รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490
การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร) การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476
ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง
ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า
ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า
และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า
การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ?
การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490
มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์ สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร
ต่อจากกบฏบวรเดชเป็นเวลาเกือบสองปี ได้เกิด “กบฏนายสิบ” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ไม่มีข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกบฏนายสิบนี้ นอกเหนือไปจากข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลที่เริ่มต้นจากการที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้รับแจ้งเบาะแสมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่สืบรู้มาว่ามีผู้สมคบคิดกันวางแผนจะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์และวางแผนกำจัดบุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาล
และเช่นกัน กบฏพระยาทรงสุรเดช ก็ไม่ต่างจากกรณีกบฏนายสิบ นั่นคือ “ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดจริงหรือไม่ หากแต่หลวงพิบูลสงครามเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีแนวคิดต่อต้านตน” (ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้าhttp://wiki.kpi.ac.th/index.php?title =พันเอก_พระยาทรงสุรเดช_(เทพ_พันธุมเสน) )
กล่าวได้ว่า กบฏที่เกิดขึ้น 3 ครั้งก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่นำไปสู่การเกิด รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 เป็นกบฏจริงอยู่เพียงครั้งเดียว นั่นคือ กบฏบวรเดช ส่วนอีกสองครั้งนั้น เป็นกบฏในจินตนาการของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม
ในวิกีพีเดียกล่าวถึง “กบฏพระยาทรงสุรเดช” ไว้ว่า “เมื่อพันเอกหลวงพิบูลสงครามได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อจากพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2481 พันเอกพระยาทรงสุรเดชขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการโรงเรียนรบ จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำนักศึกษาไปฝึกภาคสนามที่จังหวัดราชบุรี ได้ถูกคำสั่งให้พ้นจากราชการโดยไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ และบังคับให้เดินทางออกนอกประเทศ ซึ่งก็คือเขมรโดยทันที พร้อมด้วยร้อยเอกสำรวจ กาญจนสิทธิ์ ท.ส. ประจำตัว ได้มีการกวาดล้างโดย หลวงอดุลเดชจรัส อธิบดีกรมตำรวจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จับตายนายทหารคนสนิทของพระยาทรงสุรเดช 3 คน จับกุมผู้ที่ต้องสงสัย จำนวน 51 คน เมื่อเวลาเช้ามืดของวันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2481” และในการจับกุมผู้ต้องสงสัย 51 คนนั้น กรมขุนชัยนาทนเรนทรก็เป็นหนึ่งในนั้น ‘กรมขุนชัยนาทนเรนทร’ ทรงตกเป็นเหยื่อการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม”
ความเป็นมาของการตกเป็นเหยื่อการเมือง (ต่อจากตอนที่แล้ว)
สโตว์และสตีเวนสัน [1] เห็นว่าจากการที่ประชาชนทั่วประเทศต่างพากันปิติยินดีต้อนรับการเสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นครั้งแรกของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและพระบรมวงศานุวงศ์ส่งผลให้หลวงพิบูลสงครามเกิดความริษยาและวิตกกังวลต่อความนิยมของประชาชนที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้หลวงพิบูลฯไม่เข้าร่วมในพระราชพิธีส่งเสด็จ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า นอกจากอาจจะจะเป็นเรื่องความอิจฉาริษยาแล้ว ก็อาจจะเป็นเรื่องของการไม่ยอมรับหรือต้องการท้าทายสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงมีพระชนมายุเพียง 14 พรรษา อีกทั้งพระราชชนนี เดิมพระองค์ก็เป็นสามัญชน การไม่ยอมรับและการท้าทายนี้ไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลก โดยเฉพาะจากสมาชิกคณะราษฎรที่มีจุดยืนเป็นปฏิปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจนอย่างหลวงพิบูลฯ สโตว์กล่าวว่า “ไม่นานหลังจากที่กษัตริย์เสด็จจากไป ความรู้สึกดังกล่าว (ที่หลายคนเห็นว่า หลวงพิบูลฯไม่พอใจสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยความริษยา/ผู้เขียน) นั้นได้รับการยืนยันมากขึ้น นั่นคือ การปฏิบัติการต่อเนื่องของหลวงพิบูลฯ ที่ต้องการแสดงให้เห็นว่า ใครคือผู้ที่กำลังจะเป็นผู้ปกครองของสยาม”
ในงานของสโตว์ กล่าวว่า ดัชนีที่ชี้ให้เห็นถึงปฏิบัติการอันแรกของหลวงพิบูลฯเกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนมกราคม พ.ศ. 2481 (ปฏิทินเดิม) โดยกองทัพมีคำสั่งปลดพระยาทรงสุรเดช งดเงินเดือนและสิทธิ์ในบำนาญต่างๆ หนังสือพิมพ์บางฉบับรายงานว่า พระยาทรงฯถูกคุมตัวไปยังชายแดนอินโดจีนและบังคับให้ออกไปจากประเทศ ในเวลาเดียวกัน มีนายทหารบกสองคนเสียชีวิตในต่างจังหวัด และมีการให้ข่าวว่า นายทหารทั้งสองขัดขืนการจับกุมในข้อหาสมคบคิดในการล้มล้างการปกครองและต้องการฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชให้กลับคืนมา โดยจะกราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯหรือกราบทูลเชิญกรมพระนครสวรรค์วรพินิตให้ขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และทางการได้ขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบและอย่าเชื่อใน ‘ข่าวลืออัปมงคล’ นี้ และให้รอจนกว่าจะมีแถลงการณ์จากรัฐบาลต่อไป
ซึ่งข้อความข้างต้นของสโตว์ตรงกับที่ปรากฏในหนังสือ “ท.ส. เจ้าคุณทรงสุรเดช: สารคดีเบื้องหลังประวัติศาสตร์การเมือง” ของ สำรวจ กาญจนสิทธิ์ อดีตนายทหารหลายเหล่าทัพ ผู้เป็นศิษย์และเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่สนิทของ พันเอก พระยาทรงสุรเดช ที่ผู้เขียนได้นำมาเล่าให้ท่านผู้อ่านทราบก่อนหน้านี้
สโตว์กล่าวต่อไปว่า พระอาการประชวรของสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเป็นที่น่ากังวล ด้วยพระองค์ทรงเศร้าเสียพระทัยจากการที่มีการจับกุม “บุคคลที่พระองค์ทรงผูกพันอย่างยิ่ง” (สโตว์ใช้ว่า the arrest of some of her ‘favourites’) อีกทั้งสำนักข่าวต่างประเทศยังออกข่าวที่สร้างกระแสความตื่นเต้นด้วยว่า การกวาดล้างพวกเจ้ากำลังเกิดขึ้นในสยาม ทำให้ผู้สื่อข่าวพากันไปขอพระราชทานสัมภาษณ์จากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ที่กำลังเสด็จกรุงไคโร ณ ขณะนั้น ด้วยมีข่าวลือว่า พระองค์จะเสด็จกลับสยาม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯทรงปฏิเสธ และไม่ทรงรับทราบว่ามีแผนการที่จะกราบบังคลทูลเชิญพระองค์ไปกลับเป็นพระมหากษัตริย์ และพระองค์ทรงมีพระราชดำรัสว่า การค้นพบแผนคบคิดต่อต้านรัฐบาลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติในสยาม เพราะระบอบการปกครองใหม่ไม่ได้เปิดให้มีการตั้งพรรคการเมือง ที่จะเป็นที่ที่ประชาชนจะสามารถแสดงความคับข้องใจได้
ดัชนีที่ชี้ให้เห็นถึงปฏิบัติการต่อมาของหลวงพิบูลฯ ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกลาโหมและมหาดไทย คือ สิ่งที่เกิดขึ้นในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 (ปฏิทินเดิม) ด้วยมีการเสนอร่างกฎหมายจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นในทำนองเดียวกันกับที่เคยตั้งศาลพิเศษในกรณีกบฏบวรเดช โดยมีหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เป็นผู้เสนอในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และหลวงธำรงฯได้เสนออย่างชัดเจนว่า ศาลพิเศษที่จะตั้งขึ้นมานี้ให้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงกลาโหม (ซึ่งมีหลวงพิบูลฯเป็นรัฐมนตรีว่าการ/ผู้เขียน) นั่นคือ บรรดาผู้ถูกควบคุมตัวจะต้องถูกพิจารณาคดีภายใต้เงื่อนไขกฎอัยการศึก
สโตว์กล่าวว่า มีการอภิปรายคัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าวในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เป็น ส.ส. ใหม่จำนวนหนึ่งได้ตั้งข้อสงสัยว่า ด้วยเหตุใดถึงต้องมีการตั้งศาลพิเศษขึ้นในเมื่อศาลสถิตยุติธรรมที่มีอยู่ ที่มีศาลชั้นต้นจนถึงศาลฎีกา ก็สามารถตัดสินพิจารณาคดีอย่างเที่ยงธรรมได้ หากรัฐบาลยืนยันที่จะไม่ใช่ศาลปกติในการพิจารณาคดีสำคัญ ผู้คนก็จะพากันคิดว่าศาลปกติทั้งสามศาลไม่มีความหมาย แต่ข้อสงสัยและคัดค้านของบรรดา ส.ส. เหล่านั้นในที่ประชุมสภาฯถูกตีตกไปโดยหลวงธำรงฯ ทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านทุกวาระรวดเดียวในช่วงบ่าย อีกทั้งยังมีการกล่าวว่า หลวงพิบูลฯในฐานะนายกรัฐมนตรีขู่ว่า จะปิดประชุมสภาฯ (prorogue) ถ้าที่ประชุมฯไม่ลงมติผ่านร่างกฎหมายจัดตั้งศาลพิเศษนี้
อย่างไรก็ตาม สโตว์กล่าวว่า หลวงพิบูลฯไม่ได้เข้าร่วมการประชุมสภาฯครั้งนั้น อีกทั้ง ประธานสภาฯก็ไม่ได้ประกาศในที่ประชุมฯว่า มีสมาชิกสภาฯสามคนที่ถูกจับควบคุมตัวอยู่ สมาชิกสภาฯทั้งสามคนนี้ คนหนึ่งเป็น ส.ส. พระนครที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามา ส่วนอีกสองคนเป็นผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นสมาชิกผู้แทนราษฎรประเภทที่สอง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นายทหารระดับสูงที่เคยติดตามพระยาทรงฯไปต่างประเทศ
จากที่กล่าวไปข้างต้น สโตว์กล่าวว่า “Clearly Pibul intended to teach a lesson to all his opponents whether real, imagined or potential.” นั่นคือ “เห็นได้ชัดว่า หลวงพิบูลฯตั้งใจที่จะสั่งสอนบทเรียนให้กับศัตรูของเขาทุกคน ไม่ว่าจะเป็นศัตรูจริงๆ หรือศัตรูที่จินตนาการขึ้น หรือผู้มีศักยภาพที่จะเป็นศัตรูก็ตาม” สโตว์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม จังหวะในการเคลื่อนไหวปฏิบัติการอันที่สองของหลวงพิบูลดูเหมือนจะมีสาเหตุจากท่าที่ของพระยาทรงฯ นั่นคือ ในราวปลายเดือนมกราคม พระยาทรงฯและลูกศิษย์บางส่วนเดินทางลงจากเชียงใหม่ไปพักอยู่กับผู้บังคับบัญชากองทหารรักษาการณ์ที่ราชบุรี... ในสายตาของหลวงพิบูลฯที่ยังไม่มั่นใจในความภักดีของทหารรักษาการณ์อื่นๆ ทั่วกรุงเทพฯ การเดินทางไปราชบุรีจึงน่าสงสัยเพราะดูไม่ต่างจากการก่อตัวของกบฏบวรเดช อย่างไรก็ตาม หลวงอดุลเดชจรัส (ผู้ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมตำรวจและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยขณะนั้น/ผู้เขียน) และตำรวจตามคำสั่งของเขา ได้ดำเนินการการจู่โจมยามรุ่งสางตามบ้านต่างๆและวังทั่วประเทศ ตำรวจได้จับพระยาเทพสดินและคนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาคดีครั้งก่อนๆ การจับกุมแบบเหวี่ยงแหไปทั่วนี้ ครอบคลุมมากไปกว่าพระยาทรงฯและพวก เพราะครอบคลุมไปถึงพระบรมวงศานุวงศ์ โดยวังแห่งแรกๆ ที่ถูกบุกค้นคือวังที่ประทับในพระนครของกรมขุนชัยนาทนเรนทร ซึ่งขณะนั้น พระองค์ทรงประทับอยู่ที่เชียงใหม่ แต่เมื่อพระองค์ทรงทราบเรื่องก็รีบเสด็จกลับ และถูกจับกุมที่สถานีรถไฟที่เป็นสถานีสำคัญต่อหน้าสาธารณะชน
------------------
น่าสังเกตว่า ทำไม กรุมขุนชัยนาทฯ จึงต้องเป็นเป้าหมายในการจับกุมพระบรมวงศานุวงศ์อันดับแรกของหลวงพิบูลฯ ? และน่าสนใจว่า หากกรมขุนชัยนาทนเรนทรทรงสมคบคิดในการโค่นล้มรัฐบาลของหลวงพิบูลฯ และล้มล้างการปกครองเพื่อเปลี่ยนกลับไปสู่สมบูรณาญาสิทธิราชจริงๆแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นความผิดโทษอุฉกรรจ์ มีโทษถึงประหารชีวิต เหตุใดพระองค์จึงไม่เสด็จหนี แต่กลับรีบเสด็จกลับ ?
(โปรดติดตามตอนต่อไป)
[1] ในหนังสือ Siam becomes Thailand ของจูดิธ สโตว์ (Judith A. Stowe) และในหนังสือ The Revolutionary King ของวิลเลียม สตีเวนสัน (William Stevenson)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ยิ่งลักษณ์’ กลับคุก ‘บิ๊กเสื้อแดง’ รู้มา! ว่าไปตามราชทัณฑ์ไม่ใช้สิทธิพิเศษ
“เลขาฯ แสวง” ยันเดินหน้าคดี “ทักษิณ-เพื่อไทย” ล้มล้างการปกครองต่อ เพราะใช้กฎหมายคนละฉบับกับศาล รธน. "จตุพร" ลั่นยังไม่จบ! ต้องดูสถานการณ์เป็นตอนๆ ไป
ลุ้นระทึก! เลือก ‘อบจ.’ 3 จว. ‘กกต.’ จับตาที่อุดรฯแข่งดุ
“เลขาฯ แสวง” มั่นใจเลือกตั้งนายก อบจ.อุดรธานี แข่งขันสูงไม่ใช่ปัญหา แต่ช่วยกระตุ้นประชาชนออกมาใช้สิทธิ เผยมีเรื่องร้องเรียน 2 เรื่อง ใส่ร้ายระหว่างผู้สมัคร เร่งตรวจสอบ
'วรชัย' ชี้ 'ยิ่งลักษณ์' ไม่ได้รับความเป็นธรรม บอกกลับไทยตามกระบวนการไม่มีสิทธิพิเศษ
นายวรชัย เหมะ อดีตสส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกมาบอกว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
กกต. มั่นใจเลือกตั้ง นายกอบจ.อุดรธานี แข่งขันสูงไม่ใช่ปัญหา
นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ให้สัมภาษณ์ระหว่างไปตรวจเยี่ยมการรับมอบวัสดุอุปกรณ์ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเ
เลขาฯกกต.ยันคดี 'ทักษิณ-เพื่อไทย' ล้มล้างปกครองฯ ที่ศาลรธน.ยกคำร้องไม่เกี่ยว กกต.
นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง ข้อกล่าวหาว่า นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ล้มล้างการปกครอง ว่า ศาล
'นิพิฏฐ์' ติดใจปมรพ.ชั้น 14 พร้อมให้กำลัง 'ธีรยุทธ'
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสส. จังหวัดพัทลุง โพสต์เฟซบุ๊กว่า เห่าหอนไปวันๆ