า “พุธพิพากษา” ของแท้ โดยเฉพาะศาลอาญาที่ได้อ่านคำพิพากษาคดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 5 และมารดาผู้เสียชีวิตร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้อง “สรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์” หรือ “แอม ไซยาไนด์” อายุ 36 ปี
บันทึกหน้า 4
ควันหลงการหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ที่ นายทักษิณ ชินวัตร ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง นายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครนายก อบจ. สังกัดพรรคเพื่อไทย (พท.)
บันทึกหน้า 4
สมรภูมิเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี ในวันที่ 24 พ.ย. ไม่เพียงแค่ชัยชนะของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนในสนามท้องถิ่นเท่านั้น แต่ยังเป็นการหยั่งกระแสของทั้งสองฝ่ายในเวทีใหญ่ทางการเมืองอีกด้วย โดยเฉพาะทัพแดงนั้นแพ้ไม่ได้
บันทึกหน้า 4
บันทึกในวันครึ้มฟ้าครึ้มฝนจากผลกระทบปลายๆแถวพายุหม่านยี่ เสียงฟ้าร้องฟ้าคะนองอาจจะไม่มี แต่เสียงอื้ออึง "ทักษิณ" กลับมาแล้ว
บันทึกหน้า 4
เสือกทุกเรื่อง! ตำแหน่งใหม่ที่ "นายใหญ่" เพื่อไทย ศาสดาเสื้อแดง ภูมิใจสถาปนาตัวเองกลางวงปราศรัยใหญ่เมืองอุดร หวังเฉไฉปัดข้อหาเจ้าของพรรคและครอบงำลูกสาว