เจาะแผนลับสหรัฐเตรียมอุ้ม ‘จูเลียน อัสซานจ์’

เมื่อปี 2017 ช่วงที่ “จูเลียน อัสซานจ์” ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ลี้ภัยอยู่ในสถานทูตเอกวาดอร์ ประจำกรุงลอนดอน ได้ปีที่ 5 เขาคงไม่รู้ว่า ไมค์ ปอมเปโอ, ซีไอเอ และรัฐบาลทรัมป์กำลังพิจารณาอุ้มหรือฆ่าเขา ฐานฉกข้อมูลลับและฉีกหน้าหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐจนไม่เหลือชิ้นดี

                ยาฮูนิวส์ได้นำเสนอรายงานข่าวยาวเหยียดออกมาเมื่อไม่กี่วันก่อน โดยได้ข้อมูลจากแหล่งข่าวกว่า 30 ราย ที่เป็นอดีตเจ้าหน้าที่ทางด้านความมั่นคงของสหรัฐอเมริกา มีรายละเอียดการพูดคุยกันในระดับผู้บริหารสูงสุดของสำนักข่าวกรองกลาง หรือ “ซีไอเอ” และประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” ถึงทางเลือกในการลงมือและแผนการคร่าวๆ ไปจนถึงขั้นการวาดฉากเหตุการณ์ที่อาจต้องยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ข่าวกรองของรัสเซียกลางถนนในกรุงลอนดอน

                จูเลียน อัสซานจ์ เกิดในออสเตรเลีย เมื่อปี 1971 ปัจจุบันอายุ 50 ปี หลังจากเขาก่อตั้ง WikiLeaks องค์กรข่าวไม่แสวงหาผลกำไรในปี 2006 ความจำเป็นของงานทำให้เขาต้องเดินทางไปทุกทวีปทั่วโลก วิกิลิกส์นำเสนอเรื่องลับเกี่ยวกับคอร์รัปชันและความอยุติธรรมในหลายประเทศ โดยได้รับความร่วมมือจากนักแฉหรือแหล่งข่าวนิรนามจากภายในองค์กรนั้นๆ

                เว็บไซต์วิกิลีกส์ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในปี 2010 เมื่อเผยแพร่ภาพฟุตเทจวิดีโอจากกล้องที่ติดกับปืนของทหารสหรัฐในการยิงถล่มจากเฮลิคอปเตอร์กลางกรุงแบกแดด เหตุการณ์เกิดในปี 2007 มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 10 คน รวมถึงนักข่าวรอยเตอร์ 2 คน และมีเด็กบาดเจ็บด้วยจำนวนหนึ่ง

                จากนั้นวิกิลีกส์ก็นำเสนอรายงานการทำสงครามของสหรัฐในตะวันออกกลางอีกหลายชุด ทั้งกรณีการถล่มทางอากาศในอิรัก เยเมน และอัฟกานิสถาน รวมถึงเอกสารลับ U.S. Diplomatic Cablesมากกว่า 250,000 ชิ้น ที่ทูตสหรัฐซึ่งประจำการอยู่ทั่วโลกรายงานกลับไปยังรัฐบาล อัสซานจ์ได้รับข้อมูลจาก “เชลซี แมนนิง” นักวิเคราะห์ข่าวกรองของกองทัพบกสหรัฐ ซึ่งต่อมาแมนนิงถูกศาลสหรัฐตัดสินจำคุก 35 ปี แต่ได้รับการลดโทษในสมัยประธานาธิบดี “บารัค โอบามา” ให้เหลือจำคุก 7 ปี

                อัสซานจ์ถูกตำรวจสวีเดนออกหมายจับในปลายปี 2010 คดีล่วงละเมิดทางเพศสตรี 2 คนในสวีเดน เขาปฏิเสธข้อกล่าวหาและบอกว่ายินดีจะเผชิญการสอบสวนในสหราชอาณาจักร ให้เหตุผลว่า “สวีเดนมีกระบวนการยุติธรรมที่แย่มากๆ”, “มีคตินิยมแบบผู้หญิงเป็นใหญ่อย่างรุนแรงบ้าคลั่ง” และ “เป็นซาอุดีอาระเบียแห่งเฟมินิสต์” รวมทั้ง “เป็นข้าหลวงของสหรัฐ” ที่อัสซานจ์ไม่ต้องการถูกดำเนินคดีในสวีเดน เพราะเขากลัวว่าจะต้องถูกส่งตัวไปให้กับสหรัฐอย่างแน่นอน จึงยอมมอบตัวกับตำรวจอังกฤษแทน

                หลังการไต่สวนครั้งที่ 2 อัสซานจ์ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว การไต่สวนในครั้งต่อมาในปี 2011 ศาลมีความเห็นให้ส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสวีเดน ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาในปี 2012 ก็ยืนตามนั้น เขาจึงประสานงานกับสถานทูตเอกวาดอร์ในกรุงลอนดอนเพื่อขอลี้ภัย จากนั้นในเดือนสิงหาคม 2012 เขาก็ได้ที่อยู่ใหม่ในสถานทูตเอกวาดอร์

                วิลเลียม อีวานีนา อดีตผู้อำนวยการศูนย์รักษาความมั่นคงและต่อต้านข่าวกรองสหรัฐ ให้สัมภาษณ์ยาฮูนิวส์ว่า รัฐบาลประธานาธิบดี “บารัค โอบามา” กลัวว่าการอนุญาตให้หน่วยงานด้านข่าวกรองของสหรัฐทำการสอดแนมและดำเนินปฏิบัติการทางด้านไซเบอร์กับวิกิลีกส์นั้นอาจก่อให้เกิดผลในทางลบต่อรัฐบาลมากกว่าจะเกิดผลดี จนกระทั่งในปี 2013 เมื่อ “เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน” เจ้าหน้าที่ของสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติ หรือเอ็นเอสเอ บินไปยังฮ่องกงพร้อมข้อมูลลับจำนวนมากที่แฉว่ารัฐบาลสหรัฐทำการสอดแนมพลเมือง และวิกิลีกส์ก็ช่วยให้สโนว์เดนหนีต่อไปยังรัสเซีย บรรณาธิการของวิกิลีกส์อยู่กับสโนว์เดนเป็นเวลาหลายเดือน ทั้งที่สนามบินในกรุงมอสโกจนได้รับการลี้ภัยในรัสเซีย รัฐบาลโอบามาจึงให้ไฟเขียวกับหน่วยงานความมั่นคงในการเก็บรวบรวมข้อมูลและตรวจสอบวิกิลีกส์ โดยเฉพาะซีไอเอที่ได้จัดตั้ง WikiLeaks Team ขึ้นมาอย่างไม่เป็นทางการ

                เจ้าหน้าที่ระดับสูงของหน่วยงานความมั่นคงสหรัฐพยายามอย่างหนักในการล็อบบี้ให้ทำเนียบขาวให้คำนิยามวิกิลีกส์ รวมถึงสื่อมวลชนตัวแสบบางรายในสายตาสหรัฐเสียใหม่ว่าเป็น Information Brokers หรือ “นายหน้าค้าข้อมูล” ซึ่งจะทำให้สามารถใช้เครื่องมือในการตรวจสอบได้กว้างขวางขึ้น นำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดีได้ง่ายขึ้น เนื่องจากหากยังคงนิยามว่าเป็น “สื่อมวลชน” ก็จะถูกขัดขวางโดยรัฐธรรมนูญสหรัฐฉบับแก้ไขครั้งที่ 1 ที่รับรองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน ทว่าถูกรัฐบาลโอบามาปฏิเสธ

                การขับเคี่ยวแย่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ระหว่าง “ฮิลารี คลินตัน” และ “โดนัลด์ ทรัมป์” เข้าสู่ช่วงดุเดือดในฤดูร้อนปี 2016 เว็บไซต์วิกิลีกส์ได้นำเสนอการสื่อสารทางอีเมลที่หลุดออกมาของฝ่ายเดโมแครต ภายหลังทราบว่าหน่วยข่าวกรองของรัสเซียที่ใช้ชื่อว่า GRU คือผู้ที่แฮ็กอีเมลเหล่านั้นแล้วส่งต่อให้กับวิกิลีกส์ อย่างไรก็ตาม มีคนตั้งข้อสงสัยว่าอาจมีบางฝ่ายในสหรัฐเองต้องการใช้ประโยชน์จากอัสซานจ์ จึงปล่อยให้เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น และผลออกมาทรัมป์ชนะคลินตันไปอย่างพลิกความคาดหมาย

                ทีมงานความมั่นคงของทรัมป์พาเหรดกันเข้าไปคุมกระทรวงยุติธรรม ซีไอเอ และหน่วยงานสำคัญๆ พวกเขารู้พิษสงของอัสซานจ์และวิกิลีกส์ดีขึ้นมาก และไม่อยากอยู่เฉยอีกต่อไป สิ่งที่รัฐบาลโอบามาไม่กล้าทำ รัฐบาลทรัมป์ไม่กลัว

                ไมค์ ปอมเปโอ ผู้อำนวยการซีไอเอคนใหม่ที่ทรัมป์เลือกมาใช้งาน (ก่อนที่จะก้าวขึ้นไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปี 2018) มองอัสซานจ์เป็นภัยต่อความมั่นคงอันดับต้นๆ และให้คำนิยามวิกิลีกส์ใหม่ว่าเป็น “หน่วยข่าวกรองไม่ใช่ของรัฐที่เป็นภัยปรปักษ์”

                คำประกาศของปอมเปโอเกิดขึ้น 5 สัปดาห์ หลังวิกิลีกส์ได้รับชุดข้อมูลลับของซีไอเอ ชื่อว่า “Vault 7” ที่เป็นของฝ่ายจารกรรมลับสุดยอด หน่วยงานภายในของซีไอเอ เกี่ยวกับเครื่องมือและปฏิบัติการจารกรรมต่างๆ ของซีไอเอ ทำให้พวกเขาเจ็บปวดอย่างยิ่งและต้องการแก้แค้นให้สาสม ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ซีไอเอเคยหัวเราะเยาะกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศที่ปล่อยให้วิกิลีกส์ได้ข้อมูลลับไป คราวนี้ถึงตาพวกเขาเอง

                การประกาศให้วิกิลีกส์เป็น “หน่วยข่าวกรองไม่ใช่ของรัฐที่เป็นภัยปรปักษ์” ทำให้ซีไอเอสามารถใช้อำนาจพิเศษในภารกิจต่อต้านข่าวกรองเชิงรุกได้ ช่วยลัดขั้นตอนการอนุมัติจากทำเนียบขาวและจากสภาคองเกรส ดำเนินการในทางลับได้ง่ายกว่าทั้งในและต่างประเทศ

                แผนโจมตีทางไซเบอร์ไปยังเซิร์ฟเวอร์ที่วิกิลีกส์ใช้เก็บข้อมูลถูกโยนมาให้ซีไอเอ แต่การโจมตีก็จะทำให้ข้อมูลที่อยากได้กลับคืนมาต้องถูกทำลายไปด้วย และฝ่ายจารกรรมของรัฐเองก็ไม่เคยทราบว่าข้อมูล Vault 7 ที่วิกิลีกส์ยังไม่ได้เผยแพร่นั้นอยู่ที่ใดกันแน่ วิธีการนี้จึงไม่มีข้อสรุป

                กลางปี 2017 ซีไอเอประสบความสำเร็จในการสอดแนมสมาชิกและผู้ร่วมงานของวิกิลีกส์ ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ของคนเหล่านี้ รูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน การสนทนาของคนเหล่านี้และผู้ที่พวกเขาสนทนาด้วยผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ โดยสิ่งที่ซีไอเอต้องการมากที่สุดคือเอกสารการเดินทางของคนเหล่านี้ไปยังรัสเซีย หรือประเทศที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของรัสเซีย

                มีข้อเสนอภายในซีไอเอและสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ (เอ็นเอสซี) ที่ต้องการตอบโต้วิกิลีกส์ ได้แก่ การทำให้ระบบดิจิตอลของวิกิลีกส์เป็นอัมพาต ก่อกวนการสื่อสารของคนในวิกิลีกส์แทรกซึมหรือปลอมตัวเข้าไปเป็นหนึ่งในสมาชิก ขโมยอุปกรณ์สื่อสารของพวกเขา การหว่านเชื้อแห่งความขัดแย้งของคนในวิกิลีกส์ เพราะพวกเขาไม่ค่อยชอบขี้หน้ากันเองมากนัก และทะเลาะถกเถียงกันเป็นประจำ

                ข้อเสนอเหล่านี้บางข้ออาจได้รับการอนุมัติ เพราะในเดือนธันวาคม ปี 2020 แฮ็กเกอร์ชาวเยอรมันที่มีความเกี่ยวข้องกับการจารกรรมข้อมูล Vault 7 เปิดเผยว่า มีคนพยายามงัดประตูอพาร์ตเมนต์ของเขา แต่โชคดีที่มีการติดตั้งระบบล็อกประตูไว้แน่นหนา นอกจากนี้เขายังบอกว่าถูกติดตามจากชายปริศนาจำนวนหนึ่ง และโทรศัพท์ที่เข้ารหัสของเขาถูกดักฟัง

                ในการประชุมผู้บริหารระดับสูงในรัฐบาลทรัมป์ อดีตเจ้าหน้าที่ 4 คนที่ยอมให้ข่าวกับยาฮูนิวส์ เปิดเผยว่า ปอมเปโอได้พูดเกี่ยวกับการลักพาตัวอัสซานจ์จากสถานทูตเอกวาดอร์ในกรุงลอนดอนแล้วนำกลับมายังสหรัฐผ่านประเทศที่ 3 อย่างลับๆ อีกแนวทางคือ ชิงตัวอัสซานจ์มาจากสถานทูตเอกวาดอร์แล้วส่งมอบให้กับเจ้าหน้าที่ของอังกฤษ

                “มีการพูดคุยกับอังกฤษถึงความเป็นไปได้ที่จะแกล้งทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นเมื่อทีมงานของเราเข้าไปข้างในและก่อปฏิบัติการ แต่อังกฤษไม่เห็นด้วย” อดีตเจ้าหน้าที่ต่อต้านข่าวกรองระดับสูงกล่าวกับยาฮูนิวส์

                มีรายงานข่าวกรองแจ้งด้วยว่า รัสเซียมีแผนที่จะชิงตัวอัสซานจ์ออกมาจากสถานทูตเอกวาดอร์เช่นกัน จากนั้นก็จะพาขึ้นเครื่องบินไปยังกรุงมอสโก เจ้าหน้าที่สหรัฐเป็นกังวลมากเมื่อสงสัยว่าฝ่ายปฏิบัติการของรัสเซียอยู่ในยานพาหนะทูตใกล้ๆ กับสถานทูตเอกวากอร์และสามารถหลบหลีกการติดตามได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งนี่อาจจะเป็นการซ้อมหรือตระเตรียมแผนโดยร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของเอกวาดอร์

                ฝ่ายสหรัฐก็วางแผนขัดขวางปฏิบัติการของเครมลิน ซึ่งอาจถึงขั้นเผชิญหน้ากันกลางเมืองหลวงอังกฤษ อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงในรัฐบาลทรัมป์กล่าวว่า อาจสู้กันด้วยการแลกหมัด รุนแรงถึงขั้นดวลปืน หรือแม้แต่ขับรถชนอีกฝ่าย และหากรัสเซียสามารถนำอัสซานจ์ขึ้นเครื่องบินได้ ฝ่ายปฏิบัติการของสหรัฐหรืออังกฤษจะต้องป้องกันไม่ให้เครื่องบินเทกออฟได้ด้วยการขับรถขวางรันเวย์ ขับเฮลิคอปเตอร์บินร่อนเหนือเครื่องบิน หรือยิงยางล้อของเครื่องบิน และหากรัสเซียประสบความสำเร็จในการเทกออฟก็จะขอความร่วมมือจากชาติยุโรปไม่ให้เครื่องบินผ่านน่านฟ้าของพวกเขา

                การหารือเกี่ยวกับการจัดการกับอัสซานจ์บางครั้งไปไกลถึงการลอบฆ่า อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองสหรัฐ 3 คนยืนยัน หนึ่งในนั้นเปิดเผยว่า เขาได้รับรายงานสรุปในการประชุมครั้งหนึ่งในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ปี 2017 โดยประธานาธิบดีได้ถามว่า ซีไอเอสามารถสังหารอัสซานจ์ได้หรือไม่ และได้ให้ “ทางเลือก” ว่าจะทำด้วยวิธีการใด

                อดีตเจ้าหน้าที่ข่าวกรองคนหนึ่งบอกว่า ผู้บริหารซีไอเอบางคนขอ และได้รับ “แผนการคร่าวๆ” ในการสังหารอัสซานจ์และสมาชิกวิกิลีกส์ในยุโรปจำนวนหนึ่งที่ได้เข้าถึงข้อมูล Vault 7 มีการถกเถียงกันว่าการฆ่าอัสซานจ์นั้นเป็นไปได้หรือไม่ และจะเกิดผลอย่างไรในทางกฎหมาย

                อย่างไรก็ตาม ยาฮูนิวส์ไม่กล้ายืนยันว่าข้อเสนอดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจริง เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องบางคนบอกว่าไม่เคยได้ยินการพูดคุยเกี่ยวกับการสังหารอัสซานจ์ ด้าน “ทรัมป์” ก็มีแถลงการณ์ถึงยาฮูนิวส์ว่าไม่เคยพิจารณาถึงการสังหารอัสซานจ์ แถมยังบอกว่า “อันที่จริง ผมคิดว่าเขาได้รับการปฏิบัติที่แย่มากๆ”

                นักกฎหมายระดับสูงในสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐเป็นห่วงในกรณีการลักพาตัวว่า หากเกิดขึ้นจริงจะทำให้การดำเนินคดีกับอัสซานจ์กลายเป็นปัญหาได้ และแนะนำให้กระทรวงยุติธรรมรีบตั้งข้อหาและดำเนินการเพื่อขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนจากอังกฤษก่อนการลักพาตัวจะเกิดขึ้น

                บริษัททางด้านความปลอดภัย UC Global ของสเปนที่รับงานระบบความปลอดภัยในสถานทูตเอกวาดอร์ กรุงลอนดอน ก็ได้ทำงานให้กับหน่วยข่าวกรองสหรัฐด้วย อดีตลูกจ้างบริษัทกล่าวในการสอบสวนคดีที่สเปน (จากการรายงานของ El Pais) ว่า เอกวาดอร์ได้ออกหนังสือเดินทางทูตให้กับอัสซานจ์ และเตรียมส่งอัสซานจ์ไปปฏิบัติงานในสถานทูตเอกวาดอร์ที่กรุงมอสโก โดยจะเดินทางผ่านประเทศที่ 3

                วันที่ 21 ธันวาคม 2017 กระทรวงยุติธรรมสหรัฐได้ตั้งข้อหาอัสซานจ์อย่างไม่เปิดเผย วันเดียวกันนี้หัวหน้าหน่วยข่าวกรองของเอกวาดอร์พูดคุยกับอัสซานจ์ถึงแผนการหลบหนี เนื่องจากว่าหน่วยข่าวกรองสหรัฐได้รับข้อมูลจาก UC Global อยู่ตลอด ไม่กี่ชั่วโมงหลังการพูดคุยกันทูตสหรัฐก็เตือนไปยังทูตเอกวาดอร์ ทำให้แผนการต้องล้มเลิก

                อดีตลูกจ้างของ UC Global ให้การด้วยว่า หัวหน้าของเขามีแผนที่จะเดินออกจากสถานทูตเอกวาดอร์โดยเปิดประตูทิ้งไว้เพื่อเปิดทางให้มีคนเข้าไปฉกตัวอัสซานจ์ และยังมีการพูดคุยกันถึงการวางยาพิษอัสซานจ์ด้วย

                แต่เมื่อกระทรวงยุติธรรมสหรัฐได้เข้าตามตรอกออกทางประตูเรียบร้อยแล้ว ความจำเป็นของแผนอุ้มหรือสังหารของฝ่ายข่าวกรองก็เริ่มไม่มีความจำเป็น และต้องล้มเลิกไปโดยปริยาย กระบวนการยุติธรรมเอาชนะศาลเตี้ย

                โชคร้ายเกิดกับอัสซานจ์ในวันที่ 11 เมษายน 2019 รัฐบาลใหม่เอกวาดอร์ได้เพิกถอนการลี้ภัย และขับอัสซานจ์ออกจากสถานทูต ตำรวจอังกฤษเข้าควบคุมตัวในทันที ความผิดฐานไม่ปรากฏตัวต่อศาลเมื่อปี 2012 ต่อมาถูกตัดสินจำคุก 50 สัปดาห์ ส่วนคดีล่วงละเมิดทางเพศของสวีเดนได้ยุติการสืบสวนสอบสวนไปแล้วตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2017 เพราะหลักฐานอ่อนเกินไป

                รัฐบาลสหรัฐเปิดผนึกยื่นข้อกล่าวหาในวันเดียวกับที่อัสซานจ์ถูกตำรวจอังกฤษรวบตัว และขอให้ส่งตัวอัสซานจ์ไปรับการพิจารณาคดีในสหรัฐ ต่อมาศาลอังกฤษปฏิเสธคำขอด้วยเหตุผลความเป็นไปได้ที่จำเลยจะฆ่าตัวตายในคุกสหรัฐ แต่รัฐบาลสหรัฐก็ไม่รีรอที่จะยื่นอุทธรณ์

                คำตัดสินของศาลสูงอังกฤษที่ปล่อยล่วงผ่านมานานพอสมควรคาดว่าจะออกมาในปลายปีนี้.

อ้างอิง

news.yahoo.com/kidnapping-assassination-and-a-london-shoot-out-inside-the-ci-as-secret-war-plans-against-wiki-leaks-090057786.html

en.wikipedia.org/wiki/Julian_Assange#Hearings_on_extradition_to_the_U.S.

en.wikipedia.org/wiki/Chelsea_Manning#Guilty_plea,_trial,_sentence

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ความเป็นพิษและความเสื่อมของ Facebook

เหตุการณ์เฟซบุ๊กและโซเชียลมีเดียในเครือของ “มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก” ล่มนาน 6 ชั่วโมงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เหมือนว่าจะพอกลบกระแสความฉาวโฉ่เน่าในของเฟซบุ๊กจากการเปิดเผยของอดีตลูกจ้างคนสำคัญไปได้บ้าง