รัฐธรรมนูญของไทยฉบับ 2560 ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง เมื่อมีการทำประชามติจึงมีประชาชนมากกว่า 16 ล้านคนยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะมีบทบัญญัติที่ทำให้คนเลว คนชั่ว คนขี้โกง คนทำผิดกฎหมาย คนไม่ซื่อสัตย์สุจริต คนที่ไม่มีจริยธรรม จะเข้ามาดำรงตำแหน่งบริหารรับผิดชอบบ้านเมืองไม่ได้ หรือได้ยากมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็มีบทลงโทษสำหรับคนที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ไม่ประพฤติปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมจะต้องถูกลงโทษรุนแรง ทั้งคดีความที่ไม่มีวันหมดอายุ ต้องติดคุกติดตะรางยาวนานถึง 15 ปีไปจนถึงตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต ถ้าไม่ติดคุกติดตะรางก็จะถูกตัดสิทธิไม่ให้เข้ามาอยู่ในแวดวงการเมือง 5 ปี 10 ปี หรือตลอดชีวิต เมื่อการเข้าดำรงตำแหน่งมันยาก และการถูกถอดถอนให้หลุดออก
จากตำแหน่งมันดูง่ายเกินไปในสายตาของนักการเมืองบางคน ทำให้พวกเขามุ่งที่จะแก้รัฐธรรมนูญทันทีที่ได้อำนาจในการบริหารบ้านเมือง พวกเขากลัวบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกงเหมือนผีกลัวใบหนาด กลัวสายสิญจน์
พวกเขามองว่าการตีความเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นประจักษ์ และการไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงเป็นการตีความที่กว้างเกินไป เป็นการย้อนไปในอดีตไกลเกินไป และมีบทลงโทษที่รุนแรงเกินไป ทำให้หลายคนออกมาตั้งคำถามกับพวกเขาว่า ถ้าหากประพฤติตนเป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ไม่เคยคดโกง ไม่เคยทำผิดกฎหมาย ไม่เคยติดคุกติดตะรางมาก่อน เป็นคนรู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี ยึดหลักของการทำดี ละเว้นการทำชั่ว จะกลัวอะไรกับการตรวจสอบทางจริยธรรม เพราะคนทำดีมาตลอด ไม่เคยทำชั่ว ตรวจสอบไปก็คงไม่เจออะไรที่เสียหาย “คนไม่ได้ทำชั่ว ย่อมไม่กลัวการตรวจสอบจริยธรรม” คนที่กลัวการตรวจสอบจริยธรรมน่าจะเป็นคนที่รู้ตัวดีว่าเคยประพฤติผิดคิดไม่ชอบมาก่อน และเมื่อถูกตรวจสอบก็จะพบว่าเป็นคนที่ไม่ได้ปฏิบัติตนตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ส่วนเรื่องต้องเป็นผู้ซื่อสัตย์สุจริตนั้นเป็นเชิงประจักษ์นั้น เขาก็ต้องการให้แก้ว่า “ไม่มีพฤติกรรมหรือการกระทำที่ประจักษ์ว่าไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต” และการจะตัดสินในประเด็นนี้ให้จำกัดเฉพาะคนที่มีคดีอยู่ในชั้นศาลฎีกา และให้มองไปแค่หลังจากวันที่มีประกาศแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้แล้วเท่านั้น ไม่ให้มองไปไกลในอดีต การที่พวกเขาคิดจะแก้แบบนี้ ดูเหมือนว่าพวกเขาน่าจะเคยทำอะไรบางอย่างที่ไม่ซื่อสัตย์สุจริตที่อาจจะไม่โดนคดีเพราะหลักฐานไม่เพียงพอ หรือถ้ามีคดีก็อาจจะยังอยู่ในชั้นศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ ทำให้คนที่มีความประพฤติไม่ซื่อสัตย์สุจริตในอดีตที่หลุดรอดจากการถูกฟ้อง หรือถูกฟ้องแต่คดียังไม่ถึงชั้นศาลฎีกา สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีได้ แบบนี้ก็ทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าพวกเขาพยายามจะแก้รัฐธรรมนูญให้พวกเขาสามารถเข้าสู่ตำแหน่งบริหารได้ง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันเขาก็ต้องการที่จะให้ลดโทษจากการทำผิดของพวกเขาให้น้อยลง จึงมีคนพูดกันว่า “คนเราหากไม่เคยหรือไม่คิดทำระยำอะไร จะกลัวทำไมกับบทลงโทษของการทำผิดกฎหมาย” เพราะคนเราถ้าหากไม่ทำผิดกฎหมาย ต่อให้บทลงโทษรุนแรงแค่ไหน จะไปกลัวทำไม เมื่อไม่ได้ทำชั่ว ทำระยำอะไร ก็จะไม่โดนลงโทษตามบทบัญญัตินั้น
รัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2560 บัดนี้ใช้มาแล้ว 7 ปี ก็ไม่เห็นว่าจะมีบทบัญญัติใดที่สร้างปัญหาให้ประเทศชาติ พวกเขาที่ต้องการจะแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้บางมาตรา โดยอ้างว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยบ้าง เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างตามคำสั่งของเผด็จการบ้าง เป็นรัฐธรรมนูญเพื่อการสืบทอดอำนาจบ้าง ถ้าหากรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเผด็จการจริง คนที่ด่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา สาดเสียเทเสีย ทำไมไม่โดนคุกคาม ไม่โดนตัดสินแบบที่ผู้นำลุแก่อำนาจล่ะ ถ้าหากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เป็นประชาธิปไตยเราจะมีการเลือกตั้งได้อย่างไร ถ้าหากรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการสืบทอดอำนาจ ทำไมพรรครวมไทยสร้างชาติที่เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จึงไม่ชนะการเลือกตั้งแล้วเอาตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใส่พานให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ และพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ไม่ได้ตำแหน่งใดๆ หลังจากการเลือกตั้งปี 2566 ล่ะ ไม่มีหรอกการสืบทอดอำนาจ ตอนนี้เห็นแต่คณะรัฐมนตรีสืบสันดาน จากพ่อสู่ลูก จากพี่สู่น้อง และจากลูกสู่พ่อเท่านั้น
หยุดคิดที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเชิงประจักษ์ และการปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมสำหรับคนที่จะเข้าดำรงตำแหน่งเป็นผู้บริหารประเทศเถอะนะ เพราะการแก้ไขทั้ง 6 ประเด็นนั้น ไม่เห็นว่ามันแก้ไขปัญหาความไม่เป็นประชาธิปไตยตรงไหน มันแก้ปัญหาความเป็นเผด็จการตรงไหน และมองไม่เห็นว่าประชาชนจะได้อะไรจากการแก้ไขทั้ง 6 ประเด็นที่เสนอมา มันมีความพยายามที่จะแก้เพื่อประโยชน์ของนักการเมืองที่ต้องการเข้าสู่อำนาจให้ง่ายขึ้น และต้องการให้การหลุดออกจากตำแหน่งทำได้ยากขึ้นเท่านั้น ประชาชนเขาไม่เห็นด้วย มีเสียงคัดค้านกระหึ่มใน social media พร้อมคำถามที่ว่า “ไม่คิดจะทำชั่ว ไยกลัวเรื่องจริยธรรม ไม่คิดจะทำระยำ ไยกลัวกฎหมาย” ที่กำลังขับเคลื่อนอยู่เวลานี้ ประชาชนรู้ทัน และไม่ได้เห็นแค่ลิ้นไก่นะ เขาเห็นไปถึงไส้ติ่งเลย อย่าทำสิ่งที่เป็นการวางระเบิดให้ตัวเองเลยนะ
ความซื่อสัตย์สุจริต และการมีจริยธรรมเป็นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ถ้าหากไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นเชิงประจักษ์ และไม่รู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี ไม่มีศีลธรรม ไม่มีคุณธรรม ทำสิ่งที่ผิดมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง อย่าว่าแต่จะมาเป็นผู้บริหารบ้านเมืองเลย แค่เป็นคนก็ยังเป็นไม่ได้เลย ถอยเถอะนะ อย่าดันทุรังเลย อย่าคิดว่ามีอำนาจแล้วจะทำอะไรก็ได้โดยไม่เห็นหัวประชาชน เวลานี้ประชาชนก็กำลังทนกับสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควรของรัฐบาลนี้มากพอแล้ว แต่พวกเราก็ยังให้โอกาส เผื่อจะทำงานที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนให้ได้ชื่นใจบ้าง อย่าให้ประชาชนหมดความอดทนเลยนะคะ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
มาเป็นชุด! 'ดร.เสรี' ฟาดคนโอหัง ความรู้ไม่มี ทักษะไม่มี ไร้ภาวะผู้นำ น่าสมเพชอย่างแท้จริง
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า เตือนก็แล้ว ตำหนิก็แล้ว ต่อว่าก็แล้ว เยาะเย้ยก็แล้ว ล้อเลียนก็แ
ข้าอยากได้อะไร...ข้าต้องได้
เราคนไทยมักจะอ้างว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐ มีการบริหารกิจการต่างๆ ภายในประเทศตามหลักการของนิติธรรม แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเวลานี้ หลายคนเริ่มตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราเป็นนิติรัฐจริงหรือ
เมื่อ 'ธรรมชาติ' กำลังแก้แค้น-เอาคืน!!!
เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา กรมอุตุนิยมวิทยาของบ้านเรา...ท่านเคยคาดๆ ไว้ว่า ฤดูหนาว ปีนี้น่าจะมาถึงประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม
จ่ายเงินซื้อเก้าอี้!
ไม่รู้ว่าหมายถึง "กรมปทุมวัน" ยุคใด สมัยใคร จ่ายเงินซื้อเก้าอี้ ซื้อตำแหน่ง ในการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ ตามที่ "ทักษิณ ชินวัตร" สทร.แห่งพรรคเพื่อไทย ประกาศเสียงดังฟังชัดในระหว่างขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก
ช่วงเค้าลางคดีสำคัญของนายกรัฐมนตรีก่อตัวในดวงเมือง
ขอพักการทำนายเค้าโครงชีวิตคนปี 2568 ไว้ชั่วคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งคิวที่รออยู่คือท่านที่ลัคนาสถิตราศีตุล
ดร.เสรี ยกวาทะจัญไรแห่งปี 'เขาเว้นเกาะกูดให้เรา'
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสาร โพสต์เฟซบุ๊กว่า ประโยควาทะอัปรีย์จัญไรแห่งปี "เขาเว้นเกาะกูดให้เรา" แสดงว่าเขาเมตตาเราสินะ เราต้องขอบคุณเขา สำนึกบุญคุณเขาใช่ไหม