จับตานิรโทษกรรม ม.๑๑๒

วนมาอีกรอบ

นิรโทษกรรม ม.๑๑๒

วันที่ ๑๗ ตุลาคมนี้ สภาผู้แทนฯ จะพิจารณารายงานผลการศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร พิจารณาเสร็จแล้ว 

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ ความผิดตาม ม.๑๑๒ อยู่ในข่ายนิรโทษกรรมด้วยหรือไม่

เท่าที่ปรากฏเป็นข่าวสาร มีทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

บางพรรคอ้ำอึ้งตอบไม่เต็มคำ เพราะนายใหญ่ เป็นผู้ต้องหา ม.๑๑๒ อยู่ด้วย จึงสนับสนุนนิรโทษกรรม ม.๑๑๒ แบบมีเงื่อนไข

คละไปคละมา กลายเป็นว่าในภาพรวม คณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ม.๑๑๒  มีมากกว่าไม่เห็นด้วย

พรรคร่วมรัฐบาลเช่น รวมไทยสร้างชาติ ประชาธิปัตย์ ออกมาแสดงความเห็นว่าไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ กรรมาธิการฯ ที่แม้จะไม่มีข้อเสนอนิรโทษกรรม ม.๑๑๒ ในรายงาน

แต่มาในรูปแบบ ทำบันทึกความเห็นไว้ในรายงานแทน

เมื่อรวมเสียงแล้ว ความเห็นของกรรมาธิการฯ ที่ให้นิรโทษกรรมคดี ๑๑๒ แบบมีเงื่อนไข กับที่เห็นว่าให้นิรโทษกรรมคดี ๑๑๒ แบบไม่มีเงื่อนไข มีจำนวนที่มากกว่ากรรมาธิการฯ ที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดี ๑๑๒ ไม่ว่ากรณีใดทั้งสิ้น

ฉะนั้นในที่ประชุมสภาผู้แทนฯวันที่้ ๑๗ ตุลาคม จะเป็นอีกวันที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด

จะมีการลักไก่ ลักหลับ ทึกทักว่าเสียงส่วนใหญ่ของสภาฯ เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ม.๑๑๒ แล้วรีบเร่งออกเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมในที่สุดหรือไม่

ในความเป็นไปได้นั้นมีอยู่ครับ หากพรรคเพื่อไทยร่วมมือกับพรรคประชาชน เสียงสนับสนุนเกินครึ่งสภาผู้แทนฯ ทันที

ฉะนั้นจะมีนักการเมืองหัวหมอ บอกกับประชาชนว่านี่ไม่ใช่การแก้ ม.๑๑๒ แต่เป็นการนิรโทษกรรม ผู้กระทำผิด ม.๑๑๒

ที่จริงก็มีคนพูดปูทางไว้แล้วครับ

คือ "นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์" สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และหนึ่งในกรรมาธิการชุดที่ว่านี้

"...ยังไม่เคยมีกรรมาธิการของสภาฯ ชุดไหน พูดคุยศึกษาเรื่องมาตรา ๑๑๒ จะมีก็คือคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ที่คุยเรื่อง ๑๑๒ เป็นครั้งแรก ที่มีการศึกษา มีการเขียนไว้ในรายงานของกรรมาธิการฯ ชัดเจนว่า หากจะนิรโทษกรรมคดี ๑๑๒ ด้วยจะให้มีเงื่อนไขการนิรโทษกรรมอย่างไร

เมื่อสภาฯ ได้อภิปรายกันในวันพฤหัสบดีนี้แล้ว หากพรรคการเมืองไหนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดี ๑๑๒ หรือมีความเห็นว่าควรนิรโทษกรรมคดี ๑๑๒ แบบไหน ก็อภิปรายกัน มันจะได้ลดความเข้าใจผิด

ยืนยันว่า ข้อเสนอของกรรมาธิการฯ ไม่ได้เสนอให้แก้ไข ๑๑๒

แต่มีการอภิปรายเสนอความเห็นกันในกรรมาธิการฯว่า พวกโดนคดี ๑๑๒ จะให้นิรโทษกรรมหรือไม่

และหากนิรโทษกรรมจะมีเงื่อนไขอย่างไร

เช่นพวกมีพฤติกรรมอาฆาตมาดร้าย แบบนี้ก็อาจต้องได้รับการลงโทษเบื้องต้นก่อน

ส่วนคนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร พวกอยู่ในห้องแอร์ แล้วเกิดไปแชร์ไปโพสต์อะไร หรือไปร่วมชุมนุมด้วย แบบนี้จะไปเอาผิดได้อย่างไร

เพราะไม่ได้มีเจตนา!

ในรายงานข้อเสนอของกรรมาธิการฯ จะพบว่า บางคนที่คัดค้านหัวเด็ดตีนขาดไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมคดี ๑๑๒ แต่ลึกๆ แล้ว เขาก็บอกว่าถ้าจะนิรโทษจริงๆ ก็ให้นิรโทษแบบมีเงื่อนไข

การประชุมสภาฯ ครั้งนี้ สส.ก็อภิปรายแสดงความเห็นกัน แต่ว่าในระดับพรรคที่สังกัด ก็ให้แต่ละพรรคไปคุยกันเองว่า จะเอาด้วยหรือไม่ ไม่มีใครบังคับ

ประชุมสภาฯ วันพฤหัสบดีนี้ พอเสร็จแล้ว พรรคการเมืองก็อาจไปคุยกันว่าเห็นอย่างไร หรือหาก สส.บางกลุ่มสนใจ เขาก็เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าสภาฯ ในฐานะ สส.ได้...”

เป็นไงครับ?

การอภิปรายในสภาฯ พรรคเพื่อไทยจะมาแนวนี้อย่างแน่นอน

นิรโทษกรรม ม.๑๑๒ แบบมีเงื่อนไข!

เงื่อนไขที่ว่าคือ แยกกลุ่มที่มีพฤติกรรมอาฆาตมาดร้าย กับกลุ่มแสดงความเห็น ออกจากกัน

ตามความคิดของพรรคเพื่อไทย "ทักษิณ" ถือว่าอยู่ในกลุ่มแสดงความเห็น

นี่อาจเป็นเป้าหมายหลักของพรรคเพื่อไทย

ส่วนพรรคส้ม โหนงานรำลึก ๑๔ ตุลา แสวงหาความร่วมมือจากรัฐบาลเพื่อไทย อย่างมีเป้าหมายเป็นของตัวเองเช่นกัน

"เฮียเท้ง-ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ" หัวหน้าพรรคส้ม หยอดเอาไว้น่าสนใจ

"...สำหรับคณะรัฐมนตรี ก็สามารถผลักดันให้เกิดกระบวนการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองได้

ปัจจุบันมีบุคคลหลายกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ที่ควรได้รับความเป็นธรรม ไม่ควรถูกดำเนินคดีกลั่นแกล้งทางการเมือง

เรายังสามารถผลักดันการนิรโทษกรรมร่วมกันได้

รวมถึงการสร้างนิติรัฐนิติธรรมที่รัฐบาลเองก็เสนอเป็นนโยบายที่จะขับเคลื่อนและแถลงไว้ต่อรัฐสภา รวมถึงการแสดงเจตจำนงติดตามจำเลยในคดีที่สร้างบาดแผลลึกต่อประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้

นี่คือสิ่งที่รัฐบาลสามารถดำเนินการได้เลยในวันนี้ ไม่ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่การแสดงความตั้งใจและแสดงออกให้ประชาชนเห็นว่า รัฐบาลเอาจริงกับเรื่องนี้ คือสิ่งที่สังคมต้องการ

ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน วันนี้ผมเองก็ต้องมีส่วนในการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยและระบบการเมืองในประเทศเช่นเดียวกัน

สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน คือการทำหน้าที่ฝ่ายค้านอย่างแข็งขัน และอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน  ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ฝ่ายค้านก็พร้อมสนับสนุนในกระบวนการดังกล่าวไปพร้อมกับรัฐบาลอย่างเต็มที่..."

ครบจบกระบวนความนะครับ!

ฉะนั้นอย่าคิดว่า การนิรโทษกรรมผู้กระทำผิด ม.๑๑๒ จะถูกปฏิเสธจากสภาผู้แทนฯ

เมื่อพรรคเพื่อไทย และพรรคส้ม มีเป้าหมายใกล้เคียงกัน ก็มีความเป็นไปได้สูง หลังจากนี้จะมีการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยพ่วงนิรโทษกรรมผู้กระทำความผิด ม.๑๑๒ แบบมีเงื่อนไข

เงื่อนไขอะไรบ้าง อยู่ที่การต่อรอง

แต่ "ทักษิณ" จะได้ประโยชน์ไปเต็มๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คนไทยหลอกง่าย?

ว่าด้วยเรื่อง "ถูกหลอก" วันก่อนมีข่าว ประเทศไทยยังถูกจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีผู้เสียหายจากการหลอกลวงทางออนไลน์มากเป็นอันดับ ๔ ของโลก

'หนูไม่รู้' ภาคสอง

ให้ร้อยเต็มสิบเลยครับ ดรามาก้มอ่านไอแพดยังไม่จบ! วานนี้ (๗ ตุลาคม) นายกฯ โพยทองธาร บอกว่า "ไอแพดเป็นเรื่องที่ทุกคนใช้กันทั่วโลก"