บาทแข็งลามกระทบเศรษฐกิจ

 ‘แบงก์ชาติ’ ออกมายอมรับเองตรงๆ ว่า ตอนนี้ค่าเงินบาทของไทยปรับแข็งค่าเร็วอยู่ในกลุ่มนำของทุกสกุลเงินภูมิภาค และช่วงที่ผ่านมามีการผันผวนอย่างมาก จากที่อ่อนค่าที่ 36 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ขยับมาอยู่ที่ 33 บาทต่อเหรียญสหรัฐในเวลาอันรวดเร็ว

จากความผันผวนอย่างรวดเร็วดังกล่าว ล่าสุดภาคเอกชนเริ่มออกมาส่งเสียงดังๆ ว่ากำลังได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าอย่างมาก อย่างกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ก็ระบุว่า ค่าเงินที่แข็งอยู่ในเวลานี้จะทำให้การส่งออกช่วงที่เหลือทำได้ยาก ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นผลกระทบสภาพคล่องการเงินจากการส่งออกก่อนหน้านี้ รวมทั้งเมื่อแปลงเป็นเงินบาทแล้วได้เงินกลับมาน้อยลง และคาดว่ากระทบคำสั่งซื้อช่วง พ.ย.-ธ.ค. และไตรมาสแรกปี 2568 ที่จะขายได้ยากขึ้น ความสามารถในการแข่งขันลดลง โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมาดูแลไม่เช่นนั้นจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการส่งออกมาก

สอดรับกับความเห็นของนักวิชาการ อย่าง นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แสดงความเห็นว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งมากกว่านี้ โดยจุดสำคัญที่ทำให้เกิดการแข่งขันได้ ค่าเงินบาทควรอยู่ระหว่าง 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ บวกลบไม่มากนัก

แต่ความกังวลคือ ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นรวดเร็วมาก ซึ่งหากเทียบจากต้นปี 2567 บาทแข็งขึ้นมาประมาณกว่า 3% แต่หากนับจากจุดที่อ่อนค่าบริเวณ 36.8 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ทำให้มีคำสั่งซื้อล่วงหน้า ผู้ประกอบการไทยสามารถกำหนดราคาและแข่งขันกับนานาชาติได้ เงินบาทแข็งค่าขึ้นมาแล้วเกือบ 11% ใกล้ค่าเงินริงกิตมาเลเซีย แต่เงินหยวนของจีนแข็งค่าขึ้นเพียง 3% ทำให้สินค้าเกษตรที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นสำคัญ อาทิ ข้าวไทย แข่งขันกับเวียดนาม ค่าเงินดอง แข็งค่าเพียง 3% ทำให้ความสามารถในการแข่งขันของข้าวไทยมีอุปสรรคง่ายมาก ซึ่งขณะนี้ข้าวไทยกลายเป็นเบอร์ 3 แล้ว จากที่เคยอยู่เบอร์ 1 มาตลอด

นายธนวรรธน์ยังเสนอความเห็นว่า การลดดอกเบี้ยอาจเป็นปัจจัยหนึ่งในการทำให้ค่าเงินบาทไม่แข็งเกินไป และเศรษฐกิจไทยกำลังจะฟื้นตัว การลดดอกเบี้ยอาจเป็นตัวช่วยให้การเข้าถึงสินเชื่อง่ายขึ้น เป็นตัวสอดประสานนโยบายของ ธปท.ในการปรับโครงสร้างหนี้ที่ยืนยันว่าเป็นการแก้ไขหนี้ครัวเรือนได้ดีที่สุด แต่การตัดสินใจของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็ถือเป็นจุดสุดท้าย ที่เชื่อว่าคงตัดสินอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับประเทศไทย

สอดรับกับกระทรวงพาณิชย์ที่จะเกาะติดสถานการณ์การส่งออก ที่ก็ชัดเจนว่า หลังจากนี้ต้องจับตาปัจจัยที่อาจกระทบต่อการส่งออกไทยในระยะถัดไป อาทิ ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ไม่แน่นอนสูง ค่าเงินบาทที่ยังแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง และปัญหาอุทกภัยในประเทศที่อาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตร

ดังนั้น จากนี้ที่ต้องเกาะติดคือ ท่าทีของ ธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งในสัปดาห์นี้ นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ได้นัดหารือกับนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับภาพรวมกรอบเงินเฟ้อ ภาพรวมนโยบายการเงินและการคลัง เพื่อหวังให้หน่วยงานทางเศรษฐกิจต้องทำงานร่วมกัน สอดประสานกัน การมองภาพรวมและทิศทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นการพูดคุยภายใน โดยยืนยันว่ากระทรวงการคลังมีทิศทางที่จะไปหารือแล้ว หากได้ข้อสรุปจะชี้แจงให้ทราบอีกครั้ง

โดยในมุมมองของนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง ส่งสัญญาณว่า ค่อนข้างกังวลกับค่าเงินบาทแข็ง เพราะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งทั้งสองส่วนถือเป็นรายได้หลักของประเทศ โดยสถานการณ์อัตราแลกเปลี่ยนในขณะนี้ มี 2 เรื่องหลัก คือ 1.ค่าเงินบาทผันผวน และ 2.เงินบาทแข็งค่า โดยเป็นการแข็งค่ากว่าภูมิภาค แข็งค่ากว่าคู่ค้า แข็งค่ากว่าคู่แข่ง

สถานการณ์ค่าเงินบาทในขณะนี้เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องมานั่งจับเข่าและหาข้อสรุปร่วมกัน จะปล่อยให้สถานการณ์เป็นไปแบบนี้ไม่ได้ โดยมองว่าการที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นขนาดไหนอยู่ที่ทิศทางการเงินของโลกเป็นหลัก ซึ่งขณะนี้นโยบายการเงินของโลกเราเห็นการลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นหลักในทุกๆ ภูมิภาค และอัตโนมัติ คือเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น ดังนั้นหากเราไม่ทำอะไร มันก็จะเป็นสัญญาณที่ไม่ดี

ดังนั้น ต้องจับตาผลการหารือกันระหว่างแบงก์ชาติกับกระทรวงการคลัง ว่าผลจะออกมาอย่างไร.

 

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ของขวัญรัฐบาล

อีกไม่ถึง 2 สัปดาห์ก็จะเข้าสู่ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่แล้ว ก็เป็นธรรมเนียมของรัฐบาลและ ครม.ที่จะมีมาตรการเป็นของขวัญมอบให้กับประชาชน ซึ่งการประชุม ครม.ล่าสุดเริ่มมีการเคาะมาตรการต่างๆ ออกมาช่วยเหลือประชาชนกันแล้ว

ยกระดับธุรกิจไทยแข่งขันเวทีโลก

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM BANK คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 3% ด้วยแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากการใช้จ่ายภาครัฐ

ปี68ธุรกิจบริการอาหารยังโตต่อเนื่อง!

“ธุรกิจบริการอาหาร” ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจับตาในปี 2568 จากอานิสงส์ท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งส่งผลให้การบริโภคอาหารน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐยังมีการอัดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ดันSMEอีอีซีบุกตลาดตปท.

ที่ผ่านมารัฐบาลอาจจะยังไม่ได้พูดถึงโครงการพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี มากนัก เนื่องจากคงจะยุ่งกับการบริหารงานในแนวทางอื่นๆ อยู่ แต่กับหน่วยงานอย่างสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

โรงไฟฟ้าฟอสซิลต้นทุนพุ่งโตช้า

ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นตามอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ธุรกิจโรงไฟฟ้าฟอสซิลยังคงมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง ซึ่ง ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2568 ความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคธุรกิจจะโต 1% ชะลอลงจาก 2.8% ในปี 2567 จากการใช้ไฟฟ้าในภาคการผลิตและภาคบริการที่เพิ่ม

เคลียร์ปมสถานีอยุธยา

เมื่อพูดถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน (ไฮสปีดเทรนไทย-จีน) ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) พบว่าปัจจุบันงานโยธาทั้ง 14 สัญญาคืบหน้าไม่สอดคล้องกัน รวมทั้งปัจจุบันยังมีอีก 2