ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 32): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม”

 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 

การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร)  การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี  แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง

ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า

ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า

และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า

การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่  8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ? 

การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490

มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์  สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร

ต่อจากกบฏบวรเดชเป็นเวลาเกือบสองปี ได้เกิด “กบฏนายสิบ” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ไม่มีข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกบฏนายสิบนี้ นอกเหนือไปจากข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลที่เริ่มต้นจากการที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้รับแจ้งเบาะแสมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่สืบรู้มาว่ามีผู้สมคบคิดกันวางแผนจะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์และวางแผนกำจัดบุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาล

และเช่นกัน กบฏพระยาทรงสุรเดช ก็ไม่ต่างจากกรณีกบฏนายสิบ นั่นคือ   “ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดจริงหรือไม่ หากแต่หลวงพิบูลสงครามเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีแนวคิดต่อต้านตน” (ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้าhttp://wiki.kpi.ac.th/index.php?title =พันเอก_พระยาทรงสุรเดช_(เทพ_พันธุมเสน)  )

กล่าวได้ว่า กบฏที่เกิดขึ้น 3 ครั้งก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่นำไปสู่การเกิด รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490  เป็นกบฏจริงอยู่เพียงครั้งเดียว นั่นคือ กบฏบวรเดช ส่วนอีกสองครั้งนั้น เป็นกบฏในจินตนาการของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม           

ในวิกีพีเดียกล่าวถึง “กบฏพระยาทรงสุรเดช” ไว้ว่า “เมื่อพันเอกหลวงพิบูลสงครามได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 พันเอกพระยาทรงสุรเดชขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนรบ จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำนักศึกษาไปฝึกภาคสนามที่จังหวัดราชบุรี ได้ถูกคำสั่งให้พ้นจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ และบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งก็คือเขมรโดยทันที พร้อมด้วยร้อยเอกสำรวจ กาญจนสิทธิ์ ท.ส. ประจำตัว  ได้มีการกวาดล้างโดย หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จับตายนายทหารคนสนิทของพระยาทรงสุรเดช 3 คน จับกุมผู้ที่ต้องสงสัย จำนวน 51 คน เมื่อเวลาเช้ามืดของวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2481” และในการจับกุมผู้ต้องสงสัย 51 คนนั้น กรมขุนชัยนาทนเรนทรก็เป็นหนึ่งในนั้น                                           

‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม”

ความเป็นมาของการตกเป็นเหยื่อการเมือง (ต่อจากตอนที่แล้ว)

ในหนังสือ Siam becomes Thailand ของจูดิธ สโตว์ (Judith A. Stowe) กล่าวว่า  “Clearly Pibul intended to teach a lesson to all his opponents whether real, imagined or potential.”   นั่นคือ “เห็นได้ชัดว่า หลวงพิบูลฯตั้งใจที่จะสั่งสอนบทเรียนให้กับศัตรูของเขาทุกคน ไม่ว่าจะเป็นศัตรูจริงๆ หรือศัตรูที่จินตนาการขึ้น หรือผู้มีศักยภาพที่จะเป็นศัตรูก็ตาม”  และ “…การจับกุมแบบเหวี่ยงแหไปทั่วนี้ ครอบคลุมมากไปกว่าพระยาทรงฯและพวก เพราะครอบคลุมไปถึงพระบรมวงศานุวงศ์  โดยวังแห่งแรกๆ ที่ถูกบุกค้นคือวังที่ประทับในพระนครของกรมขุนชัยนาทนเรนทร  ซึ่งขณะนั้น พระองค์ทรงประทับอยู่ที่เชียงใหม่ แต่เมื่อพระองค์ทรงทราบเรื่องก็รีบเสด็จกลับ และถูกจับกุมที่สถานีรถไฟที่เป็นสถานีสำคัญต่อหน้าสาธารณะชน”

สโตว์มีความเห็นต่อการที่หลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีสั่งจับกุมตัวกรมขุนชัยนาทนเรนทรในข้อหากบฏและล้มล้างการปกครองว่า “The shock caused by the detention of Prince Rangsit – one of King Chulalongkorn’s few surviving sons – was all the greater because he had never been associated with politics: instead, he was well-known as a collector of Siamese antiquities.  His other main concern was the well-being of the Queen Grandmother by whom he had been adopted as a child.  After the death of her son Prince Mahidol, this responsibility expanded. Prince Rangsit acted as a guardian to the young monarch and when the police raided his home, it was correspondence about the King’s education that was seized upon as incriminating evidence. Some of the letters came from ex-King Prajadhipok. Naturally Prince Rangsit’s arrest caused great distress among the royal family, and it was said to be the reason for the Queen Grandmother’s ill-health. He was detained like a common criminal without any special privileges.  Pibul was not the only person to be blamed; as senior regent, Prince Aditya appeared to do nothing to alleviate the plight of his relations. He excused himself by claiming that any intervention on his part might jeopardise the position of the royal family as a whole.” 

แปล: “การคุมขังกรมขุนชัยนาทนเรนทร ซึ่งเป็นพระราชโอรสเพียงไม่กี่พระองค์ที่ยังทรงพระชนม์ชีพอยู่ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นได้สร้างความตกตะลึงเพิ่มมากขึ้น  เพราะพระองค์ไม่เคยเกี่ยวข้องกับการเมืองเลย และจริงๆแล้ว พระองค์เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักสะสมโบราณวัตถุสยาม”   “พระองค์ (กรมขุนชัยนาทฯ) ยังทรงมีพระภาระอีกประการหนึ่ง คือ การดูแลสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ผู้ซึ่งทรงรับกรมขุนชัยนาทฯเป็นพระราชโอรสบุญธรรมตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ (ทารก/ผู้เขียน)”

“หลังจากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระราชโอรสในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าสิ้นพระชนม์ ความรับผิดชอบในการดูแลของกรมขุนชัยนาทฯก็ขยายออกไป โดยพระองค์ทรงทำหน้าที่เป็นผู้ปกครองของยุวกษัตริย์ (รัชกาลที่ 8)  และเมื่อตำรวจบุกค้นวังของพระองค์ ได้มีการยึดจดหมายโต้ตอบเกี่ยวกับการศึกษาของรัชกาลที่แปดเป็นหลักฐานในการกล่าวหาพระองค์ จดหมายบางฉบับเป็นจดหมายที่มาจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว”

“แน่นอนว่าการจับกุมกรมขุนชัยนาทฯย่อมสร้างความเศร้าโศกเสียใจอย่างมากในพระบรมวงศานุวงศ์ และมีการกล่าวกันว่า การจับกุมดังกล่าวเป็นสาเหตุที่ทำให้สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงพระประชวร”

“กรมขุนชัยนาทฯทรงถูกควบคุมพระองค์เหมือนอาชญากรทั่วไปโดยไม่มีสิทธิพิเศษใดๆ”         

“หลวงพิบูลฯไม่ใช่คนเดียวที่ต้องรับผิดชอบ (กับการจับกุมกรมขุนชัยนาทฯ/ผู้เขียน) แต่รวมถึงพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์อาวุโส เพราะพระองค์ดูเหมือนจะไม่ทรงทำอะไรเลยเพื่อบรรเทาสภาพการณ์ที่เลวร้ายของญาติพี่น้องของพระองค์ พระองค์ทรงมีข้อแก้ตัวโดยอ้างว่าการแทรกแซงใด ๆ ในส่วนของพระองค์อาจเป็นอันตรายต่อสถานะของราชวงศ์โดยรวม”   

สโตว์กล่าวถึงทัศนคติของหลวงพิบูลฯต่อเจ้านายราชวงศ์จักรีว่า “the Chakri princes was not all equally respect.” (เจ้านายราชวงศ์จักรีไม่ได้น่าเคารพนับถือเท่ากันทุกพระองค์)

-------------------------                       

จากคำบรรยายของสโตว์ข้างต้น ใจความสำคัญคือ กรมขุนชัยนาทฯไม่เคยทรงเกี่ยวข้องกับการเมืองเลย    หากเป็นเช่นนั้นจริง พระองค์จึงตกเป็นเหยื่อทางการเมืองของหลวงพิบูลฯ

ในตอนต่อไป จะกล่าวถึงข้อเขียนของนักวิชาการอีกท่านหนึ่งที่กล่าวถึงกรมขุนชัยนาทฯและการจับกุมพระองค์

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สว.จี้รัฐบาลเอาจริงแชร์ลูกโช่ แนะตรวจสอบใช้คริปโตฟอกเงิน-เสียภาษี

ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม นาวาตรี วุฒิพงศ์ พงศ์สุวรรณ สว. ตั้งกระทู้

สส.ธนกร วอนดินเนอร์พรรคร่วม ถกหาทางออกเหมาะสม ร่างกม.นิรโทษกรรม

นายธนกร วังบุญคงชนะ รองหัวหน้าพรรคและสส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า ตามที่ตนได้อภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรไป