อย่ากล่าวหาทัศนศึกษาให้เป็นแพะ

เหตุการณ์ไฟไหม้รถที่นำนักเรียนจากอุทัยธานีมาทัศนศึกษา ที่ทำให้ทั้งครูและนักเรียนเสียชีวิตมากกว่า 20 คน นับว่าเป็นข่าวที่สร้างความสลดหดหู่ให้กับผู้คนทั้งประเทศ ภาพไฟที่ลุกโชนเผารถทั้งคันเป็นภาพที่ทำให้หลายคนนึกถึงความทุกข์ทรมานของเด็กๆ และครูที่ถูกไฟคลอกติดอยู่ในรถ ไม่สามารถที่จะหนีออกมาได้เพราะประตูเปิดออกไม่ได้ การถูกไฟคลอกเช่นนั้นเด็กๆ และครูคงไม่ได้เสียชีวิตทันที ดังนั้นก่อนจะสิ้นลมหายใจพวกเขาคงต้องทรมานกับความแสบร้อนเป็นเวลาพอสมควร แม้ว่าหลายคนจะไม่ยอมดูภาพข่าวของอุบัติเหตุครั้งนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีภาพของความทุกข์ทรมานของเด็กๆ และครูอยู่ในสมอง แน่นอนว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้น ผู้บริหารโรงเรียนและบรรดาครูที่จัด

ให้มีทัศนศึกษาในครั้งนี้ ก็ทำด้วยความตั้งใจที่จะเพิ่มพูนความรู้และประสบการณ์ให้กับนักเรียน เป็นความหวังดีที่จะเปิดโลกทัศน์ของเด็กนักเรียนด้วยวิธีการที่มากกว่าการนั่งฟังคำบรรยายในห้องเรียน

ทันทีที่มีอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดขึ้น ก็มีผู้คนจำนวนหนึ่งเรียกร้องให้โรงเรียนเลิกจัดทัศนศึกษาด้วยความคิดที่ว่า ถ้าหากไม่มีการจัดทัศนศึกษาพาเด็กนักเรียนเดินทางออกนอกพื้นที่ เด็กๆ ก็ไม่ต้องเผชิญกับอันตราย การคิดเช่นนี้เป็นการคิดที่ง่ายเกินไป เป็นตรรกะที่ไม่ถูกต้อง หากคิดเช่นนี้คงจะมีหลายๆ อย่างที่ต้องยกเลิก ถ้าหากไฟไหม้โรงเรียน เราจะยกเลิกสอนหนังสือหรือไม่ ถ้าหากเด็กๆ นั่งรถเมล์ไปประสบอุบัติเหตุ เราจะให้รถเมล์ยกเลิกการให้บริการหรือไม่ ถ้าหากลูกซ้อนมอเตอร์ไซค์ไปโรงเรียนแล้วประสบอุบัติเหตุ เราจะให้ลูกยกเลิกการไปโรงเรียนหรือไม่ หลายสิ่งหลายอย่างในชีวิตเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ในการทำสิ่งเหล่านั้น บางทีก็ราบรื่นดี ปลอดภัยดี แต่บางทีการกระทำบางอย่างก็อาจจะสร้างปัญหาให้ชีวิต เสี่ยงอันตราย ไม่มีความปลอดภัย แต่เราก็ไม่อาจจะยกเลิกการกระทำเหล่านั้นได้ทั้งหมด แต่เราต้องทำด้วยความระมัดระวัง มีความรอบคอบ บริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เราสามารถทำสิ่งนั้นได้เป็นอย่างดี มีประโยชน์ โดยไม่เป็นอันตราย

ทัศนศึกษาเป็นวิธีการเรียนการสอนอย่างหนึ่งที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นการเปิดหูเปิดตานักเรียนให้ได้พบได้เห็นของจริง แทนที่จะใช้จินตนาการนึกตามคำบรรยายของครู หรือดูวิดีโอที่ครูเอามาเปิดให้ดู พวกเราหลายๆ คนที่เคยไปทัศนศึกษาสมัยเรียนทุกระดับชั้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียนในระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และอุดมศึกษา หลายคนคงเห็นประโยชน์ของการมีโอกาสได้ไปทัศนศึกษา เพราะได้รับความสนุกบ้าง ได้เปลี่ยนบรรยากาศบ้าง ได้เห็นของจริงบ้าง ได้รับความรู้เพิ่มเติมบ้าง เราต้องยอมรับว่าการจัดทัศนศึกษาเป็นหนึ่งในวิธีการเรียนกันสอนใช้กันมานานเป็นร้อยๆ ปีแล้ว และใช้อยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เวลาพวกเราไปโบสถ์ ไปวัด ไปโบราณสถาน ไปแหล่งโบราณคดี ไปอนุสรณ์สถาน ไปสวนสนุก ไปสวนสัตว์ ไปพิพิธภัณฑ์ ไปโรงละคร ไปอาคารประวัติศาสตร์ ฯลฯ เรามักจะได้เห็นนักเรียน นักศึกษาระดับต่างๆ ตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงระดับอุดมศึกษามาทัศนศึกษาตามสถานที่ต่างๆ เหล่านั้น ภาพดังกล่าวนี้มีให้เห็นทั้งในประเทศไทยของเราเองและในต่างประเทศที่เราไปท่องเที่ยว

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว อย่ากล่าวหาทัศนศึกษาให้เป็นแพะของอุบัติเหตุครั้งนี้ จนเป็นเหตุให้เกิดความคิดที่จะยกเลิกการจัดทัศนศึกษาเลยนะ จัดต่อไปเถอะ เพียงแต่ต้องเพิ่มความรอบคอบมากขึ้น บริหารความเสี่ยงให้การไปทัศนศึกษาของเด็กๆ ได้ประโยชน์ด้วยความปลอดภัยไม่ต้องเสี่ยง โดยพิจารณาประเด็นต่างๆ ให้ครบทุกมิติ 1) เด็กวัยใด เรียนระดับใด ควรจะไปทัศนศึกษาที่ไหนที่เหมาะกับวัยและพื้นความรู้ 2) เด็กวัยใดควรเดินทางไปจากโรงเรียนไกลมากน้อยแค่ไหนที่ทำให้ระยะทางและระยะเวลาเหมาะกับความแข็งแรงของร่างกาย 3) การไปทัศนศึกษานอกพื้นที่จะต้องเดินทางอย่างไร จะต้องตรวจสอบอะไรบ้างเพื่อให้เกิดความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยของการเดินทาง 4) ควรตรวจสอบทัศนคติ พฤติกรรมในการขับขี่ยวดยานพาหนะของผู้ที่จะทำหน้าที่ในการขับขี่ ไม่ว่าจะเป็นการขับรถขับเรือ เพื่อให้มั่นใจว่าเขาจะทำหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบในระดับสูง 5) ครูผู้ควบคุมการไปทัศนศึกษาจะต้องทำงานด้วยความทุ่มเท รับผิดชอบ อย่าคิดว่าการพานักเรียนไปทัศนศึกษา เป็นการทำหน้าที่เพิ่มเติมนอกเหนือการสอนด้วยการบรรยายในห้องเรียน เป็นภาระส่วนเกิน

ถ้าหากเรามีความรอบคอบ พินิจพิจารณามิติต่างๆ ของการจัดทัศนศึกษา เราก็สามารถลดความเสี่ยงได้ การไปทัศนศึกษาของเด็กๆ ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนที่จะได้ประสบการณ์เพิ่มเติม ได้มุมมองใหม่ๆ ด้วยการได้สัมผัสของจริง โดยที่การเดินทางไปทัศนศึกษาจะมีความปลอดภัยในระดับสูง ดังนั้นขอร้องท่านๆ บางคนที่สลดใจจากอุบัติเหตุครั้งนี้แล้วออกมาเรียกร้องให้เลิกจัดทัศนศึกษา มันเป็นความคิดที่ตื้นเขิน มันเป็นการสรุปที่ง่ายเกินไป ส่วนครูบางคนที่ออกมาเห็นด้วยว่าควรเลิกจัด เพราะเหนื่อย หรือไม่อยากรับผิดชอบชีวิตของนักเรียน ก็กรุณาคิดใหม่ด้วยนะ เมื่อเป็นครู ก็ต้องคิดว่าจะใช้การเรียนการสอนอะไรนอกเหนือจากการบรรยายในห้องเรียนที่ทำให้นักเรียนได้ประโยชน์สูงสุดจากการเรียน “ครู” มาจากคำว่า “ครุ หรือ คุรุ” ที่แปลว่า “หนัก” เมื่อมาเป็นครูแล้วก็ต้องเต็มใจที่จะทำงานหนักเพื่อประโยชน์ของลูกศิษย์นะ

เวลามีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอุบัติเหตุ อุบัติภัย ความพินาศใดๆ เรามักจะได้ยินคำว่า “ถอดบทเรียน” จริงๆ แล้วเราก็น่าจะได้ถอดบทเรียนมาจากอุบัติเหตุ อุบัติภัยที่เป็นวิกฤตของประเทศมาหลายครั้งแล้ว มีการจัดประชุมปฏิบัติการ มีการสัมมนาเพื่อถอดบทเรียนกันมาหลายเรื่องแล้ว อยากถามว่าเมื่อถอดบทเรียนแล้ว เกิดการเรียนรู้ที่จะทำให้มีการปรับแนวทางในการทำงานให้เป็นการทำงานเชิงรุก ที่จะป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ อุบัติภัยในทำนองเดียวกันบ้างหรือไม่ ที่ถามเช่นนี้เพราะเรายังเห็นอุบัติเหตุ อุบัติภัยแบบเก่าๆ เดิมๆ เกิดขึ้นซ้ำซาก เหมือนเราไม่ได้เรียนรู้อะไรจากการถอดบทเรียนเหล่านั้นเลย เรียนรู้ที่แก้ปัญหา ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา ดีกว่าที่จะหาแพะมาอธิบายการกระทำที่ไม่รอบคอบ และไม่มีการบริหารความเสี่ยงอย่างมีประสิทธิภาพนะคะ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

มาเป็นชุด! 'ดร.เสรี' ฟาดคนโอหัง ความรู้ไม่มี ทักษะไม่มี ไร้ภาวะผู้นำ น่าสมเพชอย่างแท้จริง

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า เตือนก็แล้ว ตำหนิก็แล้ว ต่อว่าก็แล้ว เยาะเย้ยก็แล้ว ล้อเลียนก็แ

ข้าอยากได้อะไร...ข้าต้องได้

เราคนไทยมักจะอ้างว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ มีการบริหารกิจการต่างๆ ภายในประเทศตามหลักการของนิติธรรม แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐจริงหรือ

เมื่อ 'ธรรมชาติ' กำลังแก้แค้น-เอาคืน!!!

เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา...ท่านเคยคาดๆ ไว้ว่า ฤดูหนาว ปีนี้น่าจะมาถึงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม

จ่ายเงินซื้อเก้าอี้!

ไม่รู้ว่าหมายถึง "กรมปทุมวัน" ยุคใด สมัยใคร จ่ายเงินซื้อเก้าอี้ ซื้อตำแหน่ง ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ตามที่ "ทักษิณ ชินวัตร" สทร.แห่งพรรคเพื่อไทย ประกาศเสียงดังฟังชัดในระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก

ดร.เสรี ยกวาทะจัญไรแห่งปี 'เขาเว้นเกาะกูดให้เรา'

ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า ประโยควาทะอัปรีย์จัญไรแห่งปี "เขาเว้นเกาะกูดให้เรา" แสดงว่าเขาเมตตาเราสินะ เราต้องขอบคุณเขา สำนึกบุญคุณเขาใช่ไหม