เป็นยุทธศาสตร์อันชาญฉลาดของรัฐบาลสหรัฐที่จะไม่ทำสงครามในบ้านตัวเอง แต่ทำสงครามในประเทศอื่นๆ เพื่อบั่นทอนทำลายฝ่ายตรงข้าม
นับวันยูเครนโจมตีลึกเข้าไปในรัสเซีย กลายเป็นส่วนหนึ่งของสงคราม หลังกองทัพยูเครนรุกกินพื้นที่เขตคุสค์ (Kursk) ของรัสเซียเมื่อสิงหาคม 2024 ส่งโดรนทีละนับ 100 ลำโจมตีกรุงมอสโก การโจมตีเมืองหลวงรัสเซียกลายเป็นเรื่องปกติ พร้อมกันนี้คือร้องขอขีปนาวุธอำนาจทำลายสูงจากนาโต การโจมตีลักษณะนี้นับวันจะรุนแรง ด้านรัฐบาลปูตินสั่งตอบโต้รุนแรง
ภาพ: MGM-140 Army Tactical Missile System (ATACMS)
เครดิตภาพ: https://www.lockheedmartin.com/en-us/products/army-tactical-missile-system.html.
เช่นกัน เป็นสถานการณ์อีกด้านท่ามกลางความพยายามเจรจาสงบศึก ความอ่อนล้าของกองทัพทั้ง 2 ฝ่าย ชาตินาโตนับวันจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับศึกยูเครนมากขึ้นทุกขณะ นำสู่คำถามสำคัญหลายข้อ
อาวุธยูเครนคืออาวุธนาโต:
ในช่วงแรกของสงคราม อาวุธที่รัฐบาลสหรัฐกับพวกส่งให้ส่วนใหญ่เป็นอาวุธเบา จรวดประทับบ่า ปืนครก ปืนใหญ่ และขยับขึ้นเป็นรถหุ้มเกราะ ขีปนาวุธป้องกันภัยทางอากาศระยะใกล้ จรวดหลายลำกล้อง รถถังประจัญบาน การส่งมอบอาวุธหนักสอดคล้องกับการรบที่ยืดเยื้อ นับวันที่ศึกยืดเยื้อยูเครนจะได้รับอาวุธหนักมากขึ้นตามลำดับ
มกราคม 2023 รัฐบาลไบเดนยืนยันส่งรถถัง M1 Abrams จำนวน 30 คันแก่ยูเครน เยอรมนีส่งรถถัง Leopard 2 เข้าสนามรบ 14 คัน และยอมให้ประเทศอื่นๆ ส่ง Leopard 2 แก่ยูเครน แต่รัฐบาลยูเครนไม่จบเท่านี้ ขอเครื่องบินรบของพวกตะวันตก ขีปนาวุธพิสัยไกล ในช่วงนั้น โอลาฟ โชลซ์ นายกฯ เยอรมนีไม่เห็นด้วยที่จะมอบเครื่องบินขับไล่แก่ยูเครน
ความจริงที่ต้องยอมรับคือ ที่ผ่านมากองทัพยูเครนรบด้วยอาวุธที่ด้อยกว่า ล้าสมัยกว่า ทหารส่วนหนึ่งไม่ชำนาญศึกมากพอ ทั้งๆ ที่ประเทศกำลังพังพินาศ ยิ่งรบยิ่งพัง ตายนับหมื่นนับแสน เพื่อปกป้องเสรีประชาธิปไตยตะวันตก บรรดาชาติตะวันตกที่ “ได้รับการปกป้อง” จากยูเครนกลับส่งความช่วยเหลือแบบ “กะปริดกะปรอย” ค่อยเป็นค่อยไป ส่งอาวุธชั้นสองให้ทหารยูเครน นี่คือประเด็นน่าคิด
มาแตอุช มอราวีแยตสกี (Mateusz Morawiecki) นายกฯ โปแลนด์กล่าวโทษเยอรมนีที่ลังเลใจส่งรถถังให้ยูเครน “เป็นทัศนคติที่รับไม่ได้ สงครามผ่านไปเกือบปีแล้ว ประชาชนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ตายทุกวัน”
น่าคิดว่าถ้ามหาอำนาจผู้มีกำลังรบแข็งแกร่งอันดับหนึ่งของโลกส่งสุดยอดรถถัง เครื่องบินรบของตนให้ยูเครน ป่านนี้คงชนะศึกแล้ว ไม่ต้องยืดเยื้ออยู่อย่างนี้ หรือว่ามีแผนอื่นตั้งใจให้ศึกยูเครนยืดเยื้อ
มองอีกด้าน การใช้อาวุธประสิทธิภาพสูง เช่น ระบบขีปนาวุธพื้นสู่อากาศ Patriot ระบบนี้ใช้กำลังพล 90 นายเพื่อใช้งานกับซ่อมบำรุง ถามว่ายูเครนมีบุคลากรเหล่านี้หรือไม่ ทันใช้งานหรือไม่
Colin Kahl รัฐมนตรีช่วยกระทรวงกลาโหมสหรัฐพูดถูกว่า เหตุที่ไม่อยากส่งรถถัง M1 Abrams ให้ยูเครนเพราะ “ยูเครนซ่อมไม่ได้ บำรุงรักษาไม่เป็น ไม่สามารถบริหารจัดการรถถังแบบนี้” กรณีเครื่องบินขับไล่ก็เช่นกัน เครื่องบินรบที่มีนักบินคนเดียวแต่จำต้องใช้ช่างผู้มีฝีมือหลายคน ไม่เพียงนักบินที่ต้องฝึกรบให้ชำนาญนานหลายเดือน ช่างก็เช่นกัน เครื่องบินขับไล่ปัจจุบันเป็นอาวุธไฮเทค เป็นอุปกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีกลไกซับซ้อน จำต้องใช้เครื่องมือเฉพาะในการตรวจซ่อม ถามว่ายูเครนมีช่างฝีมือเหล่านี้หรือไม่ ต้องฝึกกี่เดือนจึงจะมีฝีมือมากพอ
ย้อนหลังมกราคม 2023 ประธานาธิบดีไบเดนกล่าวว่า สหรัฐจะไม่มอบ F-16 ตามคำร้องขอจากยูเครน ตามหลังโอลาฟ โชลซ์ นายกฯ เยอรมนีที่กล่าวว่าไม่เห็นด้วยที่จะมอบเครื่องบินขับไล่แก่ยูเครน
ด้วยเหตุที่นาโตยืนยันรบต่อ เมษายน 2024 สหรัฐทุ่มซื้อเครื่องบินรบรัสเซียส่งช่วยยูเครน รวมทั้งสิ้น 81 ลำ มีข่าวว่าเป็นเครื่องบินรบรัสเซียที่อยู่ในประเทศต่างๆ ประกอบด้วย MiG-31, MiG-27, MiG-29 และ Su-24 รวมทั้งสิ้น 81 ลำ เป็นเครื่องบินรบมือ 2 ที่บางส่วนประเทศเจ้าของเตรียมปลดประจำการ
เป็นอีกครั้งที่ยูเครนต้องรบด้วยอาวุธมือสองที่โละจากประเทศอื่น ข้อดีคือ การใช้เครื่องบินรบรัสเซียช่วยยืดเวลาการส่งมอบ F-16 ให้ยูเครนมีเครื่องบินรบใช้อีกรอบ
ยูเครนเริ่มรับ F-16s จำนวนหนึ่งเมื่อสิงหาคม 2024 หลังสงครามผ่านมา 2 ปีครึ่ง ก่อนหน้านั้นรัฐบาลตะวันตกพูดชัดว่าจะไม่ให้
เมษายน 2024 รัฐบาลไบเดนส่งมอบขีปนาวุธพื้นสู่พื้นรุ่นใหม่ MGM-140 Army Tactical Missile System (ATACMS) มีระยะยิงไกลถึง 300 กิโลเมตรหรือ 180 ไมล์แก่ยูเครน และกองทัพยูเครนได้ใช้แล้ว เช่น ถล่มฐานบินรัสเซียในไครเมีย เป็นส่วนหนึ่งของงบฯ ช่วยเหลือที่ผ่านรัฐสภา ตั้งแต่เริ่มสงครามรัฐบาลสหรัฐช่วยยูเครนทั้งหมด 105,000 ล้านดอลลาร์แล้ว
จะเห็นว่าแม้มีอุปสรรคมากมาย รัฐบาลเซเลนสกีร้องขออาวุธไม่หยุด ในช่วงนี้คือขีปนาวุธอำนาจทำลายสูง ไม่กี่ประเทศที่ผลิตอาวุธร้ายแรงเช่นนี้ ได้แก่ สหรัฐ เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส ชี้ว่าจำต้องโจมตีฐานทัพ สนามบิน คลังอาวุธ คลังเชื้อเพลิง ศูนย์สำคัญๆ เพื่อหยุดกองทัพรัสเซีย ประธานาธิบดีเซเลนสกีพร้อมใช้ รอเพียงคำอนุญาตเท่านั้น ที่ผ่านมาเคยร้องขออนุญาตหลายครั้งแต่รัฐบาลไบเดนลังเลใจ เกรงว่าจะกลายเป็นสงครามใหญ่ ไม่คิดว่าการใช้อาวุธพวกนั้นจะส่งผลต่อภาพรวมสงครามและสหรัฐมีอาวุธเหล่านั้นน้อยเกินไป
รวมความแล้ว ยูเครนได้รับอาวุธทรงอานุภาพมากขึ้นตามลำดับด้วยความเห็นชอบจากพวกตะวันตก
สงครามตัวแทน:
แม้นาโตจะประกาศตั้งแต่ก่อนสงครามว่าการรบครั้งนี้ทหารนาโตจะไม่ปะทะกับทหารรัสเซีย เป็นการรบระหว่างยูเครนกับรัสเซียเท่านั้น ในเวลาต่อมารัสเซียชี้ว่าไม่ใช่การรบระหว่างยูเครนกับตนเท่านั้น แต่เป็นการรบกับนาโตด้วย
สามารถเทียบกับสงครามอัฟกานิสถาน เมื่อพวกมูจาฮิดีน (Mujahidin) ต่อต้านการรุกรานของกองทัพโซเวียตเมื่อปี 1979 ในครั้งนั้นรัฐบาลสหรัฐส่งอาวุธ ความช่วยเหลือแก่มูจาฮิดีน เป็นสงครามตัวแทน (proxy war) ระหว่างสหรัฐกับโซเวียตรัสเซีย นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า รัฐบาลสหรัฐต้องการให้สมรภูมิยูเครนเป็นเหมือนอัฟกานิสถานในครั้งนั้น
สงครามตัวแทน (proxy war) คำนี้ถูกใช้มากในสมัยสงครามเย็น (Cold War)
สงครามเย็นเป็นสภาวะที่อภิมหาอำนาจทั้งสองมีความขัดแย้ง แต่ไม่ถึงกับทำสงครามต่อกันโดยตรง แต่ต่อสู้ด้วยวิถีทางอื่นๆ เช่น การโฆษณาชวนเชื่อ แข่งขันพัฒนากองทัพ กีดกันขัดขวางการค้าระหว่างประเทศ มี “สงครามร้อน” ในลักษณะสงครามตัวแทน
สงครามตัวแทนบางครั้งสูญเสียมากมาย สงครามเกาหลีมีผู้เสียชีวิต 3 ล้านคน สงครามเวียดนาม 2 ล้านคน ส่วนสงครามยูเครนน่าจะนับแสนคนแล้ว
มหาอำนาจเลี่ยงทำสงครามต่อกันโดยตรง แต่รบผ่านสมรภูมิประเทศต่างๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่านาโตกำลังทำสงครามกับรัสเซียผ่านยูเครน
ขออนุญาตนาโต:
มีหลักฐานหลายชิ้นที่ชี้ชัดว่ายูเครนต้องรบโดยขอคำอนุญาตจากนาโต โดยเฉพาะรัฐบาลสหรัฐ ที่รับรู้กันทั่วไปว่าคือผู้มีอิทธิพลสูงสุดต่อนาโต
ถ้ายิ่งเข้าใจที่มาที่ไปของนาโตว่าตั้งแต่สิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลสหรัฐหวังมีอิทธิพลทางทหารต่อยุโรปตะวันตก (ฝ่ายเสรีประชาธิปไตย) สหรัฐประจำการทหารในยุโรปนับแสนนาย ประจำการอาวุธนิวเคลียร์ในหลายประเทศผ่านระบบ Nuclear sharing (อาวุธนิวเคลียร์เหล่านั้นอยู่ในเยอรมนี ตุรกี เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ อิตาลี โดยตัดสินใช้ร่วมกัน)
กันยายน 2024 แอนโทนี บลิงเคน (Antony Blinken) รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศสหรัฐส่งสัญญาณอนุญาตให้ยูเครนใช้ขีปนาวุธโจมตีลึกเข้าไปในรัสเซีย กล่าวว่าตอนนี้กำลังปรับแผนรบ (เมื่อต้นสงครามไม่ให้อาวุธหนัก) การต่อสู้ในสนามรบเปลี่ยนไป รัฐบาลสหรัฐกำลังชั่งน้ำหนักอะไรควรอะไรไม่ควร
ด้าน Sergei Ryabkov รัฐมนตรีช่วยกระทรวงต่างประเทศรัสเซียเตือนว่าเป็นเรื่องอันตราย หากนาโตใช้จริงจะมีผลต่อการตัดสินใจของรัสเซียแน่นอน สงครามจะขยายตัว
ไม่ว่าจะอธิบายอย่างไร สงครามตัวแทนนี้กำลังใช้อาวุธอำนาจทำลายสูงมากขึ้นทุกที รัสเซียเสียหายหนักถูกบั่นทอนด้วยอาวุธนาโต เป็นยุทธศาสตร์อันชาญฉลาดของรัฐบาลสหรัฐที่จะไม่ทำสงครามในบ้านตัวเอง แต่ทำสงครามในประเทศอื่นๆ เพื่อบั่นทอนทำลายฝ่ายตรงข้าม ในอนาคตไต้หวันกับฟิลิปปินส์อาจกลายเป็นเหมือนยูเครนที่ยิ่งรบยิ่งพัง เพื่อปกป้องประชาธิปไตยยุโรป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นโยบายต่างประเทศจีน2024จากมุมมองสหรัฐ
เป้าหมายนโยบายต่างประเทศคือการฟื้นฟูชาติจีนครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะใช้มุมมองจีนหรือสหรัฐ ทั้งคู่มองว่าต่างเป็นคู่แข่งเชิงยุทธศาสตร์และน่าจะเป็นปรปักษ์ในที่สุด
ยุทธศาสตร์แห่งชาติจีน2024จากมุมมองสหรัฐ
กำหนดเป้าหมาย ‘มีกองทัพเข้มแข็งระดับโลก เป็นผู้นำทบทวนระเบียบโลก’ ในการนี้จีนต้องเผชิญหน้าสหรัฐผู้นำระเบียบโลกปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ปฐมบทอาหรับสปริงซีเรีย
ความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจสังคมเป็นต้นเหตุสำคัญของอาหรับสปริงซีเรีย รัฐบาลต่างชาติที่หวังล้มอัสซาดพยายามอยู่นานหลายปี รอจนวาระและโอกาสเป็นใจ
จากฮาเฟซ อัลอัสซาดสู่จุดเริ่มอาหรับสปริงซีเรีย
อำนาจการปกครองเป็นของคนส่วนน้อย คนกลุ่มนี้แหละที่ได้รับประโยชน์ ทิ้งให้ประชาชนจำนวนมากอยู่ตามมีตามเกิด อำนาจนี้เปลี่ยนมือไปมาจนมาถึงระบอบอัสซาดที่อยู่ได้ 2 ชั่วคน คือพ่อกับลูก
จากสถาปนาประเทศซีเรียสู่พรรคบาธ
เรื่องราวของซีเรียเต็มไปด้วยการแข่งขันช่วงชิงทั้งภายในกับอำนาจนอกประเทศ ความขัดแย้งภายในหลายมิติ เป็นอีกบทเรียนแก่นานาประเทศ
2024สงครามกลางเมืองซีเรียระอุอีกครั้ง
สงครามกลางเมืองที่ดำเนินมาเกือบ 14 ปียังไม่จบ สาเหตุหนึ่งเพราะมีรัฐบาลต่างชาติสนับสนุนฝ่ายต่อต้านกับกลุ่มก่อการร้าย HTS เป็นปรากฏการณ์ล่าสุด