แค้นนี้ต้องชำระ…ขนาดนั้นเลยเหรอ?

พรุ่งนี้ครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์สถานการณ์สู้รบ ปะทะ หรือสงครามระหว่างอิสราเอลกับฮามาส (ครั้งล่าสุด)

ถ้าย้อนเวลากลับไปปีที่แล้ว พวกเราคงจำข่าวการโจมตี หรือบุกคอนเสิร์ตในอิสราเอลจากกลุ่มฮามาส ซึ่งไม่ได้ไปเพื่อข่มขู่ สร้างความหวาดกลัว สร้างความเดือดร้อน หรือโจมตีเชิงสัญลักษณ์ เป็นการเข้าไปเพื่อฆ่าคนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ไม่อ้อมค้อม ไม่พูด ไม่เกรงใจใคร วัตถุประสงค์คือ ฆ่าคน

ซึ่งผมก็ยังไม่ทราบและไม่รู้เหตุผลว่าทำไปเพื่ออะไร? ล้างแค้น? สร้างสถานการณ์? แสดงพลัง? หรือหาเรื่อง? 1 ปีผ่านมา ผมยังหาคำตอบไม่ได้

ฝ่ายฮามาสต้องรู้อยู่แล้วว่าการกระทำในครั้งนั้น ทางอิสราเอลไม่มีทางยอม และพันธมิตรที่หนุนอิสราเอลก็ไม่มีทางยอม ทำไปก็รู้แก่ในใจว่าจะต้องถูกโจมตีกลับแน่นอน และการโจมตีจากอิสราเอลไม่ได้เป็นการโจมตีที่ธรรมดา เวลาอิสราเอลจะโจมตีใคร ด้วยพลัง ด้วยอำนาจเต็ม และสิ่งสำคัญ ด้วยความชอบธรรมนั้น ฝ่ายตรงข้ามมีแต่ “ฉิบหาย”

ดังนั้นช่วยผมหาคำตอบได้ไหมครับ? ทำไมฮามาสถึงโจมตีและบุกอิสราเอลในครั้งนั้น ได้อะไรขึ้นมา? เพราะผมไม่รู้และไม่เข้าใจจริงๆ

พอหลังเหตุการณ์เกิดขึ้น คะแนนเห็นใจและความชอบธรรมเทไปที่อิสราเอล จะเรียกว่าจากโลกเกือบทั้งใบก็ว่าได้ ส่วนศัตรูถาวรของอิสราเอลไม่ได้ออกมาเทใจให้ก็จริง แต่ไม่ได้ออกไปฉลอง และ/หรือเยาะเย้ยการสูญเสียชีวิตเหมือนครั้งผ่านๆ มา การกระทำเมื่อปีที่แล้วถือว่าโหดเหี้ยม ไร้มนุษยธรรม ไร้ความชอบธรรมและไร้เหตุผล เป็นการฆ่าคนบริสุทธิ์ เพื่อฆ่า ไม่ได้มีเหตุผลอะไรอื่นๆ ใดๆ ทั้งสิ้น

ตอนนั้นอิสราเอลทำอะไรได้ทั้งนั้น เพราะมีคะแนนเห็นใจและมีความชอบธรรมอยู่เคียงข้าง แต่พอโจมตีกลับไปจริงๆ โจมตีแบบไม่ยั้ง ไม่หย่อน ไม่เว้น ทำให้ผู้ที่ “เห็นใจ” เริ่มรู้สึกอึดอัดว่าทำเกินไปไหม? แค้นนี้ต้องชำระขนาดนั้นเลยเหรอ? จะโจมตีกลับให้ฮามาสกับปาเลสไตน์นั้นสูญพันธุ์ในยุคนี้เลยเหรอ? จากความชอบธรรม ที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ พอโจมตีกลับไป กลายเป็นผู้กระทำ เป็นผู้ร้าย และเป็นผู้ไร้มนุษยธรรมขึ้นมาทันที

อิสราเอลก็จะพูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าเขาเป็นฝ่ายถูกกระทำก่อนนะ เขาไม่ได้เป็นผู้ริเริ่ม การปะทะในครั้งนี้ เขาอยู่ดีๆ ของเขา อยู่สงบของเขา และฝ่ายตรงข้ามสร้างปัญหาและหาเรื่องเอง ดังนั้นเขามีความชอบธรรมและต้องทำ

ทำให้ผมนึกถึงคำแถลงอย่างเป็นทางการของฝ่ายทางการของเมียนมา ในยุคที่ยังมีรัฐบาลอองซาน ซูจี เรื่องเหตุการณ์กวาดล้างและจัดการกับ “กลุ่มก่อการร้าย” ที่เป็นชนเผ่า โจมตีกลุ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของรัฐในรัฐ Rakhine ตอนนั้นผมเป็นเลขาธิการสมัชชารัฐสภาอาเซียน (AIPA) และทุกเวทีที่ไป ผมก็ได้ยินแต่ผู้แทนเมียนมาชี้แจงเหมือนกัน (เหมือนเดิม) ซึ่งปีแรกพูดไป คนฟังเข้าใจได้ แต่ปัญหาและเหตุการณ์บานปลายและเรื้อรังไปเรื่อยๆ คือลามไปถึงการกวาดล้างกลุ่มโรฮีนจา โดยอ้างเหตุการณ์และเหตุผลเดิม เข้าปีที่ 2 และ 3 นั้น กลุ่มคนฟังเริ่มไม่ฟังและไม่อดทน จากปีแรก คนฟังเห็นใจและเข้าใจรัฐบาล มีการให้กำลังใจด้วยซ้ำ แต่พอนานเข้า เหตุการณ์ร้ายกว่าเดิม แถมยังใช้เหตุผลเดิมอยู่ คะแนนเห็นใจหายไปหมด และมีแต่คนรำคาญ ทำไมเจอทุกเวที ทุกที่ แล้วยังพูดสคริปต์เดิมอยู่?

พอนานเข้า ผมเห็นใจผู้แทนเมียนมาครับ เขาต้องเป็นผู้อยู่หน้าไฟ รับเผือกร้อน และโดนประณามเต็มๆ เพราะผู้กระทำจริงๆ (กองทัพ) ไม่ออกหน้าแม้แต่คนเดียว ตามเวทีต่างๆ มีแต่ผู้แทนเมียนมานี่ล่ะที่ต้องพูดตามสคริปต์เดิมทุกเวที ทุกครั้ง เพราะพูดอย่างอื่นไม่ได้ ผมเห็นใจเขาจริงๆ ครับ

ผมเข้าใจอยู่ว่าเหตุการณ์อิสราเอลกับฮามาสในครั้งนี้ เปรียบเทียบเรื่องในเมียนมาไม่ได้ เพราะประวัติการสู้รบและการปะทะระหว่างอิสราเอลฮามาสมีมายาวนาน และคงจะมีอีกตลอดไป ดังนั้นความโกรธแค้นจากทั้ง 2 ฝ่าย ที่ถูกกระทำทั้งคู่นั้น ไม่มีทางและไม่มีวันลบออกจากความทรงจำและใจของทั้งสองฝ่ายได้

แต่ยิ่งอิสราเอลล้างแค้นมากเท่าไร และแรงแค่ไหน เขายังชี้กลับไปที่เหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้ว ว่านั่นคือเหตุผลและจุดเริ่มต้นทุกอย่าง

จากผู้ถูกกระทำ กลายเป็นผู้กระทำ และกลายเป็น “ผู้ร้าย” ในสายตาสื่อและโลกขึ้นมาทันที ซึ่งเป็นบทบาทที่อิสราเอลไม่ปฏิเสธ แล้วผมเชื่อว่าเป็นภาพพจน์ที่ทำให้เขาภาคภูมิใจระดับหนึ่ง ผมไม่รู้ว่าเหตุการณ์ 7 ตุลา.เมื่อปีที่แล้ว ทำให้เราเข้าสู่ภาวะสงครามหรือไม่ เพราะผมไม่รู้จะเรียกตลอด 1 ปีผ่านมาว่าอย่างไร? เป็นสงคราม? เป็นการปะทะ? เป็นสถานการณ์? เป็นการสู้รบ?

ผมรู้อย่างเดียวว่าในตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 2 ฝ่าย รวมถึงผู้สนับสนุนทั้ง 2 ฝ่ายนั้น ต่างฝ่ายต่างไม่อยากให้เหตุการณ์บานปลายกว่านี้ มีกระทบกระทั่งกัน มีเฉียดไปเฉียดมา แต่ทุกครั้งในตลอด 1 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 2 ฝ่ายหยุดยั้งตัวเองไม่ให้เรื่องไปไกลกว่านั้น ทุกๆ ครั้งที่ดูเหมือนจะต้องเกิดสงครามแน่ๆ มีการถอยคนละก้าว

ซึ่งไม่รู้ว่าเหตุการณ์ช่วงนี้จะถอยคนละก้าวเหมือนที่ผ่านมาหรือไม่ ในฐานะมองโลกสวย ผมได้แต่หวังว่าจะถอย

ก่อนแยกย้ายกันในวันนี้ ขอใช้เสียงเล็กๆ ของผม ร่วมแสดงความเสียใจต่อครอบครัวเด็กนักเรียนและครูที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ไฟไหม้รถบัส ผมไม่มีคำพูดอะไรที่จะมีน้ำหนักหรือความสำคัญ ทำให้ครอบครัวเขารู้สึกดีขึ้น แล้วผมไม่อยากจะใช้เวทีตรงนี้ซ้ำเติมใคร หรือสั่งสอนหน่วยงานรัฐ ทำดีหรือพลาดอย่างไร พูดไปก็เท่านั้น ความเจ็บปวด ความโกรธแค้นของครอบครัวเขาไม่ได้ลดไป

ผมไม่มีคำบรรยายอะไรทั้งสิ้น แต่วินาทีที่รู้ข่าวนี้ขึ้นมา ผมนึกถึงลูกผมที่มีกิจกรรมทัศนศึกษาทุกเทอม ทำให้ผมไม่สามารถดูข่าวเรื่องนี้จบได้ ผมได้แต่สวดมนต์ แผ่เมตตาและกรวดน้ำให้วิญญาณเด็กๆ และคุณครูที่เสียชีวิตครับ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เปิดและปิดเครื่อง'

ก่อนอื่นผมต้องขอโทษสำหรับคอลัมน์สัปดาห์ก่อนที่หายไปครับ ผมไม่ได้หายไปไหน และผมไม่ได้ไปไหน ผมพร้อมและตั้งใจเขียนคอลัมน์ปกติ แต่เมื่อเริ่มเขียน

'…It is what it is…'

ผมบอกเลยว่า ผมรู้สึกห่างเหินกับแฟนคอลัมน์เป็นเวลาเกือบ 3 อาทิตย์เต็มครับ เหตุผลเพราะระยะเวลา 3 คอลัมน์เต็มๆ (คือ 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา)

'Hey…Google!!!' (ต่อ)

ก่อนอื่นผมขออธิบายว่า ทำไมผมตั้งชื่อเรื่องวันนี้และอาทิตย์ที่แล้วว่า “Hey…Google!!!”

“Hey…Google!!!!” (ตอน 1)

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ในสหรัฐอเมริกา มีการตัดสินคดียักษ์ใหญ่ ที่จะมีผลกระทบและเขย่าโลก ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ไม่แน่ครับ ดีไม่ดีอาจเป็นชิ้นโบแดงของ Joe Biden ก็ได้