ความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 (ตอนที่ 29)

 

รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 อันเป็นผลจากการทำรัฐประหารที่เริ่มขึ้นในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490

การรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 เป็นการรัฐประหารครั้งที่สองนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475  (นับเป็นครั้งที่สอง หากไม่นับการเปลี่ยนแปลงการปกครองวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าเป็นการรัฐประหาร)  การรัฐประหารครั้งแรกคือ การรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476

ระยะเวลาระหว่างรัฐประหาร 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งแรกกับรัฐประหาร 8 พ.ศ. 2490 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองคือ 14 ปี  แม้ว่าจะทิ้งช่วงเป็นเวลา 14 ปี แต่ระหว่างรัฐประหารทั้งสองครั้งนี้ ได้เกิดการพยายามทำรัฐประหารขึ้น 3 ครั้ง

ครั้งแรกคือ กบฏบวรเดช (11 ตุลาคม พ.ศ. 2476) โดย คณะกู้บ้านกู้เมือง มีพลเอกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช เป็นหัวหน้า

ครั้งที่สองคือ กบฏนายสิบ (3 สิงหาคม พ.ศ. 2478) โดย สิบเอกสวัสดิ์ มะหะมัด เป็นหัวหน้า

และครั้งที่สามคือ กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือ กบฏ 18 ศพ หรือ กบฏ พ.ศ. 2481 (29 มกราคม พ.ศ. 2482) มี พันเอกพระยาทรงสุรเดช เป็นหัวหน้า

การพยายามทำรัฐประหารที่ล้มเหลว 3 ครั้งในช่วง 14 ปีมีความเกี่ยวข้องกับการทำรัฐประหารที่สำเร็จในวันที่  8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 หรือไม่ ? 

การตอบคำถามข้อนี้ เราต้องไปพิจารณาถึงสาเหตุการพยายามทำรัฐประหารทั้งสามครั้งก่อนหน้ารัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490                 

มูลเหตุสำคัญของการกบฏบวรเดช มี 6 ประการคือ  หนึ่ง เกิดจากความหวาดระแวงภัยคอมมิวนิสต์  สอง มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวอย่างหนัก  สาม ภาวะตีบตันทางการเมืองในระบบรัฐสภา สี่ ต้องการให้มีการจัดระบอบการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยโดยแท้จริงตามอุดมการณ์ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ห้า ความขัดแย้งระหว่างคณะทหารหัวเมืองกับคณะราษฎร หก การกระทบกระทั่งในมูลเหตุส่วนตัวของพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าบวรเดช กฤดารและพันเอกพระยาศรีสิทธิสงคราม กับ บรรดาผู้นำในคณะราษฎร

ต่อจากกบฏบวรเดชเป็นเวลาเกือบสองปี ได้เกิด “กบฏนายสิบ” ขึ้นเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2478เป็นที่น่าเสียดายอย่างยิ่งว่า ไม่มีข้อมูลหลักฐานทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกบฏนายสิบนี้ นอกเหนือไปจากข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลที่เริ่มต้นจากการที่พันเอกหลวงพิบูลสงคราม รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมได้รับแจ้งเบาะแสมาจากผู้ใต้บังคับบัญชาที่สืบรู้มาว่ามีผู้สมคบคิดกันวางแผนจะยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองกลับสู่สมบูรณาญาสิทธิราชย์และวางแผนกำจัดบุคคลสำคัญบางคนในคณะรัฐบาล

และเช่นกัน กบฏพระยาทรงสุรเดช ก็ไม่ต่างจากกรณีกบฏนายสิบ นั่นคือ   “ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ากลุ่มคนเหล่านี้มีความผิดจริงหรือไม่ หากแต่หลวงพิบูลสงครามเชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านั้นมีแนวคิดต่อต้านตน” (ฐานข้อมูลสถาบันพระปกเกล้าhttp://wiki.kpi.ac.th/index.php?title =พันเอก_พระยาทรงสุรเดช_(เทพ_พันธุมเสน)  ) 

กล่าวได้ กบฏที่เกิดขึ้น 3 ครั้งก่อนการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่นำไปสู่การเกิด รัฐธรรมนูญฉบับที่ 4 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2490  เป็นกบฏจริงอยู่เพียงครั้งเดียว นั่นคือ กบฏบวรเดช ส่วนอีกสองครั้งนั้น เป็นกบฏในจินตนาการของพันเอก หลวงพิบูลสงคราม

ในหนังสือ “ท.ส. เจ้าคุณทรงสุรเดช: สารคดีเบื้องหลังประวัติศาสตร์การเมือง” ของ สำรวจ กาญจนสิทธิ์ อดีตนายทหารหลายเหล่าทัพ ผู้เป็นศิษย์และเป็นผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาที่สนิทของ พันเอก พระยาทรงสุรเดช ได้เล่าถึงเหยื่อใน “กบฏในจินตนาการ” ของพันเอก หลวงพิบูลสงครามในบทที่ 13 ที่มีชื่อว่า “ผู้รับกรรม” ที่ผู้เขียนขอนำมาถ่ายทอดต่อจากตอนที่แล้ว ดังต่อไปนี้

พ.ต. หลวงไววิทยาศร

ปี 2473 ท่านเป็นครูวิชาทหารปืนใหญ่ ประจำกรมยุทธศึกษา สอนวิชาทหารปืนใหญ่แก่นักเรียนนายร้อยทั้งภาควิชาการและในสนาม  รูปร่างหล่อสมชายชาติทหาร ตลอดเวลา 2 ปีที่ข้าพเจ้าเป็นศิษย์ใกล้ชิดผู้หนึ่ง เห็นว่าเป็นนายทหารอารมณ์ดี เมตตาอารีต่อนักเรียนนายร้อยทั่วไป ช่วยเหลือนักเรียนที่ผิดพลาดระเบียบวินัยให้กลับกลายเป็นคนดีไว้หลายคน และข้อสำคัญที่สุด นายทหารผู้นี้ไม่มีความทะเยอทะยานในตำแหน่งหน้าที่การงานสูง หรือสนใจทางการเมืองแม้แต่น้อย

ขณะดำรงตำแหน่ง ร้อยโท

พ.ต. หลวงไววิทยากร (เสงี่ยม ไววิทย์) เป็นนายทหารที่รักเคารพอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร – พ.อ. พระยาทรงสุรเดชมาก จนเกือบจะเรียกได้ว่า บูชาคุณงามความดี

ในระยะที่ พ.อ. พระยาทรงสุรเดชเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกนั้น พ.ต. หลวงไววิทยาศร มิได้มีตำแหน่งหน้าที่ราชการสูงส่งรุ่งเรืองแต่ประการใด  แม้กระนั้น พ.ต. หลวงไววิทยาศรก็เคารพบูชา พ.อ. พระยาทรงสุรเดช เช่นเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่กลับเพิ่มขึ้น เมื่อ พ.อ. พระยาทรงสุรเดชไม่ปรารถนาตำแหน่งสูงในวงการทหาร นอกจากจะขอถ่ายทอดวิชานักรบให้ศิษย์ผู้สนใจเท่านั้น

พ.ต. หลวงไววิทยาศรไม่ค่อยได้ติดต่อเยี่ยมเยียน พ.อ. พระยาทรงสุรเดชด้วยตนเองบ่อยครั้งนัก แต่ความเคารพรักลึกซึ้งมั่นคงดุจเดิม พ.ต. หลวงไววิทยาศรจะถามไถ่สารทุกข์สุกดิบของ พ.อ. พระยาทรงสุรเดชผู้เป็นอาจารย์ โดยติดต่อกับ ร.อ. ขุนคลี่พลพฤนท์เป็นประจำ

พ.ต. หลวงไววิทยาศร ถูกจับเป็นผู้ต้องหาของศาลพิเศษ ปี 2481 ขณะนั้น ข้าพเจ้าและ พ.อ. พระยาทรงสุรเดชอาศัยอยู่ในกรุงพนมเปญ ประเทศเขมร ข้าพเจ้าสงสัยถึงสาเหตุการต้องหาเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ค่อยพบเห็น พ.ต. หลวงไววิทยาศรติดต่อกับ พ.อ. พระยาทรงสุรเดชเลย จึงเรียนถามท่านว่าถูกจับเพราะเหตุไร ท่านตอบเฉยเมยว่า  ‘หลวงไวฯ ถูกจับเพราะฝักใฝ่ในตัวกันมากเกินไปเท่านั้นเอง !’

ข้าพเจ้าจึงทราบความจริง และหมดสงสัย

พ.ต. หลวงไววิทยาศร ถูกปลดเป็นนายทหารกองหนุน ไม่มีเบี้ยหวัดบำนาญ เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2481 ทันทีทีทราบคำสั่งปลดออกจากราชการก็ถูกข้อหากบฏและคุมขังไว้ทันที

ในวันเบิกตัวมาศาลพิเศษวันหนึ่ง พ.ต. หลวงไววิทยาศร ถึงแก่ตกตะลึงเมื่อปรากฏว่าพยานโจทก์นั้น ที่จริงก็คือ คนคนหนึ่งผู้เคยอยู่ใต้บังคับบัญชาตนเอง และเป็นบุคคลที่มีความประพฤติเหลวไหล ถูกตนตำหนิติเตียนมาแล้ว

การแถลงข้อเท็จจริงต่อศาลพิเศษ จะมีหลักฐานยืนยันด้วยความจริงเพียงไร เช่น ในกรณี พ.อ. พระสิทธิเรืองเดชพล ยืนยันหนังสือเดินทางไปประเทศพม่าว่าระหว่างที่ถูกกล่าวหาปองภัยหมายชีวิตหลวงพิบูลสงครามนั้น ตนเองกำลังอยู่ในเมืองพม่า ซึ่งเป็นพยานหักล้างข้อกล่าวหาได้สิ้นเชิง ก็หาได้รับความยุติธรรมไม่ เช่นเดียวกัน พ.ต. หลวงไววิทยาศร มิได้รับความเที่ยงธรรมในทุกกรณี เขาถูกตัดสินเมื่อบ่ายวันที่ 21 พฤศจิกายน 2482 ให้ประหารชีวิต ร่วมกับจำเลยอื่นหลายคน

ถ้าจะมีการลงโทษที่หนักกว่าการประหารชีวิตแล้ว พ.ต. หลวงไววิทยาศรก็คงมิพ้น

นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา พ.ต. หลวงไววิทยาศรก็เตรียมตัวเตรียมใจที่จะก้าวเดินไปสู่หลักประหารด้วยน้ำใจอันเด็ดเดี่ยวเยี่ยงชายชาติทหาร แม้ตนเองจะมั่นใจว่ามิได้กระทำผิดตามกล่าวหา มิได้ปรับทุกข์ปรับร้อนให้ใครฟังหรือหวังผลอันใด

2 ธันวาคม 2482  เช้าตรู่ พ.ต. หลวงไววิทยาศรถูกนำตัวไปแดนประหารพร้อมเพื่อนตายอีกสามคน คือ พ.ต. ขุนนามนฤนาท  ร.อ. จรัส สุนทรภักดี และ ร.ท. แสง วัณณศิริ

กำลังใจของ พ.ต. หลวงไววิทยาศร ดีเสมอต้นเสมอปลาย กล้าแข็ง เต็มไปด้วยความมั่นคงแห่งสติทั้งสี่ เพื่อนตายตะโกนลามิตรสหายด้วยน้ำเสียงปกติ

พ.ต. หลวงไววิทยาศร ถามเพื่อนว่าตายแล้วจะขออธิษฐานไปเกิด ณ ประเทศใด

พ.ต. ขุนนามนฤนาทตอบว่า ‘อเมริกา !’

(โปรดติดตามตอนต่อไป)

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สะพัด 'สันติ-วราเทพ' ทิ้งพลังประชารัฐ กลับเพื่อไทย

ผู้สื่อข่าวรายงานงานว่า จากกรณีที่ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผา สส.พรรคพลังประชารัฐ ออกมาเปิดเผยว่า ยังมี สส.-แกนนำในกลุ่มพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

'วิษณุ' การันตีรัฐบาลมีแหล่งที่มาเงิน อยู่ในคำแถลงนโยบาย

นายวิษณุ เครืองาม อดีตที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีบุคคลนิรนามไปยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ว่าการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา

กูรูปูดอีกแล้ว! สส.เพื่อไทยกว่าร้อยคนผวา ถูกร้องถอดพ้นตำแหน่ง

นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย โพสต์เฟซบุ๊กอ้างว่าส.สเพื่อไทยกว่าร้อยคนผวา ถูกร้องถอดถอนออกจากตำแหน่งเพราะกระทำการขัดผลประโยชน์ ผิดรัฐธรรมนูญ

พลิก! 'จักรภพ-อดีตผู้ต้องคดี112' ค้านนิรโทษกรรมรวมคดี 112 ด้อมส้ม-ลี้ภัยวิจารณ์ขรม

นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์แห่งหนึ่ง เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมควรรวมคดี 112

กูรูปูดอีกแล้ว จับตาสอย สว.สงขลา สะเทือนฟ้า!

นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย โพสต์เฟซบุ๊กเรื่อง "กลยุทธ์สอยดาวสาวเดือนสะเทือนฟ้า" ระบุว่า กลุ่ม 40 สว. แถลงว่ารอฟังข่าวการตัดสินของศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้ง วันที่ 23 นี้ ว่าจะให้การเลือกตั้ง