รัฐบาลได้ประมาณการว่า การโอนเงิน 10,000 บาทผ่านโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการกว่า 14.55 ล้านราย วงเงินกว่า 1.45 แสนล้านบาทนั้น จะเป็นอีกเครื่องยนต์ที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการใช้จ่าย ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีความคึกคักมากขึ้น พร้อมทั้งประเมินว่าโครงการดังกล่าวจะมีส่วนช่วยให้ตัวเลขเศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวอีกราว 0.35%
ก่อนหน้านี้ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง ได้ระบุว่า ตัวเลข 0.35% นี้เป็นผลที่คาดว่าจะเกิดกับเศรษฐกิจเป็นอย่างน้อย และตัวเลขไม่ได้จบเท่านี้ แต่จะมีแรงส่งที่สะท้อนไปถึงเศรษฐกิจในระยะถัดไปด้วย ยิ่งหากรัฐบาลสามารถบริหารจัดการเงินส่วนที่เหลือได้เร็ว มีการเติมเงินเข้าไปอีกเป็นระลอก ก็จะยิ่งทำให้เกิดแรงหนุนเศรษฐกิจเสริมซึ่งกันและกัน
ขณะที่ภาคเอกชนอย่าง สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่มองว่ากลุ่มเปราะบางที่เป็นเป้าหมายของโครงการแจกเงิน 10,000 บาทนั้น เมื่อได้เงินแล้วจะใช้จ่ายทันที และจะทำให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอย่างน้อย 2 รอบ มีส่วนช่วยกระตุ้นจีดีพีในช่วงไตรมาส 4/2567 ให้เติบโตได้ราว 3.5-4% ขณะที่ภาพรวมจะช่วยกระตุ้นจีดีพีของทั้งปี 2567 ให้เพิ่มขึ้นอีก 0.2-0.3% เป็น 2.7-2.8% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวราว 2.5%
อย่างไรก็ดี บริษัท ดาต้าเซ็ต จำกัด ได้ทำการรวบรวมข้อมูลผ่านเครื่องมือ DXT360 เพื่อฟังเสียงในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Listening) ในช่วงวันที่ 25 ก.ย.-1 ต.ค.2567 ถึงประเด็นเกี่ยวกับ “โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการ” พบว่ามีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างคึกคักในโลกออนไลน์ โดยผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย ทั้งการวิจารณ์ตัวนโยบาย และการแบ่งปันไอเดียการใช้เงินที่ได้รับว่าจะนำเงินไปใช้จ่ายกับอะไรบ้าง? สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างของประชาชนที่มีต่อมาตรการนี้
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่รวบรวมได้ในโซเชียลมีเดีย พบว่าประชาชนส่วนใหญ่วางแผนจะนำเงินไปใช้จ่ายค่อนข้างหลากหลาย โดยส่วนใหญ่จะนำเงินไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันมากที่สุด รองลงมาคือนำเงินที่ได้รับไปชำระหนี้ การต่อยอดลงทุน โดยเฉพาะการซื้ออุปกรณ์ที่สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้เพิ่ม และอื่นๆ โดยสามารถแบ่งสัดส่วนการใช้จ่ายได้ดังนี้ 1.สินค้าอุปโภคบริโภค 47.8% 2.ชำระหนี้สิน 17.4% 3.ลงทุน 9.6% 4.เงินสำหรับการรักษาและซ่อมบำรุง 8.7% และ 5.อื่นๆ 16.5% เช่น ชำระค่าสาธารณูปโภค ทำบุญ/บริจาค หรือใช้จ่ายเพื่อการศึกษา เป็นต้น
ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อนโยบายนี้มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังและข้อกังวลที่มีต่อผลกระทบในระยะยาว โดยสามารถแบ่งความคิดเห็นออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับนโยบาย 51.8% โดยแสดงความกังวลเรื่องภาระหนี้สาธารณะที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการคลัง เนื่องจากเป็นการใช้จ่ายที่ไม่ก่อให้เกิดผลิตภาพในระยะยาว อาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและภาระทางการคลังแก่คนรุ่นต่อไป, เห็นว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน และอาจสร้างวัฒนธรรมการพึ่งพารัฐบาลมากเกินไป ทำให้ประชาชนขาดแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองและพึ่งพาตนเอง, วิพากษ์วิจารณ์การใช้จ่ายเงินอย่างไม่เหมาะสมของผู้ได้รับ เช่น เล่นการพนัน ซื้อของฟุ่มเฟือย เป็นต้น
ส่วนกลุ่มที่เห็นด้วยกับนโยบาย 33.2% มองว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตได้, เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบ เป็นต้น ส่วนกลุ่มที่เป็นกลาง 15% เข้าใจความจำเป็นในการช่วยเหลือผู้เดือดร้อน แต่เสนอให้มีการปรับปรุงระบบการคัดกรองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ความช่วยเหลือถึงมือผู้ที่ต้องการจริงๆ และลดความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าความคิดเห็นต่อนโยบายนี้จะแตกต่างกัน แต่ยังมีประชาชนจำนวนมากที่รอคอยและหวังจะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้ และประชาชนยังให้ความสนใจเรื่องความโปร่งใสในการดำเนินนโยบาย การเปิดเผยข้อมูลผลการดำเนินนโยบายอย่างชัดเจน และการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งสำคัญในการปรับปรุงและพัฒนานโยบายให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้อย่างแท้จริง และส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม.
ครองขวัญ รอดหมวน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เศรษฐกิจปี68เติบโตไม่ง่าย ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง
สำนักวิจัยหลากหลายสำนัก ฟันธงไปในทิศทางเดียวกันว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 นี้ยังต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน และการเติบโตที่เป็นไปได้มากที่สุดก็อยู่ระดับ 2.7-2.9% ซึ่งน้อยกว่าที่รัฐบาลมีการวางแผนเอาไว้ว่าจะผลักดันจีดีพีไทยปีนี้โตถึง 3%
ปี68สินเชื่อระบบแบงก์ไทยหืดจับ
ปี 2568 ยังเป็นอีกปีที่ต้องจับตากับทิศทางของเศรษฐกิจไทย เพราะยังมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งบวกและลบ ที่จะเข้ามามีผลกับภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะสถานการณ์กดดันจากปัญหาหนี้ครัวเรือน
แผนดัน ‘เกษตรครบวงจร’
อุตสาหกรรมเกษตร เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย และที่ผ่านมาเศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนไปได้ด้วยสินค้าเกษตร แต่ก็มีบางช่วงที่ติดขัดและไม่สามารถเดินหน้าต่อได้ จากปัจจัยกระทบต่างๆ
เคาต์ดาวน์ปลอดภัยส่งท้ายปี
เทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 2568 เป็นช่วงเวลาแห่งความสุข เป็นวาระแห่งการเริ่มต้นใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยพลังและความหวัง โดยในปีนี้สถานที่จัดงาน Countdown ทั่วประเทศไทยหลายหน่วยงานได้เตรียมกิจกรรมไว้ให้ทุกคนได้ร่วมสนุกและสัมผัสความงดงาม
แชร์มุมมอง‘อินฟลูเอนเซอร์’ในตลาดอาเซียน
การตลาดอินฟลูเอนเซอร์ถือได้ว่าเป็นกลยุทธ์สำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มายาวนาน แต่กลยุทธ์การทำการตลาดของแต่ละแบรนด์นั้นล้วนแตกต่างกันไป ล่าสุด วีโร่ ได้เปิดตัวเอกสารไวต์เปเปอร์ฉบับใหม่ในหัวข้อ “ผลกระทบ
ของขวัญรัฐบาล
อีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ก็จะเข้าสู่ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แล้ว ก็เป็นธรรมเนียมของรัฐบาลและ ครม.ที่จะมีมาตรการเป็นของขวัญมอบให้กับประชาชน ซึ่งการประชุม ครม.ล่าสุดเริ่มมีการเคาะมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลือประชาชนกันแล้ว