'ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน'ยังสดใส!!

 “ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน” เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต เพราะเกี่ยวเนื่องกับการดูแลสุขภาพและการรักษาชีวิตผู้คน อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูง ซึ่งนอกจากจะสะท้อนจากตัวเลขรายได้ของธุรกิจที่มีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทแล้ว ยังมีเครื่องชี้สำคัญคือ สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพโดยภาคเอกชน (Private Health Expenditure) มากกว่า 50% เกิดขึ้นในโรงพยาบาล แม้ผลบวกจากโควิด-19 จะทยอยหมดลง แต่ค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพโดยภาคเอกชนในปี 2566 ยังมีมูลค่าสูงถึง 5.86 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพโดยภาคเอกชนมีมูลค่ากว่า 3.05 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมาเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่า ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ฟื้นตัวได้เร็ว หลังเผชิญภาวะวิกฤตที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างรุนแรง และยังมีศักยภาพที่จะเติบโตในอนาคต ทั้งในด้านมูลค่าและการลงทุน

อย่างไรก็ดี แม้ว่าธุรกิจจะมีแนวโน้มเติบโต แต่ก็ยังมีปัจจัยท้าทายอีกหลายประการ ทั้งจากปัญหาด้านกำลังซื้อในประเทศ ปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงการฟื้นตัวของคนไข้ต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ที่อาจจะต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากการที่ช่วงชิงการเป็นผู้นำด้าน Medical Hub ของหลายประเทศ ขณะที่ต้นทุนการดำเนินงานที่สูง ทั้งจากอัตราดอกเบี้ย ค่าไฟฟ้า รวมไปถึงต้นทุนในการปรับปรุงทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานและการดำเนินงานให้เป็นไปตามหลัก ESG ซึ่งอาจกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ

โดย ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ได้ออกบทวิเคราะห์ “Checkup ธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนหลังโควิดซา” ระบุว่า คาดว่าในปี 2567 รายได้ของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะขยายตัว 8-12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่องที่ 6-10% ในปี 2568 โดยธุรกิจยังมีปัจจัยสนับสนุนที่แข็งแกร่งตามโครงสร้างพื้นฐานเดิม ขณะที่การพัฒนาด้านการแพทย์สมัยใหม่จะทำให้เกิดการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจได้ และยังมีปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการฟื้นตัวเต็มที่ของ Medical Tourism

ทั้งนี้ ประเมินว่าในปี 2567-2568 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นเป็น 36.5 ล้านคน และ 40 ล้านคน ตามลำดับ โดยกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนไข้ชาวต่างชาติจากอาเซียน จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง จะยังคงกลับมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนในไทย เนื่องจากเชื่อมั่นในคุณภาพการรักษา ค่ารักษาพยาบาลและค่าครองชีพไม่สูงมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน

 “หลังโควิด-19 ซาลง การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้การจ้างงานฟื้นตัวต่อเนื่อง ขณะที่การเดินทางระหว่างประเทศไม่มีข้อจำกัดอีกต่อไป ส่งผลให้คนไข้ต่างชาติสามารถเดินทางเข้ามารับบริการทางการแพทย์ได้สะดวกขึ้น โดยคนไข้ต่างชาติที่เข้ามารับบริการในไทยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ คนไข้ต่างชาติที่ทำงานในไทย (EXPAT) และคนไข้ที่เดินทางจากต่างประเทศเข้ามารับการรักษา (Fly-in) หรือกลุ่ม Medical Tourism ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินว่า ในระยะ 1-2 ปีนี้ รายได้จากคนไข้ต่างชาติของโรงพยาบาลเอกชน โดยเฉพาะกลุ่ม Medical Tourism ยังมีโอกาสขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์จากกลุ่มลูกค้าชาวอาเซียน จีน รัสเซีย และตะวันออกกลาง ที่จะยังคงกลับมาใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนในไทย เนื่องจากเชื่อมั่นในคุณภาพการรักษา ค่ารักษาพยาบาล และค่าครองชีพไม่สูงมาก

อย่างไรก็ดี ยังมี 3 ปัจจัยที่ท้าทายธุรกิจ และประเด็นที่ต้องติดตาม ได้แก่ 1.การแข่งขันสูง ธุรกิจมีการแข่งขันสูงจากผู้ประกอบการในประเทศทั้งรายเดิมและรายใหม่ และการแข่งขันจากการช่วงชิงการเป็น Medical Hub ของภูมิภาค 2.ต้นทุนที่ยังยืนสูง โดยการบริหารจัดการภายใต้ภาวะต้นทุนที่ยังยืนสูง ไม่ว่าจะเป็นค่าไฟฟ้าและต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับอดีต อาจจะกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ และ 3.เทคโนโลยีและเทรนด์การแพทย์สมัยใหม่ที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ถือเป็นอีกหนึ่งโจทย์ท้าทายสำหรับธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน!!.

 

ครองขวัญ รอดหมวน

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

บูรณาการทำงานให้ทวีคูณ

ไปกันต่อกับมาตรการเดินหน้าประเทศไทย ที่นอกจากกำลังเป็นที่จับตามองแล้ว ความร่วมมือแบบบูรณาการก็ต้องตามมา อาจจะเพราะคำว่า "รวมกันเป็นหนึ่ง" ไม่น่าจะเป็นคำที่ดูโฆษณาเกินควร

ขับขี่ปลอดภัยช่วงหน้าฝน

ปัจจุบันหลายพื้นที่ทั่วไทย เกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ แม้แต่ในพื้นที่ ของกรุงเทพมหานครก็เช่นกัน ที่มักจะเกิดฝนตกทำให้น้ำท่วมขังรอการระบายในหลายพื้นที่ ดังนั้นเพื่อป้องกันอุบัติเหตุสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนน

เอาจริงปฏิรูปอุตสาหกรรม

หลังเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ รมว.อุตสาหกรรมคนใหม่ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ได้มอบนโยบาย “การปฏิรูปอุตสาหกรรม สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ ทันสมัย สะอาด สะดวก โปร่งใส” ให้กับข้าราชการกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ พร้อมระบุว่า ความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมต่อจากนี้ ไม่ใช่แค่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งสำคัญที่จำเป็นต้องใส่ใจ คือ การสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน

น้ำท่วมเศรษฐกิจพัง

น้ำท่วมในจังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะที่แม่สาย จังหวัดเชียงราย ถือเป็นการสูญเสียที่ใหญ่หลวงมาก ซึ่ง เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ ส.อ.ท. ระบุว่า ข้อมูลปริมาณน้ำท่วมที่เกิดจากน้ำป่าจากฝนตกในพื้นที่

โจทย์ท้าทาย‘โรงแรม’หลังท่องเที่ยวฟื้น

จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวชัดเจน และนักท่องเที่ยวไทยที่เติบโตขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยเริ่มทยอยปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ โดยในครึ่งแรกของปี 2567

แจกเงินหมื่นไม่ง่าย

ในการแถลงนโยบายของ รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ที่เกิดขึ้นในวันนี้ เชื่อว่าสิ่งที่ประชาชนรอคอยรับฟังมากที่สุดก็คงหนีไม่พ้นเรื่องโครงการแจกเงิน 10,000 บาทของรัฐบาล ที่มีหลายคนต่างเฝ้าคอย ต่างทวงถาม