(ข้อเขียนนี้เป็นตอนที่เจ็ดต่อจากตอนแรก “การซุบซิบ ข่าวลือ ข่าวลวงและเสรีภาพ” และตอนที่สอง “พ.ศ. 2408: มีคนปล่อยข่าวลือว่ารัชกาลที่สี่เป็นกษัตริย์สมบูรณาญาสิทธิราชย์” และตอนที่สาม “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชอำนาจมากแค่ไหน ?” ตอนที่สี่ “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชทรัพย์มากแค่ไหน ?” และตอนที่ห้าและตอนที่หก “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกับการปฏิเสธสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ที่เผยแพร่ไปก่อนหน้านี้)
จากหกตอนที่ผ่านมา เราทราบว่า ในสมัยรัชกาลที่สี่ ในราว พ.ศ. 2408 มีคนปล่อยบัตรสนเท่ห์เป็นภาษาอังกฤษออกไปจนกลายข่าวลือที่เสียหายแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีข้อกล่าวหาสามข้อ คือ
หนึ่ง กรุงสยามอยู่ภายใต้อำนาจสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (“Siam is under quite absolute Monarchy.”) ไม่ว่าพระเจ้าแผ่นดินพระองค์ใหญ่ (หมายถึงรัชกาลที่สี่ เพราะสมัยนั้น มีพระเจ้าแผ่นดินสองพระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชอนุชาในรัชกาลที่สี่) จะมีพระบรมราชโองการมากประการใดก็ต้องปฏิบัติตาม จะคัดค้านมิได้ไม่ว่าจะเป็นราษฎรผู้ใดก็ตาม
สอง ในท้องพระคลังของพระเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงสยามนั้น เต็มไปด้วยเงิน ประหนึ่งภูเขาทองและเงิน และเป็นพระเจ้าแผ่นดินที่มั่งคั่งที่สุด
สาม พระเจ้าแผ่นดินผู้ครองกรุงสยามองค์ปัจจุบัน มีพระทัยคับแคบและทรงนิยมสิ่งของทั้งหลายที่แปลกๆ ทรงโปรดธรรมเนียม ประเพณี วิทยาศาสตร์ ศิลปะ และวรรณคดี ฯลฯ ของชาวยุโรปโดยไม่มีขอบเขต พระองค์ยังทรงพอพระราชหฤทัยถ้อยคำประจบ และทะเยอทะยานในพระเกียรติ ดังนั้น ในขณะนี้ จึงเป็นโอกาสอันดียิ่งที่จะทำการกอบโกยเอาเงินเอาทองจำนวนมากจากท้องพระคลังของกรุงสยาม ฯลฯ และเราก็ได้พิสูจน์แล้วว่า ข้อกล่าวหาทั้งสามข้อไม่เป็นความจริง
ทีนี้ ตอนนี้เราจะพยายามแกะรอยว่า ใครเป็นคนปล่อยข่าวลือ ? ตามทฤษฎีการเลือกอย่างเป็นเหตุเป็นผล (rational choice) คนที่ปล่อยข่าวจะต้องเป็นคนที่ได้ประโยชน์จากการเสียพระนามของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และการปล่อยข่าวลือนี้ถือเป็นการลงทุนที่น้อยที่สุดและสามารถสร้างความเสียหายได้มากที่สุดเช่นกัน เป็นไปตามหลักทฤษฎีการเลือกอย่างมีเหตุมีผลที่ว่า คนจะตัดสินใจเลือกวิธีการที่ลงทุนลงแรงลงเวลาน้อยที่สุดเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ การปล่อยข่าวลือก็เข้าเกณฑ์ดังกล่าว
อย่างที่กล่าวไป การปล่อยข่าวลือเป็นภาษาอังกฤษ ดังนั้น ข่าวลือจะมีผลได้ก็ต่อเมื่อผู้รับสารรู้ภาษาอังกฤษ และที่สำคัญคือ ต้องรู้ว่า absolute monarchy หรือ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นสิ่งที่ไม่ดีด้วย จากการสืบค้นและกล่าวไปในตอนก่อนๆแล้ว พบว่า คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักทั้งสองคำ ไม่ว่าจะเป็น absolute monarchy หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จะมีก็แต่ชนชั้นนำไทยจำนวนไม่มากนัก
แต่ที่แน่ๆคือ บรรดาชาวต่างชาติที่อยู่ในสยามไม่ว่าจะเป็นตัวแทนของประเทศต่างๆ หรือบรรดาพ่อค้าและหมอสอนศาสนา ย่อมรู้จัก absolute monarchy ซึ่งในช่วงเวลานั้น คำศัพท์หรือการปกครอง absolute monarchy เป็นสิ่งที่มีความหมายในเชิงลบๆมาก และหลายประเทศในยุโรปและอเมริกาก็เปลี่ยนแปลงการปกครองไปแล้ว ไม่ว่าจะเปลี่ยนเป็นระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือระบอบสาธารณรัฐ น่าจะเหลือแต่รัสเซียกับไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ยังไม่เปลี่ยน และเดนมาร์กก็เพิ่งเปลี่ยนไปในปี พ.ศ. 2392
ดังนั้น ผู้ปล่อยข่าวลือต้องการให้ภาพลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสียหายในสายตาของคนต่างชาติ และขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงมีพระชนมายุ 61 พรรษา ซึ่งนับว่ามีพระชนมายุมากเมื่อเทียบกับรัชกาลที่หนึ่ง ที่ทรงสวรรคตเมื่อพระชนมายุ 72 พรรษา รัชกาลที่สอง 56 พรรษา รัชกาลที่สาม 63 พรรษา ดังนั้น หากเกิดการเปลี่ยนรัชกาลขึ้น ไม่ว่าจะด้วยเหตุอันใด ผู้ปล่อยข่าวลือย่อมหวังให้ภาพลักษณ์ที่เสียหายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯในสายตาของต่างชาติส่งผลให้ต่างชาติมีบทบาทแทรกแซงการสืบราชสันตติวงศ์ในทางใดทางหนึ่ง เพราะตั้งแต่รัชกาลที่สามเป็นต้นมา การสืบราชสันตติวงศ์ยังไม่ได้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาลที่เกิดขึ้นในรัชกาที่หก และการสถาปนาตำแหน่งมกุฎราชกุมารในฐานะว่าที่ผู้สืบราชสันตติวงศ์ก็เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ห้า แต่การสืบราชสันตติวงศ์ตั้งแต่รัชกาลที่สามจนถึงรัชกาลที่สี่เป็นไปตามหลัก “อเนกชนนิกรสโมสรสมมุติ” โดยที่ประชุมพระราชวงศ์และเสนาบดีเป็นผู้ลงความเห็นในการเลือกผู้ขึ้นครองราชสมบัติ และที่ประชุมที่ว่านี้ก็อยู่ภายใต้อิทธิพลของขุนนางตระกูลบุนนาค
ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากการที่ผู้ใดขึ้นครองราชย์สมบัติอย่างตรงๆ มีดังต่อไปนี้ คือ หนึ่ง กรมพระราชวังบวรสถานมงคลหรือวังหน้า สอง เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) ผู้นำขุนนางตระกูลบุนนาค และสาม เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์
จากรายพระนามและนามทั้งสาม เราตัดเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ออกไปได้เลย เพราะไม่มีเหตุผลที่พระองค์จะปล่อยข่าวลือทำลายชื่อเสียงของพระราชบิดาของพระองค์เอง คงเหลือแต่กรมพระราชวังบวรสถานมงคลและเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์
แต่เราก็ต้องตัดกรมพระราชวังบวรฯหรือวังหน้าออกไป เพราะวังหน้าหรือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2408 และจากหลักฐานประวัติศาสตร์ไม่ได้บอกว่าช่วงไหนของปี และถ้าสันนิษฐานว่า ข่าวลือถูกปล่อยออกมาหลังจากนั้น เราจึงตัดพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯออกไป
แต่หลังจากพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯสวรรคต ตำแหน่งวังหน้าว่างลง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงมีพระราชดำริปล่อยให้ตำแหน่งว่างไว้ ด้วยเหตุผลที่เป็นไปได้ดังนี้คือ พระราชโอรสพระองค์ใหญ่ยังทรงพระเยาว์เกินกว่าที่จะตั้งให้ดำรงตำแหน่งวังหน้าได้ แต่ก็คาดหวังให้พระราชโอรสเป็นผู้สืบราชสมบัติ และคาดหวังด้วยว่า พระมหากษัตริย์จะทรงมีพระชนมายุยืนยาวจนพระราชโอรสทรงพระชันษา และเมื่อพระองค์สวรรคต ก็คาดหวังให้ที่ประชุมเลือกพระราชโอรสขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์
หากแต่งตั้งผู้ใดขึ้นเป็นวังหน้า และพระมหากษัตริย์เกิดสวรรคตไป ทั้งที่พระราชโอรสยังทรงพระเยาว์ ก็มีความเป็นไปได้ที่ผู้ดำรงตำแหน่งวังหน้าอาจจะทำหน้าที่เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน หรือไม่ก็เสด็จขึ้นครองราชย์ไปเสียเลยตามความเห็นชอบของที่ประชุม
แต่ถ้าพระราชโอรสได้พระชันษา เมื่อตำแหน่งวังหน้าว่างลง พระมหากษัตริย์ก็จะทรงแต่งตั้งให้พระราชโอรสพระองค์นั้นให้ดำรงตำแหน่งวังหน้า และมีความเป็นไปได้น้อยมากที่ที่ประชุมจะไม่เห็นด้วยที่จะให้พระราชโอรสที่ดำรงตำแหน่งวังหน้าขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์
แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯไม่ทรงตั้งผู้ใด ผู้ที่ผิดหวังคือ พระองค์เจ้ายอดยิ่งยศ (พระนามเดิมที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯทรงพระราชทานคือ พระองค์เจ้ายอช วอชิงตัน เพราะทรงนิยมในธรรมเนียมของอเมริกันและบรรดาประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา) พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นพระชนมายุได้ 27 พรรษา กำลังหนุ่มแน่น
ขณะเดียวกัน ผู้ที่ผิดหวังหรือเปล่าไม่ทราบได้ แต่พยายามโน้มน้าวกดดันให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศขึ้นดำรงตำแหน่งวังหน้าให้ได้คือ เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ จนทำให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯประนีประนอมตั้งพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศให้ดำรงตำแหน่ง กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งวังหน้าที่มีสิทธิ์ในการขึ้นครองราชย์ หากพระมหากษัตริย์เสด็จสวรรคตตามธรรมเนียมการปกครองของไทยมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯทรงปฏิบัติให้เกียรติดังตำแหน่งวังหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ใช่วังหน้าอยู่ดี
ดังนั้น ผู้ที่เข้าข่ายมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องข่าวลือที่เป็นคนไทย จึงเหลือแค่กรมหมื่นบวรวิไชยชาญและเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งทั้งสองมีความรู้ภาษาอังกฤษดี
แต่ที่รู้ดีกว่าคือกรมหมื่นบวรวิไชยชาญ ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้คือ
หนึ่ง พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชบิดาของพระองค์ “ทรงพระปรีชาสามารถในภาษาอังกฤษ และจากบันทึกของชาวต่างชาติ (บันทึกของหมอบรัดเลย์, นายเอฟ.เอ.นีล, เซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง, นายเทาเซนด์ แฮรีส, นายอ็องรี มูโอต์ และนางแอนนา เลียวโนเวนส์) เห็นตรงกันว่า “ภาษาอังกฤษของพระองค์นั้นอยู่ในขั้นยอดเยี่ยม” และความสามารถทางภาษานี้ย่อมจะมีอิทธิพลต่อกรมหมื่นบวรวิไชยชาญด้วย
สอง นอกจากจะมีพื้นฐานจากพระราชบิดาแล้ว กรมหมื่นบวรวิไชยชาญยังสนิทสนมอย่างยิ่งกับทอมัส นอกซ์ (Thomas Knox) ที่พระราชบิดาของพระองค์ทรงจ้างให้มาเป็นครูฝึกทหารของฝ่ายวังหน้า ซึ่งในปี พ.ศ. 2408 นอกซ์มีอายุได้ 41 ปี ส่วนกรมหมื่นฯพระชนมายุได้ 27 พรรษา ไม่ได้ห่างกันมากนัก สาม กรมหมื่นบวรวิไชยชาญทรงเติบโตมาภายใต้เงื่อนไขที่พระบรมวงศานุวงศ์ศึกษาภาษาอังกฤษอย่างเป็นทางการจากครูชาวต่างชาติ แตกต่างจากคนรุ่นก่อนที่มักจะเรียนเอง
คำถามคือ ระหว่างกรมหมื่นบวรวิไชยชาญกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ผู้ใดมีความเป็นไปได้มากกว่ากันที่จะมีส่วนเกี่ยวข้องกับข่าวลือ ? คำตอบคือ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ เพราะเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มีอำนาจอิทธิพลมากอยู่แล้วในการกำหนดตัวผู้สืบราชสันตติวงศ์ เขาไม่จำเป็นจะต้องมีส่วนยุ่งเกี่ยวกับข่าวลือที่จะมีผลต่อการกำหนดตัวผู้สืบราชสันตติวงศ์ และก็คงไม่ต้องการให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงอำนาจอิทธิพลของตนในเรื่องนี้
ดังนั้น ผู้ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดเกี่ยวกับการปล่อยข่าวลือคือ กรมหมื่นบวรวิไชยชาญ ที่หวังให้ต่างชาติมีอิทธิพลต่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ในการกำหนดตัวผู้สืบราชสมบัติ
ยิ่งกว่านั้น ในสายตาของต่างชาติ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯพระราชบิดาของพระองค์ทรงมีพระราชดำริทางการเมืองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง (“He is said to have had very democratic political views.” จาก Abbot Low Moffat, Mongkut the King of Siam, Ithaca, New York: Cornell University Press: 1961, 1968) และน่าจะส่งต่อมายังกรมหมื่นบวรวิไชยชาญด้วย
ดังนั้น พระองค์จึงได้รับการยอมรับจากชาวต่างชาติมากกว่าเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ที่ยังทรงพระเยาว์อยู่มาก ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา ทัศนคติทางการเมือง และความรู้ในวิทยาการทหารและวิทยาการทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ตะวันตก
การปล่อยข่าวลือดังกล่าวเท่ากับเป็นการขับเน้นความแตกต่างในความคิดทางการเมืองให้ต่างชาติเปรียบเทียบพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯและพระราชโอรสกับตัวพระองค์ โดยหวังผลในตอนเปลี่ยนรัชกาล
และการคาดเดาของผม ดูจะได้รับการยืนยันจากการเกิดวิกฤตการณ์วังหน้าในปี พ.ศ. 2417 ที่กรมพระราชวังบวรวิไชยชาญเสด็จไปลี้ภัยที่สถานกงสุลอังกฤษของเซอร์ทอมัส นอกซ์
ตามหลักฐานประวัติศาสตร์ เซอร์ทอมัส นอกซ์พยายามสนับสนุนให้กรมหมื่นบวรวิไชยชาญขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด จากความสนิทสนมอันยาวนาน ที่มีมาตั้งแต่นายนอกซ์เริ่มเข้ารับราชการกับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเป็นครูฝึกทหารวังหน้าตั้งแต่ พ.ศ. 2394 ซึ่งขณะนั้น กรมหมื่นบวรวิไชยชาญมีพระชนมายุได้ 13 พรรษา
อย่างไรก็ตาม หากเพิ่ม เซอร์ทอมัส นอกซ์เข้าไปในผู้ที่มีความเป็นไปได้ที่จะปล่อยข่าวลือ ก็เป็นไปได้ว่า เซอร์ทอมัส นอกซ์นี่เองที่เป็นผู้ปล่อยข่าวลือสร้างความเสียหายให้แก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในปี พ.ศ. 2408 อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯสวรรคต และพระองค์เจ้ายอดยิ่งยศที่สนิทสนมกับตนไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวังหน้า.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 41): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 51: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกา วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 40): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 39): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร
ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 38): ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม ? ”
รัฐธรรมนูญไทยฉบับที่ 4 คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดจากคณะทหาร นำโดย พลโท ผิน ชุณหะวัณ และพันเอก กาจ กาจสงคราม และมีนายทหารคนอื่น เช่น
ไทยในสายตาต่างชาติ (ตอนที่ 48: พระราชกฤษฎีกา 1 เมษายน 2476 คือ การทำรัฐประหารเงียบหรือ ?)
ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้สรุปเหตุการณ์สำคัญต่างๆที่เป็นเงื่อนไขที่นำมาสู่การประกาศพระราชกฤษฎีกาวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 อันเป็นพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร