ปิดสวิตช์ '๓ ท.'

เรื่องโพลฟังหูไว้หู

เพราะมันคือการสำรวจความคิดเห็น ยังไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง

โพลมีหลากหลายครับ ทั้งน่าเชื่อถือ และน่าสงสัยเพราะเป็นมือปืนรับจ้าง

แต่ นิด้าโพล จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์  ถือว่าแม่น!

ใกล้เคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงมากที่สุด

การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา นิด้าโพล นี่แหละครับเป็นหนึ่งในไม่กี่โพลที่ เผยผลสำรวจว่า พรรคก้าวไกล จะเป็นพรรคอันดับหนึ่ง ได้ สส.เข้าสภามากที่สุด

แล้วมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

วานนี้ (๒๙ กันยายน) “นิด้าโพล” เผยผลการสำรวจ เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมืองรายไตรมาส ครั้งที่ ๓/๒๕๖๗”

ทำการสำรวจระหว่างวันที่ ๑๖-๒๓ กันยายน ๒๕๖๗ จากประชาชนที่มีอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน ๒,๐๐๐ หน่วยตัวอย่าง

สดๆ ร้อนๆ นี่เอง ฉะนั้นถือว่าเป็นการสำรวจบนสถานการณ์ทางการเมืองล่าสุด

จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า

อันดับ ๑ ร้อยละ ๓๑.๓๕ ระบุว่าเป็น นางสาวแพทองธาร (อุ๊งอิ๊งค์) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะมีความเป็นผู้นำ และมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ของประชาชน

อันดับ ๒ ร้อยละ ๒๓.๕๐ ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้

อันดับ ๓ ร้อยละ ๒๒.๙๐ ระบุว่าเป็น นายณัฐพงษ์  เรืองปัญญาวุฒิ (พรรคประชาชน) เพราะเป็นคนรุ่นใหม่ มีแนวคิด และทัศนคติที่ดี

อันดับ ๔ ร้อยละ ๘.๖๕ ระบุว่าเป็น นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค (พรรครวมไทยสร้างชาติ) เพราะเป็นบุคคลที่มีความน่าเชื่อถือ และมีประสบการณ์ด้านการบริหาร

อันดับ ๕ ร้อยละ ๔.๘๐ ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะมีความสามารถและประสบการณ์ในการบริหาร รวมถึงมีจุดยืนในการต่อต้านอำนาจเผด็จการทุกรูปแบบ

อันดับ ๖ ร้อยละ ๔.๐๐ ระบุว่าเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล (พรรคภูมิใจไทย) เพราะมีความเป็นกันเอง ตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์สุจริต และมีจุดยืนในการทำงานที่ชัดเจน

อันดับ ๗ ร้อยละ ๑.๑๕ ระบุว่าเป็น พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ (พรรคพลังประชารัฐ) เพราะมีความเด็ดขาด และมีประสบการณ์ทางการเมือง

ร้อยละ ๒.๘๐ ระบุอื่นๆ ได้แก่ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน  (พรรคประชาธิปัตย์) นายชวน หลีกภัย (พรรคประชาธิปัตย์) นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา (พรรคประชาชาติ) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายวราวุธ ศิลปอาชา (พรรคชาติไทยพัฒนา) พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง (พรรคประชาชาติ)  พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส (พรรคเสรีรวมไทย)  นายกรณ์ จาติกวณิช และนายพริษฐ์ วัชรสินธุ

และร้อยละ ๐.๘๕ ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

เห็นตัวเลขแล้วเป็นไงครับ

พรรคเพื่อไทยคงตีปีก ความนิยมของ "มาดามแพ" นับว่าขึ้นสูงปรี๊ดทีเดียว

เพราะเมื่อเทียบกับ การสำรวจครั้งก่อนคือ “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ ๒/๒๕๖๗" ระหว่างวันที่ ๑๔-๑๘ มิ.ย. ๒๕๖๗ ครั้งนั้น "มาดามแพ" ได้ ร้อยละ ๔.๘๕ เท่านั้นเอง 

พุ่งขึ้นมาถึงร้อยละ ๒๖.๕

ผ่านไป ๓ เดือน ถือว่าสูงมาก

มาจากหลากหลายสาเหตุครับ

สถานะทางการเมืองที่เปลี่ยนไป จากหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็นนายกรัฐมนตรี ถือว่ามีผล

ยิ่งการเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ ๒ และอายุน้อย ก็ยิ่งดึงดูดความนิยมได้ไม่น้อย

ส่วนความสามารถ และผลงาน ยังอีกไกลครับ เพราะเพิ่งเข้าบริหารประเทศแบบกระท่อนกระแท่นได้ไม่ถึงเดือน

แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นคือคะแนนนิยมของพรรคส้ม

แน่นอนครับ มันไม่ได้เป็นไปตามที่ "ด้อมส้ม" คิด

"เฮียเท้ง" มาเป็นลำดับที่ ๓ ร้อยละ ๒๒.๙๐ น้อยกว่า  อันดับ ๒ ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ แบบนี้สถานการณ์พรรคส้มไม่สู้ดีสักเท่าไหร่

เมื่อเทียบกับการสำรวจครั้งก่อนยิ่งชัดเจนขึ้นไปอีก

ครั้งที่ "มาดามแพ" ได้ ร้อยละ ๔.๘๕ นั้น "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์" ได้ร้อยละ ๔๕.๕๐

และครั้งนั้นนั่นเอง ร้อยละ ๒๐.๕๕ ไม่พบว่ามีบุคคลที่เหมาะสม

แสดงว่า ประชาชนเริ่มเผยให้เห็นที่มาของคะแนนนิยม

"ทิม" กับ "เท้ง" ทำไมความนิยมห่างกันขนาดนั้น

การสำรวจครั้งที่ ๒ ทำในเดือนมิถุนายน ก่อนการยุบพรรคก้าวไกลเดือนสิงหาคม

ไหนบอกว่า "ยิ่งยุบยิ่งโต"

ทำไมมันสวนทางได้ขนาดนั้น

ราวกับคะแนนนิยมแปรผันไปตามความหล่อ! ไม่ใช่เพราะความอัดอั้นจากการถูกรังแกทางการเมืองอย่างที่ชอบพูดกัน

จะบอกว่า "มาดามแพ" ได้รับความนิยม บนความได้เปรียบ เพราะเป็นนายกรัฐมนตรี มันก็ไม่เชิง

เพราะการสำรวจครั้งที่ ๒ "เศรษฐา ทวีสิน" นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ ร้อยละ ๑๒.๘๕ เท่านั้นเอง แพ้ "พี่ทิม" เป็นทุ่ง!

แถมเหตุผลที่กลุ่มตัวอย่างเลือก "เศรษฐา" ยังดูดีกว่า "มาดามแพ" เสียอีก

"เพราะมีความเป็นผู้นำ กล้าตัดสินใจ และมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหาของประเทศ"

งานนี้พรรคส้มจะโอดครวญว่าโพลไม่น่าเชื่อถือไม่ได้นะครับ เพราะอย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้น นิด้าโพล คือโพลที่แม่นที่สุดโพลหนึ่ง

ก็ต้องไปหาสาเหตุล่ะครับว่าเกิดอะไรขึ้น

ทำไมยิ่งยุบ แทนที่จะยิ่งโตกลับยิ่งทรุด!

ที่สำคัญยังมีคดีใหญ่คาอยู่อีก ๑ คดีนี่สิครับ

คือการยื่นร้องเอาผิดการฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรม กรณี อดีต สส. พรรคก้าวไกล ๔๔ คน ลงชื่อเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๒

ถ้าผิดก็งานช้างนะครับ

เลือกตั้งซ่อมครั้งใหญ่ทีเดียว

แถม "เฮียเท้ง" ถูกปิดสวิตช์ ตาม "ทอน-ทิม" ไปด้วย เพราะเป็น ๑ ในรายชื่อ ๔๔ สส.

แต่ดูจากท่าทีของ "ศรายุทธิ์ ใจหลัก" แม่บ้านพรรคส้ม ในแง่การทบทวนบทบาทพรรค ไม่มีการพูดถึงเลย กลับชูคนใหม่มาแทนคนเก่า

"...เราก็เห็นว่า สส.ของเรา ที่มาเป็น สส.สมัยแรกในปัจจุบัน มีพัฒนาการอย่างรวดเร็ว ดังนั้นน่าจะทดแทนขึ้นมาได้ไม่ยาก ทันเวลา..."

ก็ขอให้โชคดีครับ มีคนทันใช้

แต่อย่างน้อยควรดูคะแนนนิยมหลังจากเปลี่ยนจาก "ทอน" เป็น "ทิม" เป็น "เท้ง" ไว้เป็นกรณีศึกษา หากยังเดินแบบเดิม คนที่มารับไม้ต่อจาก "เท้ง" มีโอกาสเท่งทึงมากกว่าเกิด

ไม่ต้องเชื่อก็ได้นะครับ

เอาที่ส้มสบายใจเลย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อย่าใช้ปากคิดแทนสมอง

จบข่าวครับ... เป็นอันว่าไม่มีพรรคการเมืองไหนเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เลวลง อย่างน้อยก็ช่วงระยะเวลาอันใกล้นี้ แต่ระยะยาวรัฐธรรมนูญที่ขวางทางนักการเมืองแบบนี้เขาไม่เอาไว้หรอกครับ

บ้านพิษส่องหล้า

นานๆ ทีถึงจะได้เปิดใช้ บ้านพิษณุโลกครับ วานนี้ (๒๖ กันยายน) "มาดามแพ" นำทีมที่ปรึกษา ๕ อรหันต์ทองคำ เปิดบ้านพิษณุโลก ประชุมเรื่องการบ้านการเมือง

'พรรคส้ม' พี่เก๋าหรอ

หันหัวเรือกลับเรียบร้อย... พรรคเพื่อไทยใส่เกียร์ถอย ไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เลวลงใน ๖ ประเด็นแล้ว

ไม่ใช่จุดยืน เป็นวิถีชีวิต

ไม่ง่ายเสียแล้วครับ... พรรคภูมิใจไทยประกาศจุดยืนสวนทางกับพรรคเพื่อไทยในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั่นหมายความว่าโอกาสที่พรรคเพื่อไทยจะบรรลุเป้าหมายต้องออกแรงเพิ่มอีกหลายเท่า

ชำระบัญชีแค้น

ว่องไวเชียว... วันที่ ๑ ตุลาคมนี้ รัฐบาลเขาจะสุมหัวแก้ไขรัฐธรรมนูญกันแล้วครับ "บิ๊กอ้วน-ภูมิธรรม" จะนั่งหัวโต๊ะ เรียกพรรคร่วมรัฐบาลมาถามว่าจะเอาไงใน ๒ ประเด็น

สภาฯ จะไปทั้งยวง

ระวังจะพังทั้งสภาฯ เรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญครับ เป็นที่ชัดเจนชนิดไม่แคร์ใคร พรรคเพื่อไทย เสนอ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ทั้งสิ้น ๖ ประเด็น ประกอบด้วย