เหตุการณ์เฟซบุ๊กและโซเชียลมีเดียในเครือของ “มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก” ล่มนาน 6 ชั่วโมงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เหมือนว่าจะพอกลบกระแสความฉาวโฉ่เน่าในของเฟซบุ๊กจากการเปิดเผยของอดีตลูกจ้างคนสำคัญไปได้บ้าง แต่ห่างกันแค่วันเดียวเธอได้ไปให้ข้อมูลกับวุฒิสภาสหรัฐ จากนั้นก็พูดคุยกับสภาของอียู เรื่องจึงอยู่ในความสนใจของคนทั่วโลกในเวลานี้
“การศึกษาวิจัยของบริษัทพบว่า ข้อมูลเท็จ เนื้อหาที่เป็นพิษและเต็มไปด้วยความรุนแรงถูกแชร์โดยผู้ใช้งานนับไม่ถ้วน ซ้ำยังถูกส่งเสริมโปรโมตโดยระบบของบริษัทเอง” คือเหตุผลที่ “ฟรานเซส เฮาเกน” นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ แผนกจริยธรรมพลเมือง (Civil Integrity) วัย 37 ปี ลาออกมาจากเฟซบุ๊กเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
จากนั้นเฮาเกนหอบเอกสารภายในกว่า 1 พันหน้ากระดาษไปให้ “เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัล” ตีพิมพ์เป็นรายงานจำนวน 9 หัวข้อ ค่อยๆ ทยอยเผยแพร่ออกมาตั้งแต่กลางเดือนที่แล้ว
หัวข้อแรกที่ขอนำมาขยายคือการให้อภิสิทธิ์กับผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กบางกลุ่ม-บางคนให้กลายเป็นชนชั้นสูง ได้รับการยกเว้นจากกฎระเบียบที่กำหนดไว้เอง
มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เคยกล่าวไว้ว่า ผู้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กทั่วไปมากกว่า 3 พันล้านคนจะได้พูด ได้แสดงออกเท่าเทียมกัน ข้อกำหนดต่างๆ ถูกนำมาใช้ต่อทุกคนเสมอกัน ไม่เกี่ยงสถานะและชื่อเสียง แต่ในทางลับ เฟซบุ๊กได้สร้างระบบที่ผู้ใช้บัญชีบางคนได้รับการยกเว้นจากกฎบางข้อหรือทุกข้อ
โปรแกรม Cross Check หรือ XCheck ที่แรกเริ่มหมายจะนำมาใช้กับบัญชี “ไฮ-โปรโฟล์” ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นดารา นักร้อง นักการเมือง และสื่อมวลชนคนดัง ปรากฏว่าเอกสารภายในของเฟซบุ๊กเองที่แสดงว่าเวลานี้มีบัญชีวีไอพีนับล้านได้รับการพิทักษ์จากการละเมิดกฎต่างๆ ของเฟซบุ๊ก กลุ่มบัญชีเหล่านี้ถูกเรียกว่าเป็นพวก “ไวต์ลิสต์”
“เฟซบุ๊กไม่ได้ทำสิ่งที่ประกาศกับสาธารณะ... สำหรับสมาชิกเฟซบุ๊กกลุ่มหนึ่ง เราไม่ได้บังคับใช้นโยบายและมาตรฐานเดียวกัน คนเหล่านี้สามารถละเมิดมาตรฐานของเราได้โดยที่ไม่ต้องรับผลที่ตามมา” เอกสารทบทวนการปฏิบัติงานภายในระบุไว้
หัวข้อใหญ่ต่อมาได้แก่ความพยายามที่จะดึงดูดให้เด็กก่อนวัยรุ่น (Preteen หรือ Tween) หันมาใช้เฟซบุ๊ก โดยได้วางแผนและทำงานอย่างหนักมาหลายปีที่จะสร้างเนื้อหาหรือผลิตภัณฑ์เพื่อล่อตาล่อใจกลุ่ม Preteen เนื่องจากเด็กๆ กลุ่มนี้กำลังให้ความสนใจสื่อสังคมออนไลน์ของคู่แข่งอย่าง Snapchat และ TikTok มากกว่า การสูญเสียกลุ่มผู้ใช้หน้าใหม่วัยเยาว์จะเป็นความเสี่ยงต่ออนาคตของบริษัทเฟซบุ๊ก
เอกสารภายในที่เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลได้รับแสดงให้เห็นว่า เฟซบุ๊กตั้งทีมศึกษากลุ่ม Preteen (อายุระหว่าง 10-12 ปี) อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ตั้งเป้า 3 ปีสร้างเนื้อหาหรือผลิตภัณฑ์ให้กับกลุ่มนี้ และมียุทธศาสตร์เกี่ยวกับโอกาสทางธุรกิจระยะยาวที่กลุ่มผู้ใช้รุ่นเยาว์จะมอบให้
ในการนำเสนอพรีเซนเตชันครั้งหนึ่ง เฟซบุ๊กถึงกับพิจารณากันว่าจะหาหนทางหรืองัดกลยุทธ์ใดออกมาเพื่อเข้าถึงและให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในระหว่าง Play Date หรือการที่พ่อแม่นัดให้ลูกๆ รุ่นเดียวกันมาพบเจอเพื่อเล่นสนุกกัน
“เราจะเป็นห่วงเด็กๆ ก่อนวัยรุ่น (tween) ไปทำไม พวกเขาถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่มีมูลค่า แต่ยังไม่ถูกกระตุ้น” เอกสารในปี 2020 ระบุ
ทั้งๆ ที่งานศึกษาวิจัยของเฟซบุ๊กเองได้ชี้ให้เห็นว่าอินสตาแกรม (หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นโซเชียลมีเดียน้องสาวของเฟซบุ๊ก) ส่งผลในทางลบต่อสุขภาพจิตของกลุ่มผู้ใช้วัยรุ่น โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิง เฟซบุ๊กก็เพิ่งจะประกาศระงับการพัฒนาแอปพลิเคชัน “Instagram Kids” สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีไปเมื่อไม่นานมานี้ แต่ก็ไม่วายที่หัวเรือใหญ่ของอินสตาแกรม “อดัม มอสเซรี” จะโต้แย้งว่าหากไม่มีอินสตาแกรมสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีออกมา เด็กๆ ก็จะโกหกอายุในการสมัครใช้แอปอยู่ร่ำไป
ฝ่ายศึกษาวิจัยของเฟซบุ๊กได้แบ่งกลุ่มอายุช่วงต่างๆ สำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในอนาคตไว้ 6 กลุ่ม ได้แก่ อายุ 16 ปีขึ้นไป, อายุระหว่าง 13-15 ปี, อายุระหว่าง 10-12 ปี, อายุระหว่าง 5-9 ขวบ และเด็กอายุ 0-4 ขวบ ปี 2017 เฟซบุ๊กได้เปิดตัวแอป Messenger Kids สำหรับเด็กอายุ 6-10 ขวบ ที่ต้องมีการควบคุมโดยผู้ปกครอง เฟซบุ๊กหมายมั่นว่าเด็กๆ ที่ใช้ผลิตภัณฑ์ (ที่อ้างว่า) เป็นมิตรกับครอบครัวแอปนี้เมื่ออายุถึงเกณฑ์ก็จะกระโจนเข้าสู่แพลตฟอร์มหลักๆ ของบริษัทในที่สุด
“เป้าหมายของเราคือการส่งสารแต่เนิ่นๆ ไปยังเด็กก่อนวัยรุ่นในสหรัฐ ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเอาชนะใจพวกเขาได้เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น” เอกสารชิ้นหนึ่งระบุ
เฟซบุ๊กกำลังพึ่งพาอินสตาแกรมในการมัดใจหรือ “รีครูต” กลุ่มผู้ใช้รุ่นเยาว์เพื่อความหวังที่ว่าเมื่อเด็กวัยรุ่นโตขึ้นพวกเขาก็ใช้แพลตฟอร์มอื่นๆ สำหรับผู้ใหญ่ต่อไป เอกสารในเดือนพฤศจิกายน ปี 2020 ระบุว่าเป้าหมายสูงสุดคือการยกระดับเฟซบุ๊กให้เป็นเหมือน “โค้ชชีวิตสำหรับการเติบโตเป็นผู้ใหญ่”
อีกประเด็นใหญ่ก็คือการเปลี่ยนแปลงอัลกอริทึมในปี 2018 ที่ตอนนั้นซัคเกอร์เบิร์กประกาศไว้อย่างเท่ๆ ว่าจะลดการปรากฏของข่าวสาร เนื้อหาจากเอกชน หรือคนดัง และจะเพิ่มการปรากฏของโพสต์จากเพื่อนและครอบครัวให้มากขึ้นเพราะเขาคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนรู้จักที่ต้องมาก่อน เรียกว่า Meaningful Social Interactions หรือปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่มีความหมาย
ก่อนหน้าประกาศดังกล่าวของซัคเกอร์เบิร์ก การเข้าใช้และการมีส่วนร่วมของผู้ใช้เฟซบุ๊กลดลงไปอย่างมาก และผลที่ออกมาหลังจากเปลี่ยนแปลงอัลกอริทึมก็คือโพสต์ที่ปรากฏในหน้าเฟซบุ๊กส่วนใหญ่กลับเป็นโพสต์ที่สร้างความขัดแย้ง เกลียดชัง กระตุ้นอารมณ์เดือดดาล แต่มียอดแชร์และคอมเมนต์สูงลิ่ว
พรรคการเมืองดังพรรคหนึ่งในโปแลนด์เปลี่ยนเนื้อหาการโพสต์ลงในเพจเฟซบุ๊กของพรรคจากเนื้อหาเชิงบวก 50 เปอร์เซ็นต์ และเนื้อหาเชิงลบ 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นเนื้อหาเชิงลบถึง 80 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะเนื้อหาโจมตีฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรง เพราะมีคนเข้าถึงเนื้อหาเชิงลบมากกว่านั่นเอง ซึ่งนี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าการโพสต์ที่เร้าอารมณ์โกรธเกลียดสามารถกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้ใช้มากขึ้น
บรรดานักวิทยาศาสตร์ข้อมูลของแผนกจริยธรรมพลเมืองได้บอกถึงความกังวลให้ซัคเกอร์เบิร์กรับทราบ และเสนอแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัลกอริทึมที่ให้รางวัลกับความก้าวร้าวและความเท็จ แต่ซัคเกอร์เบิร์กยืนยันจะไม่เปลี่ยนแปลงแก้ไขในหลายๆ ข้อท้วงติง เขากลัวผู้ใช้จะมีปฏิสัมพันธ์กับเฟซบุ๊กลดลง ซึ่งนั้นจะส่งผลต่อเม็ดเงินโฆษณา
เฟซบุ๊กได้ยุบแผนกจริยธรรมพลเมืองลงหลังการเลือกตั้งสหรัฐผ่านไปเมื่อปลายปีที่แล้ว “เฮาเกน” ลาออกจากเฟซบุ๊กในเดือนพฤษภาคม และเริ่มภารกิจส่งเสียงจุดประเด็นการไร้ความรับผิดชอบชองเฟซบุ๊กต่อสังคม เธอบอกว่าเอกสารที่เธอนำมาเปิดเผยนั้นพนักงานเฟซบุ๊ก 60,000 คน ก็สามารถเข้าถึงได้เช่นกัน
ยังมีหัวข้ออื่นๆ ที่เดอะวอลล์สตรีทเจอร์นัลพิมพ์เผยแพร่ อาทิ
- เฟซบุ๊กทราบดีว่าอินสตาแกรมส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของเยาวชนเพศหญิงจำนวนมาก ทำให้เกิดความคิดที่จะฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้น 13.5 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับปิดเงียบและไม่ยอมเปิดเผยรายงานต่อสาธารณะและต่อหลายฝ่ายที่ร้องขอ
- เฟซบุ๊กปล่อยให้ข้อมูลเท็จเรื่องวัคซีนโควิด-19 กระจายเกลื่อนในแพลตฟอร์มโดยจัดการแก้ไขได้อย่างกะพร่องกะแพร่ง
- เฟซบุ๊กตอบสนองต่อเบาะแสเกี่ยวกับผู้ที่ใช้บัญชีในทางผิดกฎหมายและจริยธรรมได้ไม่ดีพอ เปิดพื้นที่ให้ผู้ค้ายาเสพติด ค้ากาม และค้ามนุษย์ เฟซบุ๊กทะลุทะลวงเข้าไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่มีปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน แต่มีพนักงานและผู้เชี่ยวชาญเพียงหยิบมือ
กลางสัปดาห์ที่ผ่านมาเฮาเกนพูดคุยทางออนไลน์กับผู้นำระดับกำหนดนโยบายในยุโรปเรื่องการควบคุมและกำกับดูแลธุรกิจโซเชียลมีเดีย เพราะยุโรปมักจะมีกฎหมายออกมาใช้ปกป้องพลเมืองตัวเองจากการถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลและการผูกขาดด้านต่างๆ ก่อนที่อื่นๆ ในโลก
จากการพูดคุยกับคณะกรรมาธิการยุโรป มีความเป็นไปได้ว่าต้นปีหน้ากฎข้อบังคับที่เข้มงวดจะถูกนำมาใช้กับเฟซบุ๊กและบริษัทที่ให้บริการทางด้านอินเทอร์เน็ตทั้งหลาย รวมถึงผลักดันให้เกิดกฎการแข่งขันที่เป็นธรรมเพื่อลดการครอบงำเศรษฐกิจดิจิตอลของบรรดาแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ สิ่งที่ยุโรปรับรู้จากข้อมูลของเฮาเกนทำให้พวกเขายิ่งต้องเร่งดำเนินการ
อเล็กซานดรา กีส ผู้แทนในสภายุโรปจากเยอรมนี ซึ่งได้พูดคุยกับเฮาเกนก่อนหน้านี้มาสักระยะ กล่าวว่า ความน่าเชื่อถือที่บริษัทอาจมีอยู่บ้างก็ได้ถูกทำลายลงไปจนหมด เราทราบแล้วว่าเราต้องกำกับดูแลเนื่องจากบริษัทจะไม่หยุดละเมิด และเป็นการละเมิดที่กระทำต่อประชาชนและประชาธิปไตย
คริสเตล ชอลเดโมเซ สมาชิกสภายุโรปจากเดนมาร์ก ผู้มีบทบาทในการร่างกฎหมายบริการดิจิตอล ก็กล่าวว่า เฮาเกนยืนยันให้ควบคุมแพลตฟอร์มต่างๆ ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เธอกำลังร่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับความโปร่งใสและความรับผิดชอบของอัลกอริทึม
เฮาเกนมีกำหนดเดินทางไปยังยุโรปในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เพื่อพบกับผู้ดูแลด้านนโยบายเกี่ยวกับโซเซียลมีเดียในสหภาพยุโรป และจะขึ้นปาฐกถาในงาน Web Summit ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่โปรตุเกส นอกจากนี้ก็จะเข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการร่างกฎหมายของอังกฤษด้วย ซึ่งเวลานี้กำลังเขียนกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตใหม่ที่ให้อำนาจรัฐในการตรวจสอบสื่อออนไลน์ที่ไม่สามารถจัดการกับเนื้อหาอันตรายต่อเยาวชน รวมถึงการปรับเงินและบทลงโทษต่างๆ
เวลานี้เฟซบุ๊กและบริษัทเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารจากซิลิคอนวัลเลย์กำลังใช้พลังในการล็อบบี้ในยุโรปอย่างหนัก เพราะกลัวว่าหากการกำกับดูแลชนิดเข้มงวดถูกนำมาใช้ยุโรป ที่อื่นๆ ในโลกก็จะนำไปปฏิบัติเช่นกัน
ข้อมูลจากกลุ่มเฝ้าระวัง Corporate Europe Observatory ชี้ว่า ในกรุงบรัสเซลส์ซึ่งรัฐสภายุโรปตั้งอยู่ บริษัทยักษ์ใหญ่อินเทอร์เน็ตใช้เงินในการล็อบบี้ไปมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นใด มากกว่ากลุ่มบริษัทยาและเวชภัณฑ์ กลุ่มพลังงาน การเงิน และอุตสาหกรรมเคมี
เควิน รูส คอลัมนิสต์ด้านเทคโลยีของนิวยอร์กไทม์ ให้ความเห็นเมื่อไม่นานมานี้ว่า เฟซบุ๊กกำลังประสบปัญหา ซึ่งไม่ใช่ปัญหาทางการการเงิน ทางกฎหมาย และปัญหากับวุฒิสมาชิก แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความเสื่อมถอย เป็นสิ่งที่ผู้มีประสบการณ์เกี่ยวกับการล่มสลายของธุรกิจมาก่อนสามารถมองเห็น
เมฆฝนแห่งความน่าสะพรึงกำลังก่อตัวและกางขึงเหนือท้องฟ้าบริษัทแห่งนี้ จะนำไปสู่การดิ้นรนหาหนทางออกที่ยุ่งยาก ความเสื่อมถอยแบบนี้ไม่จำเป็นต้องมองเห็นมาจากข้างนอก แต่ผู้อยู่ภายในมองออก แต่ละวันพวกเขาเห็นสัญญาณ ทั้งการจารกรรมข้อมูลผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้น แกนหลักของบริษัทเริ่มกระสับกระส่าย ความหวาดระแวงของผู้บริหาร การหันหลังให้ของผู้ร่วมงานพรสวรรค์สูง
สิ่งที่คอลัมนิสต์ผู้นี้มองว่าเฟซบุ๊กกำลังเดินถอยหลังอย่างแท้จริง ก็คือการวางแผนการตลาดไปยังกลุ่มเด็กก่อนวัยรุ่น เพราะเป็นอะไรที่ดูสิ้นหวังอย่างยิ่ง
ตัวเลขทางสถิติไม่เคยโกหก นั่นคือการใช้เฟซบุ๊กของกลุ่มวัยรุ่นในสหรัฐลดลงมาหลายปีแล้ว และน่าจะตกลงไปอีกในอนาคตอันใกล้ การสำรวจศึกษาภายในประเมินว่าการใช้งานประจำวันจะลดลงไป 45 เปอร์เซ็นต์ในปี 2023 ส่วนอินสตาแกรมที่เข้ามาชดเชยการดิ่งหัวของตัวเลขผู้ใช้เฟซบุ๊กรุ่นเยาว์ก็กำลังสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับคู่แข่งอย่าง TikTok อย่างรวดเร็ว ผู้ใช้วัยใสไม่โพสต์เนื้อหาเท่าเมื่อก่อน เพราะเด็กๆ และวัยรุ่นมองว่า “เฟซบุ๊กเป็นโซเชียลมีเดียสำหรับคนแก่”
อาจจะเร็วเกินไปที่จะบอกว่าเฟซบุ๊กตายแน่ๆ รายได้จากโฆษณายังมหาศาล และบางผลิตภัณฑ์ของพวกเขามีผู้ใช้สูงในช่วงการระบาดของโควิด-19 ผู้ใช้นอกสหรัฐยังเพิ่มขึ้น แต่ประวัติศาสตร์สอนเราว่ายากมากที่โซเชียลเน็ตเวิร์กจะเติบโตตลอดไปอย่างสง่างาม และส่วนมากแล้วมักจะสร้างความเสียหายใหญ่หลวงระหว่างทางที่กลิ้งลงเหว ยกตัวอย่าง MySpace ที่เติบโตเร็วก่อนจะกลายเป็นจุดรวมของสแปม จากนั้นก็ร้าง และจบลงด้วยการขายข้อมูลผู้ใช้ให้กับบริษัทโฆษณา
อย่างไรก็ตาม เฟซบุ๊กยังคงมีพลังอำนาจ พวกเขากำลังอยู่ในช่วงขาลงก็จริง แต่พวกเขาก็ยังคงเป็นหนึ่งในบริษัทที่มีอิทธิพลสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ มีความสามารถในการกำหนดผู้ชนะทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมทั่วโลก.
อ้างอิง
- wsj.com/articles/the-facebook-files-11631713039
- wsj.com/articles/facebook-files-xcheck-zuckerberg-elite-rules-11631541353?mod=article_inline
- nytimes.com/2021/10/04/technology/facebook-files.html?
- nytimes.com/2021/10/06/technology/facebook-european-union-regulation.html
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เจาะแผนลับสหรัฐเตรียมอุ้ม ‘จูเลียน อัสซานจ์’
เมื่อปี 2017 ช่วงที่ “จูเลียน อัสซานจ์” ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ลี้ภัยอยู่ในสถานทูตเอกวาดอร์ ประจำกรุงลอนดอน ได้ปีที่ 5 เขาคงไม่รู้ว่า ไมค์ ปอมเปโอ, ซีไอเอ และรัฐบาลทรัมป์กำลังพิจารณาอุ้มหรือฆ่าเขา